ThaiPublica > Sustainability > NaTive AD > มองอนาคต คาเฟ่ อเมซอน เมื่อ Café Amazon for Chance ไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างโอกาสให้ผู้พิการและผู้สูงวัย

มองอนาคต คาเฟ่ อเมซอน เมื่อ Café Amazon for Chance ไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างโอกาสให้ผู้พิการและผู้สูงวัย

28 กุมภาพันธ์ 2020


ในฐานะร้านกาแฟเราจะสามารถทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมได้บ้าง ?

เป็นคำถามที่ “Sustainability Revolution” ในฐานะร้านกาแฟสัญชาติไทยที่ใหญ่ที่สุด เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีสาขามากที่สุดในไทย ตั้งคำถามถึง “คุณค่า” (value) ขององค์กรที่ต้องการจะส่งมอบสู่สังคม

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ในการทำธุรกิจบนฐานของการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม ซึ่งถือเป็นแนวทางของธุรกิจหลัก

คำตอบที่ว่า อาจเป็นทั้งการส่งกาแฟคุณภาพดีให้กับลูกค้า การร่วมพัฒนาต้นทางในการผลิตกาแฟโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดขยะบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการจ้างงานอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับ โออาร์ เราทำทุกอย่างเพื่อจะส่งมอบคุณค่าให้สังคมในทุกวันของการทำงาน

สาขาที่ 7 สร้างงานเพื่อผู้สูงวัย

ความสำเร็จของการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้โครงการ คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์ (Café Amazon for Chance) โดยเปิดร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน เพื่อสร้างโอกาส สาขาแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรณ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีวัตถุประสงค์หลักในการเปิดโอกาส พัฒนาความสามารถ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการทางการได้ยิน โดย คาเฟ่ อเมซอน ร่วมกับ บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุด

บาริสต้าผู้พิการทางการได้ยิน

2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ไม่เพียงจะสามารถขยายสาขาพิเศษ คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์ (Café Amazon for Chance) ออกไปได้ถึง 8 สาขาทั่วประเทศ โครงการยังสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสในการพัฒนาอาชีพ จาก “ผู้พิการทางการได้ยิน” สู่กลุ่มเปราะบางที่หลากหลายมากขึ้นและขยายความร่วมมือไปยังภาคีที่หลากหลายขึ้น โดยร้านกาแฟสาขาพิเศษนี้เป็นโมเดลที่จะช่วยสร้างจุดคานงัดในการแก้ปัญหาการมีงานทำของกลุ่มเปราะบาง

ในวันที่เปิด“คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์” สาขาที่ 7 สาขากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ถูกออกแบบใหม่โดยเฉพาะเป็นครั้งแรกสำหรับการจ้างงานบาริสต้าที่เป็นผู้สูงวัย “สุชาติ ระมาศ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า “สังคมไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ การมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด อันจะส่งผลโดยตรงต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตอันใกล้ ซึ่ง โออาร์ เล็งเห็นถึงผลกระทบดังกล่าว จึงนำรูปแบบทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ คาเฟ่ อเมซอน ที่มีจำนวนกว่า 3,150 สาขา ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาปรับใช้กับโครงการ คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์”

บาริสต้าผู้สูงวัย

“คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์” สาขาที่ 7 สาขากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสาขาแรกที่ขยายโอกาสสร้างงานที่มั่นคง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตไปยังกลุ่มผู้สูงวัยในการเป็นบาริสต้า ทั้งยังเป็นสาขาแรกที่ โออาร์ ตัดสินใจลงทุน “คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์” สาขานี้เอง

สาขานี้นำร่องด้วยการจ้างงานผู้สูงวัยระหว่างอายุ 55-65 ปี ที่สามารถเป็นบาริสต้าร้านกาแฟ ในช่วงเริ่มต้นมีการจ้างงานผู้สูงวัย จำนวน 4 คน ที่ผ่านการเรียนรู้ระบบและการดำเนินงานในร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน เพื่อสร้างโอกาส นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในร้านเป็นที่จัดแสดงและขายสินค้าในชื่อ “ร้านทอฝัน” โดยสินค้าทั้งหมดมาจาก ‘กลุ่มอาสา’ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง และสินค้าจาก 10 ชนเผ่า จากศูนย์พัฒนาราษฏรบนพื้นที่สูงอีกด้วย

ออกแบบร้าน = ออกแบบโอกาส

ความท้าทายในการเปิดสาขาของ “คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์” ในแต่ละสาขามีมากกว่าการเปิดสาขาปกติ ที่ต้องเดินไปบนโจทย์การออกแบบสถานที่และกระบวนการในการทำงานอย่างไรเพื่อเหมาะกับผู้ขาดโอกาส ขณะที่ยังต้องสามารถรักษาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและรักษาคุณภาพการให้บริการได้ในแบบมาตรฐานของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน

อย่างสาขาแรกที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรณ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สำหรับการทำงานของผู้พิการทางการได้ยิน มีการนำนวัตกรรมเครื่องบดกาแฟดิจิทัลแบบใหม่ (Hybrid Machine) มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานให้กับผู้พิการ

นอกจากนี้ ยังนำเครื่องชำระเงินระบบ 2 หน้าจอ (Duo Screen POS) มาใช้เพื่อลดความผิดพลาดของการสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากลูกค้าสามารถตรวจสอบรายการของตนเองได้ทันที รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานภายในร้านให้สอดคล้องกับลักษณะและพฤติกรรมของผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานและสื่อสารกับลูกค้า

ขณะที่สาขาที่ 7 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการออกแบบอุปกรณ์ภายในร้านให้เหมาะสมกับการทำงานของผู้สูงวัย เช่น การออกแบบความสูงของชั้นวางวัตถุดิบให้เหมาะสมและปลอดภัยในการทำงาน การคัดเลือกเมนูเครื่องดื่มเฉพาะเมนูขายดี การใช้เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความสะดวกและรักษารสชาติให้คงมาตรฐาน

สู่อนาคตของร้านกาแฟที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เราพยายามที่จะออกแบบโอกาสในการสร้างงานสำหรับผู้ขาดโอกาสใหม่ๆ โดยพิจารณาจากบริบทของพื้นที่และความพร้อมของสาขา ล่าสุดสาขาหาดเตยงาม จังหวัดชลบุรี ก็มีการรับทหารผ่านศึกเข้ามาเป็นบาริสต้าด้วย การขยายสาขาของคาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์ จึงขึ้นอยู่กับบริบท ความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของสังคมในพื้นที่นั้น

สำหรับแผนการดำเนินการในอนาคต จะทำงานร่วมกับภาคีสำคัญกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการพิจารณาเพื่อคัดเลือกผู้ขาดโอกาสในกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาทำงานในร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน สาขากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นการนำร่อง การพัฒนางานที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมในการประกอบอาชีพของผู้ขาดโอกาสทุกกลุ่ม

ปัจจุบันร้าน คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ แช้นส์ สาขาอื่น ๆ นั้น โออาร์ มีแผนขยายร้านรูปแบบ และจะเปิดบริการอีก 2 สาขา ในปี 2563 เพิ่มเติมได้แก่ สาขาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จากปัจจุบันที่มี 8 สาขา ได้แก่ 1. สาขาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรณ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา 2. สาขาสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา 3. สาขาหอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา 4. สาขา Sky lane สนามบินสุวรรณภูมิ 5. สาขาโรงพยาบาลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี 6. สาขา ปตท. สำนักงานใหญ่ อาคาร 2 7. สาขากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ 8. สาขาหาดเตยงาม จังหวัดชลบุรี

เพราะ คาเฟ่ อเมซอน เชื่อว่าในฐานะมนุษย์ ทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมและทั่วถึง ในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน อย่างยั่งยืน

“ถ้าถามว่าร้านกาแฟทำอะไรได้บ้างเพื่อสังคม การสร้างร้านกาแฟที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นคำตอบของเรา” สุชาติ กล่าวในที่สุด