ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีเอ็มบีผนึกธนชาตมุ่งสู่ ONE DREAM ภายใต้ ONE TEAM สร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้คนไทย

ทีเอ็มบีผนึกธนชาตมุ่งสู่ ONE DREAM ภายใต้ ONE TEAM สร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้คนไทย

28 มกราคม 2020


ทีเอ็มบีผนึกธนชาตเป็นหนึ่งเดียว มุ่งสู่ ONE DREAM สร้างนิยามใหม่ของวงการธนาคาร สร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น (financial well-being) ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ภายใต้ ONE TEAM ที่แข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียว ร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งเป้าหมาย ONE GOAL เป็นธนาคารที่คนชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุด

สร้าง Financial Well-being

ในการแถลงข่าวววันนี้ (28 มีนาคม 2564) นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การดำเนินการตามแผนการจับมือทางธุรกิจรวมกิจการอย่างบูรณาการของทั้งสองธนาคารก้าวข้ามความท้าทายมาได้อย่างราบรื่นและมีความคืบหน้าไปมาก และภายใน 24 เดือนทีเอ็มบีและธนชาตจะรวมเป็นองค์กรเดียว มุ่งเน้นกรอบการดำเนินงานอย่างยั่งยืนที่มีประโยชน์ต่อลูกค้าและสังคมไทย สิ่งที่ต้องทำเสมอคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกค้าและตัวเอง ทั้งสองธนาคารในปีที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองไว้สูงมาก

“การรวมกิจการของทีเอ็มบีและธนชาตในทางพฤตินัยรวมเป็นหนึ่งกันแล้ว แต่ในทางนิตินัยยังต้องใช้เวลา ปัจจุบันเป็นแบบ 1 ทีมบริหาร 1 บอร์ด 2 แบงก์ และไม่ใช่การรวมตัวแบบ big bang แต่จะค่อยๆ หลอมรวมเป็นระยะๆ จนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จะเป็น 1 ทีมบริหาร 1 แบงก์ ซึ่งลูกค้าจะได้ประโยชน์มากขึ้น” นายปิติกล่าว

ในปีที่แล้วเป็นการดำเนินการทางการเงิน (financial transaction) แต่ปลายปีผู้บริหารเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้า และในปีนี้ทั้งสองธนาคารจะเริ่มผนึกกำลังหลอมรวมทีมงานจากทั้งสองฝั่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ ONE DREAM, ONE TEAM, ONE GOAL เพื่อลูกค้าของทั้งสองธนาคาร

โดยเป้าหมายการรวมกิจการในครั้งนี้ไม่ใช่แค่หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ผลลัพธ์ต้องเท่ากับสาม เพื่อที่จะช่วยให้ลูกค้าของทั้งสองธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตของตนเองได้ โดยต้องการสร้างนิยามใหม่ของวงการธนาคารที่มุ่งเน้นสร้างประโยชน์ให้กับผู้คน เป็นผู้นำวงการธนาคารที่ใส่ใจลูกค้า กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ลูกค้าตลอดทุกช่วงชีวิต ผ่านที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและหนุนด้วยเทคโนโลยี

“ความมุ่งหวังของเราคือ ต้องการที่จะสร้างชีวิตทางการเงินที่ดี หรือ financial well-being ให้กับลูกค้าและคนไทยทั้งประเทศ เพราะเราเชื่อว่ามันคือรากฐานที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ เมื่อเรามี ONE DREAM ที่เป็นจุดหมายเดียวกันแล้ว และเราก็มี ONE TEAM ที่จะร่วมกันทำให้ฝันของเราเป็นจริง ดังนั้น การรวมกันในครั้งนี้ สิ่งมีค่าที่สุดที่เราได้จึงไม่ใช่สินทรัพย์ใดๆ แต่คือทีมงานชั้นยอดที่จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในวันนี้เป็นโอกาสดีสำหรับการแนะนำทีมผู้บริหารของธนาคารใหม่ที่แข็งแกร่ง และพร้อมจะมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันในการร่วมกันสร้างนิยามใหม่ของวงการธนาคาร เพื่อตอบโจทย์ในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งหวังว่าจะทำให้ธนาคารใหม่นี้ขึ้นแท่นเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุด The Most Advocated Bank” นายปิติกล่าว

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี

ผลสำรวจพบว่าคนไทยกำลังเผชิญกับความกดดันทางการเงิน โดย 80% ของรายได้หมดไปกับค่าใช้จ่าย มีคน 21 ล้านคนมีหนี้เฉลี่ย 5 แสนบาท ขณะที่มีเพียง 7% ของคนไทยที่มีประกันชีวิตรวมประกันสุขภาพ หมายความว่าหากเกินเหตุไม่คาดฝันมีคนแค่ 7% เท่านั้นที่มีประกันชีวิต นอกจากนี้ 2 ใน 3 ไม่มีการวางแผนการเกษียณและในกลุ่มที่มีการวางแผนไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินเพียงพอต่อการเกษียณ เพราะมีข้อมูลว่า ณ วันที่เกษียณคนไทยยังเหลือหนี้ 4 แสนบาท ซึ่งน่ากังวล

สำหรับภาคธุรกิจ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางยังมีปัญหา ส่วนธุรกิจใหญ่แข็งแรงสามารถดูแลตัวเองได้ โดย 84% ของ SME เอาเงินเก็บทั้งชีวิตมาเริ่มทำธุรกิจ เมื่อเงินเก็บไม่พอ ก็กดเงินกู้อเนกประสงค์ที่มีดอกเบี้ย 20% มาใช้ ซึ่งไม่มีธุรกิจไหนที่ให้ผลตอบแทนถึง 20% และยังพบว่ามีเพียง 39% ของ SME เท่านั้นทีเข้าถึงเงินกู้เพื่อธุรกิจ ที่เหลือใช้เงินตัวเองหรือกู้ดอกเบี้ยแพง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ซึ่งได้แก่การรับตัวขึ้นสูงขึ้นต่อเนื่องของ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน ค่าการศึกษา ค่าเลี้ยงดูลูก แต่เงินเดือนขึ้นในระดับปานกลาง กลุ่มที่ราคาลดลงต่อเนื่องได้แก่ เสื้อผ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ของเล่นเด็ก ทีวี และเมื่อเงินเดือนสูงขึ้นก็ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตที่อาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเล่าเรียนลูก

“นี่คือโจทย์ที่คนไทยประสบอยู่ เป็นโจทย์การออม การเงิน ประกัน แต่เมื่อถามลูกค้าว่าคิดกับแบงก์อย่างไร คำตอบที่ได้คือ รับง่าย-ให้ยาก ซับซ้อน ขั้นตอนเยอะ ขายประกันเยอะ ดังนั้นลูกค้าแต่ละคนมีโจทย์ไม่เหมือนกัน แต่ธนาคารดูแลเหมือนกับเป็นคนคนเดียวกัน ไม่เคยเห็นว่าเป็นรายบุคคล

นายปิติกล่าวว่า โดยทั่วเมื่อสององค์กรรวมกันก็มักจะคาดหวังว่า หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสาม ซึ่งในเชิง synergy ก็ถือว่าถูกต้อง แต่สิ่งที่ต้องการจะเห็นคือหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับ หนึ่ง หนึ่งความฝันหนึ่งทีมหนึ่งเป้าหมาย เมื่อรวมกันแล้ว อยากเป็นเบอร์หนึ่งในดวงใจของลูกไม่ใช่เบอร์หนึ่งจากการเติบโตของสินทรัพย์หรือขนาดของสินทรัพย์

นายปิติกล่าวอีกว่า เมื่อรวมกันแล้วอยากจะเป็นธนาคารสร้างผลประโยชน์ในไทย ให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น มองลูกค้าเป็นกลุ่ม สามารถตอบสนองรายบุคคลที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งเทคโนโลยีทำให้เกิดสิ่งนี้ ทำให้มองเห็นลูกค้าเป็นรายคน เข้าใจว่าโจทย์แต่ละคนไม่แตกต่าง สินค้าบริการทางการเงินเดิมมองเป็นรายชิ้น แต่สามารถนำมาจัดรวมกันเพื่อตอบโจทย์รายคนตามความต้องการแต่ละช่วงชีวิต

“เราไม่ต้องการ turn ธนาคารเป็น fintech ไม่อยาก turn ธนาคารป็นแอป เหมือนกับเวลาไปหาหมอคนไข้ต้องการคุยกับหมอ ไม่ใช่คุยกับ AI การเงินก็เช่นเดียวกัน ช่วยให้ดีขึ้นได้ แย่ลงได้ แต่ธนาคารเน้นการพัฒนาคนเพื่อเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้คนมีชีวิตดีขึ้น ไม่ใช้นำเทคโนโลยีมาใช้แทนคน และต้องการที่จะผนึกกำลังทำให้คนไทยมีชีวิตรอด บรรลุเป้าหมายในชีวิตได้มากขึ้น

“ความฝันจะเกิดขึ้นได้ คือ the advocated bank เป้าหมายที่อยากให้ถึง วันนี้นี้รู้ว่ายังไม่ใช่ ต้องการที่จะเป็นธนาคารที่ลูกค้าจะรักมากที่สุด และมีความพอใจจนบอกต่อคนใกล้ชิด เพื่อนๆ ญาติพี่น้องให้มาใช้บริการมากขึ้น”

ผุดสาขาเดียวสองธนาคารให้ลูกค้าทดลองใช้บริการ

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่
นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยความคืบหน้าของการรวมกิจการว่า ในด้านพนักงานธนาคารได้ดำเนินการในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีทีมบริหารเพียงหนึ่งชุดเท่านั้น สำหรับในส่วนที่เหลือได้มีการทยอยโอนย้ายพนักงานเป็นระยะ ซึ่งพนักงานระดับกลางจะเสร็จในอีก 2-3 เดือนนนี้และจากนั้นเดือนกรกฎาคม 2564 ก็จะเป็นหนึ่งธนาคารหนึ่งชื่อ

เป้าหมายหลักของธนาคารในตอนนี้คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวภายในกรกฎาคม 2564 โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของลูกค้าที่ได้รับบริการเป็นหลัก ว่าต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จึงได้มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างดี โดยธนาคารมีแผนที่จะเริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละธนาคารให้ลูกค้าของอีกธนาคารได้รู้จักและทดลองใช้

“เป้าหมายหลักคือการรวมกันให้ได้ ทั้งธนาคารทีเอ็มบีธนาคารธนชาติเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ เราได้เตรียมการมานานเพื่อให้พนักงานเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกัน เรารวมกันมีลูกค้า 10 ล้านคน” นายประพันธ์กล่าว

นายประพันธ์กล่าวว่า กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเริ่มเปิดให้บริการ co-location/co-brand branch ที่เป็นสาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร ซึ่งปีนี้วางแผนจะเปิดทั้งหมด 90 สาขา ครอบคลุมจังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้นในการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของทั้งสองธนาคาร โดยขณะนี้ได้เริ่มปรับแล้ว

เดือนมีนาคม ลูกค้าทั้งสองธนาคารจะได้รับความสะดวกจากการใช้บริการ ATM/ADM จำนวนกว่า 4,700 เครื่อง ฟรีค่าธรรมเนียมฝาก ถอน โอน ลูกค้าทีเอ็มบีทัชสามารถทำรายการกดเงินไม่ใช้บัตรจากเครื่องของธนชาตได้ และบิลสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิตของธนชาต ก็สามารถชำระได้ที่เครื่องของทีเอ็มบี

“ส่วนพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องของสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (employee well-being) ซึ่งทีมบริหารได้คำนึงถึง 3 สิ่งด้วยกัน ได้แก่ health wealth และ skill

ในส่วนของ health ได้มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ให้น้ำหนักกับเงินก้อนช่วยเหลือฉุกเฉินยามเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะสร้างผลกระทบที่มากกว่า ด้วยจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายมากกว่าการเจ็บป่วยปกติ ขณะที่ในส่วนของ wealth การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินในระยะยาวสำหรับพนักงาน โดยให้เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) ในอัตราที่สูงกว่าตลาด ให้พนักงานสามารถเก็บออมได้เพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณ และสุดท้ายเป็นเรื่อง skill หรือการพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัลเทคโนโลยี ”

เปิดตัวทีมผู้บริหารธนาคารใหม่

การแถลงข่าววันนี้ยังได้มีการเปิดตัวทีมผู้บริหารของธนาคารใหม่ ซึ่งมุ่งเป็นที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญหนุนด้วยเทคโนโลยี วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (data-driven strategy) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการทางการเงินที่ดีที่สุด รองรับความต้องการของลูกค้าทุกช่วงชีวิต และสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ย้ำให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่อง health-wealth-skill เพิ่มทักษะพนักงานให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (financial advisor) ที่แท้จริงและมีคุณภาพที่สุด

ทีมผู้บริหารของธนาคารใหม่นี้ เป็นทีมผู้บริหารจากทั้งไทยและต่างประเทศ จึงมีความเข้าใจลูกค้าคนไทย และมีความเชี่ยวชาญระดับโลก เมื่อผนึกกำลังกันแล้ว เชื่อมั่นว่าจะนำพาองค์กรไปยังเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน ประกอบด้วย นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่, นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย, นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์, นางมารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย, นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ, นายฮัน คริเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารความเสี่ยง, นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน, นายมาร์คัส โดเลงก้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยีและปฏิบัติการ, นางวิจิตรา ธรรมโพธิทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล, นางกาญจนา โรจวทัญญู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นปี และนางภิตติมาศ สงวนสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตรวจสอบ จะมีผลในไตรมาส 2 ปี 2563

จากซ้าย นางมารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ

ส่งมอบโซลูชันตรงใจอย่างทันใจ

นางมารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย กล่าวว่า การสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินให้แก่ลูกค้าจะยึดหลักสำคัญคือ ช่วยให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายที่เหมาะสมกับตัวเองผ่านช่องทางที่สะดวกสบาย รู้จักการออมและการลงทุนที่เพียงพอ มอบความคุ้มครองที่อุ่นใจ และการกู้ยืมเท่าที่จำเป็น

โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกิดจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงโดยยึดหลักความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าและใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโซลูชันที่ตรงใจสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะที่สำคัญต้องส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันใจสอดรับกับความต้องการ รวมทั้งมอบรางวัลที่ทำให้ลูกค้าอุ่นใจด้วย ตัวอย่างเช่น กลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลางที่มีครอบครัว ค่าใช้จ่ายสูงเพราะต้องดูแลทั้งครอบครัว แต่ก็อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี เรามีโซลูชันที่นำมาตอบโจทย์ให้ชีวิตทางการเงินดีมากยิ่งขึ้น

ลูกค้าสามารถตั้งเป้าหมายและฝากเงินเพื่ออนาคตลูก ผ่านบัญชีเพื่อออมโนฟิกซ์ ดอกเบี้ยสูง 1.6% ออมอย่างมีวินัยผ่านการเตือนเพื่อออมเมื่อถึงเวลาที่กำหนด หายห่วงในยามฉุกเฉินหรือเร่งด่วนจากภาระค่าเทอมลูกหรือเข้าโรงพยาบาลด้วยสินเชื่อ instant loan หากลูกค้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันยังได้เงินประกันสูงสุด 3 ล้านบาทผ่านบัญชีเพื่อใช้ออลล์ฟรีที่มอบฟรีประกัน 20 เท่าจากเงินฝาก และเพื่ออนาคตที่ดีกว่าด้วยแผนการลงทุนอัตโนมัติที่ช่วยนำเงินจากการออมไปลงทุน

ด้าน นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนวงการสินเชื่อรถยนต์ การให้ความสำคัญเรื่องการให้กู้ยืมอย่างมีคุณภาพ (healthy borrowing) ของสินเชื่อรถยนต์ จะช่วยขับเคลื่อนชีวิตทางการเงินของผู้คนให้ดีขึ้น และจะช่วยให้ลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้

“คำว่าชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในมิติของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นั้น แม้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์เงินกู้แต่เรามองออกภาพเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือสินเชื่อเช่าซื้อรถเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือนำไปประกอบกิจการ หรือแม้แต่การนำรถมาแลกเงินเพื่อเป็นทุนให้กับชีวิตในด้านใดด้านหนึ่ง ก็เป็นการขับเคลื่อนให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน เราเองก็ปล่อยสินเชื่อ แบบมีคุณภาพเพื่อให้ลูกค้ายังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยใช้ scoring model ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้และการปล่อยกู้เพื่ออนุมัติสินเชื่อที่เหมาะสม เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับลูกค้า ทั้งเป็นการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย” นายป้อมเพชรกล่าว

นอกจากนี้ ลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินที่ดีจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ และเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ที่หลากหลายและครบทุกบริการ ธนาคารจึงใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (data-driven strategy) เพื่อนำมาซึ่งบริการที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและคู่ค้า เช่น cross area booking ทำความเข้าใจการขายของคู่ค้าในช่องทางออนไลน์ ที่มีการให้บริการข้ามพื้นที่ เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น และ ALDX ระบบปฏิบัติการเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าตั้งแต่สมัครสินเชื่อ ติดตามผลอนุมัติ จนกระทั่งบริการและสิทธิประโยชน์จากเรา

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย กล่าวว่า การรวมสองธนาคารจะทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย ธนาคารต้องดูแลรับผิดชอบให้ดีที่สุด โดยธนาคารเองมีช่องทางบริการมากมาย เช่น ช่องทางสาขา เครื่อง ATM/ADM โมบายแอป contact center หรือ relationship manager ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์จากการทำธุรกรรมของธนาคารที่เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง และได้รับความสะดวกสบายจากการมีหลากหลายช่องทาง และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา (anywhere, anytime) โดยสิ่งสำคัญที่ธนาคารต้องทำคือการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้เป็นอาวุธสำคัญในการนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการที่สุด ในเวลาที่เหมาะสม และเป็นการนำเสนอ ให้คำปรึกษาและข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นด้วย

“ในบรรดาช่องทางบริการทั้งหลาย พนักงานสาขาทั้งหมดคือหน้าบ้านและถือเป็นด่านแรกที่จะพบกับลูกค้าจึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่แท้จริงและมีคุณภาพที่สุด โดยเราจะมีการอบรมอย่างเข้มข้นและโค้ชชิ่งอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างให้พนักงานสาขากลายเป็นที่ปรึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อจะส่งต่อและแนะนำโซลูชันที่เหมาะสมและตรงใจลูกค้าได้มากที่สุด” นายอนุวัติร์กล่าว

ขณะที่ นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตแบบกระจุกตัว และมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่มีจำนวนมากถึง 3 ล้านบริษัท และมีการจ้างงานสูงถึง 85% กลับให้สัดส่วนของรายได้ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เท่าบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีเพียง 6,000 บริษัท ดังนั้น การจะช่วยเศรษฐกิจไทย ช่วยธุรกิจขนาดเล็กให้มีชีวิตทางการเงินที่ดี ธนาคารต้องเริ่มจากธุรกิจขนาดใหญ่โดยการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืน นั่นคือ มอบแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจอย่าง ถูกประเภท ถูกเวลา ไม่เกินตัว และตรงความต้องการจริง และธนาคารต้องนำเสนอธุรกรรมการเงินที่ตอบโจทย์ และพร้อมเชื่อมต่อ eco-system ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงเล็กทั้งด้านข้อมูลและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินสะดวกและการบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นช่วยให้ลูกค้าธุรกิจมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“นอกจากเรื่องของธุรกิจ ธนาคารสามารถช่วยให้ลูกค้าธุรกิจมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้อีก โดยดูแลในเรื่องบุคลากรซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเจริญเติบโตของธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ พนักงานและครอบครัว ผู้คนรอบตัว ชุมชน รวมทั้งสังคม เพราะธุรกิจจะเดินหน้าได้ พนักงานต้องมีความสุข คนรอบตัวมีความสุข มีผลตอบแทนที่ดี รายได้ที่เหมาะสม นั่นจึงเรียกว่า มีชีวิตทางการเงินที่ดีในเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง” นายเสนธิปกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารจะมีการสื่อสารเรื่องความก้าวหน้าของการรวมกิจการเป็นระยะ การคัดเลือกผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จากทั้งสองธนาคารเพื่อนำเสนอต่อลูกค้า ธนาคารจะคำนึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นหลักการรวมกิจการในครั้งนี้ จะสร้างนิยามใหม่ของวงการธนาคาร เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับลูกค้าอย่างแท้จริง