ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ศุภชัย พานิชภักดิ์” อย่าบอกว่าโลกนี้ฟื้นแล้ว – ยุโรปกำลังเข้าสู่สงครามเย็นอีกครั้ง – ศก.ไทยปีหน้าโตแน่ 4-5%

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” อย่าบอกว่าโลกนี้ฟื้นแล้ว – ยุโรปกำลังเข้าสู่สงครามเย็นอีกครั้ง – ศก.ไทยปีหน้าโตแน่ 4-5%

14 พฤศจิกายน 2014


เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด: UNCTAD) และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบี ได้กล่าวในงานสัมมนา TMB World Wide Wealth: Economic See Through 2015 และพูดคุยในหัวข้อ “ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2015 ในแต่ละทวีป” ให้แก่ลูกค้า Wealth ของธนาคารว่า

“สำหรับผมจริงๆ แล้วคงไม่มีใครคิดถึงผมที่ทีเอ็มบีเท่าไหร่ ในจิตใจของผมก็ยังไม่เป็นกลางเท่าไหร่กับธนาคารทั้งหลายในประเทศไทย เพราะว่าความรู้สึกของผมกับทีเอ็มบีก็ยังมีอยู่มาก เพราะฉะนั้นมาด้วยจิตใจไม่ค่อยเป็นกลางเท่าไหร่นัก เอาใจช่วยทีมงาน TMB asset management มีความสำเร็จมากๆ ผมมีปัญหาอยู่นิดเดียวว่าสิ่งที่เราเห็นไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน ถ้าเกิดผมมายืนที่นี่แล้วเห็นตามที่ทีเอ็มบีพูด ผมไม่จำเป็นต้องมา”

ท่านคงเคยได้ยินเรื่องตลกที่เขาเล่าเกี่ยวกับนักเศรษฐศาสตร์ที่คิดว่ารู้อะไรไปเสียหมด แต่ว่านักเศรษฐศาสตร์มักจะเป็นผู้ที่ให้คำทำนายของการเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นใน 7 ครั้ง ที่ผ่านมาประมาณ 5 ครั้ง นักเศรษฐศาสตร์จะวิตกกังวลไปมากกว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ผมเพิ่งกลับมาจากเมืองเบอร์ลิน (Berlin) เมื่อคืนวานซืนนี้ ผมไปร่วมฉลองเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นวันที่เบอร์ลินเขาฉลองครั้งใหญ่มาก ครบรอบ 25 ปี ของการล้มลงของกำแพงเบอร์ลิน ผมไปในฐานะคนหนึ่งซึ่งเคยทำงานร่วมกับเยอรมนี ร่วมกับสถาบันบางแห่งในเบอร์ลิน ซึ่งเป็นการทำงานที่ทำให้ทั่วโลกมีสันติภาพ มีเสรีภาพ มีความสงบ

ยุโรปถึงแม้จะเป็นแหล่งรวมความศิวิไลซ์ จริงๆ แล้วเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในโลกแต่ละครั้งมากมาย เราต้องไม่ลืมว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 คนตายเกือบ 20 ล้านคน ปีนี้ครบรอบร้อยปี ตอนนั้นคนทั้งโลกมีประมาณไม่ถึง 2,000 ล้านคน สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดที่ยุโรปอีก คนตายไป 80 กว่าล้านคน เกือบครึ่งเป็นคนรัสเซีย

สิ่งที่ยุโรปฉลองกันวันสองวันนี้ การล้มลงของกำแพงไม่มีความหมาย แต่สิ่งที่มันล้มลงไปคือความที่จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบนโลกนี้ให้ได้ ขณะที่เราล้มกำแพงเบอร์ลินไปแล้ว 25 ปี ท่านทราบไหมว่ากำแพงใหม่ถูกสร้างขึ้นทั่วโลก ในยุโรปขณะนี้กำแพงที่ยูเครนเป็นกำแพงที่ใหญ่มาก กำแพงนี้อาจจะเกิดในที่อื่น ในเอเชีย โดยคนอื่นมาช่วยสร้างให้ก็มี มันมีกำแพงเกิดขึ้นจริงๆ ที่ทำให้เรามีความเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้เกิดการหาเรื่องกันไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบสิ้น การไปฉลอง 25 ปี ครั้งนี้ไม่ใช่การฉลองของกำแพงแต่เป็นการฉลองการล้มลงของสิ่งที่เป็นสิ่งกีดขวางของเราทั้งหมดในโลกนี้ ทำให้เรามีสังคมที่มีการแชร์กัน มีความเข้าใจกันได้

บังเอิญสถาบันที่ผมไปทำงานด้วยเป็นสถาบันที่ต้องการสร้างการทูตที่ไม่ใช่การทูต (Institute for Cultural Diplomacy) เหมือนผมเคยเจราที่ WTO คุณให้ผม ผมให้คุณ เดี๋ยวนี้มันสกปรก เอาผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอยู่เรื่อย หรือการทูตแบบเล่นลิ้นกันข้างหน้าอย่าง ข้างหลังพูดอีกอย่าง

ที่ Institute for Cultural Diplomacy เราต้องการเอาความจริงมาพูดกัน ผมเป็นแบบนี้คุณเป็นแบบนี้ ผมสีนี้ คุณสีนี้ แต่เรามีความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เขาเรียกว่า Basic Instinct หรือความรู้สึกของเราโดยพื้นฐานนั้นเหมือนกัน เราอยากอยู่ดีกินดี อยากสะดวกสบาย ทุกอย่างเราเหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกันเลย

ผมเจรจากับคนทั่วโลก เริ่มต้นมาผมไม่ชอบหน้าคุณเลย หน้าตาคุณแปลกๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับคุณ แต่คุยกันสองสามครั้งเป็นเพื่อนกันหมด สิ่งที่อยากจะเรียนให้ทราบคือว่าผมประทับใจมาก วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่เบอร์ลิน มิคาอิล เซร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachyov) ก็ไปด้วย ถ้าไม่มีเขาก็ไม่มีวันนี้ เราจะมีสงครามเย็นที่ร้อน การยิงกันการรบกันการมีคนตายก็จะเกิดขึ้น เขาทำให้เกิดนโยบายกลาสนอสต์ (Glasnost) – เปเรสตรอยก้า (Perestroika) ซึ่งมีการเปิดประตูของรัสเซียออกมาให้คนในรัสเซียเอง ผมดีใจมากที่เห็นภาพนี้เกิดขึ้นบนโลก

นายศุภชัย พานิชภักดิ์
นายศุภชัย พานิชภักดิ์

ยุโรปกำลังเข้าสู่สงครามเย็นอีกครั้ง – เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตแน่ 4-5%

ที่นั่นกอร์บาชอฟพูดขึ้นมาว่า ทุกอย่างมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงสงครามเย็นเกือบโดนจับตัวไปฆ่า ขณะนี้เรากำลังเข้าไปสู่ภาวะของสงครามเย็นคล้ายๆ แบบนั้นอีกแล้ว

สถานการณ์โลกขณะนี้เห็นแล้วค่อนข้างดี แต่ทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีน้อยหน่อย การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (The World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นปีนี้ เราสรุปกันว่าเศรษฐกิจปีนี้เราใช้คำว่า “fragile optimism” มาอธิบาย มันเป็นเบิกบาน ความมองโลกในแง่ดีที่ค่อนข้างเปราะบาง สำหรับผมเห็นว่า fragile มาก optimism น้อย แล้ว optimism มันนำไปสู่สิ่งที่ผมพยายามเตือนมาตลอดตั้งแต่ปี 2008-2009 สมัยที่เรามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเลข มันเป็น false lawn (บันไดหลอก) ท่านดูตัวเลขที่ปรับตัวเลขเศรษฐกิจอเมริกัน ปรับทุกปี ต้นปีบอกสูง กลางปีท้ายปีลดลงมาเรื่อยๆ เหลือ 3.1, 3.2, 2.8 ไอเอ็มเอฟ (IMF) ก็ปรับทั้งปี

“ปัญหาของพวกเราในทุกวันนี้ เราเชื่อถือตัวเลขได้แค่ไหน ในฐานที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เขาให้เราทำนาย ผมมักจะทำนายด้วยความเจ็บปวด ที่ผมคิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ มันจะเป็นไปได้เพราะอะไร หรือมันเป็นไปไม่ได้ด้วยเงื่อนไขอะไร เมื่อสักครู่ผมให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าประเทศไทยปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะพูดว่าโต 4% มันได้อยู่แล้ว เราเริ่มลงทุนไปแล้ว เอกชน-ต่างประเทศก็เริ่มจะเอาเงินลงมาแล้ว มันเดินอยู่แล้ว มันเดินบนพื้นฐานของ 1% กว่าๆ มันเตี้ยมาก อะไรที่ทำบนฐานเตี้ยๆ มันก็สูงหมดล่ะครับ”

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ให้ความสำคัญหรือฝีมือของรัฐบาล ฝีมือมีด้วยแน่นอน แต่ว่าฝีมือบนพื้นฐานของต่ำ เหมือนหลังปีที่เราน้ำท่วม (2554) ขึ้นมา 7-8% มันก็ฝีมือส่วนหนึ่งแน่นอน อีกส่วนหนึ่งติดลบไปแล้ว -2 -3 มันก็ต้องขึ้นมา 7-8% แน่นอน

“ผมพูดแบบนี้เพื่อให้ท่านมีกำลังใจว่าท่านไม่ต้องห่วงว่ามันจะไปถึงจุดไหน ถ้าไม่ถึง 4-5% ว่าผมได้ แต่อย่าว่าผมมาก ผมพูดไว้ตั้งแต่หลายเดือนแล้ว เพราะมันเห็นชัดๆ แน่นอน”

กลับจากยุโรปผมมีเรื่องเล่าให้ฟังมาก โลกนี้มันผูกพันกัน โยงกันหมด แต่ที่น่าห่วงคือโลกนี้มันไม่ได้ผูกพันกันในลักษณะที่มันแน่นแฟ้นเหมือนเดิม สิ่งไม่ดีมาถึงเราได้ แต่ของดีมาไม่ค่อยถึง อย่างที่บอกว่าเรามี false lawn (บันไดหลอก) ตลอดเวลา ต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง

เพื่อนผมหลายคนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ในยุโรป-สหรัฐฯ เขาบอกว่า globalization (โลกาภิวัตน์) เริ่มถดถอย ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ผมมีความเชื่อเสมอว่าโลกาภิวัตน์มันเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่นโยบายของใคร เพราะการขนส่งมันถูกลงทุกวัน คนเขาเดินทางท่องเที่ยวกันอยู่แล้ว ระบบข่าวสารมันถึงยิ่งกว่าถึง มันถึงทุกนาทีทุกวินาที จนมันมากเกินเหตุ มัน Overglobalize ไปแล้วเรื่องการข่าวสาร การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จดทะเบียนไม่รู้จะจดอย่างไร โลกมัน globalize ด้วยตัวของมันเอง ไม่มีใครจะทำอะไรได้เลย

“ผมกำลังจะบอกว่าโลกเรา dysfunctional (ทำงานผิดพลาด) หลายอย่าง เช่น การลงทุนของโลก หรือ Foreign Direct Investment(FDI) หลังจากที่เรามีการถดถอยทางเศรษฐกิจมา ผมยังคิดว่าตอนนี้การลงทุนของโลกยังไม่ถึงระดับที่มีการลงทุนเมื่อปี 2007-2008 ปีนี้อาจจะใกล้เคียงหรือเกินบ้างนิดหน่อย แต่มัน 6-7 ปี แล้ว อย่าบอกว่าโลกนี้ฟื้นแล้ว ถ้าบอกว่าเกิน การลงทุนต้องมากกว่าปี 2007 ถูกไหม”

แต่มันมีข้อมูลที่ดีคือว่า ครึ่งหนึ่งของการลงทุนไปตกอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างประเทศพวกเรา แต่การลงทุนของโลกยังไม่ฟื้นตัว การค้าโลกยิ่งหนักใหญ่ ห่วงการค้าโลกมาก เพราะต้องทำงานเกี่ยวกับการค้าโลกตลอดเวลา ขณะนี้อัตราการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมันกลับข้างกัน

สมัยที่โลกมี globalization เศรษฐกิจโลกโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี การค้าโลกโตเฉลี่ยปีละ 6-7 ต่อปี โลกเป็นโลกที่อยู่ได้ด้วยการค้าตลอดเวลา แต่ขณะนี้การค้าโลกไม่ได้หดตัว ปีนี้อาจจะขยายตัวร้อยละ 2 กว่าๆ WTO คาดไว้เมื่อต้นปีว่าร้อยละ 4.7 กว่า ผมว่าไม่ถึง 2 กว่าก็เก่งแล้ว ปีที่แล้วก็เหมือนกันร้อยละ 2 กว่า ก็ต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก

เพราะฉะนั้นแล้วมันควรจะมีการค้าขยายตัวไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นจริง เอเชียขยายตัวมาได้ ดีมาได้เพราะการค้าโลกมันขยายล้ำหน้า ปีนี้เราต้องคิดใหม่ว่าสิ่งที่มันเป็นอย่างนี้ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นอีกและชดเชยกับสิ่งที่หายไปได้ ในปีนี้เขาถึงได้เชียร์อินโดนีเซียกันว่า ได้โจโควี (Joko Widodo) มาเป็นประธานาธิบดี เขาว่าเป็นคนดี สิ่งที่อินโดนีเซียกำลังจะเป็นต่อไปดีไม่ดีไม่ทราบ แต่อย่างหนึ่งที่อินโดนีเซียมีแต่เราไม่มี คือ เขามีคน 200 ล้านคน เรามีไม่ถึงครึ่ง ตลาดภายในของเขาก็เหมือนจีน มีคนมาถามว่าทำไมจีนถึงเชื่อมโยงเศรษฐกิจได้ ก็จีนมีคน 1,000 กว่าล้านคน ฉะนั้นจะลงทุนอะไรก็ต้องลงทุนในจีน ต้องขายให้จีน ไม่ได้มีความลึกลับว่าจีนเก่งกว่าคนอื่นอย่างไร

ตอนนี้เป็นช่วงของเศรษฐกิจที่ใหญ่ๆ เศรษฐกิจที่ใหญ่มีตลาดดี แต่มันตรงกันข้ามกัน คุณไปดูแรงงานที่ดาวอส เศรษฐกิจที่เล็กๆ อย่าง นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เป็นเศรษฐกิจซึ่งมีการบริหาร การวางนโยบายที่ดีมาก มันต่างกันตรงนี้ ซึ่งมันหมายถึงการมีการศึกษาที่ดี สถานพยาบาลที่ดี ถนนหนทาง ความปลอดภัย ฯลฯ

ในอาเซียนพูดแล้วพูดอีกเรื่องภาษี ถ้าเราเปรียบเทียบอาเซียนกับการรวมกลุ่มในแอฟริกา เราดีกว่าที่อื่น เพราะเมื่อเรารวมตัวกันแล้วได้เท่ากับร้อยละ 25-26 ของรายได้ประชาชาติอาเซียน เป็นการสร้างการค้าที่ดี ไปดูในกลุ่มในแอฟริกา มี 10-20 กลุ่ม ค้าขายกันไม่ถึง 10% ในโลกนี้มีเฉพาะยุโรปเท่านั้นที่ค้าขายเฉพาะในกลุ่มของตัวเองถึงร้อยละ 80

ในปีหน้าการที่มารวมกลุ่มเป็นเออีซี มันช่วยสร้างขึ้นมา แต่ว่ามันมีปัญหาเรื่องการกีดกันที่เป็น Non Tariff Measures & Non Tariff Barriers (NTM & NTB) มันควรจะเป็นกลุ่มใหญ่ เราต้องแข่งกันเองไม่เท่าไหร่ แต่เราต้องแข่งกับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เราไม่แพ้เขา ดูตัวเลข Foreign Direct Investment จีนลงทุนไป 120 กว่าพันล้านเหรียญ เราสู้เขาได้อยู่แล้ว แต่ในแง่ที่เราจะสู้เขาไม่ได้คือเมื่อเรามีคนในมือ 600 กว่าล้านคน เรายังทำตัวเหมือนมี 70 กว่าล้านคน

“เราอาจจะดีไม่เท่าอินโดนีเซียตอนนี้ ผมว่าจริงบางส่วน แต่ไม่จริงตลอดไป เรา 60-70 ล้านคน ผมทำนายได้เลยว่าสิ่งที่จะมาเป็นตัวที่สร้างแรงดึงดูดในการค้าขายกันเองในอาเซียนมันไม่ไปดีเท่าที่ควรจะไป เพราะผมแนะนำไว้แล้วกับทางอาเซียนกับไทยว่า เวลาที่บอกว่าประเทศไทยพึ่งเศรษฐกิจต่างประเทศมากไป จริงบางส่วนแต่ไม่จริงตลอดไป อย่าได้ไปเชื่อสิ่งที่เขาบอกว่าเวลานี้ไทยเรามี domestic demand/consumer demand อะไรต่างๆ มาก เรา 60-70 ล้านคน ไม่เท่าอินโดนีเซีย จริงบางส่วนในแง่ที่ว่าเวลาเศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนจำนวนมากก็ต้องมีกำลังซื้อมาก”

ขณะนี้อยากจะเรียนว่าในเออีซีต้องระวังให้มากในปีหน้า ขอให้ช่วยกันดูแลมากๆ ว่า tariff รัฐบาลรู้หมด แต่ตัวที่เป็น non tariff รัฐบาลไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ก็ได้ เช่น เราขนของไปอินโดนีเซียซึ่งเป็นสินค้าที่เราขายดี เขาไม่ให้ขึ้นท่าเรือที่ใกล้จาการ์ตาหรอก แต่ให้ท่านไปท่าเรือไกลออกไป ค่าขนส่งอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ทำให้แข่งขันกันไม่ได้หรือล่าช้าไปนิดหน่อย หรือขนขึ้นไปแล้วคุณภาพไม่ผ่าน มีหลายเรื่อง

แล้วเขาจะมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในอาเซียน ซึ่งแน่นอนมันดีสำหรับทุกคน ทุกคนก็อ้างสิ่งที่ถูกต้องหมด แต่มันถูกต้องสำหรับเขา เขากีดกันเรา เรื่องที่จะให้มีการไหลของคนงานมีฝีมือทั้ง 7 สาขา ทั้งวิศวะ ทั้งแพทย์ มันคงเกิดขึ้นได้ยากเพราะว่ามาเลเซียเวลานี้เราขาดคนทำงานใน key skill เหมือนๆ กัน ต้องเปิดโอกาสให้ได้ใช้คนซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดเศรษฐกิจดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง

“อยากเน้นว่าผมให้ความสำคัญกับอาเซียนมาก เออีซีเป็นทางออกของผมสำหรับประเทศไทย เรามีทางของเราชัดเจน เออีซีคือทางออกที่สวรรค์ส่งมาจริงๆ ทั่วโลกนอกจากจะมีปัญหาเรื่อง fragile optimism แล้ว ยังมีการเป็นง่อยในทางการเมือง ผมพูดแบบนี้ไม่ได้กระทบใครในเมืองไทย มันเป็นไปแล้วทั่วโลก”

“ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างยุโรป ฟากหนึ่งผมคุยกับเยอรมัน ฟากหนึ่งผมคุยกับอิตาลี ผมไม่ได้ใหญ่โตอะไรแต่ผมรู้จักเขาและทำงานด้วยกันมา เยอรมันบอกเรื่องอะไรที่จะต้องไปยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัด คุณไปดูพวกทางใต้เอาแต่กินไวน์ฉลองสนุกสนานตลอดเวลา งานการไม่เห็นทำ ขณะนี้พวกผมจ่ายเงินให้พวกเขามากพอแล้ว คุณไปพูดให้เขาฟังหน่อยสิว่าคุณเลิกสนุกเสีย ผมบอกว่ามันไม่ได้ อีกหน่อยก็กลัวๆ กรีซว่าจะศูนย์ เพราะหดตัวมา 5 ปีซ้อน โจรขโมยมากมายไปหมด”

แล้วถ้าเกิดที่เหลือเป็นอย่างนี้หมดแล้วเยอรมันจะอยู่ได้ไหม อยู่ได้ เพราะเยอรมันมี 28 ประเทศในยุโรปที่เปิดโอกาสให้เยอรมันส่งออกไปประเทศที่เหลือได้ ซื้อของเยอรมันนั้นดี แต่ลืมไปว่าขาดดุลการค้าวุ่นวายไปหมด แล้วตัวเองลดค่าเงินของตัวเองไม่ได้ สมัยก่อนลดได้ แต่ยูโรมันอัตราเดียวกัน มันไม่มีเครื่องมือที่จะให้ยุโรปแก้ปัญหาตัวเอง ทุกวันนี้ยุโรปแก้ปัญหาไม่ได้ ผมยืนยัน และเยอรมันไม่พร้อมจะช่วยแก้ปัญหา

อีกฟากหนึ่งได้ไปคุยกับประธานฯ Prada รู้จักกันนิดหน่อย เขาก็พูดให้ฟังว่าจริงๆ แล้วคุณช่วยไปพูดให้ยุโรปเหนือฟังหน่อยได้ไหม เขาเอาแบงก์ในยุโรปร้อยกว่าแบงก์มาประเมิณความแข็งแกร่งของทุน คล้ายๆ ว่าเอามาวิ่งบนสายพาน หลายแบงก์เดี๋ยวนี้เพิ่มทุนแล้ว แต่ชื่ออยู่ในหนังสือพิมพ์หมด ท่านที่จะไปลงทุนในธนาคารยุโรปดูตาม้าตาเรือให้ดี กรุณาเอาการเทสต์ตรงนั้นมาดูหน่อย ในอังกฤษมีธนาคารหนึ่งได้คะแนนต่ำมาก

ผมเดินในยุโรป ร้าน Prada บอกว่าไม่มีคนเดินเลย ผมไปดินแถวเอเชียมันแน่นไปหมด เข้าไม่ได้ ต้องเข้าคิว ทาง Prada บอกว่าตัวเองเป็นแบรนด์ที่พึ่งคนทั่วโลก เป็นแบรนด์สำหรับนักท่องเที่ยว ผมก็แปลกใจเหมือนกัน และยังต้องพึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สูงนัก เวลานี้อัตราแลกเปลี่ยนในยุโรปมันต่ำมาก แล้วปีหน้าค่าเงินยูโรไม่มีทางแข็งขึ้นได้ อาจจะแข็งบางเวลา ตัวเลขวันต่อวัน เดือนต่อเดือน ผมเชื่อเลยว่ายูโรไม่มีวันแข็งขึ้นได้

ผมคุยกับนักการเมืองในยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน ท่านจะแปลกใจมากว่านักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำต่อไปในอนาคต เช่น ลูกสาวขอคุณเลอเพน (Jean-Marie Le Pen) ท่าทางแกมาแรงมาก พวกนี้เป็นพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมเป็นยูโรโซน ทุกคนทำไม่ได้หมด ยุโรปจำเป็นต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่จะกระตุ้นได้ หรือไม่ก็กระตุ้นผ่านการเปลี่ยนแปลงของราคาของประเทศ ลดค่าเงินบาท ลดค่าเงินหยวน แต่ยูโรมันลดไม่ได้ อย่างไรก็ไร้ประโยชน์ จะทำอย่างไรให้ลดได้ก็ต้องไปทำนโยบายของแต่ละประเทศให้ไม่เหมือนกัน ซึ่งมันยากมาก

คนใหม่ๆ ที่จะขึ้นมาเป็นนักการเมือง ถ้าเขามีโอกาสเขาก็อยากจะออกจากยูโรโซน ยุโรปตอนนี้ไปดูตัวอย่างจากญี่ปุ่นได้ เพื่อนบางคนพูดให้ผมฟังว่ายุโรปเป็น Zombification เป็นตัวที่เดินแล้วไม่มีชีวิต เดินอยู่อย่างนั้น โตก็ไม่โต ตายก็ไม่ตาย ยุโรปไม่ตายหรอก ตายก็เกิดสงครามขึ้นมาใหม่

นายศุภชัย พานิชภักดิ์
นายศุภชัย พานิชภักดิ์

ขณะนี้เพื่อนผม คริสทีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) อดีตรัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศสไปเป็นหัวหน้าไอเอ็มเอฟ ฝรั่งเศสเป็นคนป่วยคนหนึ่งของยุโรปแต่ยังไม่เข้าไอซียู แต่วันนี้ไอซียูของไอเอ็มเอฟเต็มไปด้วยคนจากยุโรป สมัยก่อนเป็นพวกเรา หน้าเหี่ยวๆ แห้งๆ ก็เข้าไอเอ็มเอฟ เดี๋ยวนี้เป็นยุโรปทั้งนั้น อยู่เต็มเลย มีปากีสถานเท่านั้นที่เป็นเอเชีย เพราะคุณมี managing director เป็นยุโรป มันเป็น conflict of interest (ผลประโยชน์ขัดกัน) ระดับโลก

ถ้าหากวันนี้แอฟริกาหรือเอเชียล้มลงมา คุณคิดไหมว่าถ้าเขามีเงินเหลือจะมาช่วย ผมไม่แน่ใจ มันมีอะไรในโลกที่ไม่เป็นธรรมบางอย่าง

สองเดือนที่แล้วมีการประชุมใหญ่ธนาคารโลกที่วอชิงตันดีซี คริสทีนเพื่อนผมก็ไปประชุม ผมรู้ว่าเขาเป็นคนดีมาก เขาก็อึดอัด มีอยู่ 2 ประเด็นที่ประชุม เรื่องที่หนึ่งมีข่าวใหญ่ของไอเอ็มเอฟ Internal Policy Review Audit จะมีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าประเมินวิธีการทำงานของไอเอ็มเอฟอย่างไร ข่าวมาชัดเจนว่าเมื่อปี 2009-2010 ให้นโยบายที่ผิดไปกับโลก บอกกับโลกว่าฟื้นแล้วจริงๆ ในปี 2009 มีเอเชียเท่านั้นที่ฟื้น อัดฉีดกันเต็มที่ก็ยังไม่ฟื้น คุณเริ่มระวังได้แล้ว ตอนนั้นผมยังอยู่ที่เจนีวา เถียงกันเรื่องใหญ่มาก ผมไม่เห็นตรงกันอยู่แล้วในช่วงนั้น

“ขณะนี้ audit ของไอเอ็มเอฟก็ออกมาบอกว่าผิดไปแล้ว ตัวคริสทีนเขาเองก็บอกมายอมรับว่าเขาผิดไปแล้ว ขอแก้ตัว กรีซตายแน่นอน อิตาลีตายแน่นอน เยอรมันติดลบก็จะแย่ไปด้วย”

ประการที่ 2 เรื่องของสหรัฐฯ คริสทีนบอกว่าฉันจะยอมเต้นระบำหน้าท้องต่อหน้าสมาชิกคองเกรสของรัฐบาลสหรัฐฯ ถ้าหากว่าคองเกรสของรัฐบาลสหรัฐฯ ยอมให้ผ่านกฎหมายไปร่วมทำการปฏิรูปกับไอเอ็มเอฟ

“เพราะเวลานี้ประเทศใหญ่ๆ ในไอเอ็มเอฟถือโควตา 17% ยุโรปถือกว่า 10% เอเชียคุยโม้มาก จีนเวลานี้มีทุนสำรอง 4 ล้านล้าน ผมว่าที่คุยในใจเขาเหี่ยว ผมเหี่ยวแทนเขาเพราะคุณมี 4 ล้านล้านไว้ทำอะไร จีนขาดทุนเป็นร้อยๆ ล้านทุกปี หยวนขึ้นทุกปี แล้วคุณเอาอะไรไปลงทุนอะไร ตราสารยูโรบ้าง อะไรบ้าง ขาดทุนแลกเปลี่ยนทุปี อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าโลกเฉลี่ยแล้ว 2-3% อีก คุณก็ขาดทุนทางดอกเบี้ยอีก แล้วคุณเก็บ 4 ล้านล้านไว้ทำอะไร น่าเสียดายมาก”

ส่วนประเทศไทยผมจะไม่มีความเห็น ผมทิ้งไว้ว่าคุณมีทุนสำรองระหว่างประเทศ ไม่ต้องคุยโม้มาก เดี๋ยวนี้ทุนสำรองฯ ในโลกเป็นส่วนเกิน มีก็ดี แต่ไม่ต้องมีขนาดที่ทำให้รู้ว่าไม่ได้ใช้เลย ต้องไปเที่ยวแจกคน

โลกนี้มันแปลกดี สหรัฐฯ กู้เงินจากจีนเพื่อมาให้เงินกู้ไต้หวัน เพื่อให้ไต้หวันมาซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ฟังแล้วงงๆ ไหม เวลานี้พันธบัตรของสหรัฐฯ อยู่ได้เพราะมีจีนซื้ออยู่ เขาคงไม่อยากจะพูด เขาหนีไปยูโรเขาก็ตายมาแล้ว ไปช่วยสเปนบ้าง เขาไปไม่ถูก ไปไหนไม่ได้ จะเห็นเวลานี้จีนตั้งกองทุนมากมายไปหมดเลย เป็นช่วงที่ดีมากของเอเชีย

เออีซียังเป็นประตูสวรรค์ของประเทศไทย ย้ำชายแดนเป็นเขตการค้าสำคัญ

จีนขณะนี้ตั้ง New Development Bank ตั้ง ASEAN Infrastructure Investment Bank จีนอยากจะเอาเงินไปลงที่ซึ่งอยู่ในเอเชีย ผมถึงบอกว่าไม่คิดว่าเอเชียจะดี เวลานี้ยุโรปกระตุ้นเศรษฐกิจแน่ นิดเดียว ผมเทียบตัวอย่างให้ดู สหรัฐฯ มี QE 3 ครั้ง QE เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความเชื่อมั่น หมายความว่ารัฐบาลเอาเงินไปใส่บัญชีแบงก์ให้ จำเป็นมาก ครั้งที่ 2 ชักมึนๆ ทำไมต้องทำ ครั้งที่ 3 ยิ่งมึนใหญ่เลย ฟังแล้วงง เพราะแบงก์เขาไม่ได้เอาไปทำอย่างอื่นเลย ไม่ได้ไปปล่อยให้เอกชน เศรษฐกิจสหรัฐฯ กระตุ้นมา 6 ปีแล้ว ใส่เงินไปไม่รู้กี่ล้านล้าน แต่ก็ยัง underperform (ได้ผลต่ำกว่า) เมื่อเทียบกับสิ่งที่อัดฉีดไป

“การเป็นง่อยในทางการเมืองในยุโรปว่าหนักแล้ว ในสหรัฐฯ ยิ่งหนักกว่า ท่านโอบามาอีก 2 ปี บอกว่าสหรัฐฯ สบายมาก รัฐบาลกับฝ่ายสภาไม่ค่อยเป็นพวกเดียวกันอยู่แล้ว แต่ท่านต้องไปลืมว่า สภาล่าง-สูงเป็นของรีพับลิกัน เขาจะช่วยให้โอบามาสำเร็จไหม”

ผมมีอยู่เรื่องเดียวที่ฝากและเตือนว่า เราไม่ไปยุ่งกับกลุ่ม TPP (The Trans-Pacific Partnership) ดีแล้ว เขาจะทำอะไรก็ช่างเขา เพราะ TPP ทำล้ำหน้า WTO ไปมาก คือไปวางเงื่อนไขสมาชิกมากกว่าเงื่อนไขของ WTO เราจบ สู้เขาไม่ได้

เราเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นว่ากำลังดี ผมก็มีความเป็นห่วงเหมือนกัน ที่ว่าอัตราจ้างงานมากขึ้น อัตราว่างงานลดลง ตัวเลขนี้ไม่น่าไว้ใจเหมือนกัน เชื่อไม่ได้เลย ทำไมถึงเชื่อไม่ได้ เวลานี้อัตราการว่างงานลดลงก็จริง แต่มันลดลงด้วยเงื่อนไขอะไร ตอนนี้คนจ้างงาน 3 เดือน อีก 3 เดือนออก ก็ไม่ต้องไปลงทะเบียนใหม่แล้ว อย่างในสหรัฐฯ คนเป็น 10 ล้านที่ไม่ไปลงทะเบียน ทำให้ Labor Market Participation Rate ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 60% ต่ำที่สุดของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ คือ ตัวเลขการว่างงานนี้มันไม่ได้ดีจริง

ประการที่สอง งานใหม่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นงานที่เป็น informal sector อย่างส่งแมคโดนัลด์ พนักงานบริการไม่ permanent สิ่งที่บอกตอนนี้เศรษฐกิจในอเมริกาดีมาก คำถามเดียวคือตอนนี้ทำไมอย่างโอบามา เลือกตั้งในอิลลินอยส์ ทำไมเดโมแครตแพ้ในเขตทางเหนือที่เป็นของเดโมแครต เวลานี้มันมี disconectivity บางอย่าง แสดงให้เห็นว่าปัญหามันลึกซึ้งมาก ตัวเลขยังไม่ดี ปีหน้ายิ่งไม่ดีใหญ่

สหรัฐฯ อัดฉีดไปมาก แล้วยุโรปก็กำลังจะอัดฉีดใหม่ ญี่ปุ่นจะอัดฉีดต่อ ญี่ปุ่นมีสภาพซอมบี้ 20 ปี ยุโรปมีด้วยแน่นอน ทางออกของยุโรปบอกตรงๆ ว่าค่อนข้างมืดมน แต่ผมเกรงว่าในอนาคตมันจะไม่เป็นอย่างนี้ได้ต่อไป หมายความว่าการเป็นยุโรปที่มีเงินสกุลเดียว แล้วก็ไปบังคับว่าต้องมีการขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 30

ผมบอกว่ายุโรปเป็นโอกาสของเรา เพราะผมไปเจอนักธุรกิจหลายคน ทั้งจีนทั้งยุโรป คราวนี้ไปเจอเจ้าชายคนหนึ่งที่ยุโรป ถ้าท่านไปในเยอรมันจะเจอปราสาทที่เขาเอาไปทำเป็นตัวละครในดิสนีย์แลนด์ ผมเจอหลานของ Ludwig II แกไปซื้อปราสาทอยู่หลังหนึ่งแล้วก็มาปรับปรุงเพื่อทำธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยทำให้เป็นของชิ้นพิเศษ เช่น ทำรูปเจ้าของลงไปบนจาน ซึ่งเป็นของที่มีคุณภาพดี ของพวกนี้ในยุโรปมีมาก

คนจีนเข้าไปซื้อชาโตว เพราะชอบดื่มไวน์มาก การลงทุนในยุโรปไม่มีแน่นอนเพราะขายราคาแพง คนกินน้อยลง แต่จีนก็ไปซื้อของเก่ามาทำใหม่ New Wine แข่งขันกันมาก คนจากจึนไปซื้อปราสาทต่างๆ ทางใต้กันมากมาย อันหนึ่งที่ผมชอบใจมาก ทราบจากเพื่อนคนจีนคนหนึ่งเขาไม่ซื้ออะไรเลย แต่ไปซื้อบริษัทประกันภัย เพราะคนออมกับบริษัทประกันภัยนี้กันมาก เขาก็ช่วยให้บริษัทดีขึ้น แล้วก็ดูดเงินนี้มาจากยุโรป แล้วไปลงทุนต่อในยุโรปอีกที ไม่ได้เอาเงินมาจากจีนเลย

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ค่าเงินในเอเชียจะผันแปร ในยุโรปจะอ่อนก่อนแล้วค่อยมาแข็งใหม่จนกว่าจะหาทางออกได้ ผมเชื่อว่ายาก ส่วนสหรัฐฯ พยายามไม่ให้แข็งจนเกินไปนัก จีนเงินหยวนก็พยายามรักษาสมดุลมา 2-3 ปี แล้ว

เมื่อตอนจีนกำลังโต 10% ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายก็โตด้วย asset bubble (ฟองสบู่สินทรัพย์) จีนตอนนี้ก็เหมือนกัน เมื่อขับรถแถวซินเจีย มีถนนจนไม่มีที่สร้างอีกแล้ว ถนนเงียบมาก ไม่มีรถสักคัน เลยต้องมาขอสร้างที่เรา ไม่มีรถวิ่ง

สิ่งที่กำลังจะเกิดคือว่า ในเอเชีย เงินบาทระยะยาวแข็งแน่ รับรอง นี่ขนาดที่เรามีการเมืองลุ่มๆ ดอนๆ ถ้าการเมืองเราปกติ บาทจะเข้าไปสู่จุดเดิมคือต่ำกว่า 30 ท่านดูรายงานของ World Economic Forum ได้ เราแย่ทุกตัวใน 10 กว่าตัว การศึกษาก็แย่ ตำรวจก็แย่ อะไรก็แย่ มีตัวเดียวที่ดีคือ macroeconomic policy นี่เป็นบรรยากาศที่ดี เป็นมรดกจากรุ่นพ่อแม่ ระบบการคลัง ระบบการเงินของแบงก์ชาติ ที่เหลือตกหมดโดยเฉพาะการศึกษา ผมอยากให้เข้าไปรื้อการศึกษา อยากจะแยกกระทรวงศึกษาไปอีกหลายกระทรวง

อุตสาหกรรมการส่งออกที่ไม่ออก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ส่วนหนึ่งเพราะเราทำตัวเองหลายอย่าง เราต้องมาปรับโครงสร้างภายใน และสิ่งที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตที่สภาพัฒน์เสนอมา เช่น อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมด้านสร้างสรรค์

สุดท้าย เวลานี้ในเออีซี ผมคิดว่าเราได้ประโยชน์สูงที่สุดใน ผมพูดจริงๆ ผมไปหลายประเทศมาหลายครั้งเขาก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่ไทยทำมามาก แต่เราได้ประโยชน์สูงสุดเพราะอะไร เพราะเราอยู่ศูนย์กลางของอาเซียนที่โยงกับจีน เชื่อมโยงกับอาเซียนหลีกไทยไม่พ้น ต้องทำนโยบายหลักให้จบให้ได้ จะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องชายแดน การลงทุนถนนหนทางนั้นมีแน่

ผมก็ห่วงการนิดหน่อยเรื่องปัญหาการบริหารชายแดน ห่วงแทนกระทรวงพาณิชย์ อยากให้มีการเปิดเผย เราต้องการอะไรที่โปร่งใส มันขยายตัวเท่าใด แต่ที่รู้คือลงใต้ดินมีมาก สองวันนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับอธิบดีท่านหนึ่งของกระทรวงฯ ท่านกล้าหาญออกไปจับภาษี ทำให้มีรายได้ดีขึ้นมาก แต่ถูกราชการด้วยกันเองโจมตีท่าน เอาคนมาประท้วงท่าน การโกงของเรา โกงกันที่ด่านก่อนเลย ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส ไม่มีคอมพิวเตอร์มารันแทนคน เสร็จครับ เรียบร้อยเลย ไม่ว่าจะโยงถนนอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะคนที่ไปช่วยให้ลงใต้ดินเป็นคนพวกเรากันเอง