ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไฟฟ้า อินอะบ็อกซ์” ทีเอ็มบี Make THE Difference กิจกรรมชุมชนเปลี่ยนชุมชน – “แบงก์ได้กำไรจากชุมชน ต้องคืนกลับให้ชุมชน”

“ไฟฟ้า อินอะบ็อกซ์” ทีเอ็มบี Make THE Difference กิจกรรมชุมชนเปลี่ยนชุมชน – “แบงก์ได้กำไรจากชุมชน ต้องคืนกลับให้ชุมชน”

7 ตุลาคม 2015


คงจะจำกันได้ถึงโฆษณา Make THE Difference พลังในตัวคุณเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ใน ชุดปันหยีเอฟซี ของธนาคารทหารไทย หรือ TMB ได้รับการตอบรับจากผู้ดูบนยูทูบ และถูกแปลในหลายภาษา ไม่นับรวมรางวัลที่ได้รับ และวันนี้กำลังจะนำไปสร้างเป็นภาพยนต์

Make THE Difference ของทีเอ็มบี ค่อยๆ สะท้อนออกมาในทุกๆ กิจกรรม เพื่อดึงพลังของพนักงาน ผู้บริโภค ชุมชน ช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าของตัวเอง องค์กร ชุมชน และสังคม

วันนี้ Make THE Diference ซึมซับกลายเป็นดีเอ็นเอของคน TMB ส่งผ่านสินค้าและบริการ รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ผู้บริโภครับรู้สึกได้ถึง Make THE Difference ของ TMB

ที่ผ่านมาแบงก์ใหญ่จะเล่นบทผู้นำตลาดมาโดยตลอด แต่วันนี้แบงก์ขนาดกลางขยับขึ้นมาเล่นเป็นบทผู้นำที่ทำให้แบงก์ใหญ่ต้องหันมาเล่นตาม Make THE Difference ของ TMB

Make THE Difference ที่ไม่ใช่แค่สโลแกนสวยๆ แต่หมายถึงศักยภาพของการสร้างคน ดึงความเป็นตัวตนของแต่ละคนในแต่ละด้านออกมาตีแผ่ให้รู้ว่าตัวตนที่แท้จริง จริงๆ แล้วทำได้มากกว่าที่คิด

โครงการ “ปลูก เปลี่ยน ป่า” เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของ“ไฟ ฟ้า อินอะบ็อกซ์”(FAI-FAH In-A-Box)ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

“บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เล่าว่า วัฒนธรรม Make THE Difference คือต้องการให้พนักงานรู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองมีศักยภาพเพียงพอ ไม่ใช่แค่ทำงาน และบริการลูกค้าให้ดี แต่ว่ายังสามารถคืนกลับให้ชุมชนได้ ซึ่งในช่วงแรกๆ การทำกิจกรรมบางทีพนักงานก็ไม่อยากจะมา แต่ที่สังเกตนะ… พอมาครั้งหนึ่งแล้วจะมาต่อเนื่อง เพราะว่าชอบ พบว่าตัวเองจะภูมิใจในตัวเองที่สามารถทำตัวเองให้เป็นประโยชน์แก่บุคลลที่สาม

“อย่างโครงการปลูก เปลี่ยน ป่า ที่บ้านสันลมจอย จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งโครงการไฟฟ้า อินอะบ็อกซ์ สิ่งที่ทำก็คือเราให้ผู้จัดการเขตในแต่ละเขตเป็นคนไปทำงานร่วมกับชุมชน และ identify ว่าชุมชนไหนที่มีโครงการที่จะเป็นประโยชน์ เพราะเราเชื่อว่าชุมชนต้องลุกขึ้นมาพัฒนาชุมชนตัวเอง และธนาคารโดยพนักงานที่มีจิตอาสาก็จะมาทำงานร่วมกับชุมชน ปีนี้ TMB มี 18 โครงการในต่างจังหวัด รวมกับสำนักงานแบงก์ใหญ่ โดยพนักงานที่สำนักงานใหญ่จะต้องระดมทุนเองประมาณ 600,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาร่วมกิจกรรมและเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในโครงการ นี่เป็น “Make THE Difference” เป็นสิ่งที่สร้างวัฒนธรรมในองค์กร

“สาขาที่ทำโครงการในต่างจังหวัด เราไม่ให้ระดมทุน งานเขาก็เหนื่อยอยู่แล้ว เพราะเขาต้องลงแรง แต่ว่าพนักงานที่สำนักงานใหญ่ต้องระดมทุนเพื่อเป็นค่าเดินทาง เป็นเงินบางส่วนมาให้กับโครงการ การระดมทุนที่สำนักงานใหญ่ เขาก็สนุก และคนที่มาบริจาคก็ชอบ บางคนก็ทำอาหารขาย บางคนก็ขายต้นไม้ บางคนก็เอาของผู้ใหญ่มาจับฉลาก มาขาย นอกจากระดมทุนแล้ว ก็มาลงแรงด้วย ดังนั้น พนักงานนอกจากทำงานประจำแล้ว เขาก็ต้องสละกำลังและเวลามาทำงานให้ชุมชนด้วย เราพบว่าทุกคนทำได้ สิ่งที่ค้นพบคือพนักงานที่มาทำกิจกรรมจิตอาสานี้ นอกจากเขาพอใจแล้ว เขาทำงานแบงก์ดีขึ้นด้วย

ในการที่เขาระดมทุนและมาทำกิจกรรมด้วยกันอย่างนี้ เขาสร้างทีมเวิร์ก จะเป็นทีมเวิร์กมาจากหลายๆ ฝ่ายงาน อันที่สองที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เขาได้รู้ว่าจริงๆ เขามีศักยภาพเยอะ หลายคนแทนที่จะมานั่งบ่นโชคชะตาของตัวเอง จะพบว่าจริงๆ เขามีศักยภาพทำอะไรได้เยอะ พบว่าเขาทำงานได้ดีขึ้น เขาไม่ได้อยู่ในระบบอุปถัมภ์แล้ว เขาเป็นระบบ Make THE Difference ได้ เขามีพลังจะ Make THE Difference ได้

แทนที่แบงก์จะจ่ายเงินให้ (ค่าใช้จ่ายในการมาร่วมทำกิจกรรมในต่างจังหวัด) จริงๆ แบงก์ก็จ่ายให้ได้ไม่มีปัญหาหรอก แต่ว่าสิ่งที่เขามาระดมทุน กิจกรรมที่เขาทำมาเป็นเดือน มันทำให้เขา… ตั้งแต่เริ่มคิด ตั้งแต่ร่วมกับพนักงานในหน่วยงานต่างๆ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาสามารถสร้างสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาได้ พอมาเจอในบรรยากาศอย่างนี้ (ทำกิจกรรมปลูก เปลี่ยน ป่า) สิ่งที่เขาระดมแรงมา มันทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดี สามารถรักษาป่า และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว และชุมชนมีรายได้ และถ้าชุมชนดูแลไปเรื่อยๆ ป่าก็ถูกรักษาไว้ ชุมชนก็มีรายได้ มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า จริงๆ ป่ากับชุมชนอยู่ด้วยกันได้ สะท้อนให้เห็นที่สำคัญที่สุดคือจริงๆ ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาดูแลชุมชนเอง ไม่ใช่รอคนอื่นมาดูแล

“ชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำ เราแค่ช่วยชุมชน ชุมชนที่เข้มแข็ง นั่นคือพื้นฐานประชาธิปไตย”

“ที่สำคัญคือ แบงก์มีสาขาทุกแห่งทั่วประเทศ และเราก็ได้กำไรจากชุมชน มันต้องคืนกลับให้ชุมชน พนักงานธนาคาร มีกิจกรรม มีธุรกิจอยู่ทุกๆ ชุมชน จะต้องคืนกลับมาให้ชุมชน”

“การให้พนักงานออกมาร่วมทำกิจกรรมนั้น จริงๆ แรกสุด ให้เขาเห็นว่ากิจกรรมมีอะไรบ้าง ทำให้ชีวิตชุมชนเปลี่ยนแปลงอย่างไร ที่ผ่านมาชุดแรกๆ คือกึ่งๆ ชักชวน กึ่งๆ บังคับให้มา แต่ว่าพอมาปุ๊บ หลังจากนั้นชุดแรกกลับมาอีก และไปบอกต่อเพื่อนฝูง กลุ่มก็ใหญ่ขึ้นๆ กว่าจะขึ้นมาใหญ่ขนาดนี้ ก็ทำมา 4–5 ปีแล้ว ดังนั้นพนักงานนอกจากทำงานได้ดี ต้องทำ community service (บริการชุมชน) ด้วย ต้องคืนกลับให้สังคม และเขาก็มา และส่วนใหญ่ทุกคนที่มาแล้วจะมาอีกๆ แต่คนที่ไม่มาจะไม่มาๆ”

กิจกรรมนี้ในมุมหนึ่ง คือเขา (พนักงาน) ได้เข้าสู่ชุมชนและเข้าใจชุมชนจริงๆ ฉะนั้นเขาจะบริการชุมชนได้ดี ในอีกมุมหนึ่งคือ ตอนที่ผมกำหนด ในแบงก์มันจะมีโครงการพัฒนาคนที่มีศักยภาพ ที่จะให้มาเป็นผู้นำ เราจะมี talent pull เราก็จะบอกเลยคนที่จะมาเป็นผู้นำ ทุกคนต้องผ่าน talent pull และคนที่จะอยู่ใน talent pull จะต้องทำกิจกรรมชุมชน ถ้าคนที่ไม่ทำกิจกรรมชุมชน ต่อให้เก่งยังไง เราจะไม่ให้เป็นผู้นำ เพราะคนที่เป็นผู้นำ เริ่มต้นต้องคิดถึงคนอื่นก่อน ถ้าไม่คิดถึงคนอื่นมันจะนำใคร ก็คือไม่ได้เป็นผู้นำที่ดี

“ดังนั้น ถ้าไม่ผ่านกิจกรรมเหล่านี้ถือว่าขาดคุณสมบัติ เราไม่ได้ต้องการเฉพาะคนมีความรู้ความสามารถ แต่ต้องการคนที่มีภาวะผู้นำที่ดี และคนที่มีภาวะผู้นำที่ดี คือคนที่คิดถึงคนอื่น ผู้นำที่ไม่ดีคือไม่คิดถึงคนอื่น”

ฉะนั้น โครงการพัฒนาผู้นำในองค์กรที่มีทุกระดับ เราบอกว่าทุกคนต้องทำกิจกรรม และเขาจะเรียนรู้เยอะมากตั้งแต่เริ่มต้นจากสร้างไอเดีย และจะขายไอเดียนี้อย่างไรให้คน/เพื่อน ยอมรับด้วย

“บุญทักษ์” เล่าต่อว่า core value ของการทำCSR ของ TMB คือ แบงก์เป็นธุรกิจเดียวที่มีการประกอบการในทุกชุมชน มีสาขาทุกชุมชน เราต้องคืนกลับให้ชุมชน ไม่ใช่แบงก์เอาเงินไปบริจาคแล้วหายไป แบงก์บริจาคส่วนหนึ่ง แต่พนักงานแบงก์ต้องมีจิตอาสาทำงานให้ชุมชนนั้นด้วย เพราะฉะนั้น CSR ของแบงก์ก็คือพนักงานมีจิตอาสาที่มาทำงานร่วมกับชุมชน

โครงการไฟฟ้า ทีเอ็มบี

“ตอนที่เราเริ่ม เราเริ่มที่เด็ก ยังไงก็เป็นหัวข้อของเรา ไฟฟ้า เราสร้างศูนย์ให้เด็กมาใช้ชีวิตตอนเย็น ตอนเสาร์อาทิตย์ จะได้ไม่ไปติดยาเสพติด แต่พอเราเริ่มคุ้นเคยกับเด็ก เด็กจะมาเล่าให้เราฟังถึงปัญหาในชุมชน และเด็กหลายคนก็มีความคิดริเริ่มว่าเขาอยากจะเปลี่ยนชุมชนอย่างไร และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่เราร่วมกับพนักงานที่มีจิตอาสาร่วมเข้าไปทำงานในชุมชน เพราะฉะนั้น CSR เริ่มต้นก็คือชุมชน ก็เริ่มจากเด็กและเข้าไปในชุมชน พนักงานจะต้องเป็นอาสาสมัคร

การมาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ไม่ได้มองว่าจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ได้คือพนักงานเข้าใจชุมชนขึ้น พอเข้าใจชุมชนขึ้นก็จะให้บริการชุมชนได้ดีขึ้น ไม่ใช่ขายประกันอย่างเดียว จะมีความเข้าใจชุมชน มีจิตที่อยากให้บริการลูกค้า เพราะลูกค้าก็มาจากชุมชน

“ที่สำคัญทำให้พนักงานเป็นคนที่ดีขึ้น พอเป็นคนที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานมีความภูมิใจในงานที่ตัวเองทำ นี่คือสิ่งที่สอดคล้องมากกว่าการทำแล้วได้ลูกค้าเข้ามา ทำแล้ว ทำให้พนักงาน ตัวเขาเองคิดถึงคนอื่น คิดถึงชุมชน แล้วในที่สุดจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไป ถึงแม้เขาจะอยู่แบงก์หรือไม่อยู่แบงก์อีกต่อไป เขารู้ว่าชีวิตหนึ่งของเขา เขาสามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าให้คนอื่นได้ และผมคิดว่าคนทุกๆ คน ถ้าเริ่มคิดถึงคนอื่น จะมีชีวิตที่มีความสุขขึ้น คนที่มีความทุกข์เพราะว่าคิดถึงแต่ตัวเอง ซึ่งการคิดถึงแต่ตัวเอง ก็จะรู้สึกว่ามันไม่พอ ยังไงก็ไม่พอ แต่ถ้าเริ่มคิดถึงคนอื่น จะคิดถึงตัวเองน้อยลง จะมีความสุขขึ้น”

Make THE Difference แม้จะทำมาหลายปีแล้ว “บุญทักษ์” บอกว่าไม่ปรับ เพราะ Make THE Difference ทำให้พนักงานทุกคนค้นพบตัวเองว่าเขามีศักยภาพที่จะ Make THE Differnece มันถึงทำให้องค์กรสามารถ Make THE Difference ทำให้องค์กรเราให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีในตลาด ในเมืองไทยมาก่อนตลอดเวลา แล้วแบงก์อื่นมาเลียนแบบเราก็ทำให้ระบบแบงก์เราดีขึ้น นั่นคือวิธีการ Make THE Difference

เราก็มี DNA 4 ตัวในการ Make THE Difference ต้องถามตัวเองว่า 1. ทำไมต้องทำแบบนี้ 2. หาวิธีใหม่ 3. ต้องจริงใจ 4. ต้องง่าย

“จริงๆ คำว่า Make THE Diffference มันแปลว่าทำสิ่งที่แตกต่าง แต่มันไม่ใช่ เรายังหาคำแปลไม่ได้ Make THE Difference หมายถึงแต่ละคนสามารถเปลี่ยนโลกของตัวเองให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้น แปลไทย แปลหลายทีมันไม่ลงตัวเลย แปลว่าเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น”

เพราะฉะนั้น ชีวิตไม่มีทางดีขึ้น ต้อง challenge and improve upon the status quo ตลอดเวลา เราเปลี่ยนเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น ดูแลร่างกายให้ตัวคุณเองดีขึ้น ดูแลครอบครัวให้ดีขึ้น ชีวิตก็ดีขึ้นแล้ว ชุมชนจะต้องเปลี่ยน เพื่อให้ชีวิตชุมชนดีขึ้น ถ้าทำแบบเดิม มันก็ได้อย่างเดิมๆ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มันต้องเปลี่ยน ถึงจะมีสิ่งที่ดีขึ้น

เด็กนักเรียนทำหน้าที่มัคคุเทศก์ ตามเส้นทางเดินป่าในหมู่บ้านสันลมจอย
เด็กนักเรียนทำหน้าที่มัคคุเทศก์ ตามเส้นทางเดินป่าในหมู่บ้านสันลมจอย
มัคคุเทศก์อธิบาย"ดงหิน ถิ่นกำเนิด"
มัคคุเทศก์อธิบาย”ดงหิน ถิ่นกำเนิด”

ต้นเฟิร์น

อ่างเก็บน้ำของหมู่บ้านสันลมจอย ที่มาจากป่าที่ชุมชนช่วยกันดูแล
อ่างเก็บน้ำของหมู่บ้านสันลมจอย ที่มาจากป่าที่ชุมชนช่วยกันดูแล

กิจกรรมปลูก เปลี่ยน ป่า พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชน

กิจกรรมปลูก เปลี่ยน ป่า เป็นโครงการปรับเปลี่ยนผืนป่าใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาสาสมัครทีเอ็มบีเขตเชียงใหม่กับชุมชนสันลมจอย ที่ช่วยกันตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของชุมชน เป็นแนวทางที่ชุมชนร่วมกันเป็นคนกำหนดชีวิตในวันนี้และวันหน้าของลูกหลาน การปลูกป่าเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่อาสาสมัครทีเอ็มบี ช่วยจุดประกายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนตระหนักในศักยภาพตนเองในการลงมือ” เปลี่ยน” เพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือคนในชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจที่จะดูแล พัฒนาและสานต่อสิ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงในวันนี้ให้คงอยู่ และพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีจุดเด่น คืออยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่มากสุด สะดวกต่อการเดินทางในการมาเดินป่า มีมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนให้ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางเดินป่า รวมทั้งชุมชนในการจำหน่ายสินค้าเกษตร สินค้าพื้นเมือง อาหาร

โครงการปลูก เปลี่ยน ป่า เป็นเส้นทางเดินป่า 2.5 กิโลเมตร บนอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย แบ่งเป็น 9 จุดศึกษา ได้แก่ ร่องรอยจากอดีต ดงตะแบก ดงหินถิ่นกำเนิด ทักทายจอมปลวก ต้นไทรนักบุญแห่งป่า ผีปันน้ำ ดงไผ่ไม้สาระพัดประโยชน์ ลานหินยินเสียงไพร และน้ำแห่งชีวิต โดยแต่ละจุดจะมีเรื่องราวที่เล่าผ่านร่องรอยธรรมชาติของป่า สะท้อนชีวิตและความเป็นอยู่ของคนและป่าที่อยู่ร่วมกัน พึ่งพากันและกัน เพื่อสร้างรายได้และความสมบูรณ์ของผืนป่า

หมู่บ้านสันลมจอย เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่มีประชากร 500 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ร่วมกันของคนท้องถิ่นดั้งเดิมและพี่น้องชนเผ่าบนที่สูง อาทิ ชาวอาข่า ชาวลีซู การบริหารหมู่บ้านจะขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการหมู่บ้านและแบ่งเขตการดูแลออกเป็นคุ้มบ้าน มี 10 คุ้มบ้าน แต่ละคุ้มบ้านจะมีหัวหน้าคุ้มบ้านและคณะกรรมการคุ้มบ้านคอยดูแล