ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ‘ปิติ  ตัณฑเกษม’ เปิดเส้นทาง ttb สู่’การธนาคารเพื่อความยั่งยืน’ บน ESG ที่เริ่มจาก B ‘Business Sustainability’

‘ปิติ  ตัณฑเกษม’ เปิดเส้นทาง ttb สู่’การธนาคารเพื่อความยั่งยืน’ บน ESG ที่เริ่มจาก B ‘Business Sustainability’

2 กรกฎาคม 2023


นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต

ปิติ  ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เปิดแนวคิดและเส้นทางสู่ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ที่เริ่มต้นจาก Business Sustainability คือทำธุรกิจให้ยั่งยืนก่อน และร้อยเรียงการทำงานไปพร้อมกับ Environment Social และ Governance หรือ ESG แบบ in process คือ นอกจากทีทีบีแล้ว ยัง empower ให้ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร ของทีทีบี มาร่วมกัน ผนึกกำลังกัน ให้ประเทศไทยยั่งยืนขึ้น ธนาคารก็จะเป็นธนาคารที่มีความยั่งยืนได้

ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบัน คือ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb ได้ ชูแนวคิด Make THE Difference ที่ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นบริการการเงินที่ไม่มีดอกจัน *** ไม่มีเงื่อนไขในแต่ละบริการมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาสู่ Make REAL Change สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคนไทย ผ่านการยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของธนาคาร มุ่งสร้างชีวิตทางการเงินคนไทยให้ดีขึ้น Financial Well-being ภายใต้การควบรวมเป็นทีเอ็มบีธนชาต

ปิติ กล่าวว่า ครั้งที่มีการควบรวมธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต กรรมการได้ตั้งคำถามว่า การที่ฝ่ายจัดการจะขอเงินจากผู้ถือหุ้นเพื่อเอาไปรวมแบงก์ จากนั้นพอแบงก์โตขึ้น ใหญ่ขึ้นแล้ว อยากเห็นแบงก์เป็นอะไร คำตอบคือ…

“เราอยากทำสิ่งที่มีผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม อยากเป็น Financial Well-being จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นธนาคารที่ทำสิ่งที่ดีให้กับสังคม ให้กับลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดี และได้ทำมาตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา”

ปิติตอกย้ำส้นทางความสำเร็จสู่ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ที่มุ่งเดินตามกรอบ B+ESG ผสานธุรกิจและความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกัน ชูธงทุกกลยุทธ์และแนวทางดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ชุมชนและสังคม พร้อมสนับสนุนให้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและกติกาใหม่ของโลก ด้วยองค์ความรู้และโซลูชันที่ตอบโจทย์อีกครั้งในการแถลงข่าววันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

ปิติกล่าวว่า ในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดี (Financial Well-being) ให้กับคนไทย โดยนำแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) มาเป็นรากฐานในการวางกลยุทธ์ทั่วทั้งองค์กร ฉะนั้นเป้าหมายการเป็นธนาคารที่ยั่งยืนนั้น คำว่ายั่งยืน ไม่ได้มีเพียง ESG เท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากแบงก์ จึงขยายคำว่า B หรือ Business Sustainability หรือความยั่งยืนทางธุรกิจ เป็นสิ่งแรก แต่จะยั่งยืนได้ คนรอบ ๆ หรือ หรือ stake holder ต้องยั่งยืนด้วย ในฐานะที่ธนาคารเป็นตัวกลางระหว่างคนกู้เงิน ลูกค้า คู่ค้า ถ้าธนาคารยั่งยืนแล้วลูกค้าเดือดร้อน จะต้องมีอะไรแปลกประหลาดแน่ ฉะนั้น ทุกกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับทุก Stakeholders เป็น in process โดยสิ่งที่เราทำทุกวัน ต้องยั่งยืน ไม่ใช่เพราะวันนี้โลกมีกติกาใหม่เกิดขึ้น ก็เลยครอบเรื่องความยั่งยืนเข้าไปเพื่อให้แบงก์ดูดีในสายตาของสังคม แบงก์ไม่ต้องการทำ ESG เพื่อเป็นเปลือก แต่อยากให้ ESG เป็นแก่นของแบงก์

“ทีทีบี ถือว่าเรื่องการสร้างความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของธนาคาร ที่จะต้องให้การสนับสนุนลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคมให้สามารถดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลบรรษัทภิบาลที่ดี ซึ่งทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่า ESG อยู่แล้ว แต่สำหรับทีทีบีได้เพิ่ม B หรือ Business Sustainability ไปด้วย เพราะเชื่อว่าเรื่องของการดำเนินธุรกิจและความยั่งยืนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทุกกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับทุก Stakeholders ของเรา เห็นได้จากสิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน”

“สิ่งที่คุยกันในแบงก์ตลอด คือ ความยั่งยืนได้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ถ้าเราจะทำ ESG สมมติเล่น ๆ ว่า ธุรกิจเราคือค้ายาเสพติด เป็นบ่อนการพนัน แล้วจะมาทำเรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่แล้ว เพราะสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ดีต่อสังคม เป็นสิ่งเลวร้าย แล้วจะมาทำ ESG มันตลกแล้ว มันจะเปลือกที่ครอบอยู่บนสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ ไม่ได้ยั่งยืน”

ทั้งนี้ ตั้งต้นปีที่ผ่านมา ในแบงก์มีการคุยกันว่าจะทำเรื่อง ecosystem จากจุดแข็งที่ทีทีบีมีอยู่ คือ บ้าน รถ และมนุษย์เงินเดือน ก่อนจะขยายต่อไปกลุ่ม เกษตรกร ครู ข้าราชการ ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มนี้ไม่สำคัญ แต่อาจจะไกลจากทีทีบี ขณะที่ทีทีบีมีมนุษย์เงินเดือน 1 ล้านรายที่รับเงินเดือนผ่านช่องทาง

เริ่มจากลูกค้าบุคคล ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนก่อนที่จะขยายไปกลุ่มเกษตรกร ครู ข้าราชการ ไม่ใช่เพราะกลุ่มนี้ไม่สำคัญ แต่อาจจะไกลจากทีทีบี ขณะที่แบงก์มีมนุษย์เงินเดือน 1 ล้านรายที่รับเงินเดือนผ่านแบงก์ ปัจจุบันมีการพูดเรื่องหนี้ครัวเรือนกันมากว่า คนไทยได้รับความคุ้มครองไม่พอเพียง ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ภาระทางการเงินลดลง ช่วยให้ลูกค้าบุคคลสามารถเดินหน้าต่อไปได้แม้ยามมีวิกฤต อาทิ มีบัญชี all free ที่มอบฟรีประกันอุบัติเหตุและชีวิตให้ลูกค้า ส่งเสริมให้ลูกค้าที่เป็นหนี้ลดภาระดอกเบี้ยสูงผ่านการรวบหนี้ (Debt Consolidation) โดยบอกลูกค้าว่าเป็นหนี้ได้ แต่ต้องมีเป้าหมายว่าเมื่อไหร่จะหมดหนี้ และมองต่อถึง ecosystem รวมทั้งทยอยเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนแอป ttb touch เป็นมากกว่าพร้อมเพย์ หรือจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด แต่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มพนักงานเงินเดือนและคนมีรถจัดการเรื่องสำคัญของชีวิตได้อย่างครบวงจร และมีชีวิตที่ดีขึ้น

ลูกค้าธุรกิจ ปัจจุบันเต็นท์รถมือสองถือเป็นพันธมิตรสำคัญของทีทีบีที่ถูก disrupt จาก digital economy จะไปต่ออย่างไรเพราะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้ยากที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยี ทีทีบีเองก็ต้องพึ่งพาเต็นท์รถมือสอง ลูกค้าก็ต้องการรถมือสองที่มีคุณภาพ ทีทีบีจึงเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ “รถโดนใจ” ที่รวบรวมรถมือสองคุณภาพดีมาไว้ให้ลูกค้าเลือก วางระบบให้เขายรถผ่านออนไลน์ได้ และดีต่อลูกค้าทีทีบี อย่าง บริษัทให้เช่ารถ พอครบกำหนดจะขายรถที่ไหน ก็ให้มาขายตรงนี้ ลูกค้าที่กู้เพื่อซื้อรถมือสองก็สามารถจัดไฟแนนซ์รถยนต์กับ ttb DRIVE ครบจบในที่เดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ Ecosystem สำหรับคนมีรถ รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้ลูกค้ากลุ่มเต็นท์รถมือสองให้สามารถก้าวทันกระแสดิจิทัล และปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปสู่ช่องทางออนไลน์อันเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคในปัจจุบันใช้งาน เพื่อทำให้ธุรกิจของเต็นท์รถมือสองเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นตัวอย่างของ in process ESG ของทีทีบี ปัจจุบันมีดีลเลอร์มาร่วมเป็นพันธมิตรกับรถโดนใจแล้วราว 900 ราย

“สิ่งที่เราทำไปไม่ได้เพียงแค่แถลงข่าวแล้วจบไป ไม่ได้แค่เป็น PR event แต่ต้องการเห็นผลที่เกิดขึ้นจริงกับลูกค้าจริงว่า เขาดีขึ้นหรือไม่ เต็นท์รถขายรถได้มากขึ้นหรือไม่ สามารถแข่งขันได้หรือไม่ เอสเอ็มอีเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นหรือไม่ สามารถอยู่รอดในธุรกิจได้หรือไม่ นี่คือ มิติแรก ของ B คือธุรกิจของทีทีบี ต้องนำไปสู่ความยั่งยืนของคู่ค้า ของพันธมิตร ของลูกค้า”

ปิติ กล่าวว่า ขณะเดียวกันทีทีบีก็ไม่ได้ทิ้งเรื่อง E S G แต่จะเอามาเป็นเปลือกไม่ได้ เพราะ ESG เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อธุรกิจทีทีบี และขณะนี้คงหนีกระแส การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero) ไม่ได้ แต่ทีทีบีไม่ได้เพิ่งทำ และไม่ต้องการทำเพราะเป็นกระแส ทั้งนี้ เรื่อง carbon footprint จะมี 3 scope คือ หนึ่ง แบงก์ผลิตเอง สร้างคาร์บอนฯ เช่น รถยนต์แบงก์ปล่อยคาร์บอนฯ ออกมาในอากาศเท่าไหร่ สองสิ่งที่แบงก์ใช้ เช่นไฟฟ้าที่ซื้อมา สร้างคาร์บอนฯ เท่าไหร่ สาม คือนับไปถึงคู่ค้า ลูกค้า ว่าเขาสร้างคาร์บอนฯ เท่าไหร่ ซึ่งยากมากในการนับ แต่ถึงกระนั้น ถ้าเทียบแล้ว แบงก์สร้างคาร์บอนฯ ส่วนที่หนึ่งและสองน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม แต่แบงก์ในฐานะที่อยู่ตรงกลาง ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรม จะสำคัญกว่าหรือไม่ ถ้าแบงก์ empower ให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนฯ สูง สามารถเข้าใจแล้วสร้างคาร์บอนฯ หรือปล่อยคาร์บอน ฟุตปรินท์ ลดลง

“นี่เป็นแนวคิด ว่า ทีทีบี ควรเป็น empower เพราะทีทีบีไม่ใช่ตัวหลักในการสร้างคาร์บอนฯ แต่ควร empower ให้คนที่สร้างคาร์บอนฯ เข้าใจว่า มันส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร ให้ข้าใจว่าถ้าเขาไม่ปรับปรุงตามกติกาใหม่ของโลกจะทำให้แข่งขันยากขึ้น หรือแข่งไม่ได้เลย”

นอกจากนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมยังมีมากกว่าการลดคาร์บอนฯ การเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า แต่ทีทีบีไปไกลกว่า คือ การเป็น Responsible Lending ด้วยการออก green bond และ blue bond หรือหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล มูลค่ารวมมากกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินทุนไปสนับสนุนลูกค้าธุรกิจผ่านสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า และปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปแล้วมากกว่า 13,000 ล้านบาท ในปี 2565 และตั้งเป้าจะปล่อยเพิ่มอีกมากกว่า 9,000 ล้านบาทภายในปี 2566 โดยปัจจุบันธนาคารเป็นผู้นำตลาดด้านการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ EV ราว 6,500 ล้านบาท ฉะนั้น ตราสารหนี้ที่ทีบีออก ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวหรือสีฟ้า เป้าหมายคือการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน

สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นเรื่องใหญ่ว่าจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเหล่านี้มีความรู้มากขึ้นในเรื่อง Green เพราะกติกาโลกไม่ได้มีผลเพียงแบงก์หรือบริษัทใหญ่เท่านั้น ถ้าเอสเอ็มอีไม่ทำตามกติกาโลกก็จะขายของไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ เป็นหน้าที่ของแบงก์ เพราะเขาอาจไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ส่งผลกระทบอะไร และถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไข จะกระทบต่อธุรกิจของเขาอย่างไร เรื่องนี้ต้องขอบคุณพันธมิตรในบริษัทใหญ่ ๆ อย่างบริษัท ไทยยูเนียน ที่รู้ดีกว่าธนาคาร ที่เข้ามาพูดคุย มาให้ความรู้ กับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กว่า นี่คือ journey ของบริษัทใหญ่ เป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่เผชิญมา และสิ่งนี้จะมากระทบธุรกิจขนาดเล็กและกลางเมื่อไหร่ และต้องทำอย่างไรบ้าง โดยทีทีบี มีการนำหัวข้อ ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb ที่ทำมาตลอด 10 ปีในการให้องค์ความรู้ที่สำคัญกับลูกค้าธุรกิจธนาคาร นอกจากนี้ยังจัดทำศูนย์กลางความรู้เชิงลึกที่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ ภายใต้ชื่อ finbiz by ttb บน website มีผู้เข้าชมกว่า 1 แสนคนต่อปี ทั้งมีการจัดงานสัมมนาให้ความรู้ในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเข้าร่วมงานกว่า 700 บริษัท

นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในบทบาทการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) สิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้และเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างเห็นผล คือ การสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมผ่านโซลูชันทางการเงินที่ยั่งยืนและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล มูลค่ารวมมากกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินทุนไปสนับสนุนลูกค้าธุรกิจผ่านสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า และปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปแล้วมากกว่า 13,000 ล้านบาท ในปี 2565 และตั้งเป้าจะปล่อยเพิ่มอีกมากกว่า 9,000 ล้านบาทภายในปี 2566 โดยปัจจุบันธนาคารเป็นผู้นำตลาดด้านการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ EV ราว 6,500 ล้านบาท

สำหรับความยั่งยืนด้านสังคม หรือ Social Sustainability เป็นอีกเรื่องที่ทีทีบีให้ความสำคัญ สิ่งแรกที่ทำคือ payment cash management โดยลูกค้าหลักของแบงก์กลุ่มหนึ่ง คือ มูลนิธิและองค์กรการกุศล ที่มักมีปัญหาเรื่องการออกใบเสร็จทำบุญเพื่อให้ผู้บริจาคนำไปหักภาษี หรือการระดมทุนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์ม ปันบุญ เพื่อเป็นพื้นที่ช่วยมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลให้สามารถเข้าถึงฐานผู้บริจาคได้มากขึ้น ผ่านการรับบริจาคเงินบนโลกออนไลน์ สอดคล้องกับ Digital Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ และยังช่วยให้มูลนิธิบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างครบวงจร ทั้งด้านการรับบริจาคและงานเอกสารต่าง ๆ ของมูลนิธิได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของทีทีบี เพราะเป็นผลงานที่ถูกขับเคลื่อนภายใต้แกน Business และ Social ไปพร้อม ๆ กัน และปัจจุบันมีมูลนิธิที่ร่วมอยู่บนปันบุญมากกว่า 270 แห่ง ระดมเงินบริจาคไปแล้วมากกว่า 400 ล้านบาท หรืองานกฐินพระราชทานในแต่ละปี ก็จะหารือเจ้าอาวาส ในการที่แบงก์จะระดมเงินทำบุญมากกว่าทุกปี แต่ส่วนหนึ่งนอกเหนือจากถวายวัดแล้ว จะมอบให้โรงเรียนและโรงพยาบาลในจังหวัด โดยมีการตั้งเคพีไอ เป็นกฐินเคพีไอ ว่าถ้าระดมเงินทำบุญได้เท่านี้จะส่งให้โรงพยาบาลและโรงเรียนในจังหวัดได้กี่แห่ง ซึ่งทำมา 2-3 ปีแล้ว


นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) ที่ทีทีบีทำมาอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาก โดยมุ่งเน้นการสอนจับปลาแทนการให้ปลา เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสังคมให้กับเยาวชนและชุมชนต่าง ๆ ซึ่งมีไฟ-ฟ้าเป็นโครงการหลักในการจุดประกายเยาวชนและชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมีศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า 5 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อจุดประกายเยาวชนให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมามีเด็กเข้าร่วมโครงการมากกว่า 10,000 ราย

“ที่สำคัญมาก คือ การที่แบงก์จะเติบโตได้ ผู้บริหารระดับใหม่ ๆ ที่จะขึ้นมาสามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะพนักงานจะอยู่กันเป็นฝ่าย เชี่ยวชาญในแต่ละฝ่าย การฝึกงานจากงานที่เป็นอยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงเริ่มใหม่ ลองทำงานร่วมกันในเรื่องที่ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าใครในโครงการเพื่อสังคม talent ของเราจะถูกมอบหมายให้หาโครงการที่อยากช่วยยกระดับให้ชุมชนนั้นดีขึ้น แล้วนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยเขา องค์กรก็ได้เพราะนี่จะเป็นส่วนหนึ่งของ talent development program คือการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันได้ ทำให้ปัจจุบัน มีโครงการที่มีพนักงานทีทีบีทั่วประเทศเป็นอาสาสมัครเข้าไปช่วยจุดประกายชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มากกว่า 200 โครงการ ด้วยการนำทักษะและความรู้ของพนักงานลงไปช่วยเหลือชุมชนรอบข้าง”

ท้ายสุด ทั้งหมดนี้จะทำได้ต้องมีความโปร่งใส มีความถูกต้อง โดยทีทีบีได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในด้าน Corporate Governance & Business Ethics หรือ บรรษัทภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจ เห็นได้จากการมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่ช่วยชี้แนะและผลักดันให้มีนโยบายที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดทำให้ธนาคารได้รับรางวัล “การเงินที่เป็นธรรม” จาก Fair Finance Thailand คว้าอันดับหนึ่งด้วยคะแนนสูงสุดในกลุ่มธนาคารไทยด้าน ESG ถึง 4 ปีซ้อน และล่าสุดธนาคารได้รับการจัดอันดับที่ดีที่สุดด้าน ESG ในกลุ่มสถาบันการเงินในประเทศไทย และเป็นอันดับสองในระดับเอเชียสำหรับกลุ่ม (Mid/Small Cap) และกลุ่มประเทศเอเชีย (ไม่รวมจีนและญี่ปุ่น) จาก Institutional Investor’s 2023 Asia (ex-Japan) Executive Team จากการโหวตของนักวิเคราะห์ สะท้อนถึงความทุ่มเทและความจริงจังที่ธนาคารมุ่งเน้นเรื่อง ESG มาอย่างสม่ำเสมอ

“เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจ และ ESG จะเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน เราไม่เพียงมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน แต่ยังมุ่งขยายขอบเขตและความยั่งยืนให้เกิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง และนี่คืออีกหนึ่ง Mission หรือ หน้าที่ของธนาคารที่ให้การสนับสนุนลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคมของเราให้สามารถดำเนินชีวิตและธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายปิติ กล่าว