ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > การบินไทยและไทยสมายล์ เดินหน้าสู่ต้นแบบ “สายการบินลดการสูญเสียด้านทรัพยากรอาหาร” ในภูมิภาค

การบินไทยและไทยสมายล์ เดินหน้าสู่ต้นแบบ “สายการบินลดการสูญเสียด้านทรัพยากรอาหาร” ในภูมิภาค

22 มกราคม 2020


งานแถลงข่าวเปิดตัว Save Food Save the World ซึ่งจัดขึ้น ณ อาคาร 1 สำนักงานใหญ่การบินไทย เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563

การบินไทยและไทยสมายล์ ประกาศวิสัยทัศน์ความยั่งยืนปี 2563 เปิดตัวโครงการ “Save food Save the world” จับมือ Food Innopolish สวทช. ตั้งเป้าลดการสูญเสียด้านทรัพยากรอาหาร จาก อาหารที่เหลือจากการบริโภคและการให้บริการอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทานลง 3% คาดลดต้นทุน 20 ล้านบาทต่อปี ชูมาตรการ Pre Selected Order เลือกเมนูก่อนบินนำร่องเส้นทางยุโรป พร้อมขยายผลทุกเส้นทางภายในปี 2564

วันนี้ (วันที่ 22 มกราคม 2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food WasteManagement) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด กับ Food Innopolis สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมี นายสุเมธ ดำรงชัยธรรมกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยด้วยพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทยฯ และ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมลงนาม

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food WasteManagement) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด กับ Food Innopolis สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติได้ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด และในปี 2563 นี้ การบินไทยจะดำเนินกิจการมาครบ 60 ปี จึงได้กำหนดนโยบาย โดยเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food Waste Management) ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากการผลิตอาหารในครัวการบินและลดปริมาณอาหารที่เหลือจากการให้บริการบนเครื่อง โดยโครงการ Food Waste Management จะทำให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการด้านทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน การบินไทยมีการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการโดยจะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน ผู้โดยสาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งนี้ การบินไทยยังกำหนดเป้าหมายโดยมุ่งสู่การเป็นสายการบินเพื่อความยั่งยืน ภายในปี 2566

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

คาดมาตรการใหม่ลดต้นทุน 20ล้านบาทต่อปี

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การบินไทยได้มีการบริหารจัดการในการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การหาวิธีใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งบริหารจัดการเพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรจากกระบวนการผลิตอาหารบริการบนเครื่องซึ่งฝ่ายครัวการบินของการบินไทยได้ดำเนินการมาตลอด อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมโครงการ Food Waste Management อย่างจริงจัง จะเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการบินโดยจะทำให้การบินไทยลดการสูญเสียวัตถุดิบจากการผลิตอาหารถึง 400 กก./วัน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท/ปี

สำหรับแนวทางการดำเนินงานภายใต้โครงการ Food Waste Management ในปีแรกจะมุ่งเน้นการทวนสอบเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบการผลิตอาหารและการบริการทั้งระบบตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ การผลิตของฝ่ายครัวการบิน การวางแผนเมนูอาหาร การผลิตและการนำอาหารขึ้นเครื่อง ตลอดจนการบริหารจัดการขยะบนเที่ยวบิน การทดลองนำแนวทางใหม่ๆ เช่น การบริหารจัดการอาหารให้บริการให้หมดบนเครื่อง การพัฒนาระบบPre-Selected Menu เพื่อให้ผู้โดยสารเลือกเมนูก่อนคาดว่าจะสามารถลดการสูญเสียอาหารที่ผู้โดยสารไม่ต้องการได้ถึง 20% โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวจะเริ่มใช้ในเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางยุโรปในปี 2563 และภายในปี 2564 จะมีการดำเนินการในทุกเที่ยวบิน

“ วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้กระบวนการในการบริหารจัดการ food waste เป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างน้อยจะทำให้เราเป็นต้นแบบ ในลดการสูญเสียอาหาร ที่ผ่านมาในการบริหารจัดการอาหารที่สูญเสียเราทำตรงนี้อยู่แล้วประมาณ 80% เราตั้งเป้าเพิ่มอีก 10% และในที่สุดจะครบ 100% โดยแผนงานจะมี Pre- Seleted Menu เพื่อลดการสูญเสียอาหารเราจะเริ่มที่สายการบินยุโรป ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของการทำการบินของเราถ้าเราทำได้อย่างราบรื่น ในปีต่อไปเราจะสามารถทำได้ครบทุกเส้นทาง ซึ่งจะมีผลกระทบเชิงบวกในเรื่องการลดการสูญเสียตรงนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายสุเมธกล่าว

ทั้งนี้การบินไทยตั้งเป้าหมายว่าสำหรับปีแรกของการดำเนินการจะสามารถลดการสูญเสียอาหารรวมได้ราว 3%เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,078 ตันคาร์บอน/ปีหรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่จำนวน 230,000 ต้น การลดการสูญเสียอาหารยังจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเด็นการลดการสูญเสียอาหารสำหรับประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ(SDGs) ได้ในที่สุด

นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด

ไทยสมายล์ ชูแคมเปญ “เปลี่ยนอาหารเป็นเงินบริจาค”มอบให้เด็ก 1แสนมื้อ

นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยว่า การสูญเสียอาหารเป็นปัญหาใหญ่และสร้างผลกระทบไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการบิน ในปี 2563 นี้จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการอาหารและลดการสูญเสียอาหารบนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนการดำเนินการที่จะให้ผู้โดยสารสามารถเลือกแสดงความประสงค์ในการปฏิเสธอาหารบนเที่ยวบินล่วงหน้าได้ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการปริมาณอาหารบนเที่ยวบินได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2563 จะลดความสูญเสียอาหาร ได้ถึง 16.45 ตันต่อปี แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 5.7 ตันต่อปีและเส้นทางระหว่างประเทศ 10.75 ตัน ต่อปี คาดการณ์จากสถิติของผู้ที่ปฏิเสธอาหารบนเที่ยวบินที่ผ่านมาที่มีประมาณ 1.4%

“เราเชื่อว่าอาหารจากการปฏิเสธอาหารของผู้โดยสารจะช่วยลดปริมาณ Foodwaste ได้มากถึง 100,000 มื้อต่อปีหรือ 16.45 ตันต่อไปซึ่งนอกจากเราจะนำไปบริจาค เราเชื่อว่าแคมเปญบริจาคอาหารจะช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องการสูญเสียอาหารและผู้โดยสารมีส่วนร่วมได้มากขึ้นด้วย” นางชาลิดากล่าว

ที่ผ่านมา ไทยสมายล์ได้ดำเนินการและสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ ปี 2561 ตามแนวคิดประสิทธิภาพเชิงนิเวศ (Eco-efficiency) อาทิเช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบแก้วพลาสติก เป็นแก้วที่ผลิตจากชานอ้อยซึ่งสามารถย่อนสลายได้เองตามธรรมชาติ การคัดแยกขยะประเภท PET บนเครื่องบิน และนำมา ผ่านกระบวนการเพิ่มมูลค่า Upcycling อาทิเช่น ผ้ากันเปื้อน ของพนักงานต้อนรับ เสื้อยืด หมวกผ้า ฯลฯ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นไทยสมายล์ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในการจัดการอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการเปิดโอกาสให้ผู้โดยสาร สามารถแสดงความประสงค์ที่จะปฏิเสธอาหารบนเที่ยวบินล่วงหน้า เพื่อลดการสูญเสียอาหาร โดยไทยสมายล์ ได้เปลี่ยนมูลค่าอาหารมื้อที่ผู้โดยสารปฏิเสธไปสู่การบริจาคยังมูลนิธิต่างๆ

คมนาคม เล็งขยายผลรัฐวิสาหกิจ-หน่วยงานในสังกัด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความร่วมมือวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เพราะปัญหาเรื่องมลภาวะ และการใช้ทรัพยากรเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องตระหนัก ต้องชื่นชมการบินไทยและไทยสมายล์ที่มีความริเริ่มในการแก้ไขปัญหา และทำให้ได้เห็นความมุ่งมั่นและการตระหนักถึงบทบาทในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกอบธุรกิจ นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่สะท้อนใมห้เห็นถึงความพยายามในการลดอัตราการสร้างขยะ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น และตนพร้อมนับสนุน ให้สิ่งเหล่านี้ขยายไปสู่รัฐวิสาหกิจอื่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมต่อไป

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีขยะอาหาร 30 ล้านตันต่อวัน การบินไทยเองมีขยะอาหาร 20 กว่าตันต่อวัน โดยครึ่งหนึ่งจะมาจากครัว และอีกครึ่งมาจากการให้บริการบนเที่ยวบิน ส่งผลกระทบในสร้างก๊าซมีเทนและเป็นการสูญเสียทรัพยากรน้ำ ดิน ที่ใช้ในการผลิตอาหาร ไปอย่างไร้คุณค่า  การจะก้าวไปข้างหน้าในการแก้ปัญหาขยะอาหารต้องมีการปรับปรุง พัฒนาและเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้น และวันนี้การริเริ่มของการบินไทยถือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของไทยในเรื่องขยะอาหาร ประเทศไทยกำลังได้รับการจับตาจากทั่วโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม ขยะอาหารสร้างผลกระทบจากแลนด์ฟิล ที่ทิ้งขยะซึ่งลป่อยก๊าซเรือนกระจก และยังสร้างผลกระทบจากต้นทางของทรัพยากร น้ำ ปุ๋ย ทรัพยากรดิน และแรงงานเกษตรกรที่ต้องสูญเสียไปจากการผลิตอาหาร โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำที่ขณะนี้ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการแก้ไขปัญหา Food Waste เป็นการแก้ไขปัญหาต้นทางที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรและต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ตัวอย่างของอาหารส่วนเกิน ที่ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ ทุกวันนี้ครัวการบินไทย ดำเนินงานเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการอาหารไปแล้วกว่า 80% ปี 2563 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 10% และตั้งเป้าที่จะลดขยะอาหารให้เหลือศูนย์ในท้าทายที่สุด

“การที่บริษัทที่เป็นสายการบินแห่งชาติก้าวมาเป็นผู้นำในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้โดยสารหลายท่านอาจจะคาดหวังความหรูหรา แต่ในขณะเดียวกันโลกขณะนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งก้อนอิฐและดอกไม้เหมือนกับปัญหาพลาสติก ที่มีดราม่ามากมาย ขอเป็นกำลังใจให้กับการเปลี่ยนแปลง แต่ละคนต่างทัศนคติ 100 คน ก็ 100 ทัศนคติ ก้อนหินจะต้องมาดอกไม้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้ามันง่ายๆคงจะไม่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าการดำเนินการวันนี้นอกจากส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับการบินไทย จุดเริ่มต้นวันนี้จะนำไปสู่ความก้าวหน้าในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า” นายวราวุธกล่าว

หนุน BCG Model ลดทรัพยากร 1 ใน 3

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เปิดเผยว่าสวทช. มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศภายใต้แนวทาง “ประเทศไทย 4.0”ที่ปรับระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ. 2561-2580) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)โดยสร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 (SDGs 12)โดยมีตัวชี้วัดเรื่องของการลดของเสียจากอาหารที่ถูกทิ้งของโลกต่อหัวประชากรลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายใน พ.ศ.2573 ในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของ สวทช.ที่จะให้คำปรึกษากับการบินไทยและไทยสมายล์ในการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานด้วยความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวทางในการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงการให้คำแนะนำในการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายเพื่อประเมินประสิทธิผลของโครงการ

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

อีกทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจจากการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรในกระบวนการผลิตอาหารของการบินไทย ทั้งนี้การดำเนินโครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food Waste Management) ยังสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาลในการมุ่งลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 3 อีกด้วย