ThaiPublica > เกาะกระแส > “การบินไทย” พร้อมยื่นแผนฟื้นฟู 4 ก.พ. นี้ พนง. ร่วมใจลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยืดกระแสเงินสดถึงเมษา

“การบินไทย” พร้อมยื่นแผนฟื้นฟู 4 ก.พ. นี้ พนง. ร่วมใจลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยืดกระแสเงินสดถึงเมษา

6 มกราคม 2021


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยศาลล้มละลายกลางของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จากนั้นถึงวันนี้ กว่า 7 เดือนในการทำแผนฟื้นฟูกิจการ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยคาดว่าจะยื่นต่อศาลล้มล้มละลายกลางได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมีเจ้าหนี้ทั้งหมดประมาณ 13,000 ราย ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้แบ่งออกเป็น

    1. เจ้าหนี้เช่าเครื่องบิน แบบเช่าซื้อ (financial lease) และ operation lease เช่าเครื่องบิน แต่ไม่ได้ซื้อ ได้มีการเจรจามา 3-4 เดือนแล้ว
    2. เจ้าหนี้หุ้นกู้ ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย สถาบันการเงิน เจรจาอยู่ใกล้จะจบแล้วไม่เกินมกราคมนี้
    3. เจ้าหนี้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ มีประมาณ 7-8 ราย กำลังเจรจาในรายละเอียด
    4. เงินกู้จากภาครัฐ
    5. เจ้าหนี้การค้า

“รวมเจ้าหนี้ 1-3 คิดเป็นหนี้ประมาณกว่า 60% ตามแผนจะยื่นแผนฟื้นฟูฯต้นเดือน ก.พ. ไม่เกินวันที่ 4 ก.พ. นี้ การยื่นแผนเจ้าหนี้ต้องเห็นชอบแผน ซึ่งแนวทางการเจรจาคือแปลงหนี้เป็นทุน ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย” นายชาญศิลป์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา นายชาญศิลป์กล่าวว่า “เราลดค่าใช้จ่ายในด้านพนักงาน ปี 2019 มี 29,000 คน รวมเอาต์ซอร์ซด้วย หลังจากนั้นด้วยความเข้าใจของพนักงานและเอาค์ซอร์ซในสนามบิน เนื่องจากไม่มีเครื่องบินลง ก็ออกไป และพนักงานที่เป็นผู้เกษียณกว่า 1,000 คน และซับคอนแทรกต์ รวมแล้วมีผู้เสียสละในปี 2020 จำนวน 9,000 คน ขณะนี้เหลือ 20,000 คน หลังจากนี้ก็มีโปรแกรมผู้เสียสละ คาดว่าจะมีประมาณ 5,000 จะเหลือพนักงาน 13,000-15,000 คน”

นอกจากนี้ ในการหารายได้เพิ่มจาก non-flight income ถามว่ามาจากไหน ไม่ว่าอาคารสำนักงานของการบินไทยทั้งสำนักงานใหญ่และในจังหวัดต่างๆ จะเปิดให้เช่า ซิมูเลเตอร์ให้คนมาฝึกบิน เปิดร้านอาหาร แม้รายได้ไม่มาก แต่ก็ยังมีรายได้เข้ามา ซึ่งคนการบินไทยยังมีฝีมือ มีเชฟ มีเครื่องมือ มีลูกเรือ กัปตัน ปรับเปลี่ยนหน้าที่มาทำหน้าที่อื่นแทน นอกจากนี้มีคาร์โก ยังสามารถทำรายได้ตลอดเวลา เพราะการสั่งซื้อออนไลน์ รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ อาทิ เครื่องบิน อะไหล่เครื่องยนต์ อุปกรณ์ต่างๆ เราขอต่อศาลเพื่อนำมาเปิดประมูลขาย หรือเอาไปทำอย่างอื่น เช่น หารือกับพันธมิตรเอาตัวเครื่องบินไปทำร้านกาแฟ ร้านอาหารได้

“ตอนนี้เราอยู่กระบวนการฟื้นฟู ไม่มีใครให้เรากู้ ก็ขายทรัพย์สิน เช่น น้ำผลไม้ที่เราซื้อมาเพื่อขึ้นเครื่องหากไม่ขายก็จะเสีย อุปกรณ์ ช้อน จาน ชาม สำหรับใช้ในชั้นธุรกิจ หากไม่ใช้เราก็เอามาขาย หรืออาหารจากครัวการบินไทย ให้พนักงานที่มีมอไซต์ รถยนต์มาทำเดลิเวอรี ก็ช่วยให้เขามีรายได้ ทำให้เรามีกระแสเงินสดเข้ามา ยืดเวลาออกไปได้ จากปีที่แล้วเดือนพฤษภาคม 2563 เรามีกระแสเงินสด 12,000 ล้านบาท ค่อยๆ หดไปเรื่อยๆ เดือนละ 1,000 ล้าน เราก็เติมเข้ามาด้วยรายได้ข้างต้น หากพนักงานไม่ร่วมมือ ไม่ทำอะไรเลย กระแสเงินสดเราหมดไปแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา และเราเชื่อว่าหากเรายังร่วมมือร่วมใจ และขายทรัพย์สินบางส่วนได้ กระแสเงินสดจะอยู่ได้ถึงเดือนเมษายนนี้”

นายชาญศิลป์กล่าวต่อว่า “อย่างร้านอาหารที่ไม่เคยขายอาหาร พนักงานเขามาทาสีเอง ขัดพื้นเอง ขายเอง มีอาสาสมัครช่วยขาย หรือเครื่องบินที่ค้างมานาน บางลำอายุงาน 10 ปี เราต้องมาคัด ลำไหนที่ซ่อมไม่ได้ เอาอะไหล่มาแยกขายไหม ซึ่งเราจะต้องทำระเบียบการขายใหม่ โดยรอแผนฟื้นฟูฯผ่าน หรือเรามีอาคารสำนักงานหลายตึก กลางปีหน้ามีพนักงานเสียสละลาออกอีก ออฟฟิศจะว่าง เราก็หาคนมาเช่าซึ่งมีหลายแห่งสนใจทำเลถนนวิภาวดี นี่เป็นการหารายได้เข้ามาเสริม” นายชาญศิลป์กล่าว

นายชาญศิลป์กล่าวต่อว่าหากแผนฟื้นฟูกิจการผ่าน พร้อมการแต่งตั้งคณะผู้บริหารแผน จะใช้เวลา 5 ปีในการฟื้นฟูกิจการ แต่ทั้งนี้สามารถต่อเวลาได้ 2 ปี ดังนั้นระหว่างทาง 7 ปี จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อทำให้เราแข็งแรงพร้อมแข่งขันได้ทันที โดยจะทำใน 3 เรื่อง คือ

1. ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว จะดำเนินการต่อไป ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายเงินเดือน สวัสดิการปีละ 13,500 ล้านบาท หลังจากที่ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ปีหน้า (2565) ค่าใช้จ่ายจะลดลงมาอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท พนักงานทุกคนต้องมาเซ็นสัญญาการจ้างงานใหม่ ภาษีเงินได้ที่บริษัทเคยจ่ายให้ก็ต้องจ่ายเอง สวัสดิการที่มากกว่าตลาดก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่

2. หารายได้เสริม เช่น จากครัวการบินไทย บริการซ่อมบำรุงเครื่องบิน เลานจ์เปิดให้สายการบินอื่นมาใช้บริการของการบินไทย บริการคาร์โก เป็นต้น

3. สร้างระบบการบริหารจัดการใหม่ ปรับโครงสร้างการทำงานลดขั้นตอนลง เช่น การตั้ง CTO เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ มีพนักงานประมาณ 1,000 กว่าคนมาร่วมทำงาน มีเสนอแนวทางมา 500 กว่าเรื่อง เช่น การจัดการพัสดุในคลังที่เก็บไว้มากมาย ทรัพย์สินที่ดินที่มีจะนำมาพัฒนาทำอะไรได้บ้าง เช่น ในอังกฤษ หาดใหญ่ กระบี่ นอกจากนี้ศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่ดอนเมือง สุวรรณภูมิ จะให้บริการอย่างไรให้ได้มาตรฐานของเครื่องบินแต่ละแบบ เป็นต้น

นายชาญศิลป์กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นปรับโครงสร้างองค์กร โครงสร้างพนักงานและสวัสดิการใหม่ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อเดินไปข้างหน้า ส่วนคณะผู้บริหารแผน ขณะนี้กำลังกำหนดคุณสมบัติอยู่ ที่สำคัญต้องมี good governance โดยมีประธานกรรมการ บริษัทการบินไทย เป็นผู้ดำเนินการทาบทาม