ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > “สุพัฒนพงษ์” สั่งสรุปผลประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ภายใน ธ.ค.นี้

“สุพัฒนพงษ์” สั่งสรุปผลประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ภายใน ธ.ค.นี้

12 พฤศจิกายน 2020


“สุพัฒนพงษ์” ประชุม EEC นัดแรก สั่งเร่งสรุปผลประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ก่อนสิ้นปี – BOI เผย 9 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนแห่ขอออกบัตรส่งเสริมฯในพื้นที่อีอีซี 309 โครงการ มูลค่า 185,000 ล้านบาท ชี้การลงทุนจริงเริ่มแล้ว

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 4/2563 ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ ชั้น 25 กระทรวงพลังงาน

หลังการประชุมนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี วันนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ตนได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุม กบอ. ได้รับทราบความก้าวหน้าของแผนพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับภาคการเกษตรด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การเข้าถึงตลาด และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการอื่น ๆ รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นตามแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ดังนี้

    1) ใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าใหม่สร้างความต้องการเพิ่มขึ้น
    2) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) ยกระดับตลาด การแปรรูป กำหนดสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพและโอกาสสูงให้ตรงความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง สร้างรายได้ให้เกษตรอย่างยั่งยืน
    3) ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ อันได้แก่ ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้า การเข้าถึงตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่า ส่งเสริมแบบ Smart Farm สร้างอุตสาหกรรมอาหาร พืชชีวภาพ เชื่อมโยงความต้องการวัตถุดิบ สร้างมูลค่าเพิ่ม พืชสมุนไพร เชื่อมโยงความต้องการอุตสาหกรรมอาหารยา เครื่องสำอาง และ ปศุสัตว์ เน้นแปรรูปเนื้อโคคุณภาพสูง ยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้เกษตรกร

ทั้งนี้ แผนพัฒนาการเกษตรใน EEC จะดำเนินโครงการสำคัญ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก พัฒนาความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซให้กับเกษตรกร พัฒนาเวชสำอางจากผลิตผลการเกษตร และพัฒนาการปลูกผักอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังรับทราบความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่ EEC ซึ่ง สกพอ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เดินหน้าให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับ 5G ใน EEC เต็มรูปแบบ พร้อมเริ่มก่อสร้างทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3 เดือน เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุนใน EEC โดยเริ่มโครงการนำร่องในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งทางสกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมบุคลากรด้านดิจิทัลรองรับ 5G จำนวน 100,000 คน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ระดับชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ EEC

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ได้มอบหมายให้ สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขับเคลื่อนแผนบูรณาการ EEC ปี 2565 อย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการความร่วมมือจากส่วนกลาง และท้องถิ่น โดยมีผู้แทน 18 กระทรวง 103 หน่วยงาน ดำเนินการตามภารกิจขับเคลื่อน 5 แนวทาง คือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค , ส่งเสริมการท่องเที่ยว , พัฒนาบุคลากรการศึกษา งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม , ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนรองรับการขยายตัวของเมือง และการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้งบ ฯบูรณาการในปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 20,000 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินในการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ร่วมกับเงินลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าในปี 2564 จะมีการลงทุนในพื้นที่ EEC ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

“สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ระหว่างรัฐและเอกชนในเขตพื้นที่ EEC ที่ได้ตัวผู้ลงทุนและลงนามในสัญญาร่วมลงทุนเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก , โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และ โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นต้น ตอนนี้เหลือแต่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นโครงการสุดท้ายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการคัดเลือก ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้” นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา-ระยอง-ชลบุรี) ช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 313 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 109,430 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับมูลค่าของคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 49% โครงการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 63,925 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดใน EEC โดยประเทศญี่ปุ่นเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด มูลค่า 16,553 ล้านบาท ลำดับถัดมา คือ เนเธอร์แลนด์ และ จีน

“สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า , อิเล็กทรอนิกส์ , ยานยนต์และชิ้นส่วน , ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ , เกษตรและแปรรูปอาหาร , ท่องเที่ยว , เทคโนโลยีชีวภาพ , การแพทย์ , ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยาน และอุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มียอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 53,058 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% ของมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดใน EEC แต่ที่น่าสนใจมีนักลงทุนมาขอให้ BOI ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 309 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 185,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าการลงทุนจริงกำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC แล้ว นายนฤตม์ กล่าว