ThaiPublica > เกาะกระแส > “บีบีเอส”ผ่านฉลุย ชงครม.อนุมัติผลประมูลสนามบินอู่ตะเภา พ.ค.นี้

“บีบีเอส”ผ่านฉลุย ชงครม.อนุมัติผลประมูลสนามบินอู่ตะเภา พ.ค.นี้

27 เมษายน 2020


กบอ.เห็นชอบผลคัดเลือก “กลุ่มบีบีเอส”ชนะประมูลสนามบินอู่ตะเภา เตรียมชงร่างสัญญาฯ เสนอ กพอ.-ครม.อนุมัติภายในเดือนพ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง

ภายหลังการประชุม ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกอย่างกว้างขวาง และมีมติให้เร่งนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย ฯ (กพอ.) โดยเร็วที่สุด โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มีรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1. สาระสำคัญของโครงการ มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ

    1) อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal Building 3)
    2) ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre)
    3) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)
    4) เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone)
    5) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex)
    6) ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)

การลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท (จากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ) รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือ

  • ได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก)
  • เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก
  • 2. ความสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออกอีอีซี วางยุทธศาสตร์ให้ เมืองการบินภาคตะวันออกทำภารกิจสำคัญ 3 ประการคือ

      1) เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
      2) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC
      3) เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)

    ด้านพลเรือตรี เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการ และกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา กล่าวว่าการทำงานคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมี ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และมีกรรมการจากกระทรวงกลาโหม,กระทรวงคมนาคม,สำนักงบประมาณ,สำนักบริหารหนี้สาธารณะ,สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ และดำเนินการเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น รวมระยะเวลาทำงานประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกทั้งหมด 17 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานเจรจาสัญญาอีก 19 ครั้ง โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญๆดังนี้

    เริ่มจากเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการโครงการ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน โดยมีเอกชนเข้ามาซื้อเอกสารทั้งหมด 42 บริษัท มายื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 จำนวน 3 กลุ่ม (รวม 14 บริษัท) ได้แก่

      1) กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
      2) กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยเสนอ GMR Airport Limited (GAL) เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
      3) กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ)ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (Lead Firm) บริษัท Orient Success International Limited บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด โดยเสนอ Fraport AG เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
    พลเรือตรี เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการ และกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

    ช่วงวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 – 13 เมษายน 2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯได้พิจารณาซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป ผลการพิจารณาสรุปว่าผ่านการประเมินทั้ง 3 กลุ่ม จากนั้นในช่วงวันที่ 9 ตุลาคม 2562 – 14 มกราคม 2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาซองที่ 2 ด้านเทคนิคผลการพิจารณาผ่านการประเมินทั้ง 3 กลุ่ม(คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80) และเปิดซองที่ 3 ด้านผลตอบแทนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ปรากฎว่า กลุ่ม BBS เป็นผู้ชนะการคัดเลือกให้ร่วมทุน เพราะเสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำตลอดสัญญาสูงสุด

    สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานเจรจากับกลุ่ม BBS จนได้ข้อสรุปในเบื้องต้น และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 รับทราบข้อเสนอของกลุ่ม BBS และไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญา ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ประชุม กบอ. ครั้งที่ 2/2563 ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกกลุ่ม BBS เป็นผู้ชนะการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หลังจากอัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาฯเสร็จให้เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)และครม.ภายในเดือนพฤษภาคม 2563