EXIM BANK ออก 2 มาตรการ “มาตรการ EXIM เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก” และ “มาตรการ EXIM ลดภาระในการชำระหนี้” ช่วย SMEs ที่แบกรับต้นทุนให้ลดภาระหนี้ พร้อมเสริมสภาพคล่องเงินทุนปรับปรุงกิจการส่งออก รองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกปี 2563
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปีอยู่ที่ 3.0% และ 1.1% ตามลำดับ ในปี 2562 เงินเฟ้อและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้การค้าขายไปต่างประเทศประสบความยากลำบาก ประกอบกับคู่แข่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการที่ประเทศตลาดใหม่สร้างฐานการผลิตได้เองหรือมีแรงงานผันตัวเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งการค้าทางออนไลน์ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินกิจการ และยังมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสากลที่มีข้อกำหนดเพิ่มมากขึ้นให้สามารถแข่งขันได้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund — IMF) คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 3.0% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นผลจากการค้าโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าที่รุนแรงของประเทศสำคัญ แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เริ่มที่จะฟื้นตัวจากที่ติดลบในสองไตรมาสแรกของปี นอกจากนี้ค่าเงินยังมีความผันผวน และค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ความเสี่ยงยังเพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ แม้สหรัฐฯ กับจีนจะบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรก แต่การค้าโลกยังไม่แน่นอนและยังไม่ยุติในเร็วๆ นี้ เพราะยังต้องมีการเจรจาในรายละเอียด ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Institute of International Finance พบว่า ภาระหนี้ทั่วโลกในสิ้นปี 2562 นี้จะมีมูลค่าสูงถึง 250 ล้านล้านดอลลาร์จาก 80 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2542
EXIM BANK ได้ออก “มาตรการ EXIM เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก” และ “มาตรการ EXIM ลดภาระในการชำระหนี้” เพื่อช่วยผู้ส่งออก SMEs ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบันของ EXIM BANK ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ให้มีสภาพคล่องมากขึ้นสำหรับนำไปใช้ในกิจการและได้รับการบรรเทาภาระในการชำระหนี้ในภาวะที่อาจได้รับคำสั่งซื้อลดลง แต่ยังคงมีภาระของต้นทุนคงที่ที่กิจการต้องจ่ายทุกเดือน หรือเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ก็สามารถนำมาเบิกใช้สินเชื่อหมุนเวียนได้ รวมทั้งใช้ในการปรับปรุงสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมที่จะแข่งขันท่ามกลางตลาดโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในปี 2563
“สองมาตรการนี้ธนาคารตั้งใจออกเพื่อช่วยผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งสามารถเลือกใช้วงเงินได้ ทั้งวงเงินกู้ระยะยาวและระยะสั้น เพื่อนำไปลดภาระหนี้ เพิ่มสภาพคล่อง ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพราะต้นทุนผู้ผลิตเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการกีดกันทางการค้า” นายพิศิษฐ์กล่าว
มาตรการ EXIM เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออก ผู้นำเข้าเพื่อผู้ผลิตในการส่งออก และผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก สามารถเลือกได้ที่จะใช้วงเงินกู้ระยะยาวหรือวงเงินกู้ระยะสั้น สำหรับนำไปลดภาระการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องกิจการให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินธุรกิจส่งออก หรือปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน เทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 3.99% ต่อปี สามารถใช้หนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหลักประกันร่วมกับหลักประกันอื่นๆ ได้ ฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อผ่าน บสย.สูงสุด 4 ปี เป้าหมายวงเงินอนุมัติ 2,000 ล้านบาท
มาตรการ EXIM ลดภาระในการชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้า SMEs ของ EXIM BANK ที่ยังไม่ต้องการวงเงินเพิ่ม แต่ต้องการลดภาระในการผ่อนชำระหนี้รายงวดที่มีกับ EXIM BANK ทั้งเงินกู้ยืมระยะยาวและเงินกู้ยืมระยะสั้น โดยลูกค้าที่มีวงเงินกู้ยืมระยะยาวจะขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 2 ปี กรณีขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับอัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดิม 0.125% ต่อปี ส่วนลูกค้าที่มีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจะได้รับการเพิ่มสัดส่วนการเบิกกู้และลดอัตราดอกเบี้ย โดยเบิกกู้ได้เพิ่มสูงสุด 95% ของมูลค่า L/C และ 85% ของมูลค่า P/O พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.125% ต่อปีเป็นระยะเวลา 1 ปี มีวงเงินสนับสนุน 4,000 ล้านบาท
ทั้งสองมาตรการมีระยะเวลาให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2563 คาดว่าจะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราว 15,700 ล้านบาท ช่วยให้เกิดการจ้างงานในระบบ 5,200 ราย เพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระหนี้ของผู้ส่งออก SMEs ได้กว่า 750 ราย ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ในห่วงโซ่มูลค่าการส่งออก (export value chain) ได้รับการบรรเทาภาระหนี้และต้นทุนการดำเนินกิจการ รวมทั้งใช้โอกาสนี้ปรับปรุงสินค้าและบริการเพื่อให้การส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้นในอนาคต
“EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญปีใหม่ในครั้งนี้เพื่อเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ที่มีจำนวนมากและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่เศรษฐกิจโลกซบเซา เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่สะดุด ไม่สั่นคลอนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจนกระทบการจ้างงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนของไทย ขณะเดียวกันก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและส่งออกสินค้าหรือบริการของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าให้ได้มาตรฐานสากล นำไปสู่การเติบโตของภาคธุรกิจ SMEs ที่แข่งขันได้มากขึ้นตามเทรนด์และทิศทางการค้าโลก มีส่วนแบ่งการตลาดที่มั่นคงและสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจได้มากขึ้น เป็นฐานรากที่เข้มแข็งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” นายพิศิษฐ์กล่าว
คาดส่งออกปี 2563 ขยายตัว 0-2%
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ปัจจุบันที่การส่งออกของประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลกมีทิศทางหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและผลพวงจากสงครามการค้า การส่งออกของไทยปี 2562 ก็มีแนวโน้มจะหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยคาดว่าจะหดตัว 2.0% แต่การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าอีกหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่ตั้งแต่ต้นปี 2562 หดตัว 10.7% อินโดนีเซียหดตัว 7.8% มาเลเซียหดตัว 5.0% ญี่ปุ่นหดตัว 4.6% และคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2563 น่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 0-2%
มาตรการที่ธนาคารออกในปลายปี 2562 นี้ จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคการส่งออก ยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะประคองกิจการและไม่หยุดพัฒนากิจการให้เติบโตยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันได้ภายใต้มาตรการทางการค้าต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาคการส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2563 โดยอาศัยจุดแข็ง 3 ประการ ได้แก่
1) ศักยภาพของสินค้าไทยที่ทนต่อแรงเสียดทานจากความไม่แน่นอนได้ดี ทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ที่ได้มาตรฐานสากล และสินค้าที่ตอบสนองเมกะเทรนด์โลก รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ในแต่ละช่วงวัยได้ เช่น สินค้าเครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์
2) การกระจายตลาด ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยสร้างสมดุลการส่งออกไปตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ได้ดี ทำให้สินค้าไทยบางรายการได้อานิสงส์จากการแทนที่สินค้าจีน เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ในครัวเรือน ขณะที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอาหารของไทยสามารถเข้าตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่นในปี 2563 ขณะเดียวกัน ไทยก็มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 50% ไปตลาดใหม่ เช่น อินเดีย เวียดนาม ฮังการี โปแลนด์ ไนจีเรีย โมร็อกโก และเม็กซิโก รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ขยายตัวกว่า 5% ผู้บริโภคโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวมีกำลังซื้อมากขึ้น และยังมีความต้องการสินค้าไทยอีกมากในตลาดเหล่านี้
3) การลงทุนเพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ๆ เพื่อส่งออกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการลงทุนของต่างชาติในไทยและการลงทุนของนักลงทุนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor — EEC) ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีแก่นักลงทุน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีมูลค่าหรือนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศมีมูลค่า 26 พันล้านดอลลาร์