
ที่มาภาพ: http://en.people.cn/n3/2019/0923/c90000-9616931.html
จีนเดินหน้าสู่เป้าหมายขจัดความยากจนปี 2020 หลัง 10 ล้านคนหลุดจากความยากจนในปีนี้ และมีคนจนหลงเหลืออีก 7 ล้านคน
จีนได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ กลายเป็นผู้นำเอเชียในด้านจำนวนเศรษฐี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หรือเสิ่นเจิ้น ที่มีเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพราะยังมีคนจนในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทฝนฝั่งตะวันตกของประเทศ
2020 เป็นปีที่จีนตั้งเป้าขจัดความยากจนในประเทศให้หมดไปและก้าวสู่สังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองปานกลางในทุกแง่มุม ซึ่งหากเป้าหมายนี้ประสบความสำเร็จ ก็นับว่าจีนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติในข้อการขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกในปี 2030 ได้เร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี
จีนเชื่อมั่นว่าจะขจัดความยากจนได้ตามเป้าหมายเพราะสองปัจจัยหลัก คือ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง และการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ในการประชุมประจำปีของการพัฒนาเพื่อขจัดความยากจนแห่งชาติวันที่ 20 ธันวาคม 2019 นายหู ชุนฮวา รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาแห่งคณะมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศว่า จีนบรรลุเป้าหมายในการผลักดันประชากร 10 ล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจนภายในปี 2019
จีนยังหลงเหลือคนจนอีกเพียง 7 ล้านคนที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะยกระดับให้พ้นจากความยากจนภายในปี 2020 ตามเป้าหมายการขจัดความยากจนให้หมดทั้งประเทศภายในปี 2020
นายหูกล่าวว่า การขจัดความยากจนให้กับกลุ่มที่เหลืออยู่ เป็นกลุ่มที่แก้ไขได้ค่อนข้างยาก แต่รัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินการให้สำเร็จ โดยจะยกระดับการตรวจสอบการทำงานในการขจัดความยากจนและแก้ไขปัญหาที่พบเจอ
นอกจากนี้ ต้องเสริมสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อลดความยากจน รวมทั้งการติดตามผลการดำเนินโครงการโยกย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อป้องกันไม่ให้คนกลับมาในความยากจนอีก
นายหูยังเรียกร้องให้มีการร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนทั้งหมดหลุดพ้นจากความยากจนภายในสิ้นปี 2020
การพัฒนาที่คนเป็นศูนย์กลาง
แถลงการณ์ของที่ประชุมรอบที่ 4 ของคณะกรรมการกลางในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ในเดือนตุลาคม 2019 ระบุว่า “การยึดมั่นในวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการดำเนินการต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของทุกคน” เป็นหนึ่งในปัจจัยความเข้มแข็งของระบบบริหารของจีน
ที่ประชุมยังตอกย้ำเป้าหมายของพรรคที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปภายในปี 2563 รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะพัฒนากลไกระยะยาวเพื่อขจัดความยากจนเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างรอบด้านของประชาชนเป็นสิ่งที่พรรคต้องทำเพื่อเป็นพรรคสำหรับสาธารณชนและเป็นพลังสำหรับประชาชน แถลงการณ์ระบุ
นับตั้งแต่ปี 1980 จีนได้ยกระดับชีวิตประชาชนมากกว่า 800 ล้านคนหรือราว 76% ของประชากรที่ยากจนทั่วโลก ให้พ้นจากความยากจน ซึ่งนับเป็นการขจัดความยากจนที่มากกว่าประเทศอื่นในโลก
หลังจากที่ประสบความสำเร็จนี้แล้ว จีนยังเดินหน้าที่จะขจัดความยากจนให้กับประชาชนทุกคน กำหนดให้การขจัดความยากจนเป็นวาระแห่งชาติตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปีระหว่างปี 2016-2020
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ว่า “เราต้องทำให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนทุกคนก้าวพ้นความยากจน และขจัดความยากจนในทุกเขตและทุกภูมิภาค”
นับเป็นการให้คำมั่นที่หนักแน่นจากผู้นำที่ให้ไว้ต่อประชาชน ตามมาด้วยการวางแผนแบบเบ็ดเสร็จ มีการดำเนินการที่พร้อมๆ กัน รวมทั้งการเดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้ด้อยโอกาสในหลายพื้นที่ของประธานาธิบดี
วางเป้าหมายระดมสรรพกำลัง
ประสิทธิภาพในการระดมสรรพกำลังและการวางแผนผ่านมาตรการลดความยากจนจะให้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง เจ้าหน้าที่จำนวนหลายแสนคนจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ได้ลงพื้นที่ชนบทเพื่อแก้ไขประเด็นเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ในช่วงปี 2016-2019 แต่ละปีมีประชาชนราว 10 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน
ข้อมูลทางการระบุว่าจำนวนคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,300 หยวนหรือ 328 ดอลลาร์ต่อปีลดลงเกือบ 100% เป็น 6.6 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว และความยากจนของพื้นที่ชนบทโดยรวมลดลงจาก 10.2% เป็น 1.7%
หลิ่ว หย่งฝู หัวหน้าหน่วยงานขจัดความยากจน แถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เฉพาะในปี 2019 เขตที่ยากจน 340 แห่งได้ก้าวพ้นจากทำเนียบความยากจน ส่วนที่เขตที่ยากจนอย่างมาก ซึ่งเรียกขานในนาม 3 เขตและ 3 จังหวัด หรือ Three Areas and Three Prefectures จำนวนคนจนที่ขึ้นทะเบียนลดลงจาก 1.72 ล้านคนในปี 2018 เป็น 430,000 คนในปี 2019 ขณะที่อัตราความยากจนลดลงจาก 8.2% มาที่ 2%
ขณะเดียวกันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลในการที่จะโยกย้ายประชากรจากพื้นที่แร้นแค้นในชนบทที่ห่างไกลก็ใกล้จะเสร็จสิ้น โดยคนจำนวน 5 ล้านคนที่อพยพย้ายถิ่นได้รับการรับประกันว่าจะเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงการศึกษาพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาลภายในปีนี้
ปัจจุบันประชากรในสัดส่วนกว่า 95% ได้หลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้นกว่า 90% ของเขตยากจนที่หลุดพ้นจากความยากจนก็จะได้รับการปลดชื่อออกจากทำเนียบความยากจนเช่นกันภายในสิ้นปีนี้ การต่อสู้กับความยากจนได้ลุล่วงมาถึงช่วงสุดท้ายและเป้าหมายแห่งความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อม

สร้างความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว
ผู้นำจีนคิดไปไกลและคิดนำไปในระยะยาว การให้ความช่วยเหลือคนยากจนเป็นเพียงก้าวแรก แต่การสร้างรายได้และความยั่งยืนของความเป็นอยู่ที่ดีเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางที่วางไว้คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่มุ่งการจ้างงาน
หลันผิง เขตหนึ่งในจังหวัดยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เดิมเป็นเขตที่ยากจนข้นแค้นที่สุดของประเทศ เป็นหนึ่งตัวอย่าง ระหว่างปี 2013-2019 โครงการระดับท้องถิ่นที่มีตั้งเป้าหมายช่วยให้คนในท้องถิ่นขายผลิตผลการเกษตรออนไลน์และได้งานทำในธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นได้ช่วยเหลือให้ครัวเรือน 3,800 ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น และคนจนมากอีก 53,205 คนมีงานทำ
ทั่วประเทศครัวเรือนที่ยากจนมาก 92% พัฒนาอุตสาหกรรมตามความเชี่ยวชาญและความต้องการของพื้นที่ เขตที่ยากจนทั้งหมด 832 เขตใน 22 จังหวัดได้พัฒนาโครงการขึ้นเองกว่า 980,000 โครงการ ครอบคลุมธุรกิจเฉพาะกว่า 1,060 ธุรกิจ
ในด้านการโอนย้ายการจ้างงาน จีนได้สร้างงานให้กับ 2.59 ล้านคนที่ยากจนในปี 2018 อีกทั้งกว่า 500,000 คนในพื้นที่ยากจนได้ถูกว่าจ้างจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่เฝ้าระวังผืนป่าในโครงการทางนิเวศวิทยาเพื่อลดความยากจน
ในปี 2018 รายได้ต่อหัวของประชากรในชนบทในพื้นที่ยากจนมีจำนวน 10,371 หยวน หรือ 1,530 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อนหลังหักเงินเฟ้อ
การพัฒนาของจีนมุ่งไปที่การพัฒนาคน และผู้นำก็ได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ผ่านมาว่ามีทิศทางในด้านนั้น
ข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่มีการนำดัชนีวัดการพัฒนามนุษย์มาใช้ จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไต่ระดับจากประเทศมีการพัฒนาน้อยไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาสูง
อันนา เรเวนกา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์การขจัดความยากจนและส่งเสริมความเท่าเทียมแห่งธนาคารโลกให้ความเห็นว่า หากจะมองหาใครสักคนที่เดินหน้าเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของเส้นชัยการขจัดความยากจน ไม่ต้องมองอื่นไกล เพราะจีนได้ทำให้เห็นแล้ว
ทำสงครามขจัดความยากจน
จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการขจัดความยากจนในรอบ 70 ปีนับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน
หลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ความยากจนยังพบเห็นได้มากในพื้นที่ชนบทของจีน โดยเมื่อวัดจากเกณฑ์ความยากจนประชากรในชนบทที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีสัดส่วน 97.5% ณ สิ้นปี 1978 หรือมีจำนวน 770 ล้านคน
แต่หลังจากปฏิรูปและการเปิดประเทศในปี 1978 จีนได้ดำเนินนโยบายลดความยากจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งนับเป็นการขับเคี่ยวสงครามขจัดความยากจนชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ส่งผลให้รายได้ของคนในชนบทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและจำนวนประชากรที่ยากจนลดลงอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลสถิติจากธนาคารโลกพบว่า ในรอบ 40 ปีนี้จำนวนประชากรชาวจีนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงมากกว่า 850 ล้านคน หรือราว 70% ของคนยากจนรวมกันทั้งโลก
และจำนวนคนยากจนลดลงมากที่สุด จีนจึงเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (UN Millennium Development Goals) ในการขจัดความยากจน
โดยเฉพาะนับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 18 ในปี 2012 ที่การขจัดความยากจนเป็นประเด็นหลักที่รัฐให้ความสำคัญ
จำนวนคนยากจนในชนบทลดลงจากราว 100 ล้านคนในปลายปี 2012 มาที่ 16 ล้านคนในสิ้นปี 2018
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีคน 82.39 ล้านคน หรือ 80% ของหมู่บ้านที่ยากจนและมากกว่าครึ่งของเขตที่ยากจนได้หลุดพ้นจากความยากจน นับเป็นการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์ของจีนในการลดความยากจน อัตราความยากจนของประเทศลดลงมาที่ระดับ 1.7% ในสิ้นปี 2018

โมเดลแบบวัดผลได้
ปัจจุบันจีนดำเนินการที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปโดยสิ้นเชิงด้วยการใช้ยุทธศาสตร์แบบเจาะจงที่สามารถวัดเป้าหมายได้ และเป็นการรณรงค์ ขจัดความยากจนรอบใหม่ที่โยกเป้าหมายจากภูมิภาคไปสู่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเป็นการแก้ไขจากต้นตอ
จีนได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ตามหมู่บ้านเพื่อสำรวจข้อมูลอย่างแท้จริง มีเจ้าหน้าที่ประจำการตามจุดต่างๆ 2.78 ล้านคน มีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ 459,000 คนจากทั่วประเทศให้ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการชุดต่างๆ ของพรรคในหมู่บ้านยากจน
นอกจากนี้ ได้พัฒนาก่อตั้งโครงการอุตสาหกรรม การโยกย้ายประชากร การฟื้นฟูระบบนิเวศ การเสริมสร้างการศึกษา การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคม และใช้มาตรการที่วัดผลได้เพื่อให้คนจนได้รับการช่วยเหลือและนำมาตรการไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
ในปี 2018 จีนได้ให้ความช่วยเหลือขนานใหญ่แก่ภูมิภาคที่ยากจนและเกษตรกรในการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งส่งเสริมโครงการขจัดความยากจนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าโซลาร์ และอีคอมเมิร์ซ ทยอยปรับปรุงเสริมกลไกการลดความยากจน
ในปี 2018 จีนสร้างงานให้กับคน 2.59 ล้านคน มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อลดความยากจนกว่า 30,000 ครั้ง ช่วยให้คนจนที่ขึ้นทะเบียนไว้ 770,000 คนมีงานทำในพื้นที่ใกล้บ้าน
นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงสภาวการณ์โรงเรียนภาคบังคับที่ด้อยโอกาสในพื้นที่แร้นแค้นให้ดีขึ้นเพื่อลดอัตราการออกจากโรงเรียน รวมทั้งยังได้ขยายโครงการรักษาพยาบาลให้กับคนจนที่เป็นโรคร้ายแรงในพื้นที่ชนบทให้ครอบคลุม 21 โรคร้าย ซึ่งมีคนจนกว่า 10 ล้านคนได้รับการรักษา
จีนได้ลดอัตราส่วนการรักษาพยาบาลที่ใช้เงินตัวเองของคนไข้ที่เป็นคนยากจนลง และปรับปรุงเงื่อนไขการรักษาพยาบาลในพื้นที่ยากจนอีกด้วย
นอกจากนี้ คนมากกว่า 500,000 คนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนได้ถูกว่าจ้างให้เฝ้าระวังผืนป่า ในโครงการทางนิเวศวิทยาเพื่อลดความยากจน
ปัจจุบัน นับว่าจีนได้สร้างกลไกพื้นฐานในการขจัดความยากจนไว้หมดแล้ว ด้วยความเป็นจีน ด้วยความรับผิดชอบ นโยบายและระบบประเมินถูกกำหนดจากระดับบน
เกษตรกรในภูมิภาคยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อปี 12.1% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าระดับเฉลี่ย ขณะที่ 99.5% ของหมู่บ้านมีการเชื่อมโยงด้วยเส้นทางสัญจรถนนที่ถาวร และ 96.5% มีบริการรถเมล์
นอกจากนี้ การเข้าถึงน้ำดื่มและห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะทำให้พื้นที่ชนบทน่าอยู่มากขึ้น การบริโภคต่อหัวของประชากรในพื้นที่ยากจนเพิ่มขึ้น 11.4% ต่อปีในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
จำนวนคนที่หลุดพ้นจากความยากจนมีมากขึ้นต่อเนื่องและมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม บริการสาธารณสุขชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 93.2% ของหมู่บ้านห่างไกล และ 89.8% ของครัวเรือนในชนบทสามารถหาโรงเรียนใกล้บ้านได้ และ 92% ของครัวเรือนที่ยากจนพัฒนาธุรกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งจะช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน
การรณรงค์ขจัดความยากจนของจีนยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนจนที่ไม่เพียงต้องการหลุดพ้นจากความยากจนเท่านั้นแต่ไม่ต้องการที่จะอยู่บนเส้นทางความยากจนอีก แนวคิดที่เปลี่ยนไปนี้เป็นพลังเสริมในการขจัดความยากจน
ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน
ในขณะเดียวกัน ผลลัพธ์ของการขจัดความยากจนของจีนมีประโยชน์ต่อประเทศอื่นๆ และประชาชนของประเทศนั้นๆ จีนซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 รวมทั้งได้ริเริ่มความร่วมมือกับนานาประเทศในการขจัดความยากจน
ในช่วง 70 ปีนี้จีนได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินมากกว่า 400 พันล้านหยวนแก่ 170 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือกว่า 5,000 โครงการในต่างประเทศ ส่งทีมช่วยเหลือออกไปกว่า 600,000 คน มีการฝึกอบรมผู้คนกว่า 12 ล้านคนจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และช่วยเหลือประเทศ 120 ประเทศกำลังพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
แผนการขจัดความยากจนให้หมดไปภายในปี 2020 ไม่เพียงแต่ก้าวสำคัญของประเทศในการทำให้ความฝันของจีนที่ต้องการจะฟื้นฟูชาติจีน แต่เป็นการขจัดความยากจนครั้งใหญ่และครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลก และยังคงส่งเสริมการขจัดความยากจนทั่วโลก

เรียบเรียงจาก larouchepub,people,cgtn,