ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > AIS จับมือ TESAMM กำจัด E-Waste …เราได้ขยะอิเล็กทรอนิกส์อะไรจากโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง

AIS จับมือ TESAMM กำจัด E-Waste …เราได้ขยะอิเล็กทรอนิกส์อะไรจากโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง

17 ธันวาคม 2019


ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจำนวนมหาศาลกำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและทั้งโลกตระหนักถึง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไม่นานมานี้ UNEP ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับระดับความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกที่อยู่สูงเกินกว่าระดับที่จะหันหลังกลับได้แล้ว แสดงให้เห็นถึงความวิกฤติของสถานการณ์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างชัดเจน หนึ่งในแหล่งผลิตแก๊สเรือนกระจกที่สำคัญคือการฝังกลบขยะทั้งขยะอินทรีย์และขยะอื่นๆ เช่น สารเคมี หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์

ด้วยการที่โลกพัฒนาไปสู่ดิจิทัลทำให้จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นสูงขึ้นอย่างมากโดยมีการคาดการณ์จากมหาวิทยาลัยสหประชาชาติว่า (United Nation University) ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายในปี 2564 จะมีจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลกถึง 52.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเหตุนี้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมากขึ้นทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน ซึ่งทางรัฐบาลได้บรรจุเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกทั้งกำลังจะออกกฎหมาย WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments) หรือพระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส (เสื้อขาว)

AIS Mission Green 202 และรีไซเคิลขนานใหญ่

เอไอเอสได้ประกาศ Mission Green 2020 ที่มีเป้าหมายเพื่ออาสาเป็นแกนกลางในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืนและถูกวิธี และจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งสิ้น 1 แสนชิ้น โดยจะสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ (KoCO2e) เอไอเอสจึงร่วมมือกับบริษัท โทเทิล เอนไวโรนเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด (Total Environmental Solution Ltd.) หรือ TES เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำระดับโลกในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีโรงงานมากกว่า 30 ไซต์ทั่วโลก ซึ่ง TES มีการให้บริการสองรูปแบบคือ

1. รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะกัดโลหะมีค่าออกมา แล้วขายคืนให้กับผู้ผลิตเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ต่อไป หรือขายผู้ประกอบการเกี่ยวกับเครื่องเพชรพลอย

2. data destruction คือการทำลายข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ ในเซิร์ฟเวอร์ ข้อมูลสำรอง หรือมีเดียอื่นๆ ทั้งนี้ TES เคยร่วมงานกับเอไอเอสมาแล้วในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของโครงการไว้ว่า ประเด็นสำคัญของการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้คือเมื่อทิ้งขยะแล้วขยะเหล่านี้ได้รับการการจัดการที่ถูกต้องหรือไม่

“ทุกวันนี้มีคนมารับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บ้าน อาจจะเป็นมือถือแลกไข่ สิ่งที่น่ากังวลคือรับแล้วปลายทางไปไหน ถ้าปลายทางกำจัดอย่างไม่ถูกต้องด้วยการฝังกลบ สารพิษจากขยะเหล่าก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเรา”

โครงการของเอไอเอสนี้จะรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 4 ชนิด คือ โทรศัพท์ แบตเตอรี่มือถือหรือพาวเวอร์แบงก์ สายชาร์จ อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น หูฟัง ในขณะนี้ได้เชิญชวนบริษัทในเครือและบุคคลทั่วไปให้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งที่ AIS shop ทั่วประเทศ รวม 143 จุดทั่วประเทศ สามารถดูรายระเอียดได้ที่นี่ โดยเอไอเอสจะรวบรวมขยะเหล่านี้แล้วส่งต่อให้ TES จัดการในขั้นตอนการรีไซเคิล

เราได้อะไรจากโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง

ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเอไอเอสจะถูกส่งให้โรงงานของบริษัท เทส จำกัด ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งกำลังการผลิตรับได้ 300 ตันต่อเดือน เพื่อถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกและคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป สิ่งที่ได้จาก AIS จะมีสี่ชนิดดังที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้วคือ โทรศัพท์ แบตเตอรี่ มือถือหรือพาวเวอร์แบงก์ สายชาร์จ อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น หูฟัง โดยจะมีโทรศัพท์เข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง และด้วยความซับซ้อนของอุปกรณ์ทำให้โทรศัพท์หนึ่งเครื่องสามารถรีไซเคิลได้หลายอย่าง

นางกรวิกา ชัยประทีป ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เทส จำกัด ได้อธิบายเกี่ยวกับการถอดและคัดแยกไว้ว่า “โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องแยกเป็นได้เป็น plastic cover ปุ่มกดในโทรศัพท์รุ่นเก่า แยกเหล็ก แยกอะลูมิเนียม แยกพลาสติก แยกแผงอิเล็กทรอนิกส์ออกมา และลิเทียมแบตเตอรี่ ซึ่งเหล็กพลาสติกและอะลูมิเนียมนี้ถือเป็น general waste สามารถรีไซเคิลได้ในประเทศไทย ในส่วนของ PCB board (บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว) นั้นไม่สามารถรีไซเคิลได้ในประเทศไทย จึงส่งไปที่ TES สิงคโปร์เพื่อสกัดโลหะมีค่า จะบดย่อยให้เป็นผงแล้วใช้เคมีเพื่อดึงโลหะมีค่า เช่น เงิน ทอง พัลลาเดียม ทองแดง โดยขายคืนให้แก่ผู้ผลิต ส่วนทองก็จะเข้าโรงหลอมเป็นทองแท่งหรือทองรูปพรรณ Li-battery จะรีไซเคิลโดยสกัดโคบอลต์ออกมาขายคืนผู้ผลิต หรือขายให้ผู้ประกอบการในวงการยา เซรามิก แก้ว”

นางกรวิกาได้อธิบายเพิ่มว่า “ในความเป็นจริงแล้วโทรศัพท์ทั้งชิ้นสามารถรีไซเคิลได้ทุกอย่าง แต่จะมีสิ่งผลพลอยได้เป็นสารเคมีจากการดึงโลหะมีค่าออกมา เรียกว่า sludge cake ซึ่งทางสิงคโปร์จะจะมีหน่วยงานที่จัดการเรื่องนี้ โดยนำ sludge cake ไปทำเป็นซีเมนต์ถมทะเลเพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้คนมาพักผ่อนหย่อนใจ มีการเลี้ยงนกเลี้ยงปลา เพื่อให้รู้ว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

ในอนาคตอันใกล้ TES มีแผนที่จะขยายไปสู่การรีไซเคิลที่ครบวงจร เตรียมสร้างโรงงานใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิมประมาณ 3 เท่าที่นิคม hi-tech ซึ่งพร้อมจะเปิดใช้งานในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยมี 2 ส่วน ส่วนแรก คัดแยก (แบบเดียวกับโรงงานที่ปทุมธานี) แต่มีส่วนการผลิตที่ใหญ่กว่าโรงงานนี้ และส่วนที่สองคือเรื่องการสกัดโลหะมีค่าเพื่อสามารถทำกระบวนการรีไซเคิลได้ในประเทศไทยเพื่อไม่ต้องส่งไปสิงคโปร์อีกต่อไป