ThaiPublica > เกาะกระแส > ครบรอบ 30 ปีการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน “จิตวิญญาณของ 1989 ยังคงมีอยู่ในโลก”

ครบรอบ 30 ปีการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน “จิตวิญญาณของ 1989 ยังคงมีอยู่ในโลก”

11 พฤศจิกายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Brandenburg_Gate#
_Germans_in_1989.jpg

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2019 เป็นวันครบรอบ 30 ปีการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน กำแพงที่เคยเป็นสัญลักษณ์การแบ่งโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ ระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ กำแพงที่สร้างขึ้นมาในปี 1961 โดยรัฐบาลเยอรมันตะวันออก มีความยาว 155 กม. ล้อมรอบเบอร์ลินตะวันตก ทำให้เบอร์ลินตะวันตกกลายเป็นเกาะแห่งอิสรภาพที่อยู่ในใจกลางดินแดนเยอรมันตะวันออก

การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ตอนเย็นของวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ทางการเยอรมันตะวันออกประกาศทางโทรทัศน์ เรื่อง นโยบายการเดินทางใหม่ ที่มีผลทันที โดยประชาชนของเยอรมันตะวันออกมีอิสรภาพที่จะเดินทางไปยังเบอร์ลินตะวันตก ทำให้คนเยอรมันตะวันออกจำนวนมากเดินทางไปยังด่านข้ามแดน ภาพการเฉลิมฉลองของประชาชนจากสองฝ่าย แสดงถึงการสิ้นสุดของการแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็น 2 ฝ่าย ที่ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 ก็มีการรวมเยอรมันอย่างเป็นทางการ

การพังทลายเพราะอุบัติเหตุ

บทความของ New York Times เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2019 ชื่อ The Fall of the Berlin Wall in Photos กล่าวว่า การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินไม่ได้เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างมหาอำนาจ 4 ฝ่ายที่ชนะสงคราม คือ สหรัฐอเมริกา โซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความผิดพลาดของมนุษย์ เหตุการณ์ที่พัฒนาขึ้นแบบเป็นไปเอง และความกล้าหาญของคนเรา Anne Applebaum นักประวัติศาสตร์ชื่อดังกล่าวว่า “มันไม่ได้เกิดจากการกำหนดไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ชัยชนะของสิ่งที่ดีต่อสิ่งไม่ดี แต่โดยพื้นฐาน เกิดขึ้นเพราะการไร้ความสามารถ และความบังเอิญ”

ก่อนหน้านี้ เกิดคลื่นผู้อพยพจากเยอรมันตะวันออก หนีออกจากประเทศเพื่อไปเยอรมันตะวันตก โดยผ่านทางฮังการีและเชคโกโลวาเกีย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 กรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออก มีมติอนุญาตให้คนเยอรมันตะวันออกข้ามแดนจากจุดผ่านแดนไปเยอรมันตะวันตกและเบอร์ลินตะวันตก โดยนโยบายเดินทางใหม่จะมีผลในวันรุ่งขึ้น เพื่อมีเวลาในการแจ้งข่าวแก่ทหารที่ด่านชายแดน

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Fall_of_the_Berlin_Wall#/

ตอนเย็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 นาย Gunter Schabowski ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ เขตเบอร์ลินตะวันออก ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน เรื่องมาตรการผ่อนคลายการเดินทาง เมื่อนักข่าวถามว่ามาตรการนี้ ที่คนตะวันออกเดินทางไปเยอรมันตะวันตกโดยมีหรือไม่มีหนังสือเดินทางก็ได้ จะมีผลเมื่อใด นาย Schabowski บอกว่า มีผลทันที ทั้งๆ ที่มาตรการผ่อนคลายนี้จะมีผลในวันต่อไป

หลังจากทราบข่าวผ่านสื่อต่างๆ คนในเบอร์ลินตะวันออกจำนวนมากเดินทางไปที่ด่านข้ามพรมแดน ก่อนเที่ยงคืน ด่านข้ามพรมแดนก็เปิดเสรี ในที่สุด กำแพงเบอร์ลินก็พังทลายลง นำไปสู่การรวมเยอรมนีเป็นประเทศเดียวในปีต่อมา รวมทั้งเป็นชนวนทำให้เกิดการพังทลายของสหภาพโซเวียตกับประเทศในยุโรปตะวันออกอื่นๆ และการรวมตัวของยุโรป ที่ขยายตัวออกไปทางตะวันออก

ทัศนะของอังเกลา แมร์เคิล

ในโอกาสครบรอบ 30 ปีการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน เว็บไซต์ spiegel.de ได้สัมภาษณ์นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ซึ่งเป็นคนที่เติบโตและได้รับการศึกษาในเยอรมันตะวันออก เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในปี 1989 นั้น เธอมีอายุ 35 ปี spiegel.de ถามว่า หากกำแพงเบอร์ลินไม่ได้พังทลายลง ชีวิตของเธอตอนนี้ในเยอรมันตะวันออกจะเป็นอย่างไร

อังเกลา แมร์เคิล กล่าวตอบว่า “อย่างน้อย ฉันคงจะสามารถทำในสิ่งที่บรรลุความฝันของฉัน ในเยอรมันตะวันออก ผู้หญิงจะเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี ดังนั้น เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ ฉันจะขอหนังสือเดินทาง และก็เดินทางไปอเมริกา ในเยอรมันตะวันออก คนที่รับบำนาญจะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ คนที่ไม่เป็นที่ต้องการแล้วในฐานะคนงานสังคมนิยมจะได้รับอนุญาตให้เดินทางได้”

“อังเกลา แมร์เคิล” ไปร่วมงานรำลึก 30 ปี กำแพงเบอร์ลิน ที่มาภาพ: bbc.com

กับคำถามถึงชีวิตในสมัยเยอรมันตะวันออก และช่วงกำแพงเบอร์ลินพังทลายลง อังเกลา แมร์เคิล ตอบว่า “หลังจากกำแพงเบอร์ลินพังลง ประชาชนในเยอรมันตะวันออกจะต้องทำตัวให้คุ้นเคยกับสิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น ต้องเปลี่ยนความคิด และเมื่อเยอรมันรวมกัน ทักษะฝีมือที่เคยพัฒนามาก็ไม่มีความหมายสำคัญอีกแล้ว”

อังเกลา แมร์เคิล กล่าวว่า “เมื่อมองย้อนกลับไปที่เยอรมันตะวันออก มีอยู่สิ่งหนึ่งที่คนเยอรมันตะวันตกจำนวนมากมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก คือประเด็นที่ว่า แม้จะอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ก็เป็นไปได้ที่เราจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เรามีเพื่อนและครอบครัวที่จะฉลองวันเกิดและวันคริสต์มาส หรือร่วมทุกข์ด้วยกัน ทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่ในประเทศแบบนี้ แม้เราจะเดินทางไปได้แค่ฮังการีหรือบัลกาเรีย ไม่ใช่อเมริกา แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้มากำหนดวิถีชีวิตในแต่ละวันของเรา”

โลกหลังกำแพงเบอร์ลิน

ก่อนครบรอบ 30 ปีการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน เว็บไซต์ dw.com ได้สัมภาษณ์ Francis Fukuyama นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งในต้นปี 1989 ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะพังลง ได้เขียนบทความที่โด่งดังไปทั่วโลกชื่อว่า “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (The End of History) ที่เขาอธิบายว่า ประชาธิปไตยเสรีคือรูปแบบสุดท้ายของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก และก็จะไม่มีการพัฒนาที่เหนือไปจากนี้อีกแล้ว

dw.com ถามว่า การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน หมายถึงการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์หรือไม่ Fukuyama ตอบว่า คำว่า “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” ไม่ได้หมายถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นทิศทางความก้าวหน้าของมนุษย์ ช่วงที่เขียนบทความเรื่องนี้ กำลังเกิดการปฏิรูปในโซเวียตช่วงสมัยกอร์บาชอฟ และประเทศในยุโรปตะวันออกก็กำลังหันเหมาสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ในอีก 100 ปีข้างหน้า คนทั่วไปก็จะยังถือว่าปี 1989 เป็นจุดหักเหที่สำคัญอย่างแท้จริง เพราะยุโรปกลับมารวมตัวกันใหม่ และระบอบคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง

แต่ Fukuyama กล่าวว่า ปัญหาในปัจจุบันก็คือว่า มีระบอบการเมืองอีกแบบหนึ่งเข้ามาแทนที่ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีที่ดี ยุโรปตะวันออกอย่างโปแลนด์และฮังการีมีรัฐบาลแบบประชานิยม ที่ไม่ได้มีความหมายอันแสดงถึงการยอมรับความหลากหลาย และยังมีการรวมศูนย์อำนาจเกิดขึ้น ซึ่งละเมิดต่อกฎเกณฑ์ของยุโรปสมัยใหม่ ดังนั้น สิ่งเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นก็คือ จากรัฐบาลอำนาจนิยมในรูปแบบหนึ่ง ไปสู่รูปแบบใหม่ของประชานิยม ที่มีการท้าทายต่อระบอบประชาธิปไตย

Francis Fukuyama นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ที่มาภาพ: https://www.newstatesman.com/culture/observations/2018/10/francis-fukuyama-interview-socialism-ought-come-back

คำถามที่ว่า สงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้ว อะไรคือสิ่งที่มาแทนที่ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจโลกในปัจจุบัน Fukuyama ตอบว่า โลกปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น และก็มีระบอบอำนาจนิยม จีนเป็นรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป โดยเป็นการผสมผสานระหว่างทุนนิยมของรัฐ กับอำนาจนิยมที่เข้มข้นสูง และค่อนข้างประสบความสำเร็จ มีความมั่นคง และสามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างมาก นอกจากนี้ โลกเราก็มีระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เสรี ที่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจแบบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น โลกในปัจจุบันจึงไม่ได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้วที่ชัดเจนเหมือนกับสมัยสงครามเย็น

Fukuyama เห็นว่า โลกในปัจจุบันจะมีความมั่งคงที่ลดน้อยลง สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่สร้างโลกเสรีขึ้นมา ทั้งในแง่การรวมตัวของเศรษฐกิจโลก และการสร้างพันธมิตรทางทหาร แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันบอกว่า ไม่ต้องการมีความรับผิดชอบนี้อีกต่อไป และก็ไม่ชอบเรื่องพันธมิตร สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ช่องว่างนี้จะถูกแทนที่โดยมหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น รัสเซียหรือจีน หรือไม่ก็เกิดความปั่นป่วนที่จะมีมากขึ้น

คำถามที่ว่า ทำไมจึงเกิดกระแสประชานิยมและชาตินิยมมากขึ้น Fukuyama ตอบว่า มีคำอธิบายได้ 2 แนวคิด แนวคิดหลักเห็นว่าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดคนแพ้และคนชนะ กระแสประชานิยมคือ การประท้วงของคนที่พ่ายแพ้ ที่โจมตีคนชั้นนำ ที่ว่าทำให้เกิดโลกแบบนี้ขึ้นมา

คำอธิบายอีกแนวหนึ่งที่ Fukuyama เห็นว่าเป็นความคิดที่มีพลัง เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม คือ ความรู้สึกที่เกิดจากการสูญเสียความสำนึกที่มีต่อชุมชน และอัตลักษณ์ของชาติ เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาคลื่นผู้อพยพ และการจ้างงานที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้ทำให้ผู้คนทั่วไปเกิดความไม่สบายใจ เพราะคนเราต้องการความผูกพันที่เกิดขึ้นจากอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีพลังเข้มแข็ง มากกว่าสิ่งที่สังคมอิสระเสรีมอบให้กับพวกเขา

คำถามที่ว่า กำแพงเบอร์ลินถูกพังให้ทลายลงไป แต่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะสร้างกำแพงชายแดนขึ้นมา สหรัฐฯ กำลังจะสลัดทิ้งรูปแบบประชาธิปไตยเสรีหรือไม่ Fukuyama ตอบว่า ในสหรัฐฯ สถาบันต่างๆ ค่อนข้างเข็มแข็ง กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีที่กำลังเกิดขึ้นเป็นกลไกที่รัฐธรรมนูญให้มาเพื่อลงโทษผู้นำที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด เราไม่รู้ว่าผลของกระบวนการนี้จะออกมาอย่างไร แต่ในที่สุด กลไกที่มีพลังมากที่สุดคือการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2020 ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นว่า ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งอย่างไร

Fukuyama กล่าวสรุปว่า ช่วงปี 1970-2005 ประเทศประชาธิปไตยในโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 35 ประเทศเป็นกว่า 100 ประเทศ แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยอยู่ในภาวะถดถอย ขณะที่ระบอบอำนาจนิยมพุ่งขึ้นมา แต่สิ่งที่ทำให้เรายังมีความหวังอยู่ที่ว่า จิตวิญญาณของ 1989 ยังคงอยู่ ความต้องการของผู้คนที่จะมีชีวิตในสังคมที่อิสระเสรี ยังมีอยู่ในหลายส่วนของโลก

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Fall_of_the_Berlin_Wall#/media/File:Berlin_wall_1990.jpg

เอกสารประกอบ

The Fall of the Berlin Wall in Photos: An Accident of History That Changed the World, nytimes.com, 9 November 2019.
Angela Merkel on the Fall of the Wall, 7 November, 2019, spiegel.de
Francis Fukuyama: “Spirit of 1989 is still around”, 8 November, 2019, dw.com