ThaiPublica > เกาะกระแส > วิศวกรรมสถานฯ ค้าน AOT ชี้ “สร้างเทอร์มินัล 2 แบบตัดแปะ “ แนะขยายเทอร์มินอล 1 รองรับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินคุ้มกว่า

วิศวกรรมสถานฯ ค้าน AOT ชี้ “สร้างเทอร์มินัล 2 แบบตัดแปะ “ แนะขยายเทอร์มินอล 1 รองรับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินคุ้มกว่า

14 พฤศจิกายน 2019


วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ…หายนะสุวรรณภูมิ?” ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 โดยมี ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด และ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นวิทยากร

วิศวกรรมสถานฯ ค้าน AOT สร้างเทอร์มินัล 2 “ดร.สามารถ” ชี้หมดความจำเป็น แนะขยายเทอร์มินอล 1 รองรับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินคุ้มกว่า

ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยสั่งการมากกว่าหนึ่งครั้งในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ไปจัดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 หรือเทอร์มินัล 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดย ทอท.ต้องการจะก่อสร้างบนตำแหน่งที่ผิดจากแผนแม่บท หรือ “มาสเตอร์แพลน” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ในฐานะที่ตนเคยมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2546 บนพื้นที่ 12,000 ไร่ ตามแผนแม่บทดังกล่าวได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ และเป้าหมายของการออกแบบเพื่อให้สมมาตร มีอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล 1) ด้านเหนือ ใกล้มอเตอร์เวย์ และเทอร์มินัล 2 ด้านใต้ ฝั่งถนนบางนา-ตราด รวมทั้งยังมีทางวิ่ง (รันเวย์) ข้างละ 2 เส้น รวมทั้งหมด 4 เส้น

ปัจจุบันแผนแม่บทดังกล่าวได้เริ่มพัฒนาแล้ว ประกอบด้วยรันเวย์ 2 เส้น อาคารเทอร์มินัล 1 หลัง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี ส่วนแผนการพัฒนาในช่วงถัดไป ตามมาสเตอร์แพลนนั้น ทอท.จะต้องต่อขยายเทอร์มินัล 1 ฝั่งตะวันออก-ตะวันตก เพิ่มได้อีก 30 ล้านคนต่อปี ร่วมกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารรอง ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้ ทอท.เดินหน้าขยายพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของเทอร์มินัล 1 โดย ทอท. ตอบรับในการพัฒนาสนามบินระยะที่ 2 ตามแผน แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด ทอท.จึงยังไม่ลงทุนพัฒนาในส่วนนี้ ขณะที่ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงกว่า 60 ล้านคน ถ้าหาก ทอท. ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายตามแผนแม่บทที่ระบุไว้ตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงไม่แออัดอย่างวันนี้ เพราะการสร้างส่วนต่อขยายสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่ม 15 ล้านคน หากทำทั้ง 2 ฝั่งตามแผนฯจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคน

ก่อนหน้านี้ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ได้ร่วมกับ 12 องค์กรวิชาชีพ เดินหน้าคัดค้านแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หรือ “เทอร์มินัล 2” ซึ่งถูกระงับไปโดยสภาพัฒน์ฯและกระทรวงคมนาคมในสมัยที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบัน ทอท. ได้กลับนำเรื่องดังกล่าวมาเร่งรัดโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านและข้อเสนอแนะของ 12 องค์กรวิชาชีพและประชาชน

ดร.สมเจตน์ กล่าวต่อว่าสำหรับ “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” ไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถให้กับสนามบินสุวรรณภูมิในการรองรับจำนวนผู้โดยสาร และในทางกลับกันจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น

1) ไม่ทำให้สนามบินมีความจุเพิ่มขึ้น เพราะ ทอท.ไม่สามารถก่อสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มเติมได้ เนื่องจากพื้นที่หลังเทอร์มินัล 2 ตัดแปะคับแคบ ทำให้เครื่องบินวิ่งเข้า-ออกหลุมจอดอย่างยากลำบาก และไม่สามารถทำหลุมจอดเพิ่มเติมได้ ทำให้เทอร์มินัล 2 ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

2) ผู้โดยสารที่ไม่ได้ขึ้นเครื่องบินที่จอดรออยู่ที่หลุมจอดใกล้เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ จะต้องไปขึ้นเครื่องบินที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2.2 กิโลเมตร จำเป็นจะต้องใช้รถไฟฟ้าไร้คนขับ(Automated People Mover หรือ APM) ถึง 3 สาย ประกอบด้วย สายลอยฟ้า 2 สาย และสายใต้ดิน 1 สาย ทำให้เกิดความยุ่งยากทำให้ผู้โดยสารทุลักทุเล และสับสนวุ่นวายก่อนจะได้ขึ้นเครื่องบิน

3) ทำให้เพิ่มปัญหารถติดบนมอเตอร์เวย์ เนื่องจากเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ จะตั้งอยู่ด้านมอเตอร์เวย์ ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้มอเตอร์เวย์เข้า-ออกสนามบิน ทำให้กรมทางหลวงต้องเสียงบ เตรียมก่อสร้างมอเตอร์เวย์ชั้นที่ 2 เหนือมอเตอร์เวย์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณถึง 37,500 ล้านบาท เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้อาจจะซ้ำเติมให้อันดับโลกของสนามบินสุวรรณภูมิตกลงไป ทั้งนี้ สนามบินสุวรรณภูมิเคยได้รับการจัดอันดับสนามบินดีเด่นของโลกให้อยู่ในอันดับที่ 10 เมื่อปี 2553 โดย Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจการบินและจัดอันดับสนามบินดีเด่นของโลกเป็นประจำทุกปี ต่อมาในปี 2561 ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 36 และในปี 2562 ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 46 เพียงปีเดียวร่วงลงมาถึง 10 อันดับ

ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

“ส่วนการหยิบยกอ้างว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO เห็นชอบแผนเทอร์มินัล 2 ตัดแปะนั้น ขอให้ ทอท. กลับไปทบทวนใหม่ว่า รายงานจาก ICAO ฉบับที่อ้างถึงนั้นเป็นรายงานการศึกษาเมื่อปี 2554 ที่รัฐบาลยุคนั้น มุ่งที่จะปิดสนามบินดอนเมือง และมาเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลต้องการใช้ 3 สนามบิน อีกทั้งรายงาน ICAO ดังกล่าวได้เกริ่นนำในตอนต้นของรายงานว่า รายงานนี้จัดทำขึ้นในระยะเวลาอันสั้นใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งยังมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาและทำการศึกษาอีกมากมาย ทั้งนี้ ICAO ยังได้ระบุให้ทำการวิเคราะห์ระบบทางเข้าของเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ในตำแหน่งที่ ทอท. ต้องการ”

ตามแผนการพัฒนาสนามบินของทอท.ได้กำหนดเป้าหมายในการรองรับจำนวนผู้โดยสารไว้ที่ 150 ล้านคน แต่ถ้าพิจารณาจากจำนวนพื้นที่ของสุวรรณภูมิในปัจจุบันมีได้เพียง 4 รันเวย์ โดยรันเวย์ที่ 1 และ 2 รวมทั้งรันเวย์ที่ 3 และ 4 มีระยะห่างกันไม่มีนัก ทำให้มีข้อจำกัดในช่วงที่เครื่องบินขึ้นลงพร้อมกัน ส่วนในการที่จะสร้างรันเวย์ที่ 5 นอกผังสนามบินนั้นก็มีข้อจำกัดในการซื้อที่ดินเพราะ ทอท.เป็นบริษัทมหาชนไม่สามารถเวนคืนที่ดินได้

หากย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2562 สภาพัฒน์ฯได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ได้ทักท้วงและเสนอแนะให้ ทอท.ดำเนินการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทที่วางไว้ ดังนี้

    1. เร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ซึ่งออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553
    2. เตรียมโครงการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันตก
    3. เร่งก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งจะอยู่ทางทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ไม่ใช่บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บท ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งมอเตอร์เวย์

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงคมนาคมได้ส่งความเห็นของสภาพัฒน์ฯไปให้ ทอท.พิจารณา และให้ดำเนินการตามความเห็นสภาพัฒน์ แม้แต่กลุ่มบริษัทอีพีเอ็มซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ ทอท. ก็เคยคัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท แต่ทอท.ก็ยังไม่ยอมทำตามข้อเสนอแนะของอีพีเอ็ม ซึ่งได้เสนอให้ต่อขยายเทอร์มินัล 1 ก่อน และตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บท

ดร.สมเจตน์ กล่าวต่อว่า แทนที่จะทำตามคำแนะนำของสภาพัฒน์ รมว.คมนาคม และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาอีพีเอ็ม ทอท.กลับไปทำตามความเห็นของสมาคมขนส่งทางอากาศ (International Air Transport Association หรือ IATA) ที่อ้างว่าได้สอบถามความเห็นสายการบินที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ แล้ว พบว่าสายการบินสนับสนุนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดยทอท.ได้นำความเห็นของสมาคมฯ เสนอต่อบอร์ด ทอท.ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ปรากฏว่าบอร์ด ทอท.มีมติให้ ทอท.เดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือ เทอร์มินัล 2 ในตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทต่อไป

หากเทียบการพัฒนาส่วนต่อขยายเทอร์มินัล 1 ฝั่งตะวันออก ตามมาสเตอร์แพลนเดิม จะพบว่าสามารถทำได้เลย ทำได้เร็ว ใช้งบน้อย และรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปีได้ เช่นเดียวกับการก่อสร้างเทอร์มินัลด้านทิศเหนือที่ ทอท. กำลังจะดำเนินการ ก็สามารถจุผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน แต่มีพื้นที่อาคารถึง 3.4 แสนตารางเมตร โดยหากมีการขยายเช่นนี้ แต่กลับไม่มีการเพิ่มหลุมจอด ก็จะแน่นแบบเดิม เนื่องจากหลุมจอดที่จะประชิดอาคารใหม่ เป็นหลุมจอด 14 หลุมเดิม ที่เคยเป็นหลุมจอดระยะไกล แค่เปลี่ยนมาเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร

หากเทียบต้นทุนในการก่อสร้างของทั้ง2 ส่วน จะพบว่าการสร้างส่วนต่อขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งฝั่งทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จะใช้งบประมาณเพียง 12,000 ล้านบาท สามารถจุผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน แต่ถ้าพัฒนาเทอร์มินัลแบบใหม่จะต้องใช้งบสูงถึง 42,000 ล้านบาท จุผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกัน อีกทั้งการพัฒนาตามแผนแม่บทเดิมได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาพัฒน์ฯ และ ครม. แล้ว แต่อาคารใหม่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ฯ และยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

ขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2560 มีผู้โดยสาร 59.1 ล้านคน ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 62.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.7 ล้านคน หรือ คิดเป็น 6.3% เป็นเหตุให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมีผู้โดยสารค่อนข้างแออัดในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หรือ “เทอร์มินัล 1” ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศเหนือบนฝั่งมอเตอร์เวย์ เนื่องจากถูกออกแบบให้มีความจุรองรับผู้โดยสารได้แค่ 45 ล้านคนต่อปี แต่ ทอท.ไม่ได้เร่งรัดก่อสร้างเทอร์มินัล2 ตามแผนแม่บท ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศใต้บนฝั่งถนนบางนา-ตราด กลับเดินหน้าที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทหรือที่เรียกกันว่า “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ

ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่า บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่ควรสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ เพราะตามแผนแม่บทเดิมที่ตนเคยเข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อปี 2536 ไม่ได้กำหนดให้มีการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ตามแผนแม่บทเดิมจะมี 2 อาคาร คือ อาคารผู้โดยสาร 1 (เทอร์มินัล 1) อยู่ทางด้านทิศเหนือใกล้กับมอเตอร์เวย์ และ อาคารผู้โดยสาร 2 (เทอร์มินัล2) อยู่ทางด้านทิศใต้ ฝั่งถนนบางนา-ตราด โดยมีรันเวย์ด้านตะวันตก 2 เส้น ด้านตะวันออก 2 เส้น รวมทั้งหมด 4 เส้น การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิขณะนี้มีแค่เทอร์มินอล 1 กับรันเวย์ 1 และ 2 ปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี แต่ถ้าทำครบตามแผนแม่บท คือมีทั้ง เทอร์มินอล 1 และ 2 และรันเวย์ครบทั้ง 4 เส้น ตามแผนแม่บทจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี และสนามบินดอนเมืองที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 40 ล้านคน รวม 3 สนามบิน มีความจุผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี และสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นไปได้อีก 10 ปี เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องสร้างเทอร์มินอล 2 ตัดแปะ และทอท.ควรเร่งขยายเทอร์มินอล 1 ให้เป็นไปตามแผนแม่บท

“หากพิจารณาบริเวณที่จะมีการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ตัดแปะ ระหว่างการก่อสร้างคงจะยุ่งยากมาก เพราะบริเวณนี้จะเป็นลานจอดเครื่องบิน ใต้ดินมีท่อน้ำมัน ท่อสายไฟฝังอยู่ บนลานเป็นถนนสำหรับรถขนสัมภาระผู้โดยสาร รถขนบันได รถดันเครื่องบิน ระหว่างการก่อสร้างคงจะวุ่นวายมาก เครื่องบินที่จะอยู่จะย้ายไปจอดที่ไหน และเมื่อก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ตัดแปะเสร็จแล้ว ไม่แน่ใจว่าผู้โดยสารทุกคนจะขึ้นเครื่องบินได้ที่นี่ เชื่อว่าจะมีผู้โดยสารบางส่วนต้องไปขึ้นเครื่องบินที่อาคารเทียบเครื่องบินรอง 1 (Satellite 1) ซึ่งอยู่ห่างอออกไป 2.2 กิโลเมตร ต้องนั่งรถไฟฟ้าที่เรียกว่า APM ซึ่งมีทั้งแบบลอยฟ้าและใต้ดินถึง 3 สาย ขึ้นจากสถานีที่ 1 มาลงสถานีที่ 2 ลากกระเป๋าเดินไปขึ้นสถานีที่ 3 นั่ง APM ลอดอุโมงค์ไปขึ้นสถานีที่ 4 เพื่อเข้าอาคารเทียบเครื่องบินรอง 1 ตอนนี้มีรันเวย์ที่ 1 กับ 2 และกำลังจะสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 ซึ่งอยู่ห่างจากเทอร์มินอล 2 ตัดแปะมาก นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีปัญหาจราจรติดขัด เพราะเทอร์มินอล 2 ตัดแปะไปสร้างใกล้กับมอเตอร์เวย์ ซึ่งกรมทางหลวงได้เตรียมแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ขั้นที่ 2 ระยะทาง 18 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาทเอาไว้แล้ว”ดร.สามารถ กล่าว