ThaiPublica > เกาะกระแส > สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอนจบ): เอกชนแชร์ประสบการณ์ตรง ไม่ใช้แรงงานเด็ก ดูแลตลอดห่วงโซ่ทั้งคู่ค้าลูกค้า

สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอนจบ): เอกชนแชร์ประสบการณ์ตรง ไม่ใช้แรงงานเด็ก ดูแลตลอดห่วงโซ่ทั้งคู่ค้าลูกค้า

30 พฤศจิกายน 2019


กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) กำหนดจัดงานเฉลิมฉลอง 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2562

การเสวนาแบ่งปันประสบการณ์จากภาคเอกชนที่ได้ดำเนินธุรกิจบนหลักการสิทธิเด็ก โดย (จากซ้าย) นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการเสวนา นางสาวปาริชาติ แสงอัมพร ผู้จัดการแผนกงานความรับผิดชอบต่อสังคม บมจ.โกลว์ พลังงาน นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และนายสมัชชา พรหมศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง บมจ.แสนสิริ

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ร่วมกับ UNICEF จัดประชุมสมัชชาสหวิชาชีพด้านเด็ก ในหัวข้อ “สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ” โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก เป็นการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights — NAP) โดย นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ช่วงที่สองเป็นการบรรยายเกี่ยวกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (GCNT) โดย นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมฯ และการบรรยายเรื่องหลักปฏิบัติด้านสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ โดยนายอมรชัย แจวเจริญวัฒนา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ส่วนในช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาแบ่งปันประสบการณ์จากภาคเอกชนที่ได้ดำเนินธุรกิจบนหลักการสิทธิเด็ก โดยนายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายสมัชชา พรหมศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและดิจิตอลมาร์เก็ตติง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และนางสาวปาริชาติ แสงอัมพร ผู้จัดการแผนกงานความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

  • สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอน1): ไทยชาติแรกเอเชียใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน”
  • สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอน 2): คู่มือสร้างความเข้าใจ-หลักปฏิบัติตามกรอบสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน-สิทธิเด็ก
  • ช่วงที่ 3 ประชุมสมัชชาสหวิชาชีพด้านเด็ก ซึ่งเป็นการเสวนาปันประสบการณ์จากภาคเอกชนที่ได้ดำเนินธุรกิจบนหลักการสิทธิเด็ก โดยไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

    ไทยยูเนี่ยนดูแลตั้งแต่ในครรภ์จนวัยก่อนเข้าเรียน

    นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

    นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ มียุทธศาสตร์ที่ชื่อว่า SeaChange® ซึ่งมี 4 เสาหลัก ประกอบด้วย 1) แรงงานที่ถูกกฎหมายและปลอดภัย 2) การหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ 3) การทำงานในโรงงานอย่างมีความรับผิดชอบ และ 4) การดูแลคนและชุมชน

    การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กจะอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ SeaChange® โดยในด้านสิทธิเด็ก ภายใต้เสาหลักแรงงานนั้น ยึดหลักการสิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization — ILO) คือ การจ้างงานไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ส่วนแรงงานทั่วไปนั้น ต้องมาจากการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม

    บริษัทมี code of conduct (จรรยาบรรณ) เพราะแม้ไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทไทยที่มีธุรกิจทั่วโลก ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายทั่วโลก แต่แต่ละที่แต่ละประเทศมีกฎหมายที่ต่างกัน บริษัทต้องมีการจ้างงานที่เหมาะสม แรงงานวัยเยาว์ที่ไม่ใช่แรงงานเด็กต้องมีมาตรการด้านการจัดสถานที่ทำงานที่เหมาะสม เพราะงานบางด้านอาจจะเป็นงานอันตราย สำหรับคนมีอายุในช่วงหนึ่ง ก็ต้องมีมาตรการรองรับด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

    สำหรับการดำเนินงานด้านแรงงานของบริษัทฯ ที่อาจจะเกี่ยวกับสิทธิเด็ก นายปราชญ์กล่าวว่า คือแรงงานที่ตั้งครรภ์ บริษัทฯ ได้ให้การดูแล เนื่องจากการดูแลเด็กนั้นต้องทำตั้งแต่ก่อนเด็กจะคลอดออกมา ดังนั้น แรงงานที่ตั้งครรภ์ มีการดูแลด้วยการห้ามทำงานประเภท งานบางประเภทต้องนั่งทำ และต้องมีการจัดสถานที่ รวมไปถึงจัดให้มีการอบรมกรณีตั้งครรภ์ ทั้งคนงานไทย เมียนมา กัมพูชา ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสม

    นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษเกี่ยวกับสิทธิเด็กด้านการพัฒนาการศึกษา เพราะบางครั้งแรงงานที่เข้ามาทำงานกับบริษัทได้นำลูกเข้ามาในไทยด้วย แต่เนื่องจากเป็นคนงานต่างด้าว อาจจะพูดภาษาไทยไม่ได้ ลูกจะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนอาจจะลำบาก บริษัทฯ จึงได้ดำเนินโครงการร่วมกับภาคประชาสังคม สร้างศูนย์เตรียมความพร้อมหรือ pre-school รับเด็กตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยเปิดศูนย์ที่สมุทรสาครตั้งแต่ปี 2012 และไม่จำเป็นว่าต้องเป็นลูกคนงานข้ามชาติ ลูกของคนในชุมชนนั้นก็เข้ามาเรียนได้ มีการจ้างครูทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา สนับสนุนให้เด็กเข้ามาเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทยอย่างเป็นทางการ

    นอกจากนี้ ด้านทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับเด็กอยู่บ้าง โดยหนึ่งในกลยุทธิ์ SeaChange® ของบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับทะเลตามแนวคิด Sustainable for Now for Future Generation เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในอนาคตที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะฉะนั้นในฐานะธุรกิจ บริษัทฯ ก็ดูแลทรัพยากรในวันนี้เพื่อให้ผู้ใหญ่ในอนาคตมีทรัพยากรเพียงพอ งานที่บริษัทฯ ดำเนินการก็เช่น การพัฒนาแหล่งประมงเพื่อไม่ให้มีการจับปลามากเกินไป

    “การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เพราะใน 4-5 ปีก่อนธุรกิจประมง อาหารทะเล ถูกจับตา และเรามองว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ บางครั้งอาจจะไม่ได้เห็นผลชัดเจน แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าต่างชาติหรือแม้แต่ลูกค้าธุรกิจไทยเริ่มให้ความสนใจด้านนี้มากขึ้น” นายปราชญ์กล่าว

    แสนสิริจัดพื้นที่ปลอดภัยในไซต์ให้ลูกหลานแรงงาน

    นายสมัชชา พรหมศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและดิจิตอลมาร์เก็ตติง บมจ.แสนสิริ

    นายสมัชชา พรหมศิริ กล่าวว่า บริษัทแสนสิริ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้ประกอบการแต่ไม่ได้รับเหมาก่อสร้างโครงการด้วยเอง มีผู้รับเหมาช่วงมาสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อ 10 กว่าปีก่อนไม่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กสิทธิมนุษยชนมากนัก กิจกรรมเพื่อสังคมจึงอยู่ในลักษณะการบริจาค จัดกิจกรรมพาเด็กไปเที่ยว แต่เมื่อได้มีโอกาสทำงานร่วมกับยูนิเซฟเริ่มมีความรู้ ได้รับคำแนะนำ ประกอบกับยูนิเซฟได้จัดการผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กมาให้ความรู้จึงเกิดเป็นกิจกรรม

    “แน่นอนเรื่องแรงงานเด็กเป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ ที่จะให้การใช้แรงงานเด็กเกิดขึ้นในธุรกิจของเรา ในห่วงโซ่ธุรกิจของเรา การต่อต้านจากผู้รับเหมาก็มี เรามีผู้รับเหมาหลายราย ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ซึ่งรายใหญ่จะเข้าใจดีเมื่ออธิบาย แต่รายเล็กต้องใช้ความพยามในการอธิบายให้รู้และเข้าใจว่าการไม่ใช้แรงงานเด็กคืออะไร แต่วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุดคือระบุไว้ในสัญญาว่าห้ามใช้แรงงานเด็ก และหากพบว่ามีการใช้แรงงานเด็ก ก็จะยกเลิกสัญญา” นายสมัชชากล่าว

    นายสมัชชากล่าวว่า ในกลุ่มผู้รับเหมารายกลางและรายใหญ่ บริษัทฯ พอที่จะมีพลังอยู่บ้างในการที่จะบอกว่าจะไม่ใช้บริการอีกต่อไปหากพบว่ามีการใช้แรงงานเด็ก

    นอกจากนี้ ได้ให้พนักงานของบริษัทฯ ในไซต์งานก่อสร้างช่วยกับตรวจสอบและสอดส่อง และให้แจ้งกลับมาที่บริษัทฯ หากพบเจอ ซึ่งบริษัทจะติดต่อไปยังผู้รับเหมารายนั้น ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงเองก็ได้ลงไปตรวจสอบไซต์งานเป็นประจำ

    บริษัทฯ มีโครงการที่ทำงานร่วมกับยูนิเซฟ ในการดูแลแรงงานต่างด้าว นอกจากความปลอดภัยในการทำงานแล้ว ยังได้จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกหลานของแรงงานไม่ให้ออกไปวิ่งเล่นในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งได้ทำโครงการนี้มาแล้ว 7-8 ปี แต่ก็ยังมีอุปสรรคหลายอย่าง และอยู่ในขั้นตอนที่หารือกับยูนิเซฟ ได้แก่ หนึ่ง จะต้องชี้แจงและอธิบายผู้รับเหมา สอง จำนวนเด็กแต่ละไซต์ก่อสร้างไม่แน่นอนจากการเก็บสถิติ ส่วนอายุก็แตกต่างกันตั้งแต่ 8 เดือนจนถึง 12 ปี ซึ่งต้องมีการจัดการกับวิธีการสอน

    บริษัทฯ ต้องการที่จะผลักดันให้เด็กได้รับการศึกษาในพื้นที่ที่โครงการตั้งอยู่ แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่พ่อแม่เกรงว่าการส่งลูกซึ่งเป็นเด็กต่างด้าวซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้ออกไปเรียนข้างนอก จะได้รับการปฏิบัติจากเด็กไทยเช่นเดียวกับที่เด็กไทยทั่วไปได้รับหรือไม่

    “เราทำโครงการนี้มา 7-8 ปีแล้วแต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แม้จะไม่ใช่แนวทางที่สมบูรณ์แบบนัก แต่ก็เป็นการเรียนรู้ที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้เห็นประเด็นที่มี และเห็นว่า 7-8 ปีที่ผ่านก็เริ่มรับแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ เริ่มมีการดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานเด็ก มีโครงการพื้นที่เด็กในไซต์งานซึ่งนับว่าเป็นการปฏิบัติที่ดี และเราไม่ได้หวง ไม่ได้คิดว่าจะพูดเพื่อให้คนอยากจะมาซื้อสินค้าเรา แต่อยากให้ผู้ประกอบการมาร่วมกันทำ ซึ่งอาจจะมีแนวปฏิบัติที่ดีกว่าเราและนำมาแบ่งปันกันได้” นายสมัชชากล่าว

    สำหรับการดำเนินการในสำนักงานใหญ่ นายสมัชชากล่าวว่า กลุ่มแม่และเด็กได้รับคำแนะนำจากยูนิเซฟ จัดให้มีมุมสำหรับการให้นมแม่ มีพื้นที่ปั๊มนม อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะทางธุรกิจทำให้บริษัทฯ ไม่มีประเด็นที่ซับซ้อนในเรื่องสิทธิเด็ก ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณไซต์ก่อสร้างโครงการ

    ทางด้านกลุ่ม LBGT นายสมัชชากล่าวว่า เป็นประเด็นหนึ่งที่ตอนแรกบริษัทฯ ยังไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการในเร็วๆ นี้หรือไม่ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว หากมีคำพูดผิด และยังไม่มีความเข้าใจที่ดีพอ จึงยังถือว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และบริษัทฯ ก็เปิดกว้างอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยพูดว่าเปิดกว้าง

    “เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามา บริษัทฯ ก็ให้โอกาสแสดงตัวตนมากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงให้นแนวทางมาว่าให้ พวกเขาคิดกิจกรรมขอบเขาเองจะดีกว่า เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่ถูกหล่อมหลอมมาอีกแบบหนึ่ง บริษัทฯ คอยสนับสนุนกิจกรรมที่เขาคิดว่าเหมาะสมกับพวกเขาดีกว่าที่จะคิดแทน อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงการเริ่มต้นทำกิจกรรมเล็กๆ ในองค์กร ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีสวัสดิการชัดเจนที่สอดคล้องกับพฤติกรรมนัก และอยู่ระหว่างการหารือกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล” นายสมัชชากล่าว

    ในแง่สิ่งที่บริษัทฯ คาดหวังในฐานะเป็นองค์กรธุรกิจมี 2 เรื่อง หนึ่ง แรงงานรุ่นใหม่คนที่จะมาทำงานกับบริษัทฯ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญ เด็กรุ่นใหม่เปิดรับข่าวสาร รับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน รับรู้เรื่อง LBGT เรื่องแรงงานเด็ก แรงงานต่างชาติ เป็นเรื่องที่บริษัทฯ ว่าในเชิงธุรกิจแล้ว ผลระยะยาวและผลทางอ้อม คือ แรงงานรุ่นใหม่จะเห็นว่าเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ และเป็นสิ่งที่รักษาแรงงานรุ่นใหม่ให้ทำงานกับบริษัทฯ ได้ เป็นการดูแลแรงงานที่คุณภาพ

    โกลว์พลังงานเน้นให้การศึกษาความรู้

    นางสาวปาริชาติ แสงอัมพร ผู้จัดการแผนกงานความรับผิดชอบต่อสังคม บมจ.โกลว์ พลังงาน

    นางสาวปาริชาติ แสงอัมพร ผู้จัดการแผนกงานความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะธุรกิจพลังงาน ช่วงแรกที่เริ่มธุรกิจบริษัทฯ ไม่ได้มุ่งไปที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่ให้ความสำคัญและมุ่งไปที่สิ่งแวดล้อมมากกว่า และเน้นไปที่กิจกรรมเพื่อสังคม หรือ corporate social responsibility (CSR) เป็นการให้ การบริจาค

    ช่วงหลังแนวทางการรับผิดชอบต่อสังคมปรับเปลี่ยนไป เมื่อได้นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ โดยหนึ่งในนั้น คือ สิทธิมนุษยชน ซึ่งได้นำไปใส่ไว้ใน code of conduct ของบริษัท และมีผลให้ในทุกกระบวนการการทำงานของบริษัทคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน โดยมีประเด็นพื้นฐานคือ แรงงาน

    บริษัทฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนหลายอย่างเพื่อรองรับแรงงานและสิทธิมนุษยชน ประกอบกับบริษัทแม่มีฐานธุรกิจจากยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ขณะที่เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอาจจะยังเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก

    แนวทางปฏิบัติหนึ่งซึ่งรับจากบริษัทแม่คือการไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น ในการทำงาน เช่น การตั้งคณะกรรมการ ก็ต้องมีทั้งผู้หญิงผู้ชายรวมกันในระดับที่เหมาะสม ซึ่งก็ค่อนยาก เนื่องจากธุรกิจพลังงานมีผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงมีน้อย ทำให้ระยะต่อไปในการรับคนเข้าทำงานต้องมีสัดส่วนชายหญิงที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการกำหนดวันหยุดที่เหมาะสม สำหรับแรงงาน ทั้งแรงงานที่ลาคลอดและอื่นๆ

    ส่วนมุมเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ธุรกิจพลังงานอาจจะมีความเสี่ยงน้อยที่จะไปกระทบสิทธิเด็ก แต่สิ่งที่จะกระทบเด็กคือ สิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งบริษัทฯ เป็นโรงงานไฟฟ้า อาจจะมีฝุ่นเกิดขึ้น บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น มีการลงพื้นที่ในชุมชนสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งการประเมินโครงการผลกระทบสิ่งแวดล้อม (environmental impact assessment report) หรือ EIA และคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม (environmental health impact accreditation — EHIA) เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกระทบต่อเด็กๆ ด้วย ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมาย

    นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีช่องทางการส่งข้อร้องเรียน รวมทั้งการทุจริต การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในชุมชน จากคู่ค้าหรือ ลูกค้าของบริษัทฯ

    ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทส่วนใหญ่เน้นไปที่การพัฒนา การศึกษา และเด็กเช่นกัน โดยให้ทุนการศึกษา เปิดโอกาสให้เด็กในชุมชนเข้ามาฝึกงาน รวมทั้งจัดการแข่งขันเพื่อให้เด็กในชุมชนได้ใช้ความรู้จากห้องเรียนมาปฏิบัติในชื่อโครงการ Glow Hero และมีโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษ และไม่ได้จำกัดเฉพาะที่มาบตาพุดเท่านั้นแต่ครอบคลุมไปที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวด้วย มีการจัดโครงการให้ความรู้แก่พ่อแม่สำหรับเด็กที่ขาดโภชนาการอาหาร ร่วมมือกับ NGO ในลาว

    บริษัทฯ ได้ร่วมกับบริษัทแม่ติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กบริเวณชายแดน 30 กว่าแห่ง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รับประโยชน์โดยตรง

    การพัฒนาความยั่งยืนนั้นรวมถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก ดังนั้น ทางด้านการดูแลไม่ให้ใช้แรงงานเด็กได้เน้นไปที่คู่ค้า ด้วยการใช้วิธีการตรวจสอบคู่ค้าว่าคู่ค้าได้ใช้แรงงานเด็กหรือไม่ และคัดเลือกคู่ค้าที่ไม่ใช้แรงงานเด็ก ขณะที่การมีส่วนร่วมของเด็ก ได้เปิดให้เด็กได้เข้ามาเยี่ยมชมโรงงานเพื่อที่จะได้ตรวจสอบว่า บริษัทฯ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรและดีแค่ไหน มาตรการดูแลป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อเขา

    “สิ่งเหล่านี้ที่ทำ ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การที่ทำเรื่องนี้มีโอกาสที่เขาจะมาค้าขายกันเรามีมากกว่าคนที่ไม่สนใจเรื่องนี้ นักลงทุนในตลาดหุ้นเองก็ให้ความสำคัญ โดยจะดูว่าบริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินการเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่ทำก็จะไม่สนใจลงทุน การเติบโตทางธุรกิจจะไม่เท่าทันกับบริษัทที่ให้ความสำคัญและมีการดำเนินการเรื่องนี้ วันนี้ทุกคนต้องทำเรื่องนี้อย่างแน่อน ถ้าไม่ทำความสามารถในการแข่งขันจะลดลง” นางสาวปาริชาติกล่าว

    เยาวชนต้องการความรู้ด้านธุรกิจ

    ในช่วงท้ายของการเสวนา ตัวแทนเยาวชนจากสภาสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมป์ซึ่งได้เข้าร่วมเวิร์กชอปเรื่องสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ ได้แสดงความเห็นพร้อมนำเสนอประเด็นที่กลุ่มเยาวชนเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับเด็ก เรียงตามความสำคัญมากสุดได้แก่ หนึ่ง ต้องการให้มีการสนับสนุนความรู้ด้านธุรกิจ ด้านงบประมาณ องค์ความรู้การเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ เพราะเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการตลาดของภาคธุรกิจ และองค์ความรู้จะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับธุรกิจและผู้ประกอบการจะได้บุคคลากรที่มีความรู้เข้ามาทำงาน

    ข้อสอง ต้องการให้ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี โดยส่งเสริมศัยภาพในการประกอบอาชีพของเด็ก และข้อสาม ส่งเสริมให้ตระหนักและรักษ์พลังงานในอนาคต เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะมีส่งผลไปถึงรัฐ ถึงชุมชน

    สำหรับประเด็นอื่นได้แก่ สิทธิการมีส่วนร่วมของเด็ก เพราะเด็กกำลังจะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต หากได้รับการฝึกฝน จะทำให้เด็กหรือเยาวชนเริ่มต้นได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ และต่อยอดจากผู้ใหญ่ได้ ส่งเสริมนโยบายรัฐที่มีเป้าหมายการพัฒนาเด็ก