ThaiPublica > เกาะกระแส > สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอน 1): ไทยชาติแรกเอเชียใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน”

สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอน 1): ไทยชาติแรกเอเชียใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน”

27 พฤศจิกายน 2019


นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภููมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศ ไทย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) กำหนดจัดงานเฉลิมฉลอง 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2562

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ร่วมกับ UNICEF จัดประชุมสมัชชาสหวิชาชีพด้านเด็ก ในหัวข้อ “สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ” โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก เป็นการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) โดย นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภููมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ช่วงที่สองเป็นการบรรยายเกี่ยวกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (GCNT) โดยนางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมฯ และการบรรยายเรื่องหลักปฏิบัติด้านสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ โดยนายอมรชัย แจวเจริญวัฒนา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ส่วนในช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาแบ่งปันประสบการณ์จากภาคเอกชนที่ได้ดำเนินธุรกิจบนหลักการสิทธิเด็ก โดยนายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายสมัชชา พรหมศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและดิจิตอลมาร์เก็ตติง บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) และนางสาวปาริชาติ แสงอัมพร ผู้จัดการแผนกงานความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

ในช่วงแรกนางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภููมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

“ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นแผนฉบับแรกของไทยและเป็นแผนที่แยกออกมา ทั่วโลกมีเพียง 20 ประเทศเท่านั้นที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” นางสาวนรีลักษณ์กล่าว

การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีที่มาจากการที่ทั่วโลกมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีการร้องเรียนจำนวนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกรณีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่างบุคคลกับบุคคล แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากภาคธุรกิจมากขึ้น จากการดำเนินงานของธุรกิจ

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีการผลักดันและหารือในเวทีสหประชาชาติ(United Nations) จนออกมาเป็นหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP)

หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศฉบับแรกที่นำสิทธิมนุษยชนและภาคธุรกิจมาผนวกกัน โดยมี 3 หลักการสำคัญด้วยกันคือ คุ้มครอง เคารพ เยียวยา

คุ้มครอง หมายถึง เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

เคารพ หมายถึง เป็นหน้าที่ของภาคธรกิจที่ต้องดำเนินธุรกิจด้วยการเคารพต่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

เยียวยา หมายถึง เป็นหน้าที่ของภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมกันในการเยียวยา ซึ่งภาครัฐนี้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะรัฐวิสาหกิจมีรัฐถือ หุ้น

การเยียวยาหากมีปัญหาเกิดขึ้น ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องร่วมกันเยียวยา เริ่มจากการกล่าวขอโทษ ไปจนถึงไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท หรือการเข้าสู่กระวบการยุติธรรม

หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไม่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่ทุกประเทศจะต้องนำไปปฏิบัติ แต่ประเทศไทยรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญ และรับหลักการนี้มาปฏิบัติบนความสมัครใจ ประกอบกับในปี 2559 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เสนอข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจไปที่รัฐบาล ให้รัฐบาลตระหนัก พร้อมกับให้คำมั่นในเวทีสหประชาชาติว่าไทยจะขับเคลื่อนและนำหลักการนี้มาปฏิบัติในประเทศไทย

สำหรับการนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม คณะกรรมการยูเอ็นให้คำแนะนำว่า การที่จะนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติให้ได้ผล สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องมีคือ แผนปฏิบัติการระดับชาติ

“โดยเหตุที่หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของความสมัครใจ จากประเทศสมาชิกยูเอ็น 193 ประเทศจึงมีเพียง 20 ประเทศที่รับหลักการนี้มาปฏิบัติ ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศนั้น เราต้องภูมิใจไว้ว่า ไทย เราเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นหนึ่งที่จะกล้ายืนออกมาว่า เราจะเป็นผู้นำภูมิภาคในเรื่องนื้ ในภูมิภาคอาเซียน ก็เรียกไทยว่า BHR Champion (Business Human Rights) หรือในเวทีอื่นเราก็เป็นอย่างนั้น”นางสาวนรีลักษณ์

ความสำเร็จของการเป็น BHR Champion ของไทยไม่ได้เกิดจากภาครัฐ แต่เกิดจากภาคธุรกิจ คณะกรรมการสิทธิ รัฐวิสาหกิจทุกฝ่ายร่วมมือกัน

นาวสาวนรีลักษณ์ กล่าวถึงกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยกรอบการจัดทำแผนได้มาจากการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goal:SDG) 17 ข้อ รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆจากต่างประเทศและบริบทภายในประเทศ

ในช่วงเวลานั้นกระทรวงฯยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจไม่มากนัก แม้มีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ยังอยู่ในมิติของกระบวนการยุติธรรม และการจัดทำแผนปฏิบัติการนี้เป็นสาขาใหม่ ได้มีการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กระทวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และเป็นครั้งแรกที่มีภาคธุรกิจเข้ามาร่วม

สิ่งแรกที่ดำเนินการเมื่อกระทรวงได้รับนโยบายมา คือ จัดตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ในระยะแรกปี 2559-2560 มีการลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค เพราะในช่วงแรกยังมองภาพไม่ชัดเจน เป็นกระบวนการเรียนรู้ใหม่ รวมทั้งให้แต่ละภูมิภาคสะท้อนปัญหาประเด็นภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขึ้นมา

ทั้งนี้พบว่าแต่ละภูมิภาคก็มีประเด็นที่แตกต่างกันออกไป โดยประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในภาคเหนือได้ กลุ่มชาติพันธ์ การขับไล่ที่ ส่วนภาคใต้ มีปัญหาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่โดยไม่รับฟังความเห็น ไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report) หรือ EIA ไม่มีการทำรายงานการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม (Environmental Health Impact Accreditation:EHIA) ภาคอีสานจะเป็นปัญหา สิทธิในที่ดิน การละเมิดสิทธิในที่กิน ทางภาคตะวันออกเป็นเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยที่ในคนในพื้นที่ยังไม่พร้อม

กรมคุ้มครองสิทธิจึงนำประเด็นปัญหา ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมารวมกัน พร้อมข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสิทธิฯ มายกร่างแผนฯขึ้นนำไปหารือ พร้อมโพสต์เพื่อรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์ จากนั้นนำกลับมาแก้ไขปรับปรุง รวมทั้งได้เชิญคณะทำงานยูเอ็นมาให้คำแนะนำ ทำให้สามารถสรุปประเด็น จัดลำดับความสำคัญ ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นบ่อยครั้งและควรเร่งแก้ไขได้ 4 ด้าน คือ 1)แรงงาน Labour 2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ Environment 3)นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มักถูกละเมิดและถูกฟ้องร้อง Defender และ 4) การลงทุนระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติ Investment ซึ่งทั้ง 4 ด้านนี้เรียกย่อๆ ว่า LEDI

จากนั้นได้มีการจัดประชุมเพื่อหารือกับภาคส่วนต่างๆอีกรอบหนึ่ง เป็นการรับฟังความเห็นรอบที่สอง เพื่อให้มั่นใจว่า แผนนี้จะตอบโจทย์ หรือช่วยในการที่แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้นำข้อเสนอแนะมาจัดทำแผนปฏิบัติการฯ

แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมีด้วยกัน 4 บท คือ บทแรกเป็น บทนำ กล่าวถึงสาระสำคัญพื้นฐานของหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และความเป็นมาในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ในประเทศไทย บทที่สอง กระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยขั้นตอนและกระบวนการ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ประเด็นหลักที่บรรจุในแผนปฏิบัติการฯ ความเชื่อมโยงระหว่างแผนปฏิบัติการฯ กับแผนและนโยบายระดับชาติอื่นๆ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกรอบระยะเวลาการบังคับใช้แผนปฏิบัติการฯ

บทที่สาม สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่มีแผนปฏิบัติของทั้ง 4 ด้าน ซึ่งในละด้านจะประกอบด้วย สถานการณ์ในภาพรวม ข้อท้าทาย แผนปฏิบัติการ(Action Plan) และบทที่สี่ การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไปสู่การปฏิบัติ และการกำกับ ติดตาม และประเมินผล

แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศใช้

สำหรับ Action Plan ของแต่ละด้านที่ระบุไว้ในบทที่สามนั้น ในด้านแรงงาน ครอบคลุมการดูแลบุตรแรงงานต่างด้าว การจัดให้มีการศึกษาสำหรับบุตรหลานของแรงงานต่างด้าว และให้มีการส่งเสริมธุรกิจจัดมุมนมแม่ รวมทั้งกำหนดความคาดหวังที่มีต่อภาคธุรกิจ เช่น ภาคธุรกิจก่อสร้าง ก็ให้เปิดพื้นที่เพื่อให้ NGOs สามารถเข้าไปสอนหนังสือแรงงานก่อสร้างได้

ด้านสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการรับฟังความเห็นของเด็ก ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนรับทราบและให้ความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน เช่น การดำเนินโครงการต่างๆในพื้นที่ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็ฯ

ด้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มนักปกป้องสิทธิ หมายถึง NGOs หรือภาคประชาสังคมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในชุมชน ซึ่งในนิยามของสหประชาชาตินั้น นักเรียน นักศึกษา ก็เป็นนักปกป้องสิทธิได้ แต่ในแผนปฏิบัติการฯของไทย นิยาม นักปกป้องสิทธิ ว่า เป็นบุคคลที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งหากอิงตามนิยามของสหประชาชาติ ทุกคนสามาถเป็นนักปกป้องสิทธิได้ หากต่อสู้เพื่อประโยชน์ของชุมชนด้วยเจตนาสุจริต

“ในด้านนี้ภาครัฐสนับสนุนนักปกป้องสิทธิ ที่ปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนและมักถูกฟ้อง จากภาครัฐและภาคธุรกิจ คีย์เวิร์ดด้านนี้ คือ การสร้างการรับรู้เรื่องบทบาทหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิ สร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิ” นางสาวนรีลักษณ์กล่าว

ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติ ไม่มีเรื่องเด็ก แต่เป็นช่องว่างใหญ่ของไทย ภาครัฐมีหน่วยงานทำหน้าที่ดูแลการลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ หรือ inbound investment เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BoI) แต่การลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศยังไม่มีหน่วยงานใดดูแลโดยตรง เพราะปัจจุบันมีหลายกรณีบริษัทของไทยที่มีผลกระทบชุมชนรอบข้าง

สำหรับการติดตามประเมินผล แผนปฏิบัติฯการ ฉบับแรกมีระยะเวลาบังคับใช้ 4 ปี 2562-2565 ขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรอิสระ และกำลังพิจารณาการดำเนินการให้รอบด้านมากขึ้น

ในสัปดาห์นี้กระทรวงยุติธรรมจะนำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ใส่ในบนเว็บไซต์ https://www.moj.go.th/