ThaiPublica > เกาะกระแส > สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอน 2): คู่มือสร้างความเข้าใจ-หลักปฏิบัติตามกรอบสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน-สิทธิเด็ก

สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอน 2): คู่มือสร้างความเข้าใจ-หลักปฏิบัติตามกรอบสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน-สิทธิเด็ก

28 พฤศจิกายน 2019


ที่มาภาพ:Presentation อมรชัย แจวเจริญวัฒนา UNICEF ประเทศไทย

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) กำหนดจัดงานเฉลิมฉลอง 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2562

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ร่วมกับ UNICEF จัดประชุมสมัชชาสหวิชาชีพด้านเด็ก ในหัวข้อ “สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ” โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก เป็นการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights — NAP) โดย นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ช่วงที่สองเป็นการบรรยายเกี่ยวกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (GCNT) โดย นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมฯ และการบรรยายเรื่องหลักปฏิบัติด้านสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ โดยนายอมรชัย แจวเจริญวัฒนา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ส่วนในช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาแบ่งปันประสบการณ์จากภาคเอกชนที่ได้ดำเนินธุรกิจบนหลักการสิทธิเด็ก โดยนายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายสมัชชา พรหมศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและดิจิตอลมาร์เก็ตติง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และนางสาวปาริชาติ แสงอัมพร ผู้จัดการแผนกงานความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

  • สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (ตอน1): ไทยชาติแรกเอเชียใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน”
  • GCNT แกนนำสร้างความเข้าใจธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

    นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย

    ในการเสวนาช่วงที่ 2 นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (GCNT) กล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจข้ามประเทศต้องปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศ ตามความคาดหวังของคู่ค้า จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา

    ในปี 2000 สหประชาชาติจึงได้จัดทำข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ซึ่งเป็นองค์กรที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทำข้อตกลงร่วมกันภายใต้หลักสากล 10 ประการ เกี่ยวข้องกับประเด็นหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ

    “การที่จะบรรลุได้ทุกเป้าหมาย เป้าหมายที่สำคัญคือต้องทำให้มนุษย์มีสิทธิในการดำรงชีวิต มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรอย่างทั่วถึงและอีกหลายเรื่อง ดังนั้นสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องพื้นฐาน” นางสาวธันยพรกล่าว

    ในประเทศไทย ภาคเอกชนไทย 15 องค์กรชั้นนำจากหลายภาคธุรกิจรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ในปี 2560 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ ปัจจุบันมีสมาชิก 40 องค์กร

    สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศประสบ โดยทั้ง 40 องค์กรมีเป้าหมายจะดำเนินการให้ได้ตามหลักสากล เนื่องจากการทำธุรกิจไม่ได้มีเฉพาะในประเทศ แต่มีการทำธุรกิจกับต่างประเทศด้วย จึงต้องปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานโลก เป็นต้นแบบของภาคเอกชนในการส่งเสริมความยั่งยืน

    โดยสมาคมฯ ได้วางแนวทางดำเนินการตามหลักการความยั่งยืนใน 4 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง สิทธิมนุษยชน สอง มาตรฐานแรงงาน เนื่องจากธุรกิจพึ่งพาแรงงานในการดำเนินธุรกิจ สาม สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลทั้งทางบวกและลบ และสี่ ปราศจากการทุจริต

    สำหรับบทบาทของ GCNT ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กในภาคธุรกิจ นางสาวธันยพรกล่าวว่า GCNT เป็นแกนนำทางด้านการจัดให้มีคู่มือและสร้างความเข้าใจด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อ

  • ส่งเสริมหลักการ UN Guiding Principles เคารพ คุ้มครอง เยียวยา
  • เป็นแหล่งความรู้ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
  • สร้างภาคีเครือข่าย ทั้งองค์กรเอกชน รัฐ และประชาสังคม
  • ภาคธุรกิจยังให้ความร่วมมือในการแสดงความเห็นเรื่องการกำหนดมารยาทกลาง เพื่อดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนออกมาบังคับใช้ หรือที่เรียกว่า แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

    “เราให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจภายใต้แนวความคิดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือในด้านการทำธุรกิจ แต่สิ่ง สำคัญยิ่งกว่าน้ัน คือ การช่วยเหลือภาครัฐในการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ และลดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในสังคม นับเป็นความร่วมมือในการสร้างแนวทางปฏิบัติของบริษัทไทย ให้ยกระดับความเป็นผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนไปสู่สากล” นางสาวธันยพรกล่าว

    สำหรับหลักปฏิบัติสากลของกรอบความร่วมมือ Global Compact มีด้วยกัน 10 ข้อ ข้อที่ 1-6 เกี่ยวข้องสิทธิมนุษยชน โดยสิทธิมนุษยชนหมายถึง การสนับสนุนและเคารพมนุษย์ ไม่ว่ามาจากเชื้อชาติใด การศึกษาใด ว่าเป็นคนคนหนึ่ง และไม่ละเมิดสิทธิพื้นฐาน

    “ใน 6 ข้อนี้มีหนึ่งข้อที่เกี่ยวกับเด็ก คือ จะไม่มีการใช้แรงงานเด็กอย่างแน่นอน ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง ซึ่งถือว่าเป็น commitment (พันธะผูกพัน) ว่าต้องไม่มี ต้องไม่ใช้แรงงานเด็ก” นางสาวธันยพรกล่าว

    ในหลักปฏิบัติทั้ง 10 ข้อเป็นทั้งสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำนั้นนอกจากการใช้แรงงานเด็กแล้วยังครอบคลุมไปถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างแรงงานและการประกอบอาชีพ เช่น การเลือกใช้แรงงานเฉพาะคนในประเทศเดียวกัน ให้ยึดแนวคิด diversity and inclusion (ความหลากหลายและไม่กีดกัน) เปิดรับวิธีการทำงาน วัฒนธรรม วิธีการตัดสินใจที่แตกต่างกัน

    หลักการข้อที่ 7-9 ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนหลักการข้อที่ 10 ต่อต้านการทุจริต การให้สินบนทุกรูปแบบ

    “ภาคธุรกิจมองว่าหากมีพื้นฐานที่มั่นคง มีแรงงาน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ทุจริต เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้ออื่นๆ สามารถทำได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ภาคธุรกิจที่รวมตัวกัน 40 องค์กรช่วยกันระดมความคิด ร่วมกันปฏิบัติให้เกิดผลจริงจัง” นางสาวธันยพรกล่าว

    เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กเป็นสมาคมระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก มีสมาชิกกว่า 19,000 องค์กรใน 160 ประเทศทั่วโลก สมาชิกจะได้ประโยชน์จากฐานข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในธุรกิจของตัวเอง

    นอกจากสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย จะส่งเสริมหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นแหล่งความรู้ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยกำลังพัฒนาคู่มือสำหรับภาคธุรกิจไทยในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และทำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การร่างนโยบาย การตรวจสอบรอบด้าน กระบวนการเยียวยา ตามเป้าหมายในปีนี้จะสร้างทิศทางด้านสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจนมากขึ้น

    “การปฏิบัติให้ได้ผลต้องมีคู่มือเพื่อไม่ให้มีการละเมิด เพราะบางครั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดจากความไม่รู้ ส่วนการคุ้มครองนั้นภาครัฐได้จัดทำแนวทางไว้ให้แล้ว จึงต้องมีคู่มือทำความเข้าใจและแปลงเป็นข้อบังคับการทำงานภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับสิทธิที่ควรจะได้รับ” นางสาวธันยพรกล่าว

    สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยจึงเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ในเชิงปฏิบัติ สามารถนำมาแลกเปลี่ยนข้อมูลของการปฏิบัติตามคู่มือ เนื่องจากการทำธุรกิจไม่จำกัดเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่กระจายในหลายพื้นที่ตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ แต่สิทธิที่ได้ก็ไม่ใช่สิทธิเหนือคนในพื้นที่ จึงต้องคำนึงถึงการคุ้มครอง การให้โอกาส ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ทำลงไป รวมถึงการเยียวยา ต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นที่ด้วย

    นอกจากนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยยังมีกิจกรรม สัมมนาให้ความรู้ความเข้าใจ การเสวนาเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยมีผู้รู้จากสหประชาชาติ รวมไปถึงการอัปเดตข้อมูลพัฒนาการในมิติความยั่งยืนของบริษัทระดับโลก

    “ภาคธุรกิจมีความสำคัญ แต่การทำธุรกิจภายใต้แนวคิดความยั่งยืน จะทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือในการด้านการทำธุรกิจ ได้รับความไว้วางใจ เมื่อธุรกิจเจริญ สังคมก็จะดี ชุมชนก็จะดี ภาคธุรกิจมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจอยู่แล้ว เพียงแต่นำแนวคิดความยั่งยืนมาปรับใช้กับการทำธุรกิจ” นางสาวธันยพรกล่าว

    สำหรับกิจกรรมของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยในปีหน้าตั้งเป้าไว้ว่า จะยกระดับแนวปฏิบัติของบริษัทไทยสู่การปฏิบัติระดับสากล ที่สำคัญจะใช้ผู้รู้จากแหล่งที่ไว้วางใจได้เท่านั้น เพื่อเตรียมตัวเองไปในทิศทางที่เหมาะสม ก็จะถ่ายทอดประสบการณ์และแนวปฏิบัติให้กับสมาชิก

    ในปีหน้าสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย อาจจะจัดเวิร์กชอปให้ทดลองปฏิบัติ แต่ละปีเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กทั่วโลกมีการจัดกิจกรรมเวิร์กชอปกว่า 1,700 ครั้ง

    “หากธุรกิจนำความเข้าใจนี้ไปปฏิบัติได้ พนักงานจะได้รับประโยชน์สูงสุด กลุ่มแรก มีความสุขจากทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อออกไปยังชุมชน ถ้าบริษัททำถูก ทำดี ทำเต็มที่ และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน จะพัฒนาได้เอง และประเทศจะได้ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” นางสาวธันยพรกล่าว

    เด็กเป็นเรื่องของทุกคน คู่มือเคารพสิทธิเด็ก

    นายอมรชัย แจวเจริญวัฒนา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

    นายอมรชัย แจวเจริญวัฒนา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึงหลักปฏิบัติด้านสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจว่า เด็กมีสิทธิเท่ากับทุกคน แต่เด็กมีลักษณะเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการพัฒนา ความอยู่รอด ไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่

    สิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) สิทธิในการอยู่รอด 2) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่เลือกปฏิบัติ 3) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา ได้รับการศึกษา รวมทั้งระดับปฐมวัย และ 4) สิทธิในการมีส่วนร่วม

    ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ การที่ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กเนื่องจากศักยภาพของมนุษย์จากความของงานวิจัยของ ดร.เจมส์ เฮ็กแมน เรื่อง ความคุ้มค่าในการลงทุนในมนุษย์ การลงทุนที่คุ้มค่าและได้ผลตอบแทนเร็วคือ การลงทุนตั้งแต่เริ่มวัยเยาว์ ก่อนเข้าอนุบาล จนเข้าเรียนอนุบาล เข้าเรียนหนังสือ ในการศึกษาภาคบังคับ และไปจนถึงการฝึกอาชีพ จากผลการวิจัยหลายชิ้นของ ดร.เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พบว่าการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัการลงทุนโดยเริ่มต้นที่เด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด

    แต่มีอุปสรรคไม่ให้สิทธิเด็กเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ และทำให้การลงทุนในมนุษยที่รัฐบาลใช้เงินภาษี เงินสวัสดิการ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เช่น การเกิดโรคมินามาตะ ทำให้เด็กขาดพัฒนาการ หรือการโฆษณาขายนมผงที่บอกว่ามีคุณค่าเท่ากับนมแม่ หรือกรณีมนุษย์ตะกั่ว ซึ่งเป็นผลจากสารผสมตะกั่วในน้ำมันเบนซิน ที่เมื่อเผาไหม้ก็ปล่อยสารพิษออกมากระทบกับสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาการของเด็ก

    หรือตัวอย่างจากกรณีการฝึกงาน บางครั้งไม่ได้เป็นการฝึกงานที่แท้จริง บางกรณีให้เด็กฝึกงานที่อันตรายเกินไปสำหรับเด็ก ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษชน ที่มีหลักการคุ้มครอง เคารพ เยียวยา

    ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่เคารพสิทธิเด็กโดยตรง คือ การไม่ใช้แรงงานเด็กเป็นการลดความเสี่ยงของภาคธุรกิจ การสนับสนุนเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มความผูกพันกับองค์กร รวมทั้งการเยียวยา ในกรณีเกิดความเสียหาย เช่น การตัดสัญญาคู่สัญญาที่ไม่เคารพแรงงานเด็ก โดยที่ไม่มีกระบวนการเยียวยารองรับแรงงานเด็ก

    สิทธิเด็กเกี่ยวกับเด็กมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาด้านแรงงาน รวมทั้งคำแนะนำคณะกรรมการสิทธิเด็ก หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights — UNGPs) หลัก The Children’s Rights and Business Principles (CRBP) และ United Nations Global Compact

    องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ได้ร่วมกันจัดทำคู่มือเพื่อชี้แนะให้บริษัทต่างๆ สามารถนำสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles — CRBP) มาดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

    สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจประกอบด้วย 10 หลักการสำคัญ หลักการแรก คือ บูรณาการด้านสิทธิเด็กเข้ากับธุรกิจ เป็นการตรวจสอบสิทธิและกระบวนการธุรกิจของตัวเอง เริ่มต้นจากการให้คำมั่นเชิงนโยบาย ประเมินผลกระทบ ลดผลกระทบ ติดตามการดำเนินงานและมีการแก้ไขเยียวยา

    เมื่อรู้กระบวนการและปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เข้าสู่แนวทางแนวปฏิบัติตามหลักการข้อ 2-10 ที่แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือ หนึ่ง สถานประกอบการ ตามหลักการข้อ 2-4 ที่ครอบคลุมการขจัดปัญหาแรงงานเด็ก ทั้งในกิจการของบริษัทเองและครอบคลุมถึงกิจการของคู่ค้าหรือกลุ่มสัมพันธ์ทางธุรกิจอื่นๆ การจัดหางานที่มีคุณค่า เหมาะสม และปลอดภัย การฝึกงานต้องเป็นการฝึกงานที่มีคุณค่า ต้องคำนึงถึงคนงานที่เป็นเยาวชน พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก และกระบวนการดำเนินงานและกิจกรรมทางธุรกิจ ต้องคำนึงถึง การคุ้มครองและความปลอดภัยของเด็ก

    สอง ผลิตภัณฑ์และบริการที่เด็กได้รับ ตามหลักการข้อ 5-6 โดยผลิตภัณฑ์และบริการต้องมีความปลอดภัย และสร้างเสริมความตระหนักถึงสิทธิเด็ก รวมทั้งการใช้สื่อโฆษณาและการตลาดด้วยความระมัดระวังในทางที่เคารพและสนับสนุนสิทธิเด็ก

    สาม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามหลักการข้อ 7-10 ต้องระมัดระวังในการดำเนินการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การเคารพและส่งเสริมสิทธิเด็กในการวางระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับธุรกิจ การคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ และหนุนบทบาทรัฐและชุมชนในการคุ้มครองสิทธิเด็ก

    ความรับผิดชอบของบริษัทในการเคารพสิทธิเด็ก จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก รวมถึงแก้ไขผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ลดความเสี่ยงและผลกระทบในหลายด้าน ทั้งใน 1) ด้านการเงิน 2) ผลกระทบด้านการดำเนินงาน เช่น ประสิทธิภาพ ผลิตภาพ ความปลอดภัยและการยกเลิกบริการของลูกค้า 3) ผลกระทบด้านกลยุทธ์หรือแผนขององค์กร เช่น ส่วนแบ่งการตลาด 4) ผลกระทบด้านชื่อเสียง เช่น ผลต่อแบรนด์ ภาพลักษณ์และสิทธิในการทำธุรกิจ และ 5) ผลกระทบด้านกฎระเบียบ เช่น กฎหมาย ข้อบังคับ

    “การเคารพสิทธิของเด็กขององค์กรจะยกระดับให้เข้าใจถึงปัญหาและเพิ่มโอกาสที่จะลดความเสี่ยงใน 5 ด้าน”

    ยูนิเซฟได้จัดทำหนังสือ “เด็กเป็นเรื่องของทุกคน: คู่มือฉบับ 2.1” เพื่อเป็นคู่มือให้ภาคธุรกิจใช้สำหรับการการตรวจสอบสิทธิเด็ก การเคารพสิทธิเด็ก กำหนดนโยบาย ประเมินผลกระทบ และการจัดทำรายงาน ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ