ThaiPublica > เกาะกระแส > ABIS 2019 หลายคำถามกับ “ดร.มหาธีร์” …โจทย์จะขับเคลื่อนการเติบโตของอาเซียนอย่างไร ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

ABIS 2019 หลายคำถามกับ “ดร.มหาธีร์” …โจทย์จะขับเคลื่อนการเติบโตของอาเซียนอย่างไร ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

3 พฤศจิกายน 2019


ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมาเลเซีย ได้ให้เกียรติเข้าร่วมการสนทนาพิเศษในช่วง A Fireside Chat with Dr.Mahathir โดยมีนายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council หรือ ASEAN-BAC) ทำหน้าที่พิธีกร

สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพในจัดการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ในวันแรกของการประชุม ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมาเลเซียได้ให้เกียรติเข้าร่วมการสนทนาพิเศษในช่วง A Fireside Chat with Dr.Mahathir โดยมีนายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council หรือ ASEAN-BAC) เป็นผู้ซักถาม

คำถามแรก นายอรินทร์กล่าวว่า เกี่ยวกับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ซึ่งดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจและเปลี่ยนวิถีธุรกิจ ไม่ทราบท่านมีมุมมองอย่างไร และอาเซียนควรทำอย่างไร

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เกิดขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับอาเซียนนั้น มีประชากรรวมกัน 650 ล้านคน แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากประชากรที่มีจำนวนมากนี้ เมื่อหันไปมองจีนที่มีประชากรมากกว่าเรา 2 เท่า หรือ 1.4 พันล้านคน จีนตัดสินใจที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในช่วง 40 ปีนี้ จนล้ำหน้าทุกประเทศกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งมีคนอดอิจฉาไม่ได้

การที่จีนมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและขยายตัวมากขึ้น เพราะใช้ประโยชน์จากประชากรที่มี จีนมีตลาดในประเทศที่ใหญ่มาก 1.4 พันล้านคน แม้ช่วงเริ่มต้นจีนยังยากจน ยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการในประเทศทำให้ตลาดขยายตัวได้ หากรู้ความต้องการของผู้บริโภคและผลิตตามนั้น ในที่สุดก็จะยกระดับขึ้นสู่อุตสาหกรรรมขนาดใหญ่ได้ และก็มีผลต่อเศรษฐกิจ

อาเซียนมีประชากร 650 ล้านคน แต่ยังไม่ได้ทำมากอย่างที่ควรจะทำ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตลาดภายใน แม้จะถือว่าเป็นภูมิภาคแต่ก็ยังเป็นตลาดภายในหากรวมทั้งอาเซียน และก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากจำนวนประชากรที่มีอย่างเต็มที่ อันที่จริงอาเซียนสามารถทำได้ อีกทั้งอาเซียนกำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่จะให้เราขยายตัวได้เร็วกว่าเดิม เพราะการสื่อสารทำได้ง่าย และเรามีที่ตั้งใกล้กัน เรารู้ชัดเจนว่า แต่ละประเทศต้องการอะไร เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากความต้องการนั้นมาลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น

เราสามารถทำได้หากเราทำงานร่วมกัน รวมทั้งกำหนดว่าใครควรทำอะไร และหากเราทำแบบนี้ก็จะไม่มีสมาชิกอาเซียนรายไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เราพูดกันมากเกี่ยวกับการไปสู่ดิจิทัลในทุกอย่าง วิธีการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป และเห็นอยู่แล้วว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งนี้ในการทำธุรกิจเท่าที่ควร สิ่งแรกที่เราต้องทคือ ให้ความรู้แก่ประชากรของเรา ประชากรต้องเข้าใจว่า เศรษฐกิจดิจิทัลหมายถึงอะไร การเข้าไปสู่ระบบดิจิทัลคืออะไร ซึ่งจะทำให้คนรู้ว่าควรตอบสนองต่อเทคโนโลยีอย่างไร

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ จีน จากเดิมที่ใช้เงินสดซื้อของ แต่จีนเปลี่ยนเร็วมาก ทุกวันนี้จีนซื้อสินค้า ขายของทุกอย่างบนช่องทางการติดต่อสื่อสารใหม่ และยังขายได้เพิ่มขึ้นเพราะมีตลาดในประเทศที่ดี อาเซียนก็มีตลาดในประเทศที่ดี แต่ประชากรของเรายังไม่ได้ยกระดับให้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นจึงมีวิธีการสอนให้ประชากรรู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ภาคธุรกิจก็เช่นกัน ควรเข้าใจและรู้ว่าจะใช้ดิจิทัลอย่างไร การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออื่นๆ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็ว และขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น

ในมาเลเซีย มีผู้หญิงคนหนึ่งทำขนมเค้ก ฝากขายตามร้าน ซึ่งรายได้ไม่ดีนัก จึงได้ตัดสินใจขายบนระบบออนไลน์ วันนี้สามารถมีลูกค้ามากกว่า 90,000 ราย จากมาเลเซียไปจนถึงตะวันออกกลาง ธุรกิจของเธอขยายใหญ่มากขึ้น ดังนั้นคนทั่วไปก็กลายเป็นเศรษฐีได้จากการขายของง่ายๆ ให้กับตลาด แม้แต่ชาวบ้านที่ถักตะกร้า ทำเครื่องจักสาน สานกระเป๋าส่งขายทั่วโลก โลกจึงเป็นตลาดของทุกคน เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการความต้องการด้วยวิธีเดิมได้อีก ต้องมีการทำบนออนไลน์

จีนพัฒนาไปไกลกว่าเราเพราะมีการรวมตัวมากกว่า เรามีสมาชิก 10 ประเทศ แต่ละประเทศมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง จึงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น เราต้องก้าวข้ามการแบ่งเป็นสมาชิก และหากเราทำได้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี จากแนวทางที่ทำการตลาดใหม่ การโฆษณาใหม่ การส่งสินค้า การค้าการขาย ซึ่งทั้งหมดสามารถทำได้หลากหลาย และจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ซึ่งอาจจะสามารถก้าวตามทันประเทศพัฒนาอื่นๆ เพราะประเทศพัฒนาแล้วกำลังประสบปัญหาในการใช้เทคโนโลยีมากระตุ้นเศรษฐกิจ

ผมคงไม่พูดรายละเอียดลงไป แต่ผมเชื่อว่าหากเราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เศรษฐกิจของเราจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าเมื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากจำนวนประชากรทั้ง 650 ล้านคนเราก็จะมีตลาดของเราเอง ตลาดในกลุ่มจะเป็นสถานที่ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ เมื่อขายได้แล้ว เราสามารถส่งออกไปขายประเทศอื่นได้ ซึ่งเราก็จะขจัดปัญหาเดิมๆ ที่มี และจะกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

คำถามต่อมา นายอรินทร์กล่าวว่า มีคำหนึ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมักจะพูดกันเสมอ คือ ฮับ (hub) ทุกประเทศอยากเป็นฮับกันหมด ท่านมองอย่างไร ทุกประเทศก็เป็นฮับของตัวเอง หรือทั้งหมดควรรวมกันมีฮับเดียว เพื่อให้โลกมองอาเซียนเป็นหนึ่งฮับ

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ช่วงเริ่มต้นก่อตั้งอาเซียนมีสมาชิก 5 ประเทศ และในขณะนั้นก็มีแนวคิดว่าสมาชิกทั้ง 5 ควรพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรม แต่ประชากรของเราขณะนั้นก็มีจำนวนไม่มาก และค่อนข้างยากจน ดังนั้นสมาชิกทั้ง 5 ตัดสินใจที่จะพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมหนัก แต่ทุกประเทศก็ต้องการในสิ่งที่เหมือนกัน ต้องการผลิตเหล็ก ผลิตภัณฑ์ที่ทั้งภูมิภาคต้องการ ดังนั้นจึงเปิดให้สมาชิกระบุสิ่งที่ต้องการลงไป แต่ละประเทศเป็นเจ้าภาพธุรกิจในแต่ละด้าน มาเลเซียต้องการเป็นผู้นำในการผลิตปุ๋ย ซึ่งก็ดีกับมาเลเซียเพราะมีก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ส่วนประเทศอื่นก็ยังต้องการผลิตเหล็กอยู่ และไม่ได้นำข้อนี้ออก เพราะเราลังเล ละล้าละลัง ที่จะทำงานร่วมกัน และมีแนวคิดว่า ในทุกอุตสาหกรรม ประเทศเจ้าภาพถือหุ้น 60% ส่วนประเทศที่เหลือถือรายละ 10% และใช้กับทุกประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายการลงทุนที่ช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากตลาดได้ และทำให้ทุกประเทศก็เป็นฮับ

คำถามที่สาม นายอรินทร์ ถามว่า อาเซียนควรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างบรรยากาศทางธุรกิจและสังคมหรือไม่ และรัฐบาลควรสนับสนุนอย่างไร ควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมารองรับหรือไม่

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นอยู่กับความเร็วของการติดต่อสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารของเราทุกวันนี้เร็วมาก เราเชื่อมโยงกับทั่วโลกแล้ว การใช้ดิจิทัลช่วยให้เราไม่ต้องจัดการด้วยตัวเองอีกต่อไป แต่สามารถใช้เลขสองตัวในการสื่อสาร คือ 0 กับ 1 ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่ใช้ตัวเลขเท่านั้น ซึ่งก็แปลกเมื่อใช้ตัวอักษร การสื่อสารกลับทำได้ยาก ดังนั้นจึงควรยกระดับการสื่อสารให้เร็วขึ้น แต่รัฐบาลต้องเข้าใจการใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะบางครั้งรัฐบาลก็ไม่เข้าใจและอาจจะตามหลัง อย่างไรก็ตาม การติดต่อสื่อสารด้วยดิจิทัลมีความสำคัญเพราะต้องบอกโลกให้รู้ เราต้องการทำอะไร เราจะผลิตอะไร และจะขายอะไร

อย่างแรก รัฐต้องบอกอุตสาหกรรมและผู้บริโภคว่านี่เป็นวิธีการใหม่ ทุกคนไม่ต้องไปธนาคารเพื่อถอนเงินสด เพราะอันที่จริงธนาคารปิดสาขาไปเยอะแล้ว เราสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยความสะดวกรวดเร็ว ทำธุรกิจได้กับทั้งโลก ซึ่งนั่นคือประโยชน์ของดิจิทัล และหากรัฐส่งเสริมเศรษฐกิจจะเติบโตเร็ว และหากรัฐให้ทิศทางกำหนดลงไปว่า อะไรมีความสำคัญกับประเทศเป็นลำดับต้นๆ ทุกคนจะได้ประโยชน์จากดิจิทัลเพราะความเร็วของการสื่อสาร ผมเชื่อว่าหลายประเทศสมาชิกอาเซียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัลมาก แต่เป็นเรื่องใหม่ ที่มีพลังเปลี่ยนแปลง

คำถามที่สี่ นายอรินทร์กล่าวว่า ตอนนี้มีเรื่องที่ยังเป็นประเด็นในโลกการค้า ในยุคการค้าเสรี อัตราภาษี 0% ไม่มีความหมายอีกแล้ว เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับการค้าเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนค่อนข้างกังวล ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ต่อผู้นำ เพราะมีความวิตก รวมทั้งเป็นเรื่องยากที่สภาฯ มีความเข้าใจ แต่อาเซียนมีเป้าหมาย 2 เรื่อง หนึ่ง ลดต้นทุนการขนส่งระหว่างกันภายในอาเซียนลง 10% ในปี 2020 และสอง เพิ่มการค้าระหว่างกันเป็น 2 เท่าจากปี 2014 ภายในปี 2025 ซึ่งสภาที่ปรึกษายังคงเดินหน้าต่อเนื่องและอาจจะออกแรงผลักดันให้กล้าตัดสินใจ เรื่องนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า เมื่อประเทศพัฒนากระจายเรื่องโลกภาภิวัตน์ออกมาให้ประเทศอื่นนั้น ขณะนั้นเขามีสินค้าทุกอย่างและเราเป็นตลาดของเขา ซึ่งเขาสามารถขายของให้เราทุกอย่าง เราขายแค่วัตถุดิบให้เขา แต่ปัจจุบันการผลิตทุกอย่างสามารถทำที่ไหนก็ได้ ทำได้ง่าย เทคโนโลยีใหม่เพื่อการผลิตมีอยู่ทุกแห่ง เราสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าของเราได้ ตัวอย่างที่ดีคือ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี คิดวิธีการผลิต และสามารถแข่งขันกับประเทศไหนก็ได้ในโลก และสามารถผลิตของราคาถูกกว่า มีคุณภาพ จึงทำให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่วิตกกังวล ดังนั้นจากเดิมที่บอกว่าตลาดเสรีเป็นการค้าระหว่างประเทศ กลับมาปิดกั้นประเทศ และยังสร้างกำแพงปิดกั้นสินค้าไม่ให้ผ่านแดน

ขณะนี้ดูเหมือนกับว่าการแข่งขันจะมีประโยชน์กับประเทศในฝั่งตะวันออกมากกว่าประเทศพัฒนาฝั่งตะวันตก จึงมีแรงต่อต้านนำโดยประชาชน นักการเมืองตอบสนองประชาชน แต่กังวลต่อการเติบโต ต่อหน้าที่การงานของตัวเอง และมักจะจำกัดการค้ามากกว่าการค้าเสรี เพราะเข้าใจแล้วพวกเขาอยู่ผิดที่ เดิมเราเป็นผู้บริโภค เขาเป็นผู้ผลิต แต่ตอนนี้เราเป็นผู้ผลิต เขาเป็นผู้บริโภค บริโภคสินค้าคุณภาพที่มีราคาถูกกว่าที่ผลิตในประเทศของเขา ดังนั้นแนวคิดเปลี่ยนไป ไปทางลบ ทั้งที่การค้าเสรีจะช่วยประชาชนทั่วโลกมั่งคั่งขึ้นได้

ประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งในโลกไม่พอใจที่ไม่สามารถแข่งขันได้เหมือนในช่วงที่ยังมีข้อได้เปรียบ แต่การแข่งขันทั้งในการผลิต การเข้าถึงตลาด มีความเท่าเทียมกัน แม้แต่ประเทศเล็กสามารถใช้เทคโนโลยีมาแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้วได้ ดังนั้นจึงได้เห็นนโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่มีการพูดถึงการจำกัดการค้า สงครามการค้า ทั้งเครื่องบิน สินค้าไฮเทค การขึ้นภาษีสินค้านำเข้า แต่ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะลากยาว เพราะเขาเข้าใจดีว่าการตัดผู้ผลิตรายใหม่ออกไปจะมีผลเสียหายอย่างมาก เขาไม่สามารถหยุดยั้งการค้าไม่ให้ขยายตัว เป็นการค้าระหว่างประเทศ

คำถามที่ห้า นายอรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพูดถึง ถ้าไม่พูดถึงก็จะไม่อินเทรนด์ สงครามการค้า ซึ่งในความเห็นของผมเป็นเรื่องที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว กระทบเศรษฐกิจโลก ประเทศมหาอำนาจของโลกสองรายที่กำลังฟาดฟันกัน ดังคำกล่าวที่ว่า ช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญ เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร อาเซียนมีผู้นำ 10 คนจาก 10 ประเทศอาเซียนก่อตั้งมาร่วม 50 ปีมีเป้าหมายร่วมกัน ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือการค้าเสรี สิ่งที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนต้องการจะเห็นคือความร่วมมือกันของผู้นำทั้ง 10 ประเทศ เช่น การออกแถลงการณ์ร่วมกันประกาศให้โลกรู้ว่าเรากังวล และเรียกร้อง World Economic Peace สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนถกเรื่องนี้มาหลายเวทีแล้ว ท่านมองว่าเรื่องนี้อาเซียนควรทำอย่างไรเพื่อให้ทั้งสองประเทศมหาอำนาจนั้นใจเย็นลง อาเซียนมีเสียงในกลุ่มประเทศ G-20 เราควรทำอะไรบ้างอย่าง สำหรับผมง่ายมาก คือบอกว่า ฟังเสียงเรา แต่จะทำอะไรหรือไม่แล้วแต่คุณ และหากอาเซียนมารวมกันแล้วบอกว่าเราเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วแห่งหนึ่งในโลก เรามีประชากร 650 ล้านคน ซึ่งคิดว่าหากเราพูดในสิ่งที่ถูกต้อง หลายประเทศก็น่าจะตามเรา และประเทศมหาอำนาจน่าจะลดความร้อนแรงลง

ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า การที่จะให้ใครสักคนฟังเรา เราต้องมีอำนาจมาก เราต้องเข้มแข็ง หรือไม่ก็ต้องรวย มิฉะนั้นจะไม่มีใครฟังเรา เราเป็นสมาชิกองค์กรการค้าระหว่างประเทศ เราเข้าร่วมประชุม แต่มาเลเซียเข้าร่วมในนามมาเลเซีย เพื่อตอบโต้กับอเมริกา เราส่งทนายนับร้อยคน แต่อเมริกาก็มีวิธีการของอเมริกาจนได้ เราไม่สามารถนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการได้ แต่หากเราทำงานร่วมกันในฐานะภูมิภาค ในฐานะอาเซียน เราก็จะมีคนมากขึ้นที่จะชี้แจงตอบโต้ให้เป็นผลต่อทางเรา และเมื่อเรามีคนมากพอก็ไปเข้าร่วมประชุมทุกเวที และแสดงมุมมอง

แต่หากไปเดี่ยว ประเทศไทยไปประเทศเดียว ไม่แข็งแกร่งมากพอ ดังนั้นเราต้องร่วมกัน เราต้องพูดภาษาเดียวกัน และก่อนที่จะออกไปในเวทีโลก เราต้องกำหนดจุดยืนของเราก่อน และยึดจุดยืนนั้น อาเซียนต้องมีจุดเดียวในทุกเวทีประชุมระหว่างประเทศ พวกเขาก็จะฟังเรา อาเซียนเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ เราไม่ต้องการเข้าไปสู่สงครามการค้า

แต่เมื่อมีใครสักคนไม่น่ารักใส่เรา เราก็ต้องไม่ดีตอบ ตัวอย่าง พวกเขาอ้างว่าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียทำให้เกิดการตัดไม่ทำลายป่า ดังนั้นจะไม่ซื้อน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย และติดฉลากสินค้าว่า สินค้านี้ไม่ได้ใช้นำมันปาล์มจากมาเลเซีย เพื่อทำลายมาเลเซีย เนื่องจากน้ำมันปาล์มสามารถแข่งขันกับน้ำมันมะกอก น้ำมันอื่นๆ ได้

“เพื่อต่อต้านมาเลเซีย จึงยกสารพัดเหตุผลมาอ้าง ทั้งทำลายป่า ทำลายสัตว์ป่า สิ่งมีชีวิตในป่า แล้วเราทำอะไร ก็คือ หากลดการซื้อการนำเข้าน้ำมันปาล์มาเลเซีย เราก็จะลดการนำเข้าสินค้าจากพวกเขาในปริมาณเท่ากัน เราทำในสิ่งที่เขากับเราทุกอย่างเหมือนกันเป๊ะ แม้ไม่น่ารักนัก และหากอาเซียนเราทำทุกอย่างร่วมกัน ผมว่าพวกเขาต้องฟังเรา และหากเขาไม่ซื้อน้ำมันปาล์มมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย เราจะหยุดซื้อเครื่องบิน หันไปซื้อเครื่องบินรัสเซียอะไรแบบนั้น และหากเราพูดในเสียงที่ดังขึ้นก็จะได้รับการตอบสนอง”

เราต้องใช้จุดแข็งของเราให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และจุดแข็งของเราก็เหมือนกับตลาดของเรา เรามีตลาด 650 ล้านคนแม้ยังยากจน แต่ก็เป็นตลาดที่ดี และเราสามารถบอกได้ว่าพวกเขาจะเสียหายตรงไหน ถ้าทำให้เราเสียหาย และนั่นเป็นแนวทางที่จะไป

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเราขยาย เราก็มีสียงดังขึ้น แต่พยายามที่จะพูดในเสียงเดียว หากไปประเทศเดียวก็จะถูกกดขี่

คำถามที่หก นายอรินทร์กล่าวว่า ต้องเริ่มกันเลยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ซึ่งผมยังหวังว่าผู้จะหารือและได้ข้อสรุปบางอย่างร่วมกันเพื่อประโยชน์ของโลก แต่ก็ยังมีคำถามอีก ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนในที่ประชุมนี้คิดเหมือนกันว่า เรื่องนี้จะลากยาวไปอีกนานแค่ไหน 5 ปี แล้วเราจะทำอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก ท่านช่วยคาดการณ์ให้พวกเราฟัง

ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า ผมว่าสักวันผู้คนก็จะนึกขึ้นมาได้ ว่ามีระบบกำหนดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำอยู่ ก่อนหน้านั้นประธานาธิบดีรูสเวลต์ดำรงตำแหน่งถึง 5 สมัย นานมาก แต่ผมก็ทำหน้าที่ในมาเลเซีย 5 สมัยเหมือนกัน แต่คงเป็นเพราะทีมดี ไม่ใช่ว่าได้รับความนิยม

ดร.มหาธีร์กล่าวต่อว่า อเมริกากำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำไว้ 2 สมัย ดังนั้น กรณีเลวร้ายสุดเรื่องนี้คงลากยาวไปอีก 5 ปีหากเขาชนะ แต่หากแพ้เราจะเห็นผลกระทบจากผู้นำ ผู้นำเป็นคนตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อประเทศไม่ว่าทางร้ายหรือทางดี เราเห็นบางประเทศยากจนลงเพราะผู้นำตัดสินใจผิด การเปลี่ยนผู้นำในทันทีจะเปลี่ยนทิศทางประเทศ อาจจะเป็นทางลบก็ได้ ดังนั้นหากเขาอยู่ในตำแหน่ง 2 สมัย บางทีผลกระทบต่อประเทศอาจจะไม่เสียหายมากนัก มิฉะนั้นประชาชนจะต่อต้านผู้นำที่ทำร้ายประเทศ

ในมาเลเซียมีพรรคหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนนั้บตั้งแต่การก่อตั้งประเทศมา 60 ปี แต่วันหนึ่งเมื่อทำผิด ประชาชนไม่เอาด้วยและลงโทษในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ประชาชนมีบทบาทในการดูให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าคนอเมริกันไม่พอใจนัก บางคนพอใจ แต่หลายคนไม่พอใจประธานาธิบดี นโยบายรัฐบาล หลายคนต่อต้านสงครามการค้า และผมเชื่อว่าในอีก 5 ปีจะเห็นผลลัพธ์ ทั้งหมดนี้เป็นการตัดสินใจของคนคนเดียว ไม่ใช่การตัดสินใจของประเทศทั้งหมด ไม่มีการรับรอง ไม่มีประชามติ อยู่ๆ ก็ประกาศสงครามการค้า แต่อาจจะมีการเปลี่ยนไป

นายอรินทร์กล่าวว่า ผลลัพธ์ของสงครามคือ ทำลายล้าง ก่อนที่จะถาม คำถามสุดท้าย ว่าทุกคนอยากจะรู้ว่ามีเคล็ดลับอะไรที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงแม้จะมีวัย 94 ปีแล้ว ยังเดินเหินคล่องแคล่วราวกับคนในวัย 50 ปี ยังทำอะไรหลายอย่างและสมองยังทำงานได้ดี ความคิดยังเฉียบคม ท่านบอกได้ไหมว่า ทำอะไรบ้าง กินอะไรเข้าไป

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ผมคิดว่าคุณจะถามเรื่องสงครามเสียอีก ผมต่อต้านสงคราม สงครามคืออาชญากรรมและเราควรนับว่าสงครามเป็นอาชญากรรม

ส่วนการตอบคำถามของคุณนั้น ผมไม่รู้ว่าผมยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร และหากว่าคนเราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็มีชีวิตอยู่ได้นาน แต่หากคนเราไม่มีวินัยในตัวเองในชีวิตเราบ้าง ผมคิดว่า จะไม่มีชีวิตอยู่ได้นาน

นอกจากนี้ คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้นก็รู้สึกว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นอร่อย เมื่ออาหารอร่อยก็ยิ่งกินมากขึ้น กินมากเกิน คนเราต้องกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เมื่อคนเรายิ่งกินพุงก็ขยาย เมื่อพุงขยายก็ยิ่งกินเพื่อดับความหิว ผลลัพธ์ก็คือ เป็นเบาหวานและอ้วน มีผลต่อหัวใจ หัวใจคนเราสร้างมาเพื่อใช้ให้ได้ 100 ปี แต่หัวใจทำงานหนักขึ้นระยะเวลาการใช้งานหัวใจก็สั้นลง ดังนั้นอย่ากินมากเกินไป กินเพื่ออยู่ อย่าอยู่เพื่อกิน เป็นเรื่องงานมาก และเมื่อรู้สึกว่าอาหารอร่อยมากก็ให้หยุด เป็นสิ่งที่แม่ผมบอก แม่บอกว่าเมื่อไรที่รู้สึกว่าอาหารอร่อยให้หยุดกิน เพื่อไม่ให้พุงขยาย

และหากไม่กินอาหารมัน แป้ง น้ำตาล สุขภาพก็จะดี และเมื่อสุขภาพดีแล้วก็ต้องทำกิจกรรม ออกกำลังให้กล้ามเนื้อทำงาน หากไม่ออกกำลังกายกล้ามเนื้อจะฝ่อ ร่างกายจะอ่อนแอ ดังนั้นต้องมีกิจกรรม หมายถึงทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะกล้ามเนื้อ แต่สมองด้วย สมองที่ไม่ใช้งานจะฝ่อ แต่หากเราใช้สมองตลอดเวลา สมองจะทำงานได้ดี ความจำก็จะดี แค่คนส่วนใหญ่หลังเกษียณเอาแต่นอนทั้งร่างกายและสมอง อวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะอ่อนแอลง

คำถามนี้มีคนถามผมมาก ผมก็รู้สึกว่าน่าจะเขียนเก็บไว้ สักวันผมจะเขียน เล่าให้คนฟัง อันนี้ไม่ได้เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ แต่เกิดจากสิ่งที่เห็นและประสบมา รวมทั้งสิ่งที่เกิดกับคนอื่น แล้วนำเป็นข้อสรุปของผมเอง ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการทดลอง แต่จากการสังเกตและจากชีวิตของผม