ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางข้อมูลครม. “คสช.-ประยุทธ์ 2” รวม 5 ปี จัดงบอุ้มเกษตรกร – แก้ภัยพิบัติกว่า 1 ล้านล้าน

กางข้อมูลครม. “คสช.-ประยุทธ์ 2” รวม 5 ปี จัดงบอุ้มเกษตรกร – แก้ภัยพิบัติกว่า 1 ล้านล้าน

18 ตุลาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เปิดฐานข้อมูลประชุม ครม. “คสช.-ประยุทธ์ 2” รวม 5 ปีจัดงบฯอุ้มเกษตรกร – แก้ภัยพิบัติกว่า 1 ล้านล้านบาท

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2562 กว่า 29 จังหวัด 418,549 ครัวเรือน รัฐบาลทยอยช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประสบภัย วงเงินรวม 7,642 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 และล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ครม.ได้อนุมัติโครงการแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง(ภาวะแล้งไม่มีน้ำ)และอุทกภัย ปี 2562 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 3,120.8 ล้านบาท และคาดว่าจะมีงบประมาณช่วยเหลือตามมาอีก

คำถามคือเกษตรกรอยู่กับภาวะนี้มาอย่างยาวนาน ยิ่งปัจจุบันภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศ ยิ่งมีความแปรปรวนมากขึ้น แต่การบริหารจัดการน้ำยังไม่รองรับกับโครงสร้างของประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตร ส่วนใหญ่มีแต่มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมาตรการเยียวยา จากการรวบรวมของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าพบว่า ในระยะเวลามากกว่า 5 ปีที่รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยุคของหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเกษตรกรและภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องทุกปีรวมกันไปแล้วมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีการประชุมกันในวันอังคารของทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลอีกชุดหนึ่ง นอกเหนือจากข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารของสำนักงบประมาณที่ยังไม่มีหน่วยงานใดนำเสนอมาก่อน พบว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ในสมัยรัฐบาล คสช. และประยุทธ์ 2 ได้มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วกว่า 6,320,463.38 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการอนุมัติงบประมาณ เพื่อพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี เช่น สร้างรถไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ ขุดคลอง ขุดบ่อน้ำ ทุนการศึกษา ประมาณ 3,900,975.27 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน  62% ของการอนุมัติทั้งหมด 6.32 ล้านล้านบาท , เป็นการอนุมัติงบฯ พัฒนาที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมประมาณ 3,449,543.73 ล้านบาท และเป็นการอนุมัติงบฯ พัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมประมาณ 451,431.53 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแยกตามการบริหารงานของรัฐบาลออกเป็นรายปี พบว่าในช่วงปีแรกสัดส่วนของการใช้งบประมาณ ในกลุ่มของการพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี ยังมีสัดส่วนน้อย (ดูแท่งกราฟสีส้ม) แต่ในช่วง 4 ปีหลัง สัดส่วนการใช้งบประมาณกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่งบฯอุดหนุนเกษตรกร เอสเอ็มอี มาตรการสวัสดิการสังคม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงปีแรก เนื่องจากรัฐบาลต้องเข้าไปพยุงราคายางพารา และแก้ไขปัญหาข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี 2557 และปัญหาภัยแล้งรุนแรงในปี 2558 สัดส่วนของการอุดหนุนเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ก่อนที่ทยอยลดลงไป

ส่วนที่เหลืออีก 2,162,536.36 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35% ของงบประมาณทั้งหมดที่ผ่านการอนุมัติจากครม. กลุ่มนี้เป็นการใช้ไปเพื่ออุดหนุนเกษตรกร เอสเอ็มอี มาตรการสวัสดิการสังคม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเจาะลึกลงไปที่การอุดหนุนเกษตรกร พบว่ารัฐบาลได้ใช้เงินไป 1,031,433.39 ล้านบาท เช่น การจ่ายเงินชดเชย การให้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การอุดหนุนเงินค่าปัจจัยการผลิต การช่วยเหลือภัยพิบัติ ในรายละเอียดจะแบ่งเป็นเรื่องของข้าววงเงิน 359,553.93 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของงบฯอุดหนุนเกษตรกรทั้งหมด รองลงมา คือ ยางพาราวงเงิน 252,283.75 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน 24%

ขณะที่การอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงแต่ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งมีบางรายการทับซ้อนกับการช่วยเหลือภายหลังการประสบภัยพิบัติมีวงเงิน 168,156.22 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% และยังมีโครงการให้ความช่วยเลือเกษตรกรที่ระบุชัดเจนว่าเป็นการช่วยเหลือภัยพิบัติเท่านั้น กลุ่มนี้มีวงเงิน 104,121.81 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน 10% นอกนั้นจะเป็นกลุ่มพืชอื่นๆ เช่น มันสำปะหลังและอ้อย ปาล์ม และภาคประมง เป็นต้น