ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ป้อง “บิ๊กแดง”บรรยายพิเศษ แค่ปลูกฝังรักชาติ– มติ ครม.เห็นชอบประกันรายได้สวนยาง เฟสแรกใช้งบ 24,000 ล้าน

นายกฯ ป้อง “บิ๊กแดง”บรรยายพิเศษ แค่ปลูกฝังรักชาติ– มติ ครม.เห็นชอบประกันรายได้สวนยาง เฟสแรกใช้งบ 24,000 ล้าน

15 ตุลาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ป้อง “บิ๊กแดง”บรรยายพิเศษ แค่ปลูกฝังรักชาติ– มติ ครม.เห็นชอบประกันรายได้สวนยาง เฟสแรกใช้งบ 24,000 ล้าน

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

เยือนญี่ปุ่น ร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 21-24 ต.ค.นี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเดินทางไปเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม 2562 นี้ ว่า ตนและภริยาได้รับคำเชิญจากรัฐบาลญี่ปุ่น และตนจะเดินทางไปพร้อมคู่สมรส คือ นางนราพร จันทร์โอชา และคณะส่วนราชการที่ติดตามไปอีกจำนวนหนึ่ง โดยกำหนดการดังกล่าวถือเป็นกำหนดการที่สำคัญ เพราะไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อเนื่องกันมายาวนาน

เซ็นตั้งบอร์ด รสก.สังกัดคมนาคมแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมหลายแห่ง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานใหม่ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ว่า ขณะนี้ตนลงนามได้มีการลงนามแต่งตั้งใหม่ไปแล้ว และได้ผ่านคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้คณะกรรมการชุดใหม่ก็จะต้องเดินหน้าทำงานต่อไป

ยันลงนามรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 25 ต.ค.นี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความชัดเจนในการลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่า ตนคาดว่าจะมีการลงนามกันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คือ วันที่ 25 ตุลาคม 2562 นี้ และตนได้รับรายงานจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ยืนยันว่าเป็นไปตามกรอบเวลา

ต่อกรณีที่กลุ่มซีพียื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นสิทธิของเอกชน ส่วนรัฐบาลก็ต้องทำงานคู่ขนานกันไป

โยนสภาพิจารณา “พ.ร.ก.โอนงบ-กำลังพล” ขัด รธน.หรือไม่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีเสียงเรียกร้องจากนักกิจกรรมทางการเมืองให้ ส.ส.งดออกเสียงอนุมัติ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของในสภา อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับเขา ซึ่งตนไม่ขอยุ่งเกี่ยวเป็นเรื่องที่สภาต้องพิจารณา

ป้อง “บิ๊กแดง” จัดบรรยายพิเศษ แค่ปลูกฝังรักชาติ-แจงแก้ไฟใต้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกจัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แผ่นดินของเรา” ในมุมมองด้านความมั่นคง ว่า ตนได้ดูสาระสำคัญทั้งหมดแล้ว ตนเห็นว่าเป็นเรื่องของการปลูกฝังความรักชาติ ให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของเราว่ามีความเป็นมาอย่างไร บ้านเมืองของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้

“ผมไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อนโยบายจนขับเคลื่อนไม่ได้ ขอให้ทุกคนระมัดระวัง ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ฟังที่จะต้องแยกแยะเอาเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ย้ำจุดยืน “ลด ละ เลิก” 3 สารเคมีเกษตร

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการต่อต้านสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ว่า เรื่องดังกล่าวตนได้เคยแสดงจุดยืนไปตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วแล้ว ให้ลดละเลิกสารเคมี ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา วันนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องดำเนินการไป ซึ่งเป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะต้องลงมติในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 นี้ และต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินการได้

ยืนยันความสัมพันธ์พรรคร่วมฯ ยังเหนียวแน่น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกรณีที่ 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยขู่ลาออกหากคณะกรรมการวัตถุอันตรายโหวตสวนมติคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีมติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรโดยให้ความเห็นว่า ทุกพรรคการเมือง รัฐมนตรีทุกท่าน ตนได้มีการพูดคุย ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด มีการหารือกันในช่วงพักของการประชุม ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทุกเรื่องสามารถเดินหน้าไปได้ อะไรที่ติดขัดก็มาหารือร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะอยู่กันคนละพรรคก็ตาม เราเป็นรัฐบาลของคนไทยของประเทศไทยก็ต้องทำให้ได้

มติ ครม.มีดังนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เยียวเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ “ภัยแล้ง-อุทกภัย” 3,120 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 3,120.8618 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่ตุลาคม – 30 กันยายน 2563 มีรายละเอียดดังนี้

  1. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียว) มีเป้าหมายเกษตรกร 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดำเนินการต้องมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชน้ำน้อย โดยสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริง รายละไม่เกิน 20 ไร่ จำนวน 374.52 ล้านบาท แบ่งเป็นเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 100,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท และเกษตรกรถั่วเขียว 50,000 ครัวเรือน พื้นที่ 0.4 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท
  2. โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/64 มีเป้าหมายเกษตรกร 827,000 ครัวเรือน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน โดยจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 10 กิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ วงเงิน 1,739.42 ล้านบาท และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลุ่มข้าวไวแสงจะจัดส่งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563
  3. โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง: การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน มีเป้าหมายเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย พื้นที่ 50,000 ไร่ โดยสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารสัตว์น้ำนำร่องจำนวน 120 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารายละ 5,000 ล้านบาท วงเงินรวม 260 ล้านบาท
  4. โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน มีเป้าหมายเป็นแหล่งน้ำชุมชน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ โดยปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคือกุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำชุมชนขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแบบปิด โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามขนาดตั้งแต่ 5-7 เซนติเมตรขึ้นไป จำนวน 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ วงเงินรวม 506.91 ล้านบาท
  5. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก มีเป้าหมายเกษตรกร 48,000 ครัวเรือน โดยสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.เพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว ไก่พื้นเมืองคละเพศ ครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมค่าอาหารและค่าวัสดุในการเลี้ยง คิดเป็นมูลค่ารายละ 4,850 บาท หรือเป็นวงเงิน 240 ล้านบาท

จัดงบฯ 2,000 ล้าน ทำโครงการเพิ่มน้ำต้นทุน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ในกรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • กรมทรัพยากรน้ำเสนอโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ โดยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยเครื่องสูบน้ำ ซึ่งมีระบบเชื่อมต่อกับแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำเข้าไปสำรองเก็บในถังเก็บน้ำสำเร็จรูป ขนาดความจุ 100,000 ลิตร

โดยพิจารณาเสนอให้มีการดำเนินการในพื้นที่นำร่องของพื้นที่เกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 120 แปลง ในพื้นที่ทั่วประเทศไทย งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบกระจายน้ำ และปรับปรุงแหล่งน้ำ ให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์ จำนวน 80,000 ไร่ ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 4,000 ครัวเรือน

  • กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำ เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการเจาะบ่อบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลด้วยการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว (150 มม.) ที่ความลึกเฉลี่ย 100 เมตร เจาะบ่อน้ำบาดาล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว (200 มม.) ที่ความลึกเฉลี่ย 60 เมตร กิจกรรมออกแบบและก่อสร้างระบบสูบน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ ติดตามประเมินผลโครงการรวมถึงการส่งมอบโครงการ

โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ นำร่อง จำนวน 700 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่นาแปลงใหญ่และปศุสัตว์แปลงใหญ่ รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์จำนวนไม่น้อยกว่า 86,000 ไร่ จำนวนครัวเรือนของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 7,000 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เห็นชอบประกันรายได้สวนยาง เฟสแรกใช้งบ 24,000 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 งบประมาณ 24,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการการยางไทยเสนอ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน ทั้งนี้ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 1.4 ล้านคน พื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ไว้ที่ 6 เดือน เริ่มเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยประกันรายได้ในยาง 3 ชนิด คือ 1. ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 2. น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และ 3. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม และกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ 240 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หรือ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน

สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางไทยกำหนด โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว สูงสุดรายละไม่เกิน 25 ไร่ สุดท้ายการจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกำหนดจ่ายให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดจ่าย 2 เดือน 1 ครั้ง โดยให้ ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางและมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดยาง ร้อยละ 40 ดังนี้

  1. ประกันรายได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 จ่ายงวดที่หนึ่ง ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562
  2. ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562 – มกราคม 2563 จ่ายงวดที่สอง ระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2563
  3. ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 จ่ายงวดที่สาม ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2563

ทั้งนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้ใช้เงินทุน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัดๆ ไป ตามความเหมาะสม เพื่อชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบโครงการที่เกี่ยวข้องอีก 4 โครงการ เพื่อให้การบริหารจัดการราคายางเป็นไปอย่างยั่งยืน ได้แก่

  1. ขยายวงเงินสินเชื่อโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ปะกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจำนวน 1 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อของโครงการ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางในการขยายกำลังผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม เป็นต้น ให้มีการแปรรูปจากเดิม 60,000 ตันต่อปี เป็น 100,000 ตันต่อปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2563-2569
  2. ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางแห้ง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมนี้ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นใกล้เคียงหรือสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (2) ลดภาระงบประมาณการจัดซื้อยางและการบริหารจัดการสต็อกยางพาราจากรัฐบาล และ (3) ช่วยดูดซับยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง 3.5 แสนตัน จากผลผลิตยางแห้งทั้งปีประมาณ 3.2 ล้านตัน ผ่านกลไกการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการยางแห้ง
  3. ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ออกไปอีก 4 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2567 โดยมีระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2566 และกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้คราวละไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่กู้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับสหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา โดยกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง
  4. ขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ออกไปอีก 3 ปี คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2565 และให้มีการปรับปรุง โดย
    • แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเพื่อกำกับดูแล ซึ่งจากเดิมเป็นคณะกรรมการภายในของการยางแห่งประเทศไทย
    • กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราหรือผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มาจาก (1) เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือ (2) กยท.จัดซื้อจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง หรือ (3) ยางพาราของรัฐที่ กยท.เก็บรักษาไว้ จากเดิมที่ กยท.จะเป็นผู้รับซื้อตามที่หน่วยงานต่างๆ ต้องการ

อีกทั้ง ยังเห็นชอบงบประมาณค่าบริหารจัดการโครงการ จำนวน 1.5 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ประชุมคณะกรรมการ และการติดตามการดำเนินงาน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ โดยคิดเป็นปริมาณน้ำยางสด จำนวน 1 ล้านตัน ตลอดระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2) กระตุ้นให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มียางพาราเป็นส่วนผสมมาใช้ประโยชน์ในการบริการสาธารณะมากขึ้น (3) เพิ่มรายได้ให้รายได้ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

เร่งรัดพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน – ส่งมอบพื้นที่สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามผลการเจรจาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 โดยให้ดำเนินการตามแนวทางต่อไปนี้

  1. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคจัดทำร่างแผนปฏิบัติการรื้อย้ายสาธารณูปโภคพร้อมค่าใช้จ่ายให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พิจารณาและให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ กพอ.เพื่อทราบหรือพิจารณาแผนปฏิบัติการและกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายต่อไป
  2. กำหนดให้ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เร็วที่สุด ด้วยความเห็นชอบทั้งสองฝ่ายก่อนนับเวลาการดำเนินโครงการฯ
  3. กำหนดให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ให้เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ
  4. กำหนดให้ในกรณีที่ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ล่าช้ากว่ากำหนด ให้มีการชดเชยเอกชนคู่สัญญาโดยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง โดยไม่มีการชดเชยเงินค่าเสียหายให้แก่เอกชนคู่สัญญา

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการส่งมอบพื้นที่ โดยต้องดำเนินการดังนี้

  1. ให้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง เร่งตอบหนังสือยืนยันแนวเวนคืนโครงการฯ กลับไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งรัดการออกร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
  2. ให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะกำกับหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตทางรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่เสนอ ให้ดำเนินการรื้อย้าย ปรับปรุง และก่อสร้างใหม่ในสาธารณูปโภคที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการฯ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยร้องขอ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผนการก่อสร้างที่คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานไว้
  3. เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำกับการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เป็นไปตามแผนงานที่เสนอ โดยให้รายงานความก้าวหน้าและปัญหาให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทราบเป็นระยะ

“บิ๊กป้อม” รายงานแผนบูรณาการแก้หมอกควันภาคเหนือ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ในช่วงท้ายของการประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินการแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ว่าได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ โดยวางแผนจากระดับพื้นที่ มีการจัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบ และประสานความร่วมมือหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียนอย่างจริงจัง เนื่องจากหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อการเฝ้าระวังและการดับไฟป่า รวมถึงมีแผนในการสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน

“พล.อ.ประวิตร ยังรายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบถึงสถานการณ์น้ำที่ขณะนี้ในภาคใต้มีฝนตกหนัก อาจมีน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง โดยที่น่าเป็นห่วงคือตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป โดยให้มีการตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเตรียมแผนเผชิญเหตุ แผนเตือนภัยล่วงหน้า ส่วนในภาคเหนือและภาคอีสาน ยังมีบางส่วนที่มีปัญหาภัยแล้ง จึงได้มีการวางแผนร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

เคาะ 4-5 พ.ย. เป็นวันหยุดพิเศษ “กทม. – นนทบุรี” รับประชุมอาเซียนฯ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติ อนุมัติให้วันจันทร์ที่ 4 และวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2562 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจรและเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่จะจัดขึ้นที่อิมแพ็คอารีน่าเมืองทองธานี โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 3,000 คน

ทั้งนี้ในส่วนของรัฐวิสหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณีไป

นอกจากนี้ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจให้บริการประชาชนหรือมีความจำเป็น หรือราชการสำคัญในวันหยุดดังกล่าวโดยได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นควร โดยมีให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและการให้บริการประชาชน

สั่ง “อุตตม” จัดมาตรการช่วยผู้ประกอบการบ้านจัดสรร

ศ. ดร.นฤมล กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนากยฯ ได้รับรายงานจากสมาคมผู้ประกอบการบ้านจัดสรรว่า ได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขบางอย่างทำให้ยอดขายได้รับผลกระทบ จึงให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการที่พอจะช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรรได้ โดยนายอุตตมรับข้อสั่งการดังกล่าวไป และคาดว่าจะรายงานความคืบหน้าในที่ประชุมครม.ต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีข้อสั่งการเรื่องการบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา นายกฯ ได้ปฏิบัติภารกิจจิตอาสา โดยฝากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรณรงค์และพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งได้แก่ น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากบ้านเรือนก่อนลงสู่คูคลอง ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่แต่ละครัวเรือนจะมีถังดักไขมัน ซึ่งต้นทุนไม่สูงนัก พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่ได้ไปรับปัญหาและข้อร้องเรียนของชาวบ้าน ทั้งที่ไปรับจากพื้นที่โดยตรงและที่รับในกรุงเทพฯ โดยขอให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้ประชาชนด้วยความจริงใจ

ตั้ง “จิรุตม์” นั่งประธานบอร์ด รฟท.- “กุลิศ” คุม กฟผ.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แทนตำแหน่งที่ว่างลง ดังนี้

1. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธานกรรมการ
2. นายชยธรรม์ พรหมศร เป็นกรรมการ
3. นายอำนวย ปรีมนวงศ์ เป็นกรรมการ
4. นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล เป็นกรรมการ
5. นายธันวา เลาหศิริวงศ์ เป็นกรรมการ
6. นายพินิจ พัวพันธ์ เป็นกรรมการ
7. นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ เป็นกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

นอกจากนี้ได้มติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 และมติรับทราบการแต่งตั้งนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เป็นโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม และแต่งตั้ง นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เป็นรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

เพิ่มทุนเอสเอ็มอีแบงก์ 6,000 ล้าน

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าครม.มี มติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

  1. กำหนดให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น แต่มิได้เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจตาม พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 สามารถใช้เงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อการเพิ่มทุนได้
  2. อนุมัติกรอบวงเงินที่จะจัดสรรจากกองทุนฯ เพื่อการเพิ่มทุนเพื่อขยายการดำเนินงานให้แก่ ธพว. ไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว และหากในอนาคต ธพว. ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพิ่มทุน สามารถนำเสนอกระทรวงการคลังและคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ กองทุนฯ เห็นควรให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการขยายการดำเนินงาน โดยวัดผลจากความสามารถในการขยายสินเชื่อและความสามารถในการบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามแผนงานของ ธพว. ด้วย

ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์รายงานระบุว่าเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจอันเป็นการพัฒนา ส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงาน การขยาย หรือการปรับปรุง SMEs ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ ธพว. และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และในด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อีกทั้ง ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์มีมากกว่า 2.7 ล้านราย จึงเป็นภารกิจหลักของ ธพว. ในการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้

โดยธพว. มีแผนงานจะปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าปีละ 57,000 ล้านบาท โดยมีช่องทางการขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยทีม Mobile Unit ตามโครงการหน่วยรถม้าเติมทุน ดำเนินการผ่านเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อให้เป็น Loan Agent รวมทั้งการพัฒนา SME D Bank Platform เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการของ ธพว. ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ธพว. ยังได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานด้านสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากแนวทางการดำเนินการของ ธพว. ข้างต้น ในช่วงปี 2563 – 2566 จะทำให้มีสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิและสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่แหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 142,000 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 462,000 คนต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 213,000 ล้านบาท

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2562เพิ่มเติม