ThaiPublica > เกาะกระแส > 5 ปีเศรษฐกิจคสช. ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม 1.35 ล้านล้านบาท คุ้มค่าแค่ไหน?

5 ปีเศรษฐกิจคสช. ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม 1.35 ล้านล้านบาท คุ้มค่าแค่ไหน?

16 กรกฎาคม 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

รัฐบาล”ประยุทธ์2″ ยังคงตั้งกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีขาดดุลต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐประหารยึดอำนาจภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 จนถึงปี 2562 แม้มีการเลือกตั้งและกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งก็ตาม

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 คณะรัฐมนตรีใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์ มีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นการขาดดุล 469,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.6% ของงบประมาณรวมทั้งหมด และคิดเป็น 2.6% ของจีดีพี

การขาดดุลงบประมาณเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายยามเศรษฐกิจฝืดเคือง หรือมีความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต หรือในกรณีไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย

นโยบายขาดดุลงบประมาณคือการกู้เงินมาชดเชย ทำให้หนี้เงินกู้ดังกล่าวถูกเติมเข้ามายัง “หนี้สาธารณะ” ในทุกๆปีที่ทำงบประมาณแบบขาดดุล

การทำนโยบายขาดดุลงบประมาณไม่ใช่เรื่องผิด

แต่ประเด็นสำคัญคือความคุ้มค่าและเหตุผลของการขาดดุลงบประมาณที่ต้องได้รับการพิจารณาและประเมินอย่างรอบคอบ เพราะหากเศรษฐกิจเผชิญเหตุไม่คาดฝันและไม่สามารถปรับตัวได้หรือปรับตัวไม่ทันจนจีดีพีไม่เติบโตอีกต่อไป การขาดดุลระดับนี้จะทำให้หนี้สาธารณะแตะเพดาน 60% ในเวลา 6-7 ปีเท่านั้น

นอกจากภาระหนี้ที่เกิดจากการขาดดุลงบประมาณแล้ว หนี้สาธารณะยังรวมไปถึงการก่อหนี้ในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจโดยตรงที่เน้นไปที่การลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ หรือถนนหนทางต่างๆ

หนี้ของสถาบันการเงินของรัฐที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรและธุรกิจเอสเอ็มอี

หากย้อนไปดูการบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ล่าสุดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2561 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 5,430,560.04 ล้านบาท ในปี 2556 เป็น 6,780,953.22 ล้านบาทในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 1,350,393.18 ล้านบาท โดยองค์ประกอบหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือหนี้ของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 1,675,400.52 ล้านบาทจาก 3,774,819.49 เป็น 5,450,220.01 ล้านบาท

ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐกลับลดลง โดยหนี้ของรัฐวิสาหกิจลดลงจาก 1,112,973.85 ล้านบาทในปี 2556 เหลือเพียง 954,129.74 ล้านบาทในปี 2561 หรือลดลงไป 158,844.11 ล้านบาท ส่วนหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐลดลงจาก 541,932.01 ล้านบาท เหลือเพียง 367,634.93 ล้านบาท หรือลดลงไป 174,297.08 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นรูปแบบการจัดหาแหล่งเงินทุนของโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของรัฐบาลที่เน้นไปที่การร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP เป็นหลัก รวมไปถึงการจัดทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ทำให้ภาระการคลังในการกู้เงินเพื่อลงทุนโดยตรงลดลง ขณะที่โครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รัฐบาลมักจะรับภาระแทนโดยลงบัญชีการดำเนินธุรกรรมตามโครงการนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรจากงบประมาณมาคืนแทน นอกจากนี้ แล้วยังมีหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯและหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นส่วนเล็กน้อย

แน่นอนว่าการลดลงของหนี้รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน สวนทางกับหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้โครงสร้างของหนี้สารณะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของหนี้รัฐบาลได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 69.51% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดในปี 2556 เป็น 80.38% ในปี 2561 ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินเฉพาะกิจลดลงจาก 20.49% เป็น 14.07% และจาก 9.98% เป็น 5.42% ตามลำดับ

ดังนั้นแปลว่าแม้รัฐบาลจะหาทางออกแหล่งเงินทุนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากการร่วมทุนกับเอกชน แต่ขณะเดียวกันมีการก่อหนี้โดยตรงของรัฐบาลเพื่อใช้จ่ายในงบประมาณหรือมาตรการต่างๆยังเพิ่มอยู่ คำถามคือมาตรการเหล่านี้มีความคุ้มค่าหรือไม่เพียงใด และคุ้มค่ามากกว่าโครงการที่ร่วมทุนกับเอกชนหรือไม่ ซึ่งต้องแลกมากับสัญญาสัมปทานในการหารายได้ของเอกชนในระยะต่อไป หรือรัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้แทน?

นอกจากจำนวนหนี้คงค้างที่เพิ่มขึ้นแล้ว แต่หากเทียบกับจีดีพีของประเทศแล้วพบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะลดลง แต่เพียงเล็กน้อยจาก 42.19% ของจีดีพีในปี 2556 เป็น 42.07% แม้ว่าสัดส่วนของหนี้จะค่อนข้างคงที่และสะท้อนความมั่นคงของฐานะการคลังของรัฐบาลที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 60% ของจีดีพี แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนถึงความคุ้มค่าของหนี้สาธารณะที่อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้หรือการเติบโตของจีดีพีมากอย่างที่ตั้งใจไว้ หรือเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่เพียงพอที่จะดึงศักยภาพของการลงทุนออกมาได้เต็มที่

เมื่อเทียบกับหลายรัฐบาลที่ผ่านมานับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 พบว่าการก่อหนี้ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะค่อนข้างคงที่ โดยในช่วงรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน 2 นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2550-2551 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลงจาก 35.99% เหลือ 34.95% ก่อนที่ต่อมาในช่วงของรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งแต่ปี 2552-2553 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาเป็น 42.36% ในปี 2552 เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตการเงินโลกที่ปะทุขึ้นในสหรัฐอเมริกาและลามไปทั่วโลกจนจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนั้น ก่อนสัดส่วนหนี้จะลดลงในปีต่อมาเหลือ 39.83% และเมื่อผลัดรัฐบาลต่อมาในสมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2554-2556 สัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นจาก 39.12% ในปี 2554 เป็น 41.93% ในปีต่อมา เนื่องจากวิกฤตมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาเป็น 42.19% ในปี 2556

หากเจาะลึกไปยังหนี้ของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของหนี้สาธารณะของประเทศไทยแล้ว จะพบว่าองค์ประกอบของหนี้ของรัฐบาลเกิดจาก 2 ส่วนหลัก 1) หนี้เงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยในแต่ละปีที่จะสะสมไปเรื่อยๆ 2) หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยคิดรวมกันเป็นสัดส่วนประมาณ 85-90% ของหนี้ของรัฐบาลทั้งหมด

ขณะที่หนี้อื่นๆของรัฐบาลจะประกอบด้วยหนี้ที่กู้มาแก้ไขปัญหาวิกฤตในช่วงต่างๆ ตัวอย่างเช่น หนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในสมัยวิกฤตการเงินโลกช่วงปี 2551-2552 โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของหนี้ของรัฐบาลทั้งหมด หรือหนี้เงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำในช่วงปี 2554 ที่เผชิญกับวิฤตมหาอุทกภัย ประมาณ 0.5% ของหนี้ของรัฐบาลทั้งหมด นอกนั้นจะเป็นหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล หนี้เงินกู้ให้กู้ต่อกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้น

สำหรับหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหนี้ที่มียอดคงค้างของหนี้ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นความเสียหายครั้งเดียวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประมาณ 1,300,000 ล้านบาท และได้ทยอยจ่ายมาเรื่อยๆจนยอดหนี้ค่อยๆลดลงในทุกปี ส่งผลให้หนี้หลักส่วนที่เหลือของรัฐบาลคือหนี้เงินกู้เพื่อการชดใช้การขาดดุลงบประมาณที่จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของหนี้ของรัฐบาลโดยรวม โดยในปี 2556 มีหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูฯ คงเหลืออยู่ 1,108,070.25 ล้านบาท และลดลงมาเหลือ 845,037.21 ล้านบาท หรือลดลง 263,033.04 ล้านบาท

ส่วนหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เพิ่มขึ้นจาก 2,147,997.43 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 3,863,476.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,715,479.3 ล้านบาท

จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวน 1,350,393.18 ล้านบาท จึงเกิดจากแรงส่งของหนี้จากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นหลัก ขณะที่หนี้ประเภทอื่นๆทั้งหนี้ของรัฐวิสาหกิจ หนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และหนี้เงินกู้ในภาวะวิกฤตที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

นำไปสู่คำถามถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

“รัฐบาลประยุทธ์1 กู้เงินทำอะไร”

สำหรับรูปแบบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557-2561 เฉลี่ยจะคิดเป็น 19% ของจีดีพีในแต่ละปี และแบ่งออกเป็น 4 รายการใช้จ่ายหลัก ได้แก่ รายจ่ายประจำ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายใหญ่สุดของรัฐบาลที่ 76.3% ของงบประมาณทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รองลงมาคือรายจ่ายลงทุนคิดเป็น 20.1% ของงบประมาณทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่รายจ่ายชำระต้นเงินกู้และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังคิดเป็น 2.4% และ 1.1% ของงบประมาณทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตามลำดับ

ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปี 2562-2563 ที่ใช้ในปัจจุบันและปีต่อไปนั้น รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ กำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำเอาไว้ 75.3% และมีงบรายจ่ายลงทุนคิดเป็น 21% โดยส่วนหนึ่งของการจัดทำงบประมาณในช่วงนี้และหลังจากนี้จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ในมาตรา 20 ว่า “…ต้องมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจําปีและต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจําปีนั้น…” ส่งผลให้โดยรวมแล้วตลอด 7 ปีของการใช้งบประมาณของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะมีแบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 76% และเป็นงบรายจ่ายลงทุน 20.4%

เมื่อเทียบกับรัฐบาลอื่นๆก่อนหน้านี้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นโดยงบประมาณรายจ่ายลงทุนทยอยเพิ่มขึ้นจนไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินงบประมาณ โดยในช่วงรัฐบางของพรรคพลังประชาชน รายจ่ายประจำจะคิดเป็น 72.8% ของงบประมาณในปี 2551-2552 ส่วนรายจ่ายลงทุนคิดเป็น 24% ต่อมาในรัฐบางของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2552-2553 รายจ่ายประจำจะคิดเป็น 77.9% และงบรายจ่ายลงทุนคิดเป็น 17.6% และสุดท้ายในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2554-2556 รายจ่ายประจำคิดเป็น 77.8% และงบรายจ่ายลงทุนคิดเป็น 17.9% เท่านั้น

แม้งบรายจ่ายลงทุนจะมีแนวโน้มดีขึ้นในระยะที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากเทียบในระยะที่ยาวนานกว่านั้นพบว่าระดับของรายจ่ายลงทุนยังค่อนข้างต่ำอยู่ โดยในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งตั้งแต่ปี 2532-2539 รายจ่ายลงทุนคิดเป็น 31.7% ของงบประมาณทั้งหมดในระยะเวลา 8 ปี ก่อนที่หลังวิกฤตจนก่อนวิกฤตการเงินโลกในปี 2550 จะลดลงมาเหลือ 26.5% ของงบประมาณทั้งหมดในระยะเวลา 11 ปีดังกล่าว

“ประยุทธ์” ตั้งงบกลางปีเพิ่ม 3 ปีต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประการ สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ประการแรกคือการออก “พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจําปีงบประมาณ” หรือการตั้งงบกลางปี ซึ่งปกติมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในปี 2552 ที่เกิดวิกฤตการเงินโลก รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดทำงบประมาณกลางปีจำนวน 116,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.4% ของงบประมาณเดิมที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ หรือในช่วงปี 2554 ที่เกิดวิกฤตมหาอุทกภัย รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดทำงบประมาณกลางปีจำนวน 99,967.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% ของงบประมาณเดิม

ขณะที่ในช่วงของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมกลางปีถึง 3 ปีติดต่อกัน แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะค่อนข้างมั่นคงและรัฐบาลออกมายืนยันตลอดว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งแรกในปี 2559 เป็นการจัดตั้งเพิ่มเติมเนื่องจากมีรายได้เพิ่มเติมจากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมของกสทช. จำนวน 56,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.1% ของงบประมาณเดิม โดยระบุว่าจะส่วนหนึ่งจะนำมาใช้จ่ายเพื่อ

  1. เสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป จำนวน 32,661 ล้านบาท
  2. โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 15,000 ล้านบาท
  3. ที่เหลือเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

ขณะที่ในปี 2560 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ทำงบประมาณกลางปีจำนวน 190,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของงบประมาณเดิม โดยระบุว่าจะนำมาใช้จ่ายเพื่อ

  1. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น จำนวน 22,921.72 ล้านบาท
  2. กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 10,000 ล้านบาท
  3. งบประมาณรายจ่ายของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน รายการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 15,000 ล้านบาท
  4. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมสําหรับแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ จำนวน 115,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบกลางสำหรับค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ 19,942.8 ล้านบาท และที่เหลือเป็นงบสำหรับส่วนราชการต่างๆ
  5. ที่เหลือเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

และในปี 2561 รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณกลางปีอีก จำนวน 150,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.2% ของงบประมาณเดิม โดยระบุว่าจะนำมาใช้จ่ายเพื่อ

  1. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง ค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จำนวน 4,600 ล้านบาท
  2. งบสำหรับส่วนราชการต่างๆ จำนวน 61,735.59 ล้านบาท
  3. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 34,022.51 ล้านบาท แบ่งเป็น
    1. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 20,000 ล้านบาท
    2. กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 13,872.51 ล้านบาท
    3. เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช จำนวน 150 ล้านบาท
  4. ที่เหลือเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

ประการที่ 2 คือมีการออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย เป็นการโอนงบประมาณบางส่วนที่หน่วยราชการไม่สามารถเบิกจ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้มาตั้งเป็นงบกลางสำหรับรัฐบาลให้จ่ายในกรณีฉุกเฉินต่างๆ โดยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ หันมาใช้งานมาตลอด 4 ปีตั้งแต่ปี 2558-2561 เป็นจำนวน 7,917.1 ล้านบาท, 22,106.5 ล้านบาท, 11,866.5 ล้านบาท และ 12,730.5 ล้านบาท ตามลำดับ หรือรวมกัน 54,620.6 ล้านบาทตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปีแรกจะการโอนงบประมาณเข้าสู่งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นทั้งหมด ส่วนในปีที่ 2 จะเป็นการโอนเข้าสู่งบกลาง 21,885.55 ล้านบาท อีก 21 ล้านบาทเข้าสู่หน่วยงานรัฐ และที่เหลือ 200 ล้านบาทไปยังเงินทุนหมุนเวียนและขยายพันธ์พืช ขณะที่ในปีที่ 3 งบกลางฯ ทั้งหมด และในปีที่ 4 จะแบ่งเป็นงบกลางฯ 10,000 ล้านบาท และที่เหลือเข้ากองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

รูปแบบการทำงบประมาณแบบนี้นำไปสู่คำถามประสิทธิภาพและความโปร่งใสของการจัดทำงบประมาณ เพราะด้านหนึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องตั้งงบประมาณเพิ่มเติมกลางปีติดต่อกัน 3 ปี โดยเป็นการกู้เงินเพิ่มเติมถึง 2 ปี แสดงถึงความไม่เพียงพอของงบประมาณที่ต้องการใช้จ่าย แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อจบปีงบประมาณกลับมีการโอนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆเข้ามา แสดงถึงความไม่พร้อมของโครงการต่างๆในทางปฏิบัติ และที่สำคัญเป็นการโอนงบประมาณกลับสู่งบกลางเปรียบเสมือนเป็นการ “ตีเชคเปล่า” ใช้จ่ายได้อย่างอิสระ

อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างยากที่จะจับคู่รายรับ ทั้งจากภาษีและเงินกู้ และรายจ่ายของรัฐบาลว่าถูกนำไปใช้อย่างไร เนื่องจากโดยพื้นฐานการทำงานระหว่างการหารายได้และการใช้จ่ายที่จะแยกออกกันและไม่เกี่ยวข้องกันในทางปฏิบัติ รวมไปถึงนิยามของงบรายจ่ายเพื่อการลงทุนมีหลักเกณฑ์อย่างไร มีความเหมาะสมหรือไม่ ทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือจากการติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะต้องอนุมัติโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ในตอนที่ 2 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จะรวบรวมผลการประชุมมติครม.ในสมัยแรกของพล.อ.ประยุทธ์ กว่า 260 สัปดาห์ เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเจาะจงลงไปได้ในรายโครงการของรัฐบาลและแยกแยะประเภทของการใช้จ่ายอย่างเหมาะสมมากขึ้น แม้ว่าอาจจะไม่ครบถ้วนสอดคล้องกับจำนวนงบประมาณโดยรวม