ThaiPublica > คอลัมน์ > ใครได้-ใครเสีย จากการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น (ตอนที่ 2)

ใครได้-ใครเสีย จากการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น (ตอนที่ 2)

5 กันยายน 2019


ดร.ภิญโญ มีชำนะ

พลังงานแสงอาทิตย์

ในบทความตอนที่ 11 ผมได้อธิบายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยในทางเทคนิคค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ในตอนที่ 2 ผมจะขออธิบายเรื่องเหล่านี้ด้วยภาษาง่ายๆ เพื่ออธิบายให้คนทั่วไปได้รับทราบว่ามีใครได้-ใครเสียในธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ภาคประชาชนจาก solar rooftop ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย

ตอนเริ่มแรก พลังงานหมุนเวียนในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐจำนวนมาก แม้ว่าในตอนหลังรัฐจะอุดหนุนน้อยลงก็ตาม การอุดหนุนจากภาครัฐเหล่านั้นมีทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยหวังว่าการให้การอุดหนุนเช่นนี้จะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลงจนสามารถแข่งขันกับไฟฟ้าหลักในระบบ grid ที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์ได้

นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลหลายๆ ประเทศได้ให้การอุดหนุนผ่านเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำเอาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เดิมเป็นระบบอิสระ (off-grid) ที่ต้องมีการลงทุนติดตั้งแบตเตอรี่สำรอง (backup battery storage) เอง ซึ่งมีราคาแพงจนทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้สูงมากและไม่สามารถแข่งกับไฟฟ้าที่ผลิตมาจาก grid ได้เลย โดยเทคโนโลยีใหม่นี้สามารถทำให้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเกาะเกี่ยวเป็นส่วนหนึ่งของระบบผลิตไฟฟ้าของ grid ได้ เรียกว่าเป็นระบบ on-grid ที่ไม่ต้องติดตั้งแบตเตอรี่สำรอง ทำให้ประหยัด และเทคโนโลยีนี้มีข้อดีตรงที่เมื่อระบบผลิตไฟฟ้าได้เกินกับความต้องการใช้ ก็สามารถจ่ายไฟฟ้าขายเข้าสู่ระบบ grid ได้

ในทำนองเดียวกัน หากระบบเกิดผลิตไฟฟ้าไม่พอกับความต้องการ ก็สามารถดึงไฟฟ้าจากระบบ grid มาใช้ประโยชน์ได้ โดยการส่งไฟฟ้าเข้าและออกจากระบบ grid ทำได้ด้วยวิธีผ่านทาง smart meter และตอนคิดค่าไฟฟ้า ในบางประเทศอนุญาตให้ใช้วิธีหักลบสุทธิที่เรียกว่า net metering ทำให้ผู้ติดตั้งเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าแบบนี้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ เนื่องจากระบบ on-grid นี้สามารถลดภาระการติดตั้งแบตเตอรี่สำรองที่มีราคาแพง จึงทำให้หลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแบบนี้ได้รับความนิยมจากผู้ที่มีเงินลงทุนเพียงพอที่จะติดตั้งเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่เรียกว่า solar rooftop ผู้คนในประเทศพัฒนาแล้วที่ปกติมักจะมีอัตราค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูงต่างก็นิยมติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าในประเทศที่พัฒนาแล้วมักมีราคาแพง และส่วนหนึ่งผู้ติดตั้งต้องการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับการที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดภาวะโลกร้อน กระทั่งระยะหลังๆ มานี้แผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ไฟฟ้ามีราคาถูกลง จึงส่งผลให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าในประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ประเทศเดนมาร์ก

อย่างไรก็ตาม การอุดหนุนในลักษณะนี้อาจทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงได้ แต่หากตรวจสอบในรายละเอียดจริงๆ ก็จะพบว่าการที่หน่วยผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระะบบผลิตไฟฟ้าของ grid ที่เรียกว่า on-grid (จากเดิมที่เป็นระบบอิสระไม่เกี่ยวข้องกับระบบ grid ที่เรียกว่า off-grid) ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid ไม่ต้องมีภาระในการต้องติดตั้งแบตเตอรี่สำรอง เพราะภาระเหล่านั้นได้ถูกส่งผ่านไปในระบบไฟฟ้าของ grid เป็น “ต้นทุนแฝง” หรือ integration cost ที่ฝ่ายผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid เป็นผู้รับภาระนี้แทน โดยหากผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีไม่มากนัก ระบบไฟฟ้าของ grid ก็สามารถใช้พลังงานสำรองที่เรียกว่า spinning reserve ผลิตไฟฟ้าเสริมเข้ามาในระบบ grid จนสามารถจัดการความผันผวนของพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าหากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวนมากขึ้นก็อาจจะเกิดปัญหาการสำรองไฟฟ้าได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่นที่ ประเทศออสเตรเลีย รัฐแคลิฟอร์เนียของประเทศสหรัฐอเมริกา จนส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 2

เรามักจะได้รับทราบเหตุผลของฝ่ายผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่เป็นระยะๆ ว่า การติดตั้ง solar rooftop บนหลังคาบ้านนั้นก็เพราะต้องการร่วมลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากแผงโซลาร์พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าสามารถผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ และช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจาก grid ที่ส่วนใหญ่ผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งถือว่าเป็นพลังงานสกปรก ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยผลิตไฟฟ้าส่วนที่เกินความต้องการ (ในบางช่างเวลา) ขายกลับไปในระบบ grid ได้อีกด้วย จึงกล่าวว่าตนเองมีส่วนช่วยทำให้ผู้ที่ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

แต่จริงๆ แล้วเหตุผลสำคัญคือผู้ที่ติดตั้ง solar rooftop ต้องการประหยัดค่าไฟฟ้า กล่าวคือ ผู้ติดตั้งสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองส่วนหนึ่ง ทำให้ลดการซื้อไฟฟ้าจาก grid น้อยลงไปกว่าเดิม มิหนำซ้ำยังอาจจะซื้อไฟฟ้าจาก grid ได้ในอัตราที่ถูกลงอีกด้วย เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าในบางประเทศ (เช่น ประเทศไทย) คิดอัตราค่าไฟฟ้าจากผู้บริโภคแบบก้าวหน้า (progressive rate) คือ ถ้าหากผู้บริโภคใช้ไฟฟ้าจาก grid มากก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราสูง แต่หากใช้ไฟฟ้าน้อยลง (เนื่องจากผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นำมาใช้ได้เองส่วนหนึ่ง) ก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำลง ทำให้ประหยัดลงไปได้อีกส่วนหนึ่ง และหากสามารถผลิตไฟฟ้าส่วนเกินผ่าน smart meter กลับเข้าไปขายให้แก่ grid (บางประเทศยอมให้หักลบสุทธิได้ที่เรียกว่า net metering) ก็จะทำให้ผู้ติดตั้งเทคโนโลยี solar rooftop ยิ่งประหยัดไปได้มากขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นพบว่า ในประเทศพัฒนาแล้วที่ส่งเสริมให้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ได้มีการติดตั้ง solar rooftop เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับราคาค่าติดตั้งเทคโนโลยี solar rooftop นั้นถูกลง [จนทำให้ levelized cost of energy (LCOE) ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลง] แต่กลายเป็นว่าอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศเหล่านั้นกลับยิ่งสูงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม (เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา)

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า (อันเกิดจากความผันผวนในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์) ที่เรียกว่า integration cost (หรืออาจเรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายจากต้นทุนแฝง) นั้นกลับแพงกว่า LCOE ของผู้ผลิตไฟฟ้าจาก solar rooftop (ที่มีราคาลดลง) เสียอีก ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ประโยชน์จากการประหยัดค่าไฟฟ้า แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องลงทุนเพิ่ม (จนทำให้ integration cost สูงเพิ่มขึ้น) ส่งผลให้ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจาก solar rooftop โดยรวมที่เรียกว่า system cost สูงขึ้นเมื่อเทียบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าของ grid โดยภาระค่าใช้จ่าย integration cost ที่เพิ่มขึ้นนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid เป็นฝ่ายที่รับผิดชอบ

แต่เมื่อมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดตั้ง solar rooftop มากเกินไป ในที่สุดภาระนี้ก็เพิ่มมากขึ้นจนผู้ผลิตไฟฟ้าใน grid รับไม่ไหวจึงผลักภาระนี้ส่งต่อไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า (เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid จะขาดทุนไม่ได้) ด้วยการเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องเฉลี่ยจ่าย

หลายๆ ประเทศจึงเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคโดยมีชื่อเรียกต่างๆ กัน บางแห่งเรียกว่า backup rate บ้าง เรียกว่าภาษีไฟฟ้า (electricity tax) บ้าง ภาษีแดด (sun tax) บ้าง เงินเก็บเพิ่มพิเศษ (surcharge) บ้าง บางแห่งเรียกว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (value added tax) ที่เรียกเก็บทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าในระบบ net metering คือเก็บทั้งภาษีซื้อและภาษีขาย (แต่ไม่ว่าจะเรียกเงินที่เก็บเพิ่มนี้ในชื่ออะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็คือเงินที่เรียกเก็บเพิ่มจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเพื่อเอาไปชดเชยกับ “ต้นทุนแฝง” หรือ integration cost ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าได้ลงทุนไปเพื่อให้ระบบไฟฟ้าจาก grid มีเสถียรภาพ) จึงทำให้ผู้ที่ไม่ได้ติดตั้ง solar rooftop เกิดความเดือดร้อน ที่อยู่ๆ ก็จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเพื่อไปอุดหนุนให้คนติดตั้งประหยัดค่าไฟฟ้า

ถึงตรงนี้ อาจจะยังมีคนสงสัยอยู่ว่าเรื่องต่างๆ ที่ผมได้กล่าวมานี้มีข้อเท็จจริงมาสนับสนุนหรือไม่ ผมจึงขอให้อ่านบทความต่างประเทศ If solar and wind are so cheap, why are they making electricity so expensive? 3

ผมขออธิบายง่ายๆ ว่าใครได้-ใครเสีย ดังนี้

ผู้ติด solar rooftop ได้ประโยชน์จาการประหยัดค่าไฟฟ้า 3 ต่อ ดังนี้

    1. ประหยัดต่อที่ 1 คือ สามารถผลิตไฟฟ้ามาใช้เองได้ส่วนหนึ่งในช่วงที่มีแสงอาทิตย์ ทำให้จากเดิมที่ต้องซื้อไฟฟ้าจาก grid มาใช้เองทั้งหมด ก็จะซื้อไฟฟ้าจาก grid น้อยลง ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า

    2. ประหยัดต่อที่ 2 คือ สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินกว่าที่นำไปใช้งาน (ในบางช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์จ้า) กลับเข้าไปขายใน grid ผ่าน smart meter (ในบางประเทศคิดค่าไฟฟ้าในแบบหักลบสุทธิ ที่เรียกว่า net metering) ก็ทำให้ประหยัดเพิ่มเติม

    3. ประหยัดต่อที่ 3 คือ ในบางประเทศ (เช่น ไทย) มีการคิดอัตราค่าไฟฟ้าจาก grid ในอัตราก้าวหน้า (progressive rate) กล่าวคือ ถ้าใช้ไฟฟ้ามากจะคิดค่าไฟฟ้าในอัตราสูง แต่หากใช้ไฟฟ้าน้อยลงจะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำลง จะเห็นว่าการติดตั้ง solar rooftop จะทำให้ผู้ติดตั้งใช้ไฟฟ้าจาก grid น้อยลง จนอาจจะประหยัดเพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดต่ำลงด้วย

ผู้ติดตั้ง solar rooftop นอกจากจะได้ประโยชน์จากการประหยัดแล้ว ยังสามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมโลก กล่าวคือ

    1. ผู้ติดตั้ง solar rooftop อ้างว่าสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็น “พลังงานสะอาด” ได้เอง ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าที่มาจาก grid ที่ส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็น “พลังงานสกปรก” และก่อปัญหาก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ผู้ติดตั้ง solar rooftop จึงสามารถกล่าวได้ว่ามีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน

    2. ผู้ติดตั้ง solar rooftop มักจะกล่าวอ้างว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถช่วยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพิ่มขึ้น เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าจาก solar rooftop ซึ่งมีขนาดเล็กแต่มีจำนวนมากสามารถร่วมกันช่วยผลิตไฟฟ้าในลักษณะที่เป็น (distribution generation) ทำให้ประหยัดการลงทุน เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบ grid ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าหลักขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ที่เป็นเชื้อเพลิง “สกปรก”) เพิ่มขึ้น (ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้พูดเข้าใจผิด เพราะหากติดตั้ง solar rooftop มากขึ้นก็ต้องลงทุนสร้าง backup power plant ที่มีกำลังผลิตที่เท่ากันเพื่อมาค้ำจุนระบบ grid ให้ทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ ดังที่ได้อธิบายมาแล้วในตอนที่ 1)

นอกเหนือจากผู้ที่ติดตั้ง solar rooftop จะได้ประโยชน์แล้วยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์ คือผู้ที่ดำเนินธุรกิจขายเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผงโซลาร์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งผู้ที่ติดตั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ที่เป็นตัวแทนในประเทศไทย ตลอดจนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำเป็นโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าขายเข้า grid ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ (และที่จะเกิดใหม่เพิ่มเติมอีกในอนาคต) ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ทำธุรกิจขายไฟฟ้าเข้า grid ในราคาที่มีการอุดหนุนผ่าน adder และ fit (feed-in-tariff) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติในรูปค่า Ft จนทำให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบางรายร่ำรวยจากมูลค่าหุ้นพลังงานทดแทน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) เพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นเศรษฐีระดับหมื่นล้านบาทในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ไม่ได้ติดตั้ง solar rooftop ที่อยู่ๆ ต้องเป็นผู้เสียหายที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงขึ้น นั่นคือจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้ผู้ที่ติด solar rooftop ได้ประหยัด โดยผู้ที่ไม่สามารถติดตั้ง solar rooftop ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ประสงค์จะติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ไม่สามารถทำได้เพราะบ้านของตนเองไม่มีสายส่งที่ได้รับการปรับปรุงจนสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์พาดผ่าน อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ซึ่งไม่มีพื้นที่มากพอจะสามารถติดตั้ง solar rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้ามาใช้ได้เอง จะมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นคนมีรายได้น้อยที่ไม่สามารถลงทุนได้เอง และอีกส่วนที่สำคัญมากที่สุดคือคนที่ยังคงยากจนอยู่ที่ไม่สามารถลงทุนได้เลย คนกลุ่มนี้อาจมีคำถามว่าทำไมคนยากจนอย่างพวกเขาจึงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้คนที่ติด solar rooftop (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะดี) ได้ประหยัด แล้วยังสามารถนำมากล่าวอ้างได้ว่ามีส่วนร่วมลดโลกร้อนอีกด้วย

และประการสำคัญก็คือ ประเทศไทยคิดอัตราค่าไฟฟ้าเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ การขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มแม้จะดูว่าเป็นเงินเพียงเล็กน้อยสำหรับคนที่มีฐานะ แต่ก็อาจถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นนี้อาจลุกลามบานปลายไปสู่ปัญหาอื่นได้ (เรื่องทำนองนี้อาจไม่ได้เกิดเฉพาะในระเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วได้เช่นกัน เช่น กรณีของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่ไม่พอใจที่รัฐบาลเรียกเก็บ carbon tax กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน จนก่อเหตุจลาจลลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศได้) ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีและออสเตรเลีย ก็มีคนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ที่เรียกกรณีเช่นนี้ว่า “energy poverty” 4 5

ผมไม่ได้มีความคิดต่อต้านไม่ให้มีการติดตั้ง solar rooftop ในประเทศไทย แต่เห็นว่าควรนำเอาเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่ไม่มากจนเกินไป เพราะหากตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มากถึง 30-40% นั้นอาจสร้างภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ดังที่เกิดในประเทศเยอรมนี เดนมาร์ก ออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา เราควรค่อยๆ ทยอยนำเอาพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบการผลิตไฟฟ้าของ grid อย่างที่จะไม่เป็นภาระจนถึงกับต้องขึ้นค่าไฟฟ้าให้แพงขึ้น ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เราควรรอจนกว่าเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในระบบนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจนถึงระดับที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพในราคาที่สมเหตุสมผล

ผมได้ศึกษามาแล้วพบว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบ on-grid นั้นยังคงมีปัญหาทางเทคนิคที่ยังคงต้องทำการวิจัยและพัฒนากันอีกมากมาย อีกทั้งมันยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกลงมาได้อย่างแท้จริง ไทยเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีแต่จะนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่สามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้โฆษณาเป็นเวลาหลายปีมาแล้วว่าเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนนั้นมีราคาถูกลง ทั้งราคาแผงโซลาร์พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำรองต่างก็มีราคาถูกลงมาเรื่อยๆ

แต่ในข้อเท็จจริงกลับพบว่า เทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ on-grid ที่ใช้ในปัจจุบันนี้ยังคงมีปัญหาทางด้านเสถียรภาพจนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมาก สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศดังที่ผมได้ยกตัวอย่างมา ซึ่งเราควรไปศึกษาหาความจริงกัน ไม่หลงเชื่อไปกับการโฆษณา

ความจริงก็คือเทคโนโลยีนี้ยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้อย่างแท้จริง เพราะถ้าหากเทคโนโลยีดังกล่าวดีและทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนทำให้เกิด grid parity ได้อย่างที่โฆษณาไว้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็คงจะรีบเร่งนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในประเทศของตนเองอย่างแน่นอน เพราะถ้าเป็นของดีในราคาประหยัดย่อมเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ไม่ต้องโหมโฆษณาให้เอิกเกริก แต่ในขณะนี้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะปัจจุบันระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบ on-grid ยังคงก่อปัญหาที่ทำให้คนบางกลุ่มเกิดความเดือดร้อนจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาจาก solar rooftop ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมาก ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา อยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีการโหมโฆษณาจากผู้ที่ต้องการขายเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวมถึงนักวิชาการบางคนเสนอให้ผู้บริหารด้านพลังงานของประเทศสนับสนุนให้ประเทศไทยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก หากภาครัฐต้องการสนองตอบภาคประชาชนที่ต้องการติดตั้ง solar rooftop และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้คนใช้ไฟฟ้าที่ไม่สามารถติดตั้งได้ (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตามดังกล่าวมาข้างต้น) ซึ่งคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเพื่อมาอุดหนุนผู้ที่ติดตั้ง solar rooftop ที่จะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต

ผมจึงขอเสนอให้มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นระบบ off-grid ที่มีการผลิตไฟฟ้าอิสระแยกออกไปจากระบบ grid คือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์และอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าที่มีการโฆษณาว่ามีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยออกแบบให้แผงโซลาร์มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับการผลิตไฟฟ้าที่สามารถใช้กับครัวเรือนต่างๆ ร่วมกับแบตเตอรี่สำรอง (backup battery storage) ที่สามารถเก็บไฟฟ้าที่สามารถนำเอาไฟฟ้าที่เก็บไว้ไปใช้ในยามที่ไม่มีแสงอาทิตย์ (อาจทำในลักษณะที่เป็น microgrid) ทั้งนี้เนื่องจากมีการออกข่าวมาเป็นระยะๆ ว่าแบตเตอรี่สำรองก็ได้มีการพัฒนาจนมีราคาถูกลงเรื่อยๆ แถมมีประสิทธิภาพการกักเก็บไฟฟ้าได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

เหตุที่ผมเสนอให้ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ระบบการผลิตไฟฟ้าที่เป็น off-grid นี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เองและเพียงพอกับความต้องการใช้ในแต่ละครัวเรือนได้ตลอด 24 ชั่วโมงใน 1 วัน โดยไม่ต้องไปพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบ grid (หรือหากจะพึ่งพาก็ต้องไม่มากจนเป็นภาระของการผลิตไฟฟ้าในระบบ grid) ซึ่งถ้าหากทำเช่นนั้นได้จริง เราก็น่าจะได้ระบบการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบ off-grid ที่สามารถนำไปสู่จุด grid parity ที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนเท่ากับไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก grid ได้โดยไม่ต้องสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นในระบบ grid และเมื่อถึงตอนนั้นประชาชนทั่วๆ ไปก็คงหันมานิยมชมชอบกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแบบนี้ เพราะคงจะไม่มีใครปฏิเสธระบบผลิตไฟฟ้าที่ดีและประหยัดที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เองอย่างยั่งยืน

ในท้ายที่สุดนี้ ผมขอแนะนำท่านผู้อ่านได้โปรดดูคลิปวิดีโอที่อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ถึงผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีมากจนเกินความพอดีซึ่งกำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศ เรื่อง Can We Rely on Wind and Solar Energy? 6

อ้างอิง

1 ใครได้-ใครเสียจากการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น ตอนที่ 1 โดย ดร.ภิญโญ มีชำนะ, THAIPUBLICA, 2 กันยายน 2562

2 “สงครามแดด” รัฐแคลิฟอร์เนีย, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, July 6, 2017

3 If Solar and Wind Are So cheap, Why Are they Making Electricity So Expensive? by Michael Shellenberger, Forbes April 23, 201

4 Call to prevent power cuts in poorest German households, The LOCAL de,May 14, 2019

5 The rise of energy poverty in Australia, KPMG, December 2017

6
Video Clip: Can We Rely on Wind and Solar Energy?, Prager University.