ThaiPublica > คอลัมน์ > โรคกลัวตกขบวน 5G

โรคกลัวตกขบวน 5G

24 ตุลาคม 2019


ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/5G

ภาวะกลัวตกกระแสสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้หลายคนหมกมุ่นกับการเช็กข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ตลอดเวลา จนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เรียกกันว่า FOMO – Fear of missing out ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงออกและความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง

ตอนนี้ ในระดับประเทศก็มีภาวะที่คล้ายคลึงกัน แต่เป็นภาวะกลัวตกกระแส ทำให้พยายามกระพือข่าวให้รีบเร่งประมูล 5G ทั้งที่ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่า เราพร้อมมีบริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้วหรือยัง ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่า เราต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไปสู่ยุค 5G การเปลี่ยนผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก 2G มาสู่ 3G 4G และ 5G ตามลำดับเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ช่วงทองของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละยุคอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ก่อนที่จะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในอีก 10 ปีต่อมา จนเลิกผลิตอุปกรณ์ที่ล้าสมัยในที่สุด จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ก้าวสู่ 5G

แต่ 5G เพิ่งเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในโลกเมื่อกลางปีนี้เอง เทคโนโลยีและอุปกรณ์ใช้งานยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ประเทศที่เปิดบริการในปี 2562 และ 2563 จัดว่าเป็นประเทศลำดับแรกๆ (Early adoption) แต่การเปิดบริการในปี 2564 หรือ 2565 ก็ไม่ได้ถูกจัดว่าเปิดบริการช้า และไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศตามที่มีการให้ข่าว เพราะในปัจจุบัน บริการ 5G ที่เปิดให้บริการในประเทศต่างๆ ยังมุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคทั่วไป (Consumer based) ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ (Enterprise based) แม้แต่ในเกาหลีใต้ซึ่งเปิดบริการเป็นประเทศแรกในโลก

5G จะสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ก้าวกระโดดสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างแท้จริง แต่ไม่ใช่ใน 2 ปีนี้ จากการสำรวจผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลก คาดการณ์ว่า ในระยะเริ่มแรก บริการหลักที่สร้างรายได้ของ 5G จะเกิดจาก “บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” ร้อยละ 74 “บริการอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” ร้อยละ 21 และ “บริการสื่อสารความหน่วงต่ำ” เพียงร้อยละ 5 ดังนั้นโมเดลธุรกิจของ 5G ในช่วงแรกคือการให้บริการ Immersive content เช่น AR VR และ Time slice broadcasting บริการนี้จึงเป็น Cash cow ของ 5G ระยะแรก

ส่วนการใช้ 5G ในอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ เริ่มมีการใช้ในการควบคุมทางไกลกับหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร บริการสื่อสารความหน่วงต่ำนี้จึงเป็น Rising star ของ 5G แต่การพัฒนาบริการนี้ต้องอยู่บนฐานความร่วมมือกับอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่างจากการเสนอขายบริการการสื่อสารสำเร็จรูปแบบดั้งเดิม และในส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งก็ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและการกำหนดมาตรฐานในระดับโลกของแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์อัจฉริยะ หรืออากาศยานไร้คนขับ คงใช้เวลาอีกระยะกว่าจะเห็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์

ดังนั้น การจัดสรรคลื่นความถี่จึงไม่ใช่คอขวดที่แท้จริงของการก้าวสู่ 5G แต่เป็นตัวอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและ use case ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้รัฐอยู่เฉยๆ รอให้ 5G สุกงอมเอง เพราะอย่างที่ยอมรับกันแล้วว่า 5G ต้องอยู่บนฐานความร่วมมือ รัฐจึงต้องมีภาระในการสร้างให้เกิดความร่วมมือ

ในมาเลเซียมีการจัดตั้ง 5G Taskforce โดยเชิญทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ ผู้ให้บริการ ผู้ผลิตอุปกรณ์และโครงข่าย สมาคมธุรกิจต่างๆ นักวิชาการ รวมถึงภาคประชาสังคม รวม 61 องค์กร กว่าหนึ่งร้อยคนร่วมอยู่ในหน่วยเฉพาะกิจนี้ และยังแบ่งเป็น 4 คณะทำงาน ได้แก่ ด้านกรณีตัวอย่างทางธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการบริหารคลื่นความถี่ และด้านการกำกับดูแล เพื่อเตรียมการอย่างรอบด้านให้ 5G ประสบความสำเร็จต่อประเทศอย่างแท้จริง การขับเคลื่อน 5G จึงมีจิ๊กซอว์มากกว่าแค่คลื่นความถี่

อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ ก็ต้องมีการเตรียมการให้พร้อม เพราะคลื่นความถี่บางย่านถูกใช้งานอยู่ก่อน การเรียกคืน-การย้ายย่านความถี่ของบริการเดิมจึงต้องใช้เวลา เช่น ย่าน 700 MHz ถูกใช้งานโดยโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ย่าน 2.6 GHz ถูกใช้งานโดยกิจการสื่อสารของกองทัพ ย่าน 3.5 GHz ถูกใช้งานโดยโทรทัศน์ดาวเทียม เป็นต้น ซึ่งการเตรียมคลื่นความถี่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีในแต่ละย่าน หากจะเริ่มประมูลคลื่นความถี่จึงต้องเตรียมการล่วงหน้า 1-2 ปี ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายคลึงกันทั่วโลก หากเราเตรียมการบริหารคลื่นความถี่ได้ดี การจัดสรรคลื่นจะลงตัวกับพัฒนาการเชิงพาณิชย์ของ 5G อย่างพอดี

การเปิดบริการ 5G ที่เร็วไปไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใด ยกเว้นผู้ขายอุปกรณ์และโครงข่าย ที่กระพือข่าว 5G อย่างต่อเนื่องเพื่อยอดขายของตน แต่สำหรับค่ายมือถือ หากอุปกรณ์ใช้งานยังมีไม่มาก Immersive content ยังไม่เพียงพอ การลงทุน 5G คือการก่อหนี้ทันที แต่ต้องรอรายได้ในอนาคต ต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่มีอุปกรณ์พร้อมและมีความต้องการใช้งานรออยู่ ทำให้สร้างผลตอบแทนได้ตั้งแต่ปีแรกของการเปิดบริการ

การแก้ปัญหาความไม่พร้อมของ 5G ด้วยการประกาศลดราคาคลื่นความถี่ไม่ใช่ทางออกที่ดีของประเทศ แน่นอนว่าราคาคลื่นความถี่ที่แพงไปย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม แต่ในทางกลับกัน ราคาที่ต่ำไปก็ส่งผลต่อประโยชน์ของรัฐ การกำหนดราคาคลื่นความถี่จึงต้องอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่การลดราคาเพื่อให้ค่ายมือถือรับคลื่นความถี่ไปแบกไว้โดยไม่ก่อรายได้ เพราะนั่นไม่ต่างจากการขายคลื่นความถี่ราคาถูกเพื่อให้มีการกักตุนคลื่นเพื่อกีดกันผู้ประกอบการหน้าใหม่

ผู้ประกอบการรายใหม่มีโอกาสเกิดยากมากอยู่แล้ว เพราะทิศทางบริการ 5G ในปัจจุบันจะเป็นการผสานการใช้งานโครงข่าย 4G ด้วย ไม่ใช่โครงข่ายเฉพาะของ 5G ต่างหาก (5G Non-standalone) และการสื่อสารด้วยเสียงผ่าน 5G (Vo5G) จะมีอุปสรรคในการสื่อสารกับโครงข่าย 2/3G แต่มีปัญหาน้อยกับโครงข่าย 4G ดังนั้น ผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่าย 4G อยู่ก่อนจะแข่งขันได้ยาก

เราจึงไม่ควรตกอยู่ภายใต้ภาวะ FOMO จนทำให้ 5G คลอดก่อนกำหนดหรือท้องไม่พร้อม แต่ต้องเตรียมความพร้อมให้เกิด 5G ที่ก่อประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง