ThaiPublica > เกาะกระแส > ความโกลาหลหลังประมูลคลื่นมือถือเรื่องที่ผู้บริโภคต้องรับมือ

ความโกลาหลหลังประมูลคลื่นมือถือเรื่องที่ผู้บริโภคต้องรับมือ

14 มีนาคม 2016


ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ปัญหาที่มีการกล่าวขานกันมากในวงการโทรศัพท์มือถือในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ผู้ชนะการประมูลจะจ่ายเงินประมูลหรือไม่ ถ้าไม่จ่ายแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าจ่ายแล้วซิมจะดับหรือไม่ รวมถึงปัญหาการย้ายค่าย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น

เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันคือ ปัจจุบันยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาในการจ่ายเงิน จึงยังไม่มีผู้ชนะการประมูลรายใดสิ้นสิทธิในการรับใบอนุญาต ในขณะนี้มีข่าวว่า ผู้ชนะการประมูลยังคงพยายามหาทางจ่ายเงินอยู่ จึงยังต้องเปิดโอกาสจนวินาทีสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม หากถึงที่สุดไม่มีการชำระเงิน เท่ากับเป็นการสละสิทธิในการรับใบอนุญาต หากจัดประมูลใหม่จึงไม่สามารถเข้าร่วมประมูลเพื่อขอรับใบอนุญาตเดิมได้อีก และต้องถูกริบเงินที่วางเป็นหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาท ตลอดจนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดประมูล และหากราคาชนะประมูลครั้งใหม่ต่ำกว่าเดิม ก็จะมีการฟ้องร้องให้รับผิดชอบส่วนต่างนั้น เพื่อปกป้องประโยชน์ของรัฐมิให้เสียหาย ส่วนการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลครั้งใหม่ ต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ชนะการประมูลที่มาชำระเงินแล้วด้วย เพราะหากราคาชนะการประมูลรอบใหม่ต่ำลงมาก ก็เสมือนเป็นการลงโทษผู้ที่ทำตามกติกา เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนที่สูงกว่าจากการที่คนอื่นไม่ทำตามกติกา ดังนั้นระดับราคาที่สมเหตุสมผลคือระดับราคาที่ผู้เข้าร่วมประมูลเดิมทุกรายยังยินยอมเสนอราคาในการประมูลที่ผ่านมา นั่นคือระดับราคาไม่ต่ำกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทเศษ

ส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการใบอื่นของกลุ่มบริษัทในเครือ ก็ต้องพิจารณาจากคุณสมบัติการเป็นผู้รับใบอนุญาตและการปฏิบัติตามกฎหมายและตามเงื่อนไขใบอนุญาต ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครอง หากไม่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดกฎหมาย ก็อาจไม่สามารถเพิกถอนใบอนุญาตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลได้ ซึ่งองค์กรกำกับดูแลคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อน หากยืนยันจะเพิกถอนใบอนุญาต

ประเด็นต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจ ปัจจุบันชัดเจนแล้วว่า ผู้ชนะการประมูลรายหนึ่งได้ชำระเงินและวางหนังสือค้ำประกันแล้ว ดังนั้น เมื่อ กสทช. ออกใบอนุญาตให้กับผู้ที่มาชำระเงินแล้ว ซิมระบบ 2G เดิมบนคลื่นความถี่ 900 MHz จึงต้องหยุดบริการ ผู้บริโภคที่ยังใช้ซิมนี้อยู่ หากต้องการใช้งานต่อ จะต้องย้ายค่ายก่อนที่ซิมดับ มิเช่นนั้น เบอร์มือถือที่ใช้งาน ก็จะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อซิมใหม่ และใช้เบอร์ใหม่เท่านั้น

แต่หากจะมีการใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังใช้งานได้อยู่ ก็ต้องอาศัยความพร้อมใจของเจ้าของโครงข่ายเดิมและเจ้าของคลื่น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ผู้บริโภคจึงต้องเตรียมใจรับกับสถานการณ์ซิมดับ

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  แถลงข่าววันที่ 21 ธันวาคม 2558
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
แถลงข่าววันที่ 21 ธันวาคม 2558

ส่วนผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่เปลี่ยนเป็นระบบ 3G ของค่ายเดิม แต่ยังใช้เครื่องมือถือรุ่นเก่าซึ่งไม่รองรับระบบ 3G ที่ผ่านมายังสามารถใช้งานได้เนื่องจากผู้ให้บริการใช้วิธีการโรมมิ่งให้กลับมาใช้ระบบสองจีบนคลื่นความถี่ 900 MHz ทำให้เกิดสถานการณ์ย้ายค่ายแต่ไม่ย้ายคลื่น ซึ่งเมื่อบริการ 2G บนคลื่นเดิมหยุดให้บริการ กลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้ให้บริการจึงมีข้อเสนอแจกเครื่อง 3G ฟรี เพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ผู้บริโภคอีกหลายล้านคนก็ยังไม่ได้ติดต่อรับเครื่องใหม่ จนในที่สุดผู้ให้บริการหาทางออกโดยการทำความตกลงไปใช้งานโรมมิ่งระบบ 2G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ของค่ายพันธมิตร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนคลื่นที่ใช้โรมมิ่งก็อาจเกิดปัญหาการใช้งานได้ อาทิเช่น ในช่วงเปลี่ยนคลื่นความถี่จะเกิดการสะดุดของการใช้งาน หรือกรณีพื้นที่มีสัญญาคลื่นใหม่อ่อนกว่าสัญญาณคลื่นเดิมก็ทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง รวมถึงปัญหาโทรไม่ออกสายหลุด หากมีการใช้งานพร้อมกันมากกว่าความจุของการโรมมิ่ง

สุดท้ายคือปัญหาการย้ายค่าย ซึ่งต้องยอมรับว่า ค่ายมือถือส่วนใหญ่ต่างหวงลูกค้า จึงมักจะหาทางไม่ให้เกิดการย้ายค่าย การย้ายค่ายปริมาณมากๆ ครั้งแรกในประเทศไทย เกิดในช่วงหลังการประมูล 3G โดยมีการแจ้งลูกค้า 2G ให้อัพเกรดเทคโนโลยีเป็น 3G แต่ในทางปฏิบัติคือการย้ายค่ายจากบริการในระบบสัมปทาน 2G ไปยังบริการของบริษัทในเครือที่ได้รับใบอนุญาต 3G ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้คือได้ใช้บริการคุณภาพสูงขึ้น ประโยชน์ที่ค่ายมือถือได้คือลดภาระในการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐตามสัญญาสัมปทาน ทำให้รายจ่ายลดลงมากกว่าร้อยละ 20 ทันที แต่ก็มีข้อทักท้วงจากรัฐวิสาหกิจคู่สัญญาสัมปทานว่า มีการย้ายค่ายโดยผิดกฎหมายและส่งเรื่องให้ สตง.ตรวจสอบ เนื่องจากกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ

ในครั้งนั้น การย้ายค่ายที่ผิดกฎหมายคือการย้ายค่ายโดยผู้บริโภคไม่ยินยอมหรือไม่รับรู้ ซึ่งผิดอย่างชัดเจน ในต่างประเทศเรียกพฤติการณ์แอบเปลี่ยนผู้ให้บริการว่า Slamming ซึ่งอาจใช้วิธีการ Mis-selling คือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น อยากอัพเกรดเทคโนโลยีโดยไม่รู้ว่ากำลังถูกย้ายค่าย กับอีกกรณีคือผู้บริโภคประสงค์จะย้าย แต่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เช่น ไม่มีการแสดงเจตนาและไม่ได้ให้ข้อมูลพร้อมหลักฐานกับค่ายมือถือใหม่ เพียงการตอบรับ SMS ก็ย้ายค่ายสำเร็จแล้ว โดยที่ค่ายมือถือแอบโอนข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างกันเอง ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บหลักฐานการขอย้าย ทำให้แยกได้ยากว่าเป็นการแอบย้ายโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัวหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกา FCC มีบทลงโทษการ Slamming โดยหากผู้บริโภครู้ว่าถูก Slam ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ 30 วันแรกให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ และได้รับการโอนบริการกลับไปยังผู้ให้บริการเดิม แต่หากชำระค่าบริการไปแล้วจำนวนเท่าใด ผู้ให้บริการรายใหม่จะต้องส่งเงินทั้งหมดนั้นให้กับผู้ให้บริการรายเดิม แล้วยังต้องชำระค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคอีกต่างหากในอัตราร้อยละ 50

แต่ปัญหาการย้ายค่ายในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการดึงดูดลูกค้าข้ามค่ายด้วยโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ประกอบกับมีการเปิดย้ายค่ายในร้านสะดวกซื้อ กรณีผู้บริโภคแจ้งขอย้ายเองย่อมไม่ใช่การ Slamming หรือการขโมยลูกค้า แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่กระบวนการย้ายในร้านสะดวกซื้อ ว่าครบขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ คือ ต้องมีใบคำขอย้ายและมีการลงลายมือชื่อ ซึ่งสองขั้นตอนนี้จะใช้กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาทดแทนการเขียนและการเซ็นชื่อบนกระดาษก็ได้ แต่ไม่ใช่การลดขั้นตอนคือไม่มีใบคำขอหรือไม่มีลายเซ็นใดๆ เลย ค่ายอื่นจึงร้องขอให้ตรวจสอบความถูกต้อง จนลามไปถึงการไม่ดำเนินการย้ายค่ายให้ตามความประสงค์ของผู้บริโภค จึงเกิดปัญหาการย้ายค่ายไม่สำเร็จสะสมหลักแสนราย และเนื่องจากฐานข้อมูลการย้ายค่ายไม่มีการระบุว่าเป็นการย้ายตามช่องทางปกติ หรือย้ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ทำให้ปัญหาบานปลายกระทบผู้ขอย้ายค่ายทุกช่องทาง ค่ายมือถือจึงต้องเร่งปรับปรุงการย้ายค่ายให้ถูกกฎหมาย และแยกแยะกลุ่มผู้ขอย้ายค่ายว่าเป็นผู้ขอย้ายตามปกติหรือไม่ และหากเป็นผู้ขอย้ายค่ายที่ซิมกำลังจะดับ ก็ควรเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว