ThaiPublica > เกาะกระแส > วิเคราะห์ 5 ปัญหาโชห่วยไทย มีจำนวนมากแต่เปราะบาง ขาดผู้สืบทอด แล้วทำอย่างไรไม่ให้โดนเท!

วิเคราะห์ 5 ปัญหาโชห่วยไทย มีจำนวนมากแต่เปราะบาง ขาดผู้สืบทอด แล้วทำอย่างไรไม่ให้โดนเท!

31 ตุลาคม 2019


ส่วนวิเคราะห์อุปทาน ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ธุรกิจร้านขายของชำไทย ในรายงาน โชห่วยไทย ทำอย่างไรไม่ให้โดนเท

เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ร้านขายของชำในชุมชน หรือ โชห่วย ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก เพราะไม่อาจทัดทานการแข่งขันที่รุนแรงจากธุรกิจ Modern Trade ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น และขยายสาขาครอบคลุมในทุกพื้นที่ แต่จากข้อมูลทางสถิติกลับพบว่า ภาพรวมโชห่วยยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และมียอดขายเติบโตขึ้นด้วย

โครงสร้างธุรกิจค้าปลีก โชห่วยไทยมีมากแต่เปราะบาง

จำนวนร้านค้ามากที่สุด แต่มีการขยายตัวต่ำสุด ในปี 2017 ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) มีจำนวนกว่า 4.1 แสนร้านค้าทั่วประเทศ โดยธุรกิจขายของชำหรือโชห่วยคิดเป็น 97% ขณะที่ร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ท ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของโชห่วย มีจำนวนเพียง 18,153 แห่ง น้อยกว่าโชห่วยถึง 20 เท่า แต่ในระยะหลัง จำนวนสาขาเปิดใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงและสูงกว่าการขยายตัวของร้านโชห่วยมาก

ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด แต่รายได้ต่อร้านต่ำสุด การที่โชห่วยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด อย่างไรก็ตาม ฐานลูกค้าโชห่วยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านี้ ร้านค้ามีรายได้เฉลี่ยเพียง 6.3 แสนบาทต่อปี ต่ำกว่าร้านสะดวกซื้อซึ่งรายได้เฉลี่ยสูงถึง 10 ล้านบาทต่อปี

แรงงานมากที่สุด แต่ผลิตภาพต่ำสุด ธุรกิจโชห่วยมีการจ้างงานสูงถึง 9.6 แสนคน หรือคิดเป็น 79% ของธุรกิจค้าปลีก FMCG อย่างไรก็ตาม แรงงานที่กระจุกตัวอยู่มากกลับมีผลิตภาพต่ำและมีแนวโน้มสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจลดลง สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจโชห่วยบางส่วนไม่สามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

โชห่วยเมืองใหญ่แข่งขันรุนแรง โชห่วยภาคเหนือยังพออยู่ได้ โชห่วย และ Modern Trade มักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองและเมืองท่องเที่ยว ในปี 2017 จังหวัดที่มีร้านค้ากระจุกตัวอยู่หนาแน่นมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล ภูเก็ต และชลบุรี การกระจุกตัวของร้านค้าก่อให้เกิดสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่โชห่วยมีกำไรขั้นต้น หรือ Gross Margin ลดลง โดยในปี 2017 Margin หดตัวสูงถึง 64% (เมื่อเทียบกับปี 2013) สวนทางกับ Margin ของธุรกิจ Modern Trade ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้โชห่วยในพื้นที่ดังกล่าวทยอยปิดตัวลง จนในปี 2018 เห็นการปิดตัวในสัดส่วนที่สูงกว่าการเปิดกิจการ

อย่างไรก็ดี กลับพบว่า ธุรกิจโชห่วยในภาคเหนือยังมีกำไรที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากข้อจำกัดของภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบแคบสลับภูเขา ทำให้ร้านค้าปลีกในท้องถิ่นและสาขา Modern Trade ขนาดใหญ่ มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ โดยในพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตรของภาคเหนือมีร้านค้ากระจุกตัวอยู่เพียง 466 ร้าน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2 เท่า สะท้อนว่า การแข่งขันระหว่างร้านค้าปลีกทั้งโชห่วยและ Modern Trade ในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่รุนแรงนัก

โชห่วยไทยใครโดนเท?

แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจโชห่วยยังคงมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด แต่ผู้เล่นเดิมก็ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนแรงงานในธุรกิจโชห่วยที่มีแนวโน้มลดลง โดยนอกเหนือจากการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งโชห่วยทั่วโลกล้วนเผชิญปัญหานี้ร่วมกัน แต่โชห่วยในไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างร่วมด้วย ซึ่งข้อมูลการจ้างงาน ชี้ให้เห็นว่า แรงงานที่ลดลงกระจุกตัวในกลุ่ม Self-employed ซึ่ง 50%เป็นผู้ประกอบการที่อายุมากกว่า 50 ปี และไม่มีลูกจ้าง

โครงสร้างของโชห่วยที่ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการที่มีอายุมาก นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน

1. ธุรกิจขาดผู้สืบทอด

ผลสำรวจ SMEs ของ ธปท. พบว่า ปัญหาขาดผู้สืบทอดเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของธุรกิจโชห่วย โดย 15% ของผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาดังกล่าว กำลังพิจารณาปิดกิจการ เพราะธุรกิจอยู่ในช่วงซบเซา เจ้าของมีอายุมาก และทายาทหันไปประกอบธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากการดำเนินงานของโชห่วยไม่หวือหวา-ซับซ้อน ฐานลูกค้าหลัก คือ คนในท้องถิ่นที่คุ้นเคย จึงเป็นธุรกิจที่ไม่ดึงดูดหรือเตะตาผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่ส่วนใหญ่มองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง

2. ความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อย

การที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคนและวัยชรา ทำให้ความยืดหยุ่นในการเปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่มีไม่มากนัก ดังนั้น ร้านโชห่วยจำนวนมากจึงยังคงดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยเน้นรักษาฐานลูกค้า และอาศัยจุดเด่นของธุรกิจที่ Modern Trade ทำไม่ได้ เช่น การแบ่งขายสินค้า หรือระบบการขายเชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจ Modern Trade มีการเสนอขายสินค้าและบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้จุดแข็งของร้านโชห่วยมีแรงดึงดูดลดลงสอดคล้องกับ ผลสำรวจ SMEs ที่พบว่า ร้านค้าโชห่วยส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันทำให้ 80% สูญเสียฐานลูกค้าให้แก่ธุรกิจ Modern Trade ที่ขยายสาขาเข้ามาในพื้นที่

โชห่วยไทยใครมีเฮ?

โชห่วยพรีเมี่ยม คือ โชห่วยที่ปรับตัวได้

แม้ว่าจะมีธุรกิจที่ปิดตัวลง แต่ก็ยังคงมีร้านโชห่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถยืนหยัดอยู่ท่ามกลางการแข่งขันและความท้าทายจากรอบด้าน โดยภาพที่ 5 ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจโชห่วยที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสามารถปรับตัวได้ มียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยส่งเสริมการเติบโตมาจากการพัฒนาธุรกิจให้กลายเป็น โชห่วยพรีเมี่ยม ซึ่งกลยุทธ์การปรับตัวของร้านค้าเหล่านี้ คือ การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการให้ทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิม อาทิ

  • การเก็บข้อมูล เลือกสินค้าและมีบริการที่ตรงใจคนซื้อ
  • โดยทั่วไป โชห่วยมักขายสินค้าที่ผู้ประกอบการคิดว่าน่าจะขายได้ และสร้าง Margin สูง แต่ในความเป็นจริงรายได้หลักของร้านค้า มาจากการขายสินค้าและมีบริการที่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ ดังนั้น การที่โชห่วยหันมาสังเกตกลุ่มลูกค้าหลัก และมีการเก็บข้อมูลการซื้อ-ขายแล้วประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยดึงดูดลูกค้าและทำให้ยอดขายเติบโตได้

  • จัดระเบียบ แบ่งหมวดหมู่ ให้สะดุดตา
  • หน้าร้านที่สะอาด มีระเบียบ และสินค้าวางอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ส่งผลและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค สำหรับร้านโชห่วยซึ่งมีพื้นที่แสดงสินค้าจำกัด ควรวางขายสินค้าขายดีหรือออกใหม่ในตำแหน่งที่โดดเด่นและมองเห็นง่าย ขณะที่สินค้าที่ใช้คู่กัน เช่น แปรงและยาสีฟัน ควรจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กัน นอกจากนี้ สินค้าหมวดขนมลูกอมหรือของเล่น (Impulse products) ควรเลือกวางในจุดที่หยิบฉวยได้ง่าย เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ยอดขายในแต่ละใบเสร็จให้มีมูลค่าสูงขึ้น

  • ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
  • ร้านโชห่วยส่วนใหญ่มักประเมินศักยภาพของธุรกิจจากยอดขายในแต่ละวัน ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่สะท้อนศักยภาพ ต้นทุนและกำไรที่แท้จริง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน พบว่าร้านค้าบางส่วนเริ่มหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การบันทึกรายรับ-รายจ่าย ด้วยโปรแกรม Microsoft การใช้ Software สำเร็จรูป เพื่อวางแผนและบริหารคลังสินค้า รวมถึงการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายและทันสมัย เช่น QR Payment การจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิท-เครดิต โดยผลสัมฤทธ์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลให้ร้านโชห่วยสามารถลดต้นทุนจมและส่วนรั่วไหล เนื่องจากระบบบริหารจัดการและการวางแผนธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นอกจากนี้ การปรับตัวยังส่งผลให้ โชห่วยพรีเมี่ยม ได้รับประโยชน์จากโครงการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นของภาครัฐ เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำให้โชห่วยมียอดขายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผลการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาค ชี้ว่า อานิสงค์ของโครงการกระจุกตัวในธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีการติดตั้ง Internet เพื่อรองรับการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC หรือธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับยอดขายเฉลี่ยของร้านโชห่วยที่จดทะเบียน VAT ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 60% นับตั้งแต่การเริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในไตรมาส 4/2017

    บทสรุป

    โชห่วยมีความสำคัญในแง่ของขนาด แต่มีความเปราะบางเชิงโครงสร้าง โดย 50% ของร้านค้าขับเคลื่อนโดยผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่ยึดติดกับการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมส่งผลให้โชห่วย โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมือง สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ Modern Trade ไม่เพียงเท่านี้ ปัญหาขาดผู้สืบทอดถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งที่ทำให้โชห่วยจำนวนมากทยอยปิดตัวลง

    คาดว่าความท้าทายของธุรกิจโชห่วยจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการโชห่วยอีก 29% ที่กำลังก้าวเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัย ไม่ปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ร้านค้าท้องถิ่นยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากธุรกิจ Modern Trade ที่เริ่มหันมาขยายสาขาขนาดย่อม ไปในพื้นที่จังหวัดเมืองรอง เนื่องจากความอิ่นตัวของตลาดในพื้นที่เมืองใหญ่ โดยประชาการ 1 ล้านคนในกรุงเทพและปริมณฑล มีร้านค้า Modern Trade ให้เลือกใช้บริการสูงถึง 705 สาขา ซึ่งใกล้เคียงกับในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัว

    เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ ผู้ประกอบการโชห่วยจำเป็นต้องหันมาปฏิวัติธุรกิจสู่การเป็นโชห่วยพรีเมี่ยมโดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้ทันสมัย และใช้เอกลักษณ์ของธุรกิจในการดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าให้มั่นคง