ThaiPublica > สู่อาเซียน > ไทย-กัมพูชา คู่แรก ก.ล.ต.อาเซียน เปิดประตูรับ Cross-Border Offering หุ้น-Depository Receipt

ไทย-กัมพูชา คู่แรก ก.ล.ต.อาเซียน เปิดประตูรับ Cross-Border Offering หุ้น-Depository Receipt

17 กันยายน 2019


นาย Sou Socheat (ซ้าย) เลขาธิการก.ล.ต.กัมพูชา และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล (ขวา) เลขาธิการ ก.ล.ต.ไทยร่วมลงนามใน MoU โดยนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ (กลาง) ประธานกรรมการ ก.ล.ต.ไทย เป็นประธานในพิธี

วันนี้ (17 กันยายน 2562) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไทย โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.ไทย และนาย Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชา ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเสนอขายหุ้นและการออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Memorandum of Understanding concerning cooperation and Exchange of Information on Cross-Border Equity offering and the issuance of Depository Receipt)

นาย Sou Socheat กล่าวว่า การลงนามใน MoU ฉบับนี้ ครอบคลุมแนวทางการออกและเสนอขายตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชาร่วมกัน ถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองประเทศที่ได้วางรากฐานการเข้าถึงตลาดทุน เพิ่มสภาพคล่องของตลาด และขยายกลุ่มนักลงทุนในวงกว้างมากขึ้น

“ผมเชื่อว่า การลงนามใน MoU ของทั้งไทยและกัมพูชาในวันนี้ จะเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างตลาดทุนและสร้างแรงกระตุ้นให้กับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้ร่วมมือกันมากขึ้น” นาย Sou Socheat กล่าว

“สิ่งที่ต้องการจะย้ำคือ การลงนามใน MoU ครั้งนี้เป็นสัญญาณว่าทั้งสองประเทศจะเติบโตไปด้วยกัน เป็นความร่วมมือกันอย่างแท้จริง อีกทั้งการลงนามใน MoU ฉบับนี้จะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอาเซียนรายอื่นๆ และเราเองต้องการที่จะแสดงให้ประเทศอาเซียนอื่นได้เห็น ว่าผู้กำกับดูแลต้องเปิดทางเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า เราเป็นผู้กำกับดูแล หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ต้องร่วมมือกันแก้ไข”

นาย Sou Socheat กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นการเปิดประตูให้บริษัทจดทะเบียนทั้งสองประเทศ การดำเนินการจากผู้กำกับดูแล ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจทั้งกัมพูชาและไทยให้ขยายได้มากขึ้น และคาดว่าจะได้เห็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ในทั้งสองประเทศ ที่สำคัญผู้กำกับดูแลต้องเปิดทาง ขจัดหรือลดอุปสรรคเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำเสนอได้ง่ายที่สุด

สำหรับการจดทะเบียนแบบ dual-listing ของบริษัทจดทะเบียนไทยและกัมพูชาคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ เท่าที่ได้รับข้อมูลจากตลาด บริษัทจดทะเบียนกัมพูชามีความสนใจที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ซึ่งคงจะได้เห็นข่าวดีในเร็วๆ นี้ ดังนันหลังจากการลงนามใน MoU วันนี้ทั้งสองประเทศจะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน เรื่อง secondary-listing ซึ่งจะทำให้บริษัทจดทะเบียนกัมพูชามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ด้วย

ส่วนการเสนอขาย DR นั้นจะได้มีการกำหนดคุณสมบัติร่วมกันหลังจากการลงนามใน MoU วันนี้ ก.ล.ต.ไทย และ ก.ล.ต.กัมพูชาก็จะหารือร่วมกันต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแนวทางร่วมกัน บริษัทจดทะเบียนกัมพูชาสามารถเสนอขาย DR ในประเทศไทย และเช่นเดียวกันกับบริษัทจดทะเบียนไทยที่จะไปเสนอ DR ในกัมพูชา แต่ DR นี้ก็ต้องเหมือนกันเพื่อให้สามารถซื้อขายกันได้

  • “Sou Socheat” เลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชา ผู้บริหารตลาดทุนรุ่นใหม่ มองไกล-เรียนลัดแต่ขอโตอย่างมั่นคง

     

    นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เปิดเผยว่า การลงในบันทึกความเข้าใจกับสำนักงาน ก.ล.ต.กัมพูชานี้เป็นฉบับที่ 2 เป็นการขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นจากที่ได้ลงนามฉบับแรกไปในปี 2014 ที่เน้นไปในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย เสริมสร้างศักยภาพ ได้รับความร่วมมือที่ดีมาตลอดจาก ก.ล.ต.กัมพูชา

    นางสาวรื่นวดีกล่าวถึงความเป็นมาของการลงนามใน MoU ฉบับนี้ว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเรื่อง DR ได้มีการหยิบยกมาหารือนานแล้ว แต่ยังไม่เกิดผล ได้มีโอกาสพูดคุยกับเลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชาในช่วงที่มารับตำแหน่งใหม่เดือนพฤษภาคม ในระหว่างการเข้าร่วมประชุม IOSCO ที่ออสเตรเลีย”

    ในการหารือครั้งนั้นได้นำเสนอว่าไทยกับกัมพูชาน่าจะร่วมมือกันสร้างศักยภาพระดับหนึ่ง เพราะต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตยิ่งขึ้น ต้องการเห็นผลิตภัณฑ์สองประเทศมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ พร้อมกับสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการลงนามใน MoU เพื่อเป็นแนวทางในการนำสินค้าซึ่งกันและกัน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้มีการหารือกับ ก.ล.ต.กัมพูชามาตลอด แต่เกณฑ์ในตลาดแรกที่ ก.ล.ต.ต้องลงตัวก่อน และด้วยวิสัยทัศน์ของเลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชาก็ตอบรับในทันที

    สิ่งที่อยากเห็นคือการทำงานในลักษณะยึดการดำเนินงาน (action base) และการนำไปปฏิบัติ (implementation base) ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกที่มีโครงการให้ความร่วมมือในกรอบประเทศ CLMV เป็นเรื่องที่จะปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกัน (harmonize) และถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่วันนี้ทั้งสองประเทศมาลงนามใน MoU เพื่อผลักดันการเสนอขายหุ้นและการออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศระหว่างกันได้

    เดือนสิงหาคมได้เดินทางไปเยือนสำนักงงาน ก.ล.ต.ที่กัมพูชา เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อจากการหารือที่ออสเตรเลีย และจากการทำงานของทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถตกลงกันในวันนี้ได้ ลงนาม MoU ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะเปิดทางให้ทั้งสองประเทศไปเสนอขายแก่กันและกัน และเชื่อว่าธุรกิจในกัมพูชามีศักยภาพด้าน cross-border listing ในประเทศไทย บริษัทไทยก็มีศักยภาพที่จะไป list ในส่วนนั้น

    ทั้งสองประเทศจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเพิ่มสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต.ในฐานะที่เป็นผู้พัฒนา จะต้องทำให้เกิดความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ ปีนี้เป็นปีสำคัญที่ไทยเป็นประธานอาเซียน การลงนามใน MoU ถือว่าสำคัญประสบความสำเร็จในกรอบ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) ภายใต้กรอบ ASEAN Community Blueprint ที่จะทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอาเซียนด้วยกัน ดังนั้นในอีกไม่นานไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะมี DR ในส่วนของกัมพูชา

    การดำเนินการภายใต้กรอบ MoU ฉบับนี้ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ทั้งไทยและกัมพูชาก็ได้จัดทำกรอบแนวทางของตัวเอง ซึ่ง DR ของประเทศไทยก็มีกรอบการดำเนินการ ส่วนกัมพูชาก็จัดทำกรอบแนวทาง DR ขึ้นมาแยกกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีการทำงานระหว่างกันต่อเนื่อง

    สำหรับแนวทางการเสนอขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชามีด้วยกัน 2 ชุด ชุดแรก Cross-Border Equity Offering หุ้นจดทะเบียนที่กัมพูชาซึ่งจะเสนอขายที่ไทยและหุ้นจดทะเบียนในไทยที่จะเสนอขายในกัมพูชาได้มีการจัดทำเรียบร้อยแล้ว ส่วนชุดที่สอง The Issuance of Depository Receipt ต้องมีการทำงานร่วมกันอีก โดยไทยได้จัดทำร่างเพื่อส่งมอบให้แสดงความเห็น ทั้งหลักทรัพย์ที่จะนำมาใช้อ้างอิง (underlying securities) แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นหุ้นหรือ ดัชนี

    “การเสนอขาย DR คาดว่าน่าจะมี 1 รายภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น เพราะมีผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งในกัมพูชาและอาเซียน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นระยะยาว” นางสาวรื่นวดีกล่าว

    ดร.เบอร์กิต ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในด้านการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกันนั้นคาดว่ายังคงมีความร่วมมือระหว่างกันในระยะต่อไปกับประเทศไทย เพื่อนำแนวปฏิบัติและข้อแนะนำระดับโลกมาประยุกต์ใช้

    ทั้งนี้ธนาคารโลกได้มีการให้การสนับสนุนด้านวิชาการหน่วยงานภาครัฐทุกประเทศ ทั้งไทยและกัมพูชา กรอบกติกา กฎเกณฑ์ต่างๆ และสนับสนุนโครงการต่างๆ