ThaiPublica > เกาะกระแส > คนไทยไม่ทน (1): โรงไม้ร้อง “เสรีพิศุทธ์” สอบกรมป่าไม้ หลังจนท. โทรขู่-ขอให้กลับคำให้การ

คนไทยไม่ทน (1): โรงไม้ร้อง “เสรีพิศุทธ์” สอบกรมป่าไม้ หลังจนท. โทรขู่-ขอให้กลับคำให้การ

8 กรกฎาคม 2021


สภาพสังคมที่กดดัน บีบคั้นประชาชนมากขึ้นทุกวัน จากความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ความอยุติธรรม การคอร์รัปชัน ที่เกาะกินประเทศไทยอยู่ เมื่อกฎระเบียบกติกาของบ้านเมืองถูกละเลยด้วยผู้ปกครองที่มีอำนาจ ทำให้ผู้ซึ่งไร้อำนาจเริ่มไม่ทนอีกต่อไป ซีรีส์คนไทยไม่ทนจึงขอเปิดพื้นที่ “ไม่ทน” เพื่อสะท้อนอาการของสังคมไทย

เจ้าของโรงไม้สุดจะทน เดินหน้าร้อง “เสรีพิศุทธ์” ลุยสอบกรมป่าไม้ หลังจากถูก จนท. โทรศัพท์ขู่ – ขอให้กลับคำให้การต่อ กมธ.กฎหมาย กรณีเรียกเก็บค่าใบอนุญาตค้าไม้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

หลังจากที่ น.ส.พรทิพย์ ปานวัฒน์วาณิช เจ้าของโรงไม้ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ 6 อุดรธานี ซึ่งนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจโรงไม้ของชาวบ้านที่ประกอบกิจการค้าไม้แปรรูป โดยที่ไม่มีหมายค้น เพื่อตรวจสอบว่าผู้ประกอบการโรงไม้รายไหนไม่มีใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูป หรือใบอนุญาตค้าไม้เพื่อทำสิ่งประดิษฐ์หมดอายุ อนึ่ง การไม่มีใบอนุญาตหรือใบอนุญาตหมดอายุดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฝ่ายออกใบอนุญาต รวมไปถึงข้อจำกัดของใบอนุญาตประกอบกิจการไม้เพื่อทำสิ่งประดิษฐ์สำหรับกิจการขนาดเล็ก ใบอนุญาตประเภทนี้ไม่สามารถจำหน่ายไม้ได้ กลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการโรงไม้ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีกแผนกไปเรียกเก็บเงินกับชาวบ้านเป็นรายเดือน ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท โดยเฉพาะในช่วงไวรัสโควิดระบาด ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไร หลายรายยอมจ่าย แต่ก็มีหลายรายลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องขอความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะที่กำกับดูแลงานของกรมป่าไม้ เวลาผ่านไปเป็นเดือน ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 พร้อมมอบคลิปวิดีโอ คลิปเสียง และภาพถ่ายไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งไปให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

หลังจากนั้นปรากฏว่ามีโทรศัพท์เข้าไปข่มขู่นายประทวน สิงห์คำ ชาวบ้านอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่ไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยมีการโทรศัพท์ไปถึง 2 ครั้งภายในวันเดียวกัน นายประทวนเกรงว่าตนจะได้รับอันตรายหรือไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงเดินทางไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรโพนพิสัย สังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย โดยมี ร.ต.อ. จำเนียร ดอนหนองบัว รองสารวัตรสอบสวนฯ และ ด.ต. ชัชวาล สุวรรณเลิศ เป็นผู้รับแจ้งและลงบันทึกประจำวัน

นายประทวนแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 15.47 น. หัวหน้าโด่งได้โทรศัพท์มาหานายประทวน พูดในเชิงข่มขู่นายประทวนว่า “ให้ไปกลับคำให้การในคดีที่ผู้แจ้งไปให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ กรณีที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เรียกรับเงินจากนายประทวน”

นายประทวน สิงห์คำ ชาวบ้านอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

ต่อมา เวลาประมาณ 18.11 น.ของวันเดียวกัน มีผู้ใช้โทรศัพท์อีกเบอร์ ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด โทรมาแจ้งนายประทวนว่า “ให้ไปหาที่หน่วยกรมป่าไม้เฝ้าไร่ ถ้าไม่เข้าไปหาที่หน่วยกรมป่าไม้ หรือจะให้ไปหานายประทวนที่บ้าน” นายประทวนเกรงว่าตนจะไม่ปลอดภัยจึงไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานตามที่กล่าวข้างตน

หลังจากที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นข่าวขึ้นมา วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ก็มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 2066/2564 สั่งย้ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) เพียง 1 นาย ให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ทางคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ จึงเชิญอธิบดีกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามความคืบหน้า ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ไม่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯใดๆ มาแต่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองคาย จึงไม่ทราบว่าทางกรมป่าไม้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

  • คนไทยไม่ทน: โรงไม้ทนไม่ไหว วางพวงหรีดกรมป่าไม้ จี้สอบ จนท. เก็บค่าต่อใบอนุญาตค้าไม้เกิน กม. กำหนด
  • ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 กลุ่มชาวบ้านที่ประกอบกิจการโรงไม้ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย จึงไปยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ “กรรมาธิการ ป.ป.ช.” ขอให้เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ 6 อุดรธานี และอธิบดีกรมป่าไม้ เนื่องจากกรณีดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่จังหวัดหนองคายเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ