ThaiPublica > สู่อาเซียน > รายงานเอดีบี-โออีซีดีชี้ภาครัฐอาเซียนเดินหน้ามุ่งบริการประชาชนดีขึ้น คนไทยพอใจระบบดูแลสุขภาพ

รายงานเอดีบี-โออีซีดีชี้ภาครัฐอาเซียนเดินหน้ามุ่งบริการประชาชนดีขึ้น คนไทยพอใจระบบดูแลสุขภาพ

10 กันยายน 2019


รายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งจัดทำร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เปิดเผยว่า รัฐบาลประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างการบริหารงานและความสามารถเชิงสถาบันให้เข้มแข็ง เพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

รายงาน Government at a Glance: Southeast Asia 2019 จัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ขั้นตอนการดำเนินงาน และผลของการบริหารงานสาธารณะในภูมิภาค ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่ประเทศในอาเซียนกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการภาครัฐ ได้แก่ การสนับสนุนรัฐบาลดิจิทัล การเพิ่มความโปร่งใส และการสร้างโอกาสในการทำงานของผู้หญิงให้ดีขึ้น

รายงานครอบคลุม 34 ตัวชี้วัดจาก 10 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย บรูไน เดลูซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

“เอดีบีตระหนักว่าการสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิบัติการทุกอย่าง และเอดีบียังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาของเราในการปรับปรุงการทำหน้าที่บริหารจัดการภาครัฐต่างๆ และการเงินที่มีเสถียรภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้การบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลา ปราศจากคคอรัปชั่น และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น” นายบัง บัง ซูซานโตโน รองประธานเอดีบี ด้านการจัดการองค์ความรู้และการพัฒนาแบบยั่งยืนกล่าว

รายงานโออีซีดีเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เน้นความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถเชิงสถาบันของภาครัฐเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนและผลักดันให้เกิดสังคมที่เท่าเทียม โดยรายงานฉบับดังกล่าวได้แนะนำแนวทางการปฏิรูปภาครัฐและสนับสนุนให้รัฐบาลนำประชาชนมาเป็นศูนย์กลางเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ

7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มนำระบบยืนยันตัวตนทางดิจิตัล (digital identification) มาใช้แต่มีแค่ 2 ประเทศที่เชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างสมบูรณ์แล้วเพื่อปรับปรุงการให้บริการและให้สาธารณะเข้าถึงการบริการของภาครัฐได้ง่าย

ความโปร่งใสของงบประมาณ นับเป็นส่วนสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลรัฐบาลต่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลจัดเก็บ จัดสรร และใช้งบประมาณอย่างไร ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนทุกประเทศแผยแพร่งบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้วของตน 80% ของประเทศทั้งหมด ระบุว่าได้ผลิตและเผยแพร่วิธีงบประมาณ ซึ่งได้อธิบายวัตถุประสงค์ กระบวนการจัดทำงบประมาณ และการประเมินผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ ในภาษาที่ง่ายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ 50% ของประเทศเหล่านี้ ที่จัดทำข้อมูลเชิงเศรษฐกิจประกอบการจัดทำงบประมาณ

ทุกประเทศทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ผ่านการลงทุนร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) อย่างไรก็ตาม แค่ครึ่งหนึ่งของประเทศอาเซียนที่ทำการประเมินว่าการลงทุนแบบ PPP มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบดั่งเดิมหรือไม่ รายงานฉบับนี้แนะนำให้มีการวิเคราะห์และประเมินให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น

รายงานยังระบุอีกว่า การคลังสาธารณะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถานที่ดีขึ้น แต่มีความแตกต่าง การขาดดุลงบประมาณโดยเฉลี่ยลดลงมาที่ 1.79% ของจีดีพีในปี 2016 จาก 2.73% ในปี 2009 แม้สูงกว่า 0.19% ของปี 2007 อีกทั้งยังมีความแตกต่างของงบประมาณตั้งแต่ขาดดุลงบประมาณ 21.5% ไปจนถึงเกินดุลงบประมาณ 3.3% ในปี 2016 ขณะที่ภาระหนี้ของรัฐบาลทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความแตกต่างกัน จากที่สูงถึง 107% มาจนถึงต่ำเพียง 3% ในปี 2016 แต่ในช่วงปี 2007-2026 ภาระหนี้ของ 6 ใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น

ภาครัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนค่อนข้างเล็ก ในปี 2016 การจ้างงานภาครัฐมีสัดส่วนเฉลี่ย 15% ของการจ้างงานรวม เทียบกับ 21% ของกลุ่มโออีซีดี ส่วนรายจ่ายของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีราว 20% ของจีดีพี เทียบกับ 40.6% ของกลุ่มโออีซีดี

รายงานฉบับนี้ยังพบว่าผู้หญิงอาเซียนมีอัตราส่วนในการทำงานภาครัฐที่ดี ถึงแม้จะมีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถขึ้นถึงตำแหน่งสูงในหน่วยงานได้ ในปี 2559 เกือบครึ่ง (47%) ของตำแหน่งงานในหน่วยงานภาครัฐของประเทศอาเซียนเป็นผู้หญิง ในขณะที่สัดส่วนของประเทศโออีซีดีมีเพียง 28% แต่อัตราส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในภาครัฐเทียบกับการจ้างงานรวมในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความแตกต่างกัน โดยเวียดนามมีอัตราส่วน 49% มาเลเซีย 38% ฟิลิปปินส์ 54% แต่ในลาวมีเพียง 36%

ในด้านการเมืองอัตราส่วนผู้หญิงทำงานด้านนี้มีน้อย โดยเฉลี่ยผู้หญิงที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีมีสัดส่วนเฉลี่ย 10% ในปี 2017 เทียบกับสัดส่วน 28% ในประเทศโออีซีดี นอกจากนั้น โดยเฉลี่ยเมื่อปี 2561 ผู้หญิงในประเทศอาเซียนมีตำแหน่งในรัฐสภา 20% และเพียง 1.7 %ที่มีตำแหน่งสูงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปี 2551 กระนั้นสัดส่วนด้านนี้ของแต่ละประเทศก็ห่างกันมาก โดยในฟิลิปปินส์มีสัดส่วน 30% แต่ไทยมีเพียง 5%

เพื่อความเข้มแข็งของกรอบงบประมาณ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรที่เสริมสร้างการวางแผนการใช้จ่ายระยะปานกลาง และกระจายการเผยแพร่ข้อมูลงบประมาณให้กว้างขึ้น ความโปร่งใสของงบประมาณจะทำให้พลเมืองเข้าถึงข้อมูลได้ว่ามีการวางงบประมาณและการใช้งบประมาณอย่างไร โดยที่ 2 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางกรอบการใช้จ่ายระยะปานกลาง(Medium-Term Expenditure Frameworks:MTEF) เทียบกับ 91% ของประเทศโออีซีดี

ในอินโดนีเซีย และไทย MTEF กำหนดโดยกฎหมาย ขณะที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดไว้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หรือนโยบาย แต่ที่สำคัญ 50% ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยวิธีการจัดทำงบประมาณและสมมติฐานทางเศรษฐกิจของการประมาณการณ์งบประมาณมาสนับสนุนการตั้งงบประมาณ ขณะที่ในด้านนี้กลุ่มประเทศโออีซีดีมีสีดส่วนถึง 85%

กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวปฏิบัติการบริหารจัดการบุคคลากรแบบรวมศูนย์มากกว่ากลุ่มประเทศโออีซีดี โดยเฉลี่ยกลุ่มประเทศประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักไม่จัดสรรบุคคลากรให้กับหน่วยงานต่างๆต่างจากกลุ่มประเทศโออีซีดี แต่ทุกประเทศจะมีระบบประเมินบุคคลากร บางประเทศเชื่อมโยงการทำงานกับการจ่ายเงินเดือน โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการพลเรือนระดับอาวุโส ที่อยู่ภายใต้กรอบการจ้างงานที่ต่างกัน ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การดึงคนที่มีความสามารถจากภายนอก ในตำแหน่งอาวุโส จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะ อย่างไรก็ตามมีเพียง 2 ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการดึงบุคคลภายนอกเข้ามาทำงาน ส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งอาวุโสมักจะคัดเลือกจากภายใน

รายงานระบุว่า ทุกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มียุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล แต่จำกัดขอบเขตไว้ที่การบริการทั่วไป(เช่น การอนุญาต การออกใบอนุญาต การรับรอง) กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรที่จะขยายขอบเขตงานดิจิทัลออกไปยังส่วนอื่นในภาครัฐ กลไกการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เมื่อผนวกกับระบบออนไลน์บริการสาธารณะ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระบบยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มที่จะวางรากฐานเพื่อก้าวสู่การเป็นรัฐเปิด หรือ Open government แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่อีกมาก มีเพียง 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร(Freedom of Information Law) นอกจากนี้มี 4 ประเทศที่กำหนดอย่างเป็นทางการให้ทุกองค์กรในภาครัฐเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่เริ่ม ซึ่งครึ่งหนึ่งของรัฐบาลที่เข้าร่วมการสำรวจมีการติดตามและประเมินผลกระทบของการเป็นรัฐเปิดที่ได้เริ่มขึ้น โดยที่ความท้าทายหลักของ 5 ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ องค์กรที่ร่วมมือกันนั้นไม่มีการมอบหมายอย่างเพียงพอ

ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพึงพอใจค่อนข้างสูงกับคุณภาพของการบริการจากภาครัฐ จากการสำรวจโดย แกลลอป ในปี 2017 โดยเฉลี่ย 79% ของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพึงพอใจกับคุณภาพของระบบดูแลสุขภาพที่มีอยู่ในตัวเมืองหรือในพื้นที่ที่พักอาศัย และสูงขึ้นจาก 76% ของช่วง 10 ปีก่อนหน้า และยังสูงกว่า 71% ของกลุ่มโออีซีดี

แต่ระดับความพึงพอใจของประชาชนแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกัน โดย 93% ของประชาชนสิงคโปร์มีความพึงพอใจกับคุณภาพและการจัดให้มีระบบดูแลสุขภาพ แต่ในเวียดนามมีเพียง 62% โดยเฉลี่ยความพึงพอใจของประชาชนต่อระบบการดูลแสุขภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปี 2007-2017 ทั้งนี้ความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มมากสุดในกัมพูชา เพราะได้มีการงบประมาณเพื่่อลดต้นทุนในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่มีความเปราะบาง

สำหรับความพึงพอใจด้านระบบการศึกษาและโรงเรียนทรงตัว ขณะที่ความพึงพอใจด้านระบบยุติธรรมและศาลเพิ่มขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตามการขาดแคลนอุปกรณ์การศึกษายังคงเป็นปัญหาหลักในบางประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยประชาชนส่วนใหญ่ 87% ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอใจกับระบบการศึกษา ซึ่งสูงกว่า 68% ของกลุ่มโออีซีดี และความพอใจของประชาชนต่อระบบการศึกษาในกัมพูชาสูงสุด 90% ส่วนฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย อยู่ที่ 86% ขณะที่เวียดนามความพอใจต่ำสุด 77% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาความพอใจต่อระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นมากสุดในอินโดนีเซีย เพราะมีการปรับปรุงระบบการศึกษาเร็วสุดเป็นอันดับห้าในบรรดา 72 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการประเมินผล PISA ของโออีซีดีในปี 2012 และ 2015

คนไทยพอใจระบบดูแลสุขภาพมากขึ้น

ในส่วนของไทยรายงานระบุว่าประชาชนพอใจกับระบบการดูแลสุขภาพและระบบการศึกษาของประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 ความพึงพอใจของประชาชนไทยต่อระบบการศึกษาอยู่ที่ 86% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอาเซียนที่ 82.9% และค่าเฉลี่ยของโออีซีดี ที่ 68.4% ส่วนความพึงพอใจของประชาชนไทยต่อระบบการดูแลสุขภาพในปีเดียวกันอยู่ที่ 84% สูงเป็นอันดับสองในอาเซียน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 78.8% โดยรวมแล้วระบบการดูแลสุขภาพของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งทั้งผู้หญิงและผู้ชายลดลงในช่วง 2010 ถึง 2016

ส่วนการบริหารจัดการข้าราชการพลเรือนทำได้ดีและมีประสิทธิภาพเช่นกัน ในขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยนั้นครอบคลุม แต่ขาดแผนปฏิบัติงานร่วมกัน

ยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทยนำไปใช้กับรัฐบาลกลาง ระดับภาค และระดับท้องถิ่น และครอบคลุมพื้นที่นโยบายทั่วไป ซึ่งรวมถึงบริการสาธารณะทั่วไป การศึกษาและการปกป้องสังคม แหล่งทุนมีหลากหลาย ทั้งมาจากกระทรวงที่รับผิดชอบหลักในการประสานยุทธศาสตร์ แหล่งอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าดำเนินโครงการไหน อย่างไรก็ตามไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีกระบวนการร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการไอซีทีภาครัฐในปี 2018

แต่ไทยมีการดำเนินงานที่เข้มแข็งในการจัดการกับข้าราชการพลเรือน โดยในปี 2018 ได้คะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงานในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในระดับ 0.9 จากคะแนนเต็ม 1 สูงกว่าระดับเฉลี่ย 0.7 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับเฉลี่ย 0.65 ของกลุ่มโออีซีดี ส่วนในด้านการให้ผลตอบแทนตามผลงานได้คะแนนสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคด้วยคะแนน 0.85 สูงกว่าระดับเฉลี่ย 0.52 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับเฉลี่ย 0.66 ของกลุ่มโออีซีดี

“รายงานฉบับนี้เป็นการบูรณาการความเชี่ยวชาญของโออีซีดีในการเก็บข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลการบริหารงานภาครัฐ เข้ากับองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารงานและการจัดการภาครัฐของเอดีบีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเข้าด้วยกัน” นายมาร์คอส บงตูรี ผู้อำนวยการการบริหารงานภาครัฐของโออีซีดีกล่าว ทั้งนี้ โออีซีดีได้จัดทำรายงานคล้ายๆ กันนี้ในภูมิภาคลาติน อเมริการ และแคริเบียน อีกด้วย