ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “ทีเอ็มบี-สมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม” ร่วมสร้างความยั่งยืน “Miracle of Sound” ให้ครอบครัวเด็กประสาทหูพิการ “ได้ยินอีกครั้ง”

“ทีเอ็มบี-สมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม” ร่วมสร้างความยั่งยืน “Miracle of Sound” ให้ครอบครัวเด็กประสาทหูพิการ “ได้ยินอีกครั้ง”

27 สิงหาคม 2019


จากซ้าย : นายสรเทพ โรจน์พจนารัช อุปนายกผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) คุณกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี, ดร.เกียรติยศ โคมิน ประธานสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม นางอินทิรา โจคานิ อุปนายกผู้ใช้ประสาทหูเทียม

“ทีเอ็มบี” ร่วมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนกับหนึ่งภารกิจสำคัญร่วมผลักดัน ชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย สู่สมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) สำเร็จ!

11 ปี 1 วัน ที่คนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ได้พยายามต่อสู้และเป็นกระบอกเสียงที่จะผลักดันสิทธิหลายๆอย่างให้แก่ผู้ที่ประสาทหูเสื่อม หรือพิการ หรือผู้บกพร่องทางการได้ยิน แต่ทว่า “เสียง” นั้นอาจจะยังไม่ดังพอ จนหลายต่อหลายครั้งที่พวกเขาท้อจนแทบจะหมดหวัง

จากพลังของกลุ่มอาสาสมัคร ไฟ-ฟ้า ทีเอ็มบี ที่มีความต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างจริงจัง จากจุดเริ่มต้นเข้ามาสนับสนุนชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการ Miracle of Sound จนนำไปสู่การจัดตั้ง สมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) ได้อย่างสมบูรณ์

นพ. เกียรติยศ โคมิน นายกสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) โดยเริ่มมาจาก ตนได้ทำโครงการผ่าตัดประสาทหูเทียมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งโครงการนี้เจาะจงผ่าตัดให้กับเด็กซึ่งจะได้ผลดีที่สุด

ดังนั้น กลุ่มผู้ปกครองที่พาลูกเข้ามารับการรักษา จึงได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการดูแลลูกๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นในการฝึกพูด ฝึกฟัง เพราะข้อมูลเกี่ยวกับประสาทหูเทียมในตอนนั้นยังมีน้อยมาก แม้แต่การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เนต ก็ยังไม่ค่อยมีขึ้นเท่าไร จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มกัน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ และเกิดเป็นชมรมผู้ใช้ประสาทหูเทียมก่อน ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งตลอดที่เป็นชมรมฯ พยายามที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับหลายโปรเจ็คของรัฐบาล ผลักดันให้เกิดนโยบายของรัฐบาล เพื่อจะช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านการได้ยิน โดยเฉพาะโอกาสเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียม แต่ยังไม่สามารถคืบหน้าไปได้มากเท่าที่ควร จึงคิดว่าเมื่อเป็นชมรมฯ การช่วยเหลืออาจจะมีการเข้าถึงได้น้อยและนโยบายบางอย่างยังได้บางส่วน จึงพยายามช่วยกัน พัฒนาและผลักดันให้เป็นสมาคมให้ได้

“กว่าการจะเป็นสมาคมได้นั้น เราใช้เวลาถึง 11 ปี 1 วัน เราพยายามทุกทาง จนในที่สุดได้มีทาง ทีเอ็มบีเข้ามาโดยกลุ่มอาสาสมัครไฟ-ฟ้า ได้เข้ามาช่วยเหลือ ภายใต้โครงการ Miracle of Sound ที่มาช่วยสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆให้แก่เด็กที่ภาวะบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งจากจุดเริ่มต้นตรงวันนั้น ก้าวสู่ความสำเร็จในวันนี้ ทำให้สามารถจัดตั้งเป็นสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) ได้เป็นผลสำเร็จ เท่ากับว่าเราสามารถที่จะช่วยเหลือพ่อแม่หรือครอบครัวที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ได้ โดยให้ความรู้ที่ถูกต้องพร้อมกับให้ความช่วยเหลือในทุกรูปแบบ ทั้งอาจจะมีการจัดกองทุน และเป็นตัวแทนพูดคุยกับภาครัฐ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสื่อออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ว่า เด็กที่เป็นโรคประสาทหูพิการนั้น ต้องได้รับการช่วยเหลือหรือรักษาตั้งแต่ยังเด็ก เราเชื่อว่าถ้าสังคมมีความรู้ตรงนี้ จะได้เข้าใจมากขึ้น ยิ่งได้ผ่าเร็วยิ่งดี และคนทั่วไปเมื่อทราบว่าคนที่ผ่าตัดจะต้องใช้เครื่องช่วยฟัง จะได้เข้าใจพวกเขายิ่งขึ้น ที่สำคัญอยากบอกคนที่กำลังประสบปัญหานี่อยู่ไม่ต้องกลัว เพราะพวกเรา คือ ครอบครัวเดียวกัน

นพ. เกียรติยศ โคมิน นายกสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย)

นางสาวกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2553 ทีเอ็มบี ได้ริเริ่มกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนขึ้น ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน… เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น โดยมุ่งเน้นจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และส่งมอบสิ่งดีๆ กลับสู่สังคม ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพนักงานทีเอ็มบีทั่วประเทศ ลูกค้า เยาวชน และชุมชน

เมื่อปี 2018 ชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในโครงการที่ทางทีเอ็มบีได้เข้ามาสนับสนุน ภายใต้ชื่อว่า Miracle of Sound ต้องยอมรับว่าการที่ตนมาร่วมทำโครงการนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกใบใหม่อีกใบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งทีมงานและตนเองทำการบ้านมาเยอะมาก เพื่อให้เข้าใจกับโรคประสาทหูเสื่อม หรือพิการ จนในที่สุดเราทำสำเร็จ ได้รวบรวมองค์ความรู้พร้อมทั้งข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งการสนับสนุนด้านการสื่อสารให้สังคมได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาภาวะบกพร่องทางการได้ยินของเด็กๆ เพื่อช่วยการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต ทั้งการจัดทำวิดีโอคอนเทนต์เพื่อให้ความรู้เรื่องการฝึกสอนการพูดแก่เด็กที่ไม่ได้ยินเสียง, รวมไปถึงการออกแพคเกจ “สินเชื่อเพื่อผู้ใช้ประสาทหูเทียม” เพื่อให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานพิการสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น เพราะว่าอุปกรณ์ผ่าตัดมีราคาสูงถึง 800,000 – 1,000,000 บาท ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เพื่อช่วยให้การเข้ารับผ่าตัดได้รวดเร็วขึ้น รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือในการให้คำแนะนำในการจัดตั้งเป็นสมาคมฯ อย่างเป็นทางการ

“ในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จที่ทางทีเอ็มบีได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนชมรมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) ได้ถูกจัดตั้งให้เป็นสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) อย่างเป็นทางการ หลังจากนี้เมื่อจัดตั้งเป็นสมาคมฯแล้ว ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นสามารถผลักดันพันธกิจหลักๆของสมาคมฯ ให้เป็นวาระแห่งชาติได้อย่างแน่นอน และอยากบอกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกกำลังประสบปัญหานี้ ไม่ต้องกลัวเพราะสามารถรักษาได้ ทั้งยังมีเพื่อนๆจากสมาคม คอยช่วยเหลือ คอยจะส่งมอบกำลังใจและช่วยเหลือพวกคุณทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งทีเอ็มบี พร้อมที่จะเดินเคียงข้างสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) เพราะสิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมาตลอดคือการจุดประกาย อยากให้ความสำเร็จตรงจุดนี้เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม เป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ประสาทเทียม และผู้มีปัญหาทางการได้ยิน”

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช(ซ้ายสุด) อุปนายกสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) พร้อมครอบครัวที่ลูกได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียม

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช อุปนายกสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) และหนึ่งในครอบครัวที่ลูกได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียม กล่าวว่า ดีใจมากที่วันนี้สามารถจัดตั้งเป็นสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) ได้สำเร็จ ที่ผ่านมาพวกเราต่อสู้กันมาตลอด และที่สำคัญเราก็ไม่ได้ทำเพื่อลูกๆของพวกเราทุกคนในชมรมเท่านั้น แต่เราทำเพื่อคนประสาทหูเทียมทั่วประเทศ จะเห็นว่าชมรมฯ พยายามเต็มที่จะผลักดันให้เกิดเป็นสมาคมฯ เพราะต้องการที่ปกป้องผู้ที่บกพร่องในการได้ยินอย่างจริงจัง เรียกว่าเราทำขึ้นมาด้วยใจและต้องการส่งต่อกำลังใจถึงครอบครัวอื่นๆที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ โดยมีพันธกิจหลักๆ คือ เสริมสร้างพัฒนาคนที่มีคุณภาพทางการได้ยินทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ให้มีทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในประเทศตอนนี้ ที่สำคัญคือเรื่องความเท่าเทียมกันและสวัสดิการต่างๆ

“ต้องยอมรับว่า ทั่วโลกตอนนี้ให้ความสำคัญกับคนใช้ประสาทหูเทียม ขณะที่ในประเทศไทย ยังมีคนส่วนน้อยที่จะรู้ว่าเรื่องประสาทหูเทียม รวมทั้งมีคนบางกลุ่มมองว่ามีความแตกต่างจากเด็กปกติ ซึ่งจริงๆแล้วเด็กที่ได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียมแล้วสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนได้ปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการศึกษาที่ควรได้รับสิทธิเหมือนเด็กปกติ แต่การที่เราจะขอความเท่าเทียมได้ เราต้องเป็นสมาคมฯ ให้ได้ พวกเราพยายามมาเป็น 11 ปี จนแทบจะถอดใจ แต่สุดท้ายก็มีแสงสว่างเกิดขึ้นมาจากทีเอ็มบี ที่เข้ามาช่วยพวกเราในสิ่งที่เราไม่มีศักยภาพเพียงพอในการทำ ไม่ว่าช่วยจัดทำวิดีโอคอนเทนต์ เพื่อให้ความรู้เรื่องการฝึกสอนการพูดแก่เด็กที่ไม่ได้ยินเสียง ในช่วงฟื้นฟูการพูดหลังการผ่าตัด รวมทั้งสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยถูกพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองสามารถกู้เป็นค่าผ่าตัดและค่าอุปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือในการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้คำปรึกษาด้านกฏหมาย ช่วยเหลือประสานงานกับหน่วยงานราชการ เรียกว่าทีเอ็มบีมาช่วยพวกเราทำจนถึงวินาทีสุดท้ายที่ผู้ใหญ่อนุมัติ ให้เป็นสมาคมฯ ได้ พวกเราต้องขอบคุณจากใจจริงๆ เพราะเหมือนเป็นแสงสว่างและความหวังที่มาช่วยในสิ่งที่พวกเราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้จริง แต่อาสาสมัครไฟ-ฟ้า พวกเขาสามารถทำให้เกิดขึ้นได้”

“ทีเอ็มบี” ร่วมผลักดัน ชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย สู่สมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย)

บางครั้ง “ฮีโร่” ก็อาจจะไม่ได้มาในรูปแบบยอดมนุษย์หรือกลุ่มแอดเวนเจอร์ทั้งหลาย แต่ “ฮีโร่” ในความเป็นจริงพวกเขาอาจจะเป็นเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่ง ที่แค่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เพื่อให้สังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
สามารถติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ เฟสบุ๊ค สมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียม (ประเทศไทย) และเว็บไซต์https://www.cochlearassociationth.org นอกจากนี้ สามารถติดตามกิจกรรมดีๆ ของอาสาสมัครทีเอ็มบี เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจ หรือสนับสนุนการ “เปลี่ยน” เพื่อสังคมที่น่าอยู่ ได้ที่ http://www.tmbfoundation.or.th