ThaiPublica > เกาะกระแส > “TMB” ออกพันธบัตรเอสเอ็มอีขาย “IFC” 2,950 ล้านบาท เตรียมปล่อยกู้เอสเอ็มอีไทย ต้นทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก 2 เท่า

“TMB” ออกพันธบัตรเอสเอ็มอีขาย “IFC” 2,950 ล้านบาท เตรียมปล่อยกู้เอสเอ็มอีไทย ต้นทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก 2 เท่า

17 ธันวาคม 2018


นางสาวชมภูนุช ปฐมพร (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี และนายวิกราม กุมาร์ (ซ้าย) ผู้จัดการ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ประจำประเทศเมียนมาร์และไทย

เมื่อวันที่ 17  ธันวาคม 2561 ทีเอ็มบีได้ออกพันธบัตรเอสเอ็มอี มูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยมีบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC)หนึ่งในสมาชิกของเวิลด์แบงก์กรุ๊ปเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย และส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ของเอสเอ็มอีอย่างตรงจุด เพื่อเติมพลังเอสเอ็มอีไทยให้ยั่งยืน

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี กล่าวว่า ปัจจุบัน 83% ของเอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ล้านราย ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินหน้าและเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทำให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและจ้างงานเพิ่มได้

ทั้งนี้ จากการสำรวจของเอ็นเตอร์ไพรส์เซอร์เวย์พบว่า เอสเอ็มอีไทยยังมีช่องว่างด้านเงินทุนโดยรวมกว่า 41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคแล้วยังพบว่า เอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อสูงกว่าไทย คือ 28% ขณะที่ค่าเฉลี่ยสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีทั่วโลกอยู่ที่ 35%

“นอกจากนี้ จากการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีเกิดใหม่ประมาณ 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียงครึ่งเดียวหรือ 50% เท่านั้นสามารถดำเนินธุรกิจผ่านปีแรกไปได้ และหลังจากปีแรกก็มีเพียง 40% เท่านั้นที่เหลือรอดต่อไป โดยทีเอ็มอีก็ต้องการเข้ามาช่วยตอบโจทย์เอสเอ็มอีในส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมซึ่งตามปกติก็มักจะเข้าถึงได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่แล้ว ผ่านการพัฒนาบริการทางการเงินต่างๆ ” นางชมภูนุช กล่าว

นางสาวชมภูนุช กล่าวต่อไปว่าทีเอ็มบีมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยมีความแข็งแกร่ง เติบโต และขยายธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “Get MORE” ที่บ่งบอกถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ลูกค้า ‘ได้มากกว่า’ โดยทีเอ็มบี เอสเอ็มอี มีเป้าหมายที่จะขยายโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่งมอบทางออก การบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เอสเอ็มอีอย่างแท้จริง และมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพของเอสเอ็มอี โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน (TMB Sustainability Framework)  ในด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจธนาคาร (INDUSTRY) ที่มุ่งที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางการเงินของผู้บริโภค และผลักดันการให้ความรู้ด้านการเงินกับประชาชนกลุ่มต่างๆ

“โดยเราเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวมต่อไป ในวันนี้เราจึงได้ระดมทุนเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีโดยการออกพันธบัตร มูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยมีไอเอฟซีเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ซึ่งต้องขอขอบคุณทางไอเอฟซีที่มีพันธกิจเดียวกันกับทีเอ็มบี และได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของทีเอ็มบีเพื่อเอสเอ็มอีมาตั้งแต่ปี 2555”

“นอกจากเรื่องของสินเชื่อธุรกิจที่ครบวงจร ทั้งการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบหลักประกันเก่าๆหรือรูปแบบใหม่ๆ เช่นการขอสินเชื่อออนไลน์ผ่าน App โดยอาศัยฐานข้อมูลการทำธุรกรรมในระยะที่ผ่านมาของลูกค้าในระยะเวลาหนึ่ง ทีเอ็มบียังได้ทำโครงการอีกหลายเรื่อง เช่น การสร้างพันธมิตรการธุรกิจต่างๆในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเอสเอ็มอีอาจจะเข้าถึงได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือทางการเงินต่างๆหรือการอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการผ่านโครงการ LEAN Supply Chain การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งการออกพันธบัตร 2,950 ล้านบาทกับบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศจะช่วยเสริมแหล่งเงินทุนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยอีกทางหนึ่ง”

นายวิกราม กุมาร์ ผู้จัดการ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ประจำประเทศเมียนมาร์และไทย กล่าวว่าไอเอฟซีถือว่าเป็นภารกิจหลักที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นแรงผลักดันที่สร้างการเติบโต สร้างงาน และเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ดังนั้น พันธบัตรเอสเอ็มอีชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต้องเผชิญอยู่ อีกทั้งยังจะเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาโซลูชันส์ของสถาบันการเงินเอกชนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนของเอสเอ็มอีในประเทศอีกด้วย>

“เอสเอ็มอีถือว่ามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยปัจจุบัน 95% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทยเป็นเอสเอ็มอี และสร้างการจ้างงานกว่า 80% ของการจ้างงานทั้งประเทศ  ซึ่งมีส่วนในการสร้างจีดีพีถึง 42.2% ของจีดีพีของประเทศในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่เอสเอ็มอีกลับได้รับบริการที่น้อยเกินไป จากงานศึกษาล่าสุดของธนาคารโลก SME Financing Gap ในประเทศไทยมีอยู่ 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 10% ของจีดีพี และอัตราการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของไทยอยู่ที่ 16% ของธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมด เทียบกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 28% และค่าเฉลี่ยของโลกที่ 33% ดังนั้นมันมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ เพื่อให้เอสเอ็มอีของไทยเข้าถึงเงินทุนอย่างเหมาะสม” นายวิกราม กล่าว

ไอเอฟซีและทีเอ็มบีได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2555 ในโครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และในเวลาต่อมา ไอเอฟซีได้ให้การสนับสนุนการทีเอ็มบีในการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านโครงการการค้ำประกันความเสี่ยง (Risk-sharing Facility) สำหรับในปี 2561 นี้ ไอเอฟซียังได้ลงทุนใน TMB Green Bond ซึ่งเป็นพันธบัตรสีเขียวชุดแรกที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย อีกด้วย

ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการพัฒนาเอสเอ็มอี ไอเอฟซีร่วมมือกับธนาคารต่างๆ เพื่อขยายการให้สินเชื่อเอสเอ็มอี ลดปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans) แก้ไขสินทรัพย์ที่อาจได้รับความเสียหายจากการล้มละลาย (distressed assets) เพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจธนาคาร สำหรับในประเทศไทย ไอเอฟซีได้ให้การสนับสนุนสถาบันการเงินที่ให้บริการแก่เอสเอ็มอีซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ารวม 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม