ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีเอ็มบีแบงก์ เปิด “FAI-FAH บางกอกน้อย” ศูนย์เรียนรู้-สร้างสรรค์ ขยายพื้นที่ เพิ่มโอกาสให้เยาวชน – ชุมชน

ทีเอ็มบีแบงก์ เปิด “FAI-FAH บางกอกน้อย” ศูนย์เรียนรู้-สร้างสรรค์ ขยายพื้นที่ เพิ่มโอกาสให้เยาวชน – ชุมชน

30 พฤศจิกายน 2015


ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย
ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย

“บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวอยู่เสมอๆ ว่า “แบงก์มีสาขาทุกแห่งทั่วประเทศ และเราก็ได้กำไรจากชุมชน มันต้องคืนกลับให้ชุมชน เพราะพนักงานธนาคารมีกิจกรรม มีธุรกิจอยู่ทุกๆ ชุมชน จะต้องคืนกลับมาให้ชุมชน”

ด้วยนโยบายที่ขับเคลื่อนโดยความเชื่อที่ว่าทุกคนมีศักยภาพ เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น สโลแกนภายใต้กรอบแนวคิด Make THE Difference เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งผลประกอบการที่ดีขึ้นของทีเอ็มบี ที่ควบคู่ไปกับการคืนกลับสู่สังคม โครงการไฟ ฟ้า “FAI-FAH” โดยเปิด “ไฟ ฟ้า” เป็นศูนย์เรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในชุมชน เป็นการหยิบยื่น “โอกาส” ให้เด็กและชุมชนได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง เพื่อสร้างพลังให้ตัวเองและชุมชน

Make THE Difference ที่ทุกคนก็ทำได้ จึงไม่ใช่แค่สโลแกนสวยๆ เท่ๆ แต่เป็นการสร้างคน ดึงศักยภาพ ดึงความเป็นตัวตนของแต่ละคนในแต่ละด้านออกมาว่าตัวตนที่แท้จริงแล้วทำได้มากกว่าที่คิด

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกวันที่ตอกย้ำกรอบแนวคิด TMB Make THE Difference ด้วยการเปิดโครงการ ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย แห่งที่ 4

ไฟ ฟ้า แต่ละพื้นที่จะแตกต่างไปตามบริบทของชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จากเริ่มแรกด้วยโครงการไฟ ฟ้า ประดิพัทธ์ เปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนในปี 2553 ตั้งอยู่ริมถนนประดิพัทธ์ ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ ต่อมาเป็นไฟ ฟ้า ประชาอุทิศ เปิดเมื่อเดือนมกราคมปี 2555 บนถนนประชาอุทิศ หรือทางทิศใต้ของกรุงเทพฯ และ ไฟ ฟ้า จันทน์ เปิดในปี 2557 บนถนนจันทน์ หรือทางทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ

ส่วนไฟ ฟ้า บางกอกน้อย เป็นอีกศูนย์เรียนรู้สำหรับเยาวชนเพื่อชุมชนแห่งที่ 4 เพื่อจุดประกายเยาวชนฝั่งธนบุรีหรือทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ด้วยแนวคิด “ศิลปะในการดำเนินชีวิต” (Art of Living) แบบ “เป็นไทย” ตามบริบทของบางกอกน้อย ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ศูนย์ไฟ ฟ้า ที่นี่จึงเปิดสอนวิชาต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมและตามความสนใจของเยาวชนในพื้นที่ พร้อมปลูกฝังเยาวชนให้เกิดความภาคภูมิใจและอนุรักษ์รากเหง้าความเป็นไทยแบบร่วมสมัยเอาไว้ รวมทั้งมีการท่องเที่ยวเพื่อชุมชนยั่งยืนด้วย

และที่ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย ได้เปิดเป็นโครงการนำร่อง โดยทุกวันอาทิตย์เปิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดและทักษะด้านงานศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน

ไฟฟ้า บางกอกน้อย ห้องโถง

ไฟฟ้า บางกอน้อย ห้องสมุด

ไฟฟ้า-2

สำหรับแนวคิดศิลปะในการดำเนินชีวิตแบบ “เป็นไทย” มาจากคำอวยพรโบราณของไทย “อยู่ เย็น เป็น ศุภ”ที่ว่า

อยู่: วิถีชีวิตไทยที่ทรงคุณค่า
เย็น: ร่มเย็นสงบด้วยงานศิลปะไทย
เป็น: ตัวตนที่แสดงออกถึงความเป็นไทย
ศุภ: ความดีงามภาคภูมิใจในความเป็นไทย

ด้วยไฟ ฟ้า บางกอกน้อย อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเก่าแก่ริมแม่นํ้า เต็มไปด้วยความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมและวิถีการใช้ชีวิตแบบไทยๆ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศูนย์แห่งการเรียนรู้ที่จะจุดประกายเยาวชนรุ่นใหม่ จึงเกิดเป็นโจทย์ที่ว่า “เป็นไทยอย่างไรให้ร่วมสมัย ดูมีไฟ ดูจุดประกาย” การออกแบบไฟ ฟ้า บางกอกน้อย จึงแตกต่างจากไฟ ฟ้า 3 แห่งก่อนหน้านี้ โดยที่นี่คงความเป็นไทย ออกแบบโดยคนไทย

ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย อยู่บนอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ตรงข้ามตลาดพรานนก อยู่บนถนนอิสรภาพ(อิสรภาพ 45) ที่ซุกตัวอยู่เงียบๆ ได้รับการปลุกให้กลับมามีชีวิตชีวา มีสีสัน และสร้างความตื่นเต้นและแปลกใหม่ให้ชุมชนย่านบางกอกน้อย ด้วยฝีมือของ “เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน” สถาปนิกและดีไซน์ไดเรกเตอร์ จากบริษัท Anghin Architecture โดยบูรณะเป็น ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย ศูนย์เรียนรู้สำหรับเยาวชน และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับชุมชน

“การออกแบบไม่ได้มองความเป็นไทยที่รูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้คิดถึงลวดลายอ่อนช้อยของช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่จะสื่อความเป็นไทยที่สัมผัสได้ด้วยจิตสำนึกมากกว่าทางสายตา กลิ่นอายที่สัมผัสได้โดยไม่ต้องใช้ศัพท์ทางสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน คล้ายๆ ศิลปะกึ่งนามธรรมที่กระตุ้นผู้เสพได้ในระดับที่ลึกซึ้งกว่า จึงเลือกเอกลักษณ์การใช้ชีวิตของคนไทยในชุมชนมาเป็นจุดเด่น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสมัยก่อน ที่ส่วนใหญ่จะมีขึ้นในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน (Communual Space) พื้นที่สาธารณะเหล่านี้เป็นสถานที่ที่มีการพบปะพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกันรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ลานหมู่บ้านไทยสมัยก่อนเป็นทั้งที่ประชุม ตลาดนัด สนามเด็กเล่น และแหล่งนัดพบ และมองว่าวิถีการใช้ชีวิตกลางแจ้งแบบนี้เคยเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นของคนไทย” นายเอกสิทธิ์กล่าว

ความโดดเด่นของ ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย คือ การหยิบยกจุดเด่นของความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของชุมชนบางกอกน้อย ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ มาเป็นแนวคิดในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อจุดประกายให้เยาวชนและชุมชนเกิดการเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการดำรงรักษาชีวิตความเป็นไทยสู่รุ่นลูกหลานอย่างยั่งยืน

ไฟ ฟ้า แต่ละแห่งมีการศึกษาและสำรวจความน่าจะเป็นตามชุมชนต่างๆ 15 ชุมชนในกรุงเทพมหานคร พบว่ากิจกรรมที่เยาวชนและผู้ปกครองสนใจ คือ กิจกรรมด้านศิลปะ ดนตรี และ กีฬา ไฟ ฟ้า จึงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในชุมชน โดยได้จัดกิจกรรมต่างๆ ให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เด็กๆ สามารถเลือกเรียนได้คนละ 2 วิชาและเรียนต่อเนื่องได้ถึง 3 ปี

ไฟ ฟ้า ให้โอกาสเยาวชนอายุ 12-19 ปี ที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ สร้างพัฒนาการ มุมมอง เกิดการเปลี่ยนจากภายใน นำไปสู่พลังการเปลี่ยนที่แท้จริง

บุญทักษ์ หวังเจริญ

ไฟฟ้า-1

10 FAI-FAH Bangkok Noi_art room

วิชาเรียนที่เปิดสอนที่ไฟ ฟ้า บางกอกน้อย ได้แก่

1. การท่องเที่ยวเพื่อชุมชนยั่งยืน รู้จักชาวชุมชน ศึกษาประวัติ ความเป็นมาย่านบางกอกน้อย เพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย ต่อยอดวิชาชีพมัคคุเทศก์ หรือนักวางแผนกิจกรรมการท่องเที่ยวร่วมกับคนในชุมชน

2. ร้องเพลง ทั้งเพลงสากลและไทยสากล รวมถึงการประยุกต์การขับร้องให้ร่วมสมัยมากขึ้น

3. การแสดงร่วมสมัย เรียนการแสดงหลากแนว สร้างสรรค์และประยุกต์การแสดงดั้งเดิม เช่น โขน นาฏศิลป์ไทย มีการประยุกต์ให้ร่วมสมัยกับเพลงและการแสดงยุคปัจจุบัน

4. ศิลปะไทย เรียนรู้ศิลปะไทยจากศิลปะในชุมชน เช่น จิตรกรรมฝาผนัง และประยุกต์กับศิลปะสมัยใหม่

5. มวยไทย อนุรักษ์ศิลปะมวยไทย ทั้งแม่ไม้มวยไทยและทักษะการป้องกันตัว

6. กีตาร์ ฝึกฝนการเล่นกีตาร์ เริ่มตั้งแต่พื้นฐาน จนถึงระดับสูง

7. เทควันโด เรียนรู้ศิลปะป้องกันตัวจากเพื่อนบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนและประยุกต์กับมวยไทยของเรา

8. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ฝึกฝนและพัฒนาภาษาอังกฤษ ให้สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้

ปัจจุบันมีเด็กๆชุมชนบางกอกน้อยเข้าร่วมโครงการจำนวนพันกว่าคน นอกจากวิชาที่เปิดสอนแล้ว ไฟ ฟ้า ยังได้จัดกิจกรรมเสริมทักษะให้แก่เด็กๆ เพื่อเป็นการฝึกฝนและเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เช่น การทำเวิร์กชอปจากศิลปิน และผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ที่มาเป็นครูอาสาสมัคร รวมทั้งฝึกฝนการทำงานร่วมกันเป็นทีม การแสดงออกอย่างเหมาะสม และการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กๆ เริ่มต้นเป็นผู้นำและจิตอาสา เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง

ตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์และความสำเร็จของเด็ก “ไฟ ฟ้า”

1. ทีเอ็มบีและโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมมือกันส่งต่อโอกาสทางการศึกษาในโครงการ “ทุนการศึกษาจากเกณฑ์อีคิว” (EQ หรือ Emotional Quotient) เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไฟ ฟ้า ครั้งแรกในประเทศไทย โดยพิจารณาจากความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ เพื่อเสริมสร้างผู้นำสำหรับอนาคตและพลังขับเคลื่อนที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน โดยเป็นทุนประเภท Full Scholarship ที่สนับสนุนให้ศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6

2. เยาวชน ไฟ ฟ้า จำนวน 7 คน ได้รับเลือกให้เข้าศึกษาต่อที่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตโชติเวช โดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก

3. เด็กไฟ ฟ้า วิชาครัว นำเห็ดที่กลุ่มแม่บ้านชุมชนราชทรัพย์ มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และช่วยสร้างแบรนด์ Magic Mushroom เพื่อเพิ่มยอดขายให้กลุ่มแม่บ้าน

4. เริ่มก่อตั้งชมรมไฟ ฟ้า ที่โรงเรียนวัดพุทธบูชา โดยเด็กๆ วิชาออกแบบผลิตภัณฑ์นำเศษผ้าที่มีอยู่ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ใกล้ๆ โรงเรียน มาออกแบบเป็นกระเป๋าทำมือ ช่วยสร้างรายได้ให้นักเรียนภายใต้ชื่อ Homeroom และเตรียมตัวส่งต่อความรู้ให้คนในชุมชน

5. ส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชนโดยเด็กๆ ไฟ ฟ้า วิชาขนมและเบเกอรี่ ร่วมกับเชฟอาสาสมัครสอนคนในชุมชน ทำคุกกี้และพัฒนาเป็นสินค้าที่จำหน่ายได้จริงภายใต้ชื่อ คุกกี้วิลล์ โดยมีเด็กๆ วิชาต่างๆ อาทิ คลาสคอมพิวเตอร์กราฟิก ช่วยออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

6. ร่วมกับชาวชุมชนย่านสาทรใต้ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในโครงการ “เด็ก-ฟื้น-เมือง” และเปิดเส้นทางท่องเที่ยวย่านสาทรใต้และสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อชุมชน เดอะเจอ-นี่ (Journey)

7. ส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนใต้สะพาน (โซน 1) ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพรับซื้อของเก่า และรับจ้าง โดยเด็กๆ ไฟ ฟ้าที่เรียนวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับคุณครูอาสาสมัคร และอาสาสมัครทีเอ็มบี แปรรูปกล่องนมเป็นกระดาษนำมาเย็บเป็นสมุดทำมือ และจำหน่ายโดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ SA-PAN

8. ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ และจัดทำโครงการหน้าบ้านน่ามองให้ชาวชุมชนอินทามระ 11

9. ปรับปรุงลานกิจกรรมสร้างสรรค์ ชุมชนบ้านแบบ ใต้ทางด่วนศรีรัช เขตสาทร ให้เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมของคนในชุมชน

10. ปรับปรุงทางเดิน และทัศนียภาพโดยรอบชุมชนถวัลย์ศักดิ์ ให้มีความสะอาด ปลอดภัย สวยงาม และทำเขื่อนกันดินไหลบริเวณรางน้ำของชุมชนถวัลย์ศักดิ์

11. พัฒนาศูนย์เด็กเล็กชุมชนวัดไผ่ตันให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กเล็กในด้านความสะอาดความปลอดภัย และมีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย

12. เวิร์กชอปศิลปะ ผ่านกิจกรรม 30 นาที “ให้” น้องๆ ผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลเด็ก โดยเป็นกิจกรรมร่วมระหว่างเยาวชน ไฟ ฟ้า คุณครู พี่ๆ อาสาสมัคร

13. กิจกรรมเปลี่ยนกำแพงและตกแต่งกำแพงที่มีความยาว 200 เมตร ให้แก่ชุมชนถวัลย์ศักดิ์ เพื่อทดแทนกำแพงสังกะสีเดิมที่มีสภาพผุพัง ทรุดโทรม และไม่ปลอดภัยต่อผู้สัญจรไปมา โดยร่วมมือกับพี่ๆ อาสาสมัครจากทีเอ็มบี และกลุ่มศิลปินจากหลายสาขา

14. ซ่อมแซมรั้วบริเวณทางเดินเพื่อป้องกันเยาวชนหรือชาวชุมชนพลัดตกน้ำในชุมชนวัดไผ่ตัน ให้มีความแข็งแรง อยู่ในสภาพที่ดี ปลอดภัย และตกแต่งสวนแนวตั้งเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเติมแรงบันดาลใจด้วยอุปกรณ์ซ่อมแซมรั้วแนวศิลปะ

15. เข้าร่วมการแข่งขันและการประกวดทักษะด้านต่างๆ และได้รับรางวัลในแขนงต่างๆ เช่น การแข่งขันเทควันโด การแข่งขันจูเนียร์เชฟ การประกวดร้องเพลง การประกวดเต้นรำ เป็นต้น

16. ร่วมทำสมุดระบายสีทำมือ เพื่อบริจาคและให้กำลังใจแก่เด็กๆ ผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่นและน้ำท่วมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช