ThaiPublica > เกาะกระแส > EXIM BANK พัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย” ไป CLMV

EXIM BANK พัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย” ไป CLMV

29 สิงหาคม 2019


นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา (กลาง) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนางลลิดา จิวะนันทประวัติ (ที่ 3 จากขวา) รองอธิบดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมเปิดงานสัมมนา “พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล” จัดโดย EXIM BANK ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อนำเสนอโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV

EXIM BANK พัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย” ผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการภายใต้แบรนด์และเชนไทยสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะ CLMV

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมมนา “พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล” จัดโดย EXIM BANK ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า ปัจจุบันแฟรนไชส์แบรนด์ไทยในต่างประเทศมีจำนวน 49 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นการศึกษาและนวดสปา โดย 80% ของแฟรนไชส์ไทยขยายเข้าสู่ตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เป็นผลจากความได้เปรียบของไทยที่มีความคล้ายคลึงทางสังคมและวัฒนธรรม ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาธุรกิจบริการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแถบนี้ได้ดี ประกอบกับ CLMV มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี ส่งผลให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปีและกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 5 ปีนับจากนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวเฉลี่ยกว่า 6% ต่อปี สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเกือบเท่าตัว กำลังซื้อของประชากรใน CLMV จะเพิ่มขึ้นอีก 30% ในปี 2566 ขณะที่การผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า จากโอกาสทางธุรกิจของแฟรนไชส์ไทยที่ยังขยายตัวได้อีกมากในตลาดต่างประเทศ EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย (Loan for Thai Franchise/Thai Chain Buyers)” เป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่มีระยะเวลากู้ยืมไม่เกินระยะเวลาของสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์/เชน อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ LIBOR +3.50 % ต่อปี หรือสกุลบาทเท่ากับ Prime Rate ต่อปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.125% ต่อปี) หลักประกันพิจารณาตามความเหมาะสม มีเป้าหมายวงเงินอนุมัติรวม 800 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ไทยไปเปิดให้บริการในต่างประเทศ หรือว่าจ้างเชนไทยในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในการขยายตลาดแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องพัฒนาธุรกิจและบริการภายใต้แบรนด์ของไทยให้ตอบสนองความต้องการใหม่จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดต่างๆ ได้ กล่าวคือ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานใน CLMV รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งคาดหวังบริการที่ดีและได้มาตรฐาน ศึกษาโอกาสและกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาด ดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่น่าเชื่อถือและมีความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจ รวมทั้งมีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์ ขณะเดียวกันต้องบริหารซัพพลายเชนของตนเองให้แข็งแกร่ง สามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ การแปรรูปสินค้า และโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ใน CLMV เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยอาศัยความได้เปรียบจากความรู้จักคุ้นเคยสินค้าแบรนด์ไทยจากสื่อต่างๆ ที่ผู้บริโภคใน CLMV ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ และใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งบริหารจัดการธุรกิจอย่างใกล้ชิด สร้างชื่อเสียงของสินค้าและบริการของไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลในราคาที่ผู้ซื้อจับต้องได้ โดยมีสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ใน CLM (กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา) ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ภายใต้ทีมไทยแลนด์ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจแฟรนไชส์ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยจำนวนกว่า 584 กิจการ และมีสาขากว่า 100,000 สาขาทั่วประเทศ” นายพิศิษฐ์กล่าว

ฟีนิกซ์ ลาวา…”ผมไปแบบลูกทุ่งสุดๆ”

ขณะที่วงเสวนา “รอบรู้ รู้ทัน การจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ระหว่างประเทศ” นายปริญญ์ สุขสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ ลาวา จำกัด เล่าประสบการณ์ว่า “ซาลาเปาลาวา ขึ้นปีที่ 7 เริ่มจากร้านซาลาเปาเล็กๆ 20 ตารางเมตร เราเรียกตัวเองว่าเป็นร้านซาลาเปาแห่งการให้ ในไทยมี 14 สาขา ส่วนในต่างประเทศผมล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เราเป็นเอสเอ็มอี เราอยากขยาย แต่เราไม่พร้อม ผมล้มเหลวที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่เวียดนามมีปัญหาอยู่ มีที่มาเก๊าที่อยู่ได้ ดังนั้นเราพยายามทำด้วยตัวเอง ระมัดระวังมากขึ้น ตอนนี้ก็กลับมาพึ่งตัวเอง กลับมาที่ไทยทำให้เราแข็งแรงก่อน หากเรามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งแล้วค่อยออกไปใหม่”

“เราไปต่างประเทศเพราะมีคนเอาเงินมากอง แต่มีโอกาสล้มเหลวสูง เราไปขายซาลาเปา มีลูกค้าต่อแถวยาวต่อเนื่องกัน 3-4 เดือน จากนั้นเงียบ ดังนั้นเราต้องวางแผนดีๆ ผมไปแบบลูกทุ่งสุดๆ เราไม่ทำการศึกษาต้นทุน ค่าชิปปิงต่อลูก 7-8 บาท ทำให้ต้องขายซาลาเปาลูกละ 50-70 บาท ตอนนี้เหลือที่มาเก๊าเท่านั้นที่รอด เรารู้ว่าเราต้องทำการบ้านมากกว่านี้ การไปต่างประเทศ การวางกลยุทธ์สำคัญมาก และทุกครั้งเราไป เราต้องตั้งใจหาคนทำจริงๆ”

ต้องทำดีลดิลิเจนซ์ เพื่อรู้จักตัวตนที่แท้จริงพาร์ทเนอร์

นายนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราอยากมีแบรนด์ของเราเอง เราซื้อเกรย์ฮาวด์ เป็นแบรนด์ไทยเพื่อขยายไปทั่วโลก การไปต่างประเทศเราต้องการพาร์ทเนอร์ที่เก่งๆ ที่รู้เรื่องอาหาร เครื่องดื่ม แต่การที่จะขยายไปประเทศไหนต้องทำการบ้านของประเทศนั้นๆ อย่างดี ต้องทำดีลดิลิเจนซ์ เพื่อให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของพาร์ทเนอร์ เพราะมีทั้งพาร์ทเนอร์ที่ดีและไม่ดี และเราให้พาร์เนอร์ทำแผนธุรกิจ 5 ปี ด้วย เพื่อจะดูว่าเขาคิดครบถ้วนหรือไม่”

“เราวางแผนว่าต้องการขยาย 150 สาขาใน 5 ปีข้างหน้า โดยมีการลงทุน 20 ล้านบาทต่อหนึ่งสาขา ตั้งเป้ายอดขายต้อง 5 ล้านบาทต่อเดือน อย่างเราไปอังกฤษ เราต้องสำรวจเอง คนที่นั่นเขาไม่รู้จักเรา ทำมา 2 ปีแล้ว ขาดทุนอยู่ 150 ล้านบาท”

วงเสวนา “รอบรู้ รู้ทัน การจัดการธุรกิจแฟรนไชน์ระหว่างประเทศ”

ต้องพร้อมทั้งทีม พร้อมคนเดียวไม่ได้

นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราไปต่างประเทศเมื่อ 6 ปีที่แล้ว การขยายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ เจ้าของแฟรนไชส์ต้องปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น การพัฒนาสินค้าต้องถูกใจท้องถิ่นนั้นๆ เพราะระบบแฟรนไชส์มีมาตรฐานอยู่แล้ว

“เราต้องไปดูแลคนซื้อแฟรนไชส์ อย่างกาแฟอะเมซอนที่กัมพูชามี 150 สาขา เขาหวังจะได้รับการข่วยเหลือจากเราอย่างเต็มที่ เราต้องเป็นมืออาชีพสอนเขาทุกๆ ด้าน และเขาต้องมีความพร้อม นั่นหมายถึงต้องพร้อมทั้งทีม พร้อมคนเดียวไม่ได้ โดยที่เราเอาคีย์ความสำเร็จของไทยส่งต่อไปที่ลาว กัมพูชา โดยเรายกระดับ ยกความสำเร็จไปส่งต่อ และเชื่อว่าโอกาสใน CLMV เปิดกว้าง เพราะ CLMV เขาผูกพันกับแบรนด์ไทย เขาวางของสินค้าไทยเป็นพรีเมียม หากเข้าไปต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ ใฝ่คว้า”

พร้อมย้ำว่า “ไลฟ์สไตล์ลูกค้าลาวกัลกัมพูชาต่างกัน ลาวเรียบง่าย กัมพูชาเป็นกลุ่มวัยรุ่น หากเป็นร้านอะเมซอนนอกปั๊ม ต้องเป็นแฟล็กชิปใหญ่มาก เพราะเป็นจุดนัดพบ มีมุมอ่านหนังสือ เป็นที่พักผ่อน แฮงเอาต์ ราคากลางๆ ไม่สูงมาก ไม่ถูกมาก บรรยากาศตกแต่งต้องพรีเมียม นี่คือการเอาข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์”

อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นต้องการแฟรนไชส์ การเข้าไปช่วงแรกๆ เราเป็นพี่เลี้ยง ทำงานคู่กันไป การพัฒนาสินค้า มีการสำรวจพฤติกรรมพร้อมเก็บข้อมูลลูกค้า การวางตำแหน่งสินค้า ขณะที่หลังบ้านต้องเข้มข้น ซึ่งการเข้าไปครั้งแรกต้องสำเร็จ ไม่งั้นจะกลับบ้าน ดังนั้นการขยายต้องมีแผน คัดเลือกพันมิตร ต้องตรวจสอบคนที่ดูแลแบรนด์เราได้

ทำไมคาร์แคร์ไปต่างประเทศได้

นายกฤษฎ์ กาญจนบัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์แลค (ไทย-เยอรมัน) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจที่ตนทำเป็นธุรกิจล้างรถ มีกาละมัง ฟองน้ำ หลายคนอาจจะงงว่าธุรกิจล้างรถแล้วจะไปขายแฟรนไชส์ได้อย่างไร เราทำมาแล้ว 30 ปี เราพัฒนาจากที่ซื้อแบรนด์แฟรนไชส์มา ตอนหลังพัฒนาเป็นแบรนด์ตัวเอง เปลี่ยนระบบใส่ฟอร์แมตเข้าไปเป็นแฟรนไชส์ ต้องลงทุนให้เป็นสินค้าที่ขายได้ มีจุดขายที่ชัดเจน ไม่ใช่คาร์แคร์ธรรมดา การสร้างวิธีคิดใหม่ ขยายไปใน CLMV

ทั้งนี้ แนะนำจุดอ่อน 9 ข้อ ที่ทำให้แฟรนไชส์ไปต่างประเทศแล้วมักจะไม่ประสบความสำเร็จ คือ

1. เอสเอ็มอีขาดการเตรียมตัวที่ดี เราไม่พร้อม แต่อยากจะไปขุดทอง
2. ไม่ทำการบ้าน ก่อนเดินทาง
3. ต้องพึ่งพาคนอื่น ให้รัฐช่วย เช่น Thai Trade
4. ไม่กล้าดีลโดยตรง หรือไม่กล้าไปขายของ
5. ขาดเอกสาร ขาดนามบัตรที่เป็นภาษาอังกฤษ
6. ขาดความรู้การใช้ภาษาต่างประเทศ
7. ขาดการติดตามหลังกลับมาเมืองไทย
8. ขาดความทะเยอทะยานที่จะเอาชนะอุปสรรค
9. ขาดการส่งเสริมจากภาครัฐหรือเอกชนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง