เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank หรือ ธสน.) กล่าวว่า แผนแม่บท 10 ปีของธนาคารมาจากการทำงานของธสน. ร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาจุดยืนที่เหมาะสม โดยใช้จุดแข็งของแบงก์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกและการเติบโตของภาคการส่งออกของไทยได้เพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมการจ้างงาน การเสริมสร้างองค์ความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ปัจจุบันโมเดลการค้าการลงทุนเปลี่ยนไป การส่งออกมิใช่ฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดและก้าวข้ามมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร ในปี 2560 ธสน.จะเร่งส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนข้อมูลในเชิงลึกและเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทยที่พร้อมและมีศักยภาพจะขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งการสร้างโรงงานผลิตและการประกอบกิจการการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งธสน. กำลังทยอยเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทน เพื่อทำงานร่วมกับไทยแลนด์ทีมในการสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนของไทยในตลาดดังกล่าว
“ในปี 2560 จะผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบของการพัฒนารูปแบบการให้บริการประกันการส่งออกผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่น การให้บริการทางออนไลน์ เนื่องจากธสน.เป็นสถาบันการเงินของไทยรายแรกและรายเดียวที่ให้บริการนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเครื่องมือลดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าส่งออก อันมีสาเหตุมาจากความเสี่ยงทางการค้าและการเมือง ควบคู่กับการส่งเสริมการค้าและการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดค้าปลีกและค้าส่งทั่วโลก” นายพิศิษฐ์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของธนส.ในปี 2559 มีกำไรสุทธิ 1,304 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 83,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2558 จำนวน 9,630 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 25,327 ล้านบาท และมีการชำระคืนของสินเชื่อเดิมบางส่วน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 133,993 ล้านบาท โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 86,497 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs จำนวน 35,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,848 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.04 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุน มีปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวมด้านรับประกัน เท่ากับ 56,486 ล้านบาท โดย 11,255 ล้านบาท เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือร้อยละ 19.92 ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม ส่วนด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ ปัจจุบันธสน. มีวงเงินให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 56,382 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 3.57 จำนวน 2,970 ล้านบาท ลดลง 1,023 ล้านบาทจากปีก่อน