ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > กพอ.เห็นชอบผังเมือง EEC จัด 4 กลุ่ม 11 ประเภท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

กพอ.เห็นชอบผังเมือง EEC จัด 4 กลุ่ม 11 ประเภท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

5 สิงหาคม 2019


เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 8/2562 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่า วันนี้ที่ประชุม กพอ.ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) พร้อมกับมีมติเห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

สำหรับการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของ EEC จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมีการวางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตในระยะ 20 ปี (2560 – 2580) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี , ระยอง และฉะเชิงเทรามีพื้นที่ 8,291,250 ไร่ โดยในปี 2560 มีประชากร 4,015,168 คน และคาดว่าในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 6,006,380 คน

ดังนั้นในแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพและบทบาทของพื้นที่ พร้อมกับพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเชื่อมโยงการพัฒนาเมืองและชนบทให้มีความเหมาะสมคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ดังนี้

    1. พื้นที่พัฒนาเมือง ประกอบด้วย ที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม, ที่ดินประเภทชุมชนเมือง , ที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาเมือง และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
    2. พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม
    3. พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทชุมชนชนบท, ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม และที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
    4. พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม

ส่วนร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค กรมโยธาธิการฯ ได้ดำเนินการจัดทำแผนผังฯ จาก 8 ระบบ เป็น 5 แผนผัง และ 1 มาตรการ ประกอบด้วย

    1. แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบควบคุมมลภาวะ ส่งเสริมระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะที่ไม่ส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียง
    2. แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง รองรับความต้องการการเดินทางและการขนส่งสินค้าในอีอีซี ในอนาคตอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ
    3. แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม เพื่อแสดงบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ชุมชนดั้งเดิม ย่านชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษ พร้อมสร้างสมดุลชุมชนเมืองและชนบท คู่กับอนุรักษ์ย่านชุมชนที่มีคุณค่า
    4. แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ รองรับความต้องการน้ำอย่างทั่วถึงเหมาะสมเพียงพอ พัฒนาระบบระบายน้ำ ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เหมาะกับสภาพพื้นที่
    5. แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี และวัตถุอันตรายจากการจัดเก็บ ผลิต และการขนส่ง
    6. มาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและการประกอบกิจการพิเศษ บริหารจัดการขยะ ของเสีย พลังงาน ป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูง

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่าหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กพอ.ชุดใหม่ วันนี้ถือเป็นการประชุมนัดแรก ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงรายงานความคืบหน้าด้านต่าง ๆ ของ EEC ในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานต่อไป เพื่อส่งเสริมการพัฒนา EEC ให้ก้าวสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งแบ่งเป็น 4 นโยบายหลัก ดังนี้

1. เร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

    1.1 เร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท/ปี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้บริการ One Stop Service (EEC OSS) ซึ่งกำลังจะเปิดตัวปลายเดือนสิงหาคม 2562
    1.2 ขับเคลื่อนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศเพื่อนบ้านและเอเชีย เพื่อลดต้นทุน Logistics ด้วยการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางกายภาพและระบบข้อมูลทันที โดยคณะทำงานจะดำเนินการจัดระบบเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของ ECC ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV
    1.3 จัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล EECd และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการลงทุนวิจัย และ นวัตกรรม EECi ให้เป็นรูปธรรม โดยดำเนินการ PPP กับโครงการ EECd ให้เป็นเมืองอัจฉริยะตัวอย่างและจุดดำเนินการ 5G รวมทั้งประสานภาคเอกชนให้เตรียมใช้บริการจาก EECi ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2. เร่งการยกระดับพื้นฐานด้านสังคม

    2.1 การศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการภาคการผลิตและบริการ โดยการผลักดัน Demand Driven โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน ทำงาน retrain ระยะสั้นให้กับผู้ที่จะการศึกษา และผู้ทำงานในโรงงานให้ตรงกับเทคโนโลยีใหม่ , ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดัน อาชีวศึกษาตาม สัตหีบโมเดล และดึงเอกชนมาร่วมมือเต็มที่ , ผลักดันมหาวิทยาลัยให้ปรับตัว เพื่อผลิตบุคคากรที่จบแล้วมีงานทำมีรายได้สูง
    2.2 การสาธารณสุข ให้เป็นตัวอย่างกับกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยการปรับระบบสาธารณสุขพื้นฐาน โดยร่วมมือกับเอกชน ในการลงทุนเพื่อให้บริการร่วมกับภาครัฐและจัดวางระบบ ศูนย์เฉพาะเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ครบถ้วน และเพิ่มการลงทุน Medical Hub กับเอกชนชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะด้าน Precision Medicine

3. ยกระดับปัจจัยพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

    3.1 จัดทำผังเมืองจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ต่อจากผังการใช้ที่ดิน
    3.2 ดำเนินงานตามแผนสิ่งแวดล้อมที่วางไว้ และจัดระบบนำ Circular economy
    3.3 จัดทำฐานข้อมูลความเป็นอยู่ของประชาชน ด้านความเท่าเทียมกัน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น
    3.4 วางแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

4. การสร้างความมีส่วนร่วม

    4.1 กองทุน EEC เพื่อการทำงานร่วมกับชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และประชาชน
    4.2 การทำงานร่วมกับพรรคการเมือง รัฐสภา รัฐบาลท้องถิ่นและสื่อมวลชนในพื้นที่