ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Climate Change กระทบฝั่งตะวันตกสหรัฐฯ เกิดโมเดล Water Marketing เกษตรกรขายน้ำให้เมืองใหญ่

Climate Change กระทบฝั่งตะวันตกสหรัฐฯ เกิดโมเดล Water Marketing เกษตรกรขายน้ำให้เมืองใหญ่

19 สิงหาคม 2019


แม่น้ำโคโลราโดที่ไหลผ่านอุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน ในแอริโซนา

น้ำในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ กำลังจะหมดลง ทำให้เกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้งเลียบแม่น้ำโคโลราโดทำข้อตกลงขายน้ำแลกรับเงินสดกับเมืองใหญ่

การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา เพราะขณะที่เกษตรกรในแถบมิดเวสต์เจอปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี เกษตรกรในฝั่งเซาท์เวสต์กลับประสบกับกับการขาดน้ำอย่างมากจนถึงขั้นส่งผลด้านลบต่อภาคเกษตรกรรม รวมทั้งความเป็นอยู่ของพลเมืองอเมริกา 40 ล้านคนตลอดจนมีผลต่อการผลิตอาหารป้อนทั้งประเทศ

แม่น้ำโคโลราโดที่มีความยาว 1,450 ไมล์เป็นแหล่งน้ำสำคัญของ 7 รัฐ แต่ Climate Change และการใช้น้ำที่มากเกินไป ส่งผลให้ระดับน้ำลดลงอย่างฮวบฮาบ

งานวิจัยของ American Geophysical Union Water Resources พบว่าในช่วงปี 2000-2014 กระแสน้ำลดลง 19% จากระดับเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 และภายในปี 2100 กระแสน้ำจะลดลงมากถึง 55%

ภัยคุกคามต่อน้ำจืดเป็นปัญหาระดับโลก ในสัปดาห์ที่ผ่านมา World Resources Institute รายงานว่า การเข้าถึงน้ำของประชากรหลายร้อยล้านคนตกอยู่ในภาวะเสี่ยง อันเนื่องจากภาวะโลกร้อน

Climate Change กำลังส่งผลต่อแม่น้ำโคโลราโด ทำให้ภาวะแห้งแล้งที่ปกติเกิดขึ้นตามวัฏจักรกลับกลายเป็นการลดลงของน้ำอย่างถาวร

เฉพาะเมืองใหญ่ในฝั่งตะวันตกก็มากพอที่จะทำให้น้ำในแม่น้ำลดลง เกษตรกรที่ประสบภัยแล้งซึ่งมีสิทธิในแม่น้ำนี้เช่นกันกำลังทุ่มเงินจำนวนมากนับร้อยล้านดอลลาร์เพื่อชะลอผลกระทบและชะลอการลดลงของน้ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนการจัดการในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีผลต่อทางน้ำที่ไหลผ่านแกรนด์แคนยอนที่จัดว่าเป็นสัญลักษณ์ของภาคตะวันตกของสหรัฐฯ หากระดับน้ำในแม่น้ำยังคงลดลงต่อเนื่อง ก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสำคัญออกมาเพื่อปกป้องน้ำที่เหลืออยู่

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ผู้ใช้น้ำรายใหญ่จากแม่น้ำโคโลราโดคือเกษตรกรที่ปรับสภาพพื้นที่นับล้านเอเคอร์ในแคลิฟอร์เนีย และแอริโซนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว

สิทธิในการใช้น้ำประเมินน้ำสูงเกินไป

ตลอดเวลาร่วม 100 ปี ปริมาณน้ำได้มีการควบคุมด้วยข้อตกลงระหว่างรัฐที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำ แต่น้ำถูกดึงไปใช้จากผู้บริหารรัฐ ผ่านกลไกที่ว่าใครมาก่อนมีสิทธิก่อน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เก่าแก่มีขึ้นหลังสงครามกลางเมืองอเมริกาไม่กี่สิบปี หรือราวปลายศตวรรษ 1800

กลไกใครมาก่อนมีสิทธิก่อนนี้ ผู้อ้างสิทธิที่ใช้ประโยชน์จากการหันเหของกระแสน้ำในภาคเกษตร เหมืองแร่ ยังสามารถใช้น้ำต่อไปได้ในปริมาณเท่าเดิมที่เคยใช้มาก

ต่อมาได้เกิดข้อตกลง 1922 Colorado River Compact เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพราะมีการจัดสรรน้ำในปริมาณ 7.5 ล้านเอเคอร์-ฟุต (เทียบเท่าน้ำในพื้นที่ทั้ง 1 เอเคอร์ที่มีน้ำลึก 1 ฟุตเต็มพื้นที่) หรือราว 1 ล้านล้านลิตร หรือราว 326,000 แกลลอน ให้กับพื้นที่ด้านบนของลุ่มแม่น้ำ คือ โคโลราโด ไวโอมิง ยูทาห์ และนิวเม็กซิโก กับพื้นที่ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำ คือ เนวาดา แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย แต่เนื่องจากการที่แม่น้ำไหลจากเหนือลงใต้ จึงมีเงื่อนไขให้รัฐที่อยู่ทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำดูแลให้รัฐทางตอนล่างมีน้ำใช้ด้วย

แต่การลงนามของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ร่วมข้อตกลงปี 1920 เพื่อแก้ไขจัดสรรสิทธิในแม่น้ำนั้นประเมินสูงเกินไปว่าจะมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากนั้นไม่นานนัก และใช้มากเกินกว่าน้ำจะไหลเข้าได้ทัน

นับตั้งแต่ปี 1989 รัฐในลุ่มน้ำตอนล่างใช้น้ำมากเกินสิทธิภายใต้ข้อตกลง เพราะภาคเกษตรและเมืองใหญ่ขยาย จึงมีการนำน้ำจากทะเสาป Mead และทะเลสาบ Powell มาใช้ ขณะที่แม่น้ำเองก็หยุดไหลเข้าไปในอ่าวแคลิฟอร์เนียแต่กลับไหลไปทางทะเลทรายเม็กซิโก

ในเดือนมีนาคมแหล่งกักเก็บน้ำในแม่น้ำลดลงต่ำกว่าครึ่ง ทำให้รัฐบาลกลางกำลังจะเข้ามาจัดการ แต่รัฐที่อยู่ในบริเวณนี้ได้ทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อลดการใช้น้ำลง ในปี 2026 สถานการณ์นี้จะรุนแรงมากขึ้น และต้องมีการทำข้อตกลงระยะยาว

American Rivers ระบุว่า แม่น้ำโคโลราโดเป็นแหล่งน้ำดื่มของพลเมืองอเมริกา 1 ใน 10 คนจากหลายเมือง เช่น ลาสเวกัส ลอสเองเจลิส และฟีนิกซ์ และยังเป็นแหล่งน้ำหลัก 90% ของการปลูกผักในฤดูหนาว และเมื่อข้อตกลงหลักมีผล อาจจะทำให้การเพาะปลูกและการใช้น้ำทั้งภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป

จอห์น เบิร์กเกรน นักวิเคราะห์นโยบายน้ำจาก Western Resource Advocates กล่าวว่า เมื่อการใช้น้ำมากเกินไปผสมกับภาวะ Climate Change ที่รุนแรงมากขึ้น จึงกลายเป็นปัญหา

เมื่อระดับน้ำลดลงต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาซ้ำเติม พื้นที่ในลุ่มน้ำตอนล่างจึงหนีไม่พ้นกลับมาใช้น้ำแบบอ้างสิทธิมาก่อนใช้ก่อนโดยปริยาย

ประชากรในชายฝั่งตะวันตกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้ความต้องการใช้น้ำตกมาอยู่ที่แม่น้ำโคโลราโด แต่การใช้น้ำของคนในเมืองต่างจากภาคเกษตรที่พึ่งทางน้ำเป็นหลัก คนในเมืองมีทางเลือกมากกว่า เช่น ที่ลาสเวกัส ได้มีการจ่ายให้เงินให้กับชาวเมืองเพื่อถางสนามหญ้าออก ส่วนที่ลอสแอนเจลิสมีแผนที่จะให้คนรีไซเคิลน้ำ 100% จากน้ำเสียภายในปี 2035

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ไม่เพียงพอที่จะบรรเทาการแห้งผากของแม่น้ำ เพราะ 70% ของน้ำใช้กับภาคเกษตร

โรเบิร์ต เกลนนอน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาและเป็นผู้เขียนหนังสือ Unquenchable: America’s Water Crisis and What To Do About It มองว่าต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเกษตรกรในพื้นที่ทะเลทราย ในด้านการรดน้ำพืชผล รวมทั้งการมีโครงการการใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อผันน้ำไปยังพื้นที่ในเมืองเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีน้ำในช่วงภัยแล้งในอนาคต

เกิดโมเดล Water Marketing

ด้วยเหตุนี้ ตลาดน้ำ (Water Marketing Program) ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยงานด้านน้ำในพื้นที่จ่ายเงินจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้กับผู้มีสิทธิในน้ำอันดับต้นๆ หรือสนับสนุนการอนุรักษ์พื้นที่ชนบทเพื่อแลกกับน้ำ

ศาสตราจารย์เกลนนอนกล่าวว่า เกษตรกรและหน่วยงานด้านน้ำในพื้นที่ตระหนักมานานแล้วว่า หากไม่ทำข้อตกลงกับเมืองใหญ่ รัฐบาลกลางจะเข้ามาจัดการอย่างแน่นอน ไม่มีรัฐบาลไหนปล่อยให้เมืองใหญ่ขาดน้ำเพียงเพราะการอ้างสิทธิในน้ำ

“หากเกษตรกรไม่ใช้ข้อได้เปรียบที่มีทำข้อตกลงน้ำกับเมืองเพื่อแลกกับปริมาณที่น้อย ก็จะเจอกับการออกกฎหมายใหม่ที่ตัดสิทธิและเน้นการอนุรักษ์ โดยที่รัฐไม่ต้องใช้เงินแม้แต่น้อย” ศาตราจารย์เกลนนอนกล่าว

ผลการศึกษาของ Bureau of Reclamation ปี 2012 พบว่า โมเดลตลาดน้ำนี้ประสบความสำเร็จ โดยพื้นที่ทำการเกษตรในภูมิภาคนี้ลดลง ขณะที่การผันน้ำไปให้ในเมืองใช้เพิ่มขึ้น

ดีลตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดมีขึ้นในปี 2003 ภายใต้ข้อตกลง Quantification Settlement Agreement ที่มีการส่งน้ำ 200,000 เอเคอร์-ฟุตหรือราว 100,000 ล้านลิตรทางตะวันตก ในอัตรา 474 ดอลลาร์ต่อเอเคอร์-ฟุต หรือราว 94 ล้านดอลลาร์ต่อปี

แหล่งน้ำในดีลนี้มาจากพื้นที่ชลประทานอิมพีเรียล Imperial Irrigation District (IID) ในชนบทของทางตะวันออกเฉียงใต้ของแคลิฟอร์เนีย ส่งตรงไปที่หน่วยงานน้ำในแซนดีเอโกเคาน์ตี (San Diego County Water Authority) ซึ่ง IDD ยังทำข้อตกลงกับ Metropolitan Water District (MWD) ที่รับน้ำพื้นที่ลอสแอนเจลิส และออเรนจ์เคาน์ตี เพื่อจัดส่งน้ำ 105,000 เอเคอร์-ฟุต ในราคา 111 ดอลลาร์ต่อเอเคอร์-ฟุต

นอกจากนี้ Palo Verde Irrigation District (PVID) ซึ่งมีพื้นที่ 131,000 เอเคอร์ เลียบฝั่งแม่น้ำโคโลราโดที่กั้นระหว่างแคลิฟอร์เนียลและแอริโซนา ได้ทำข้อตกลงระยะยาว 35 ปีกับ MWD ซึ่งจ่ายเงิน 6.2 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนเพื่อสิทธิการใช้น้ำ

ทั้งในภายใต้ข้อตกลง MWD สามารถขอให้ Palo Verde ปล่อยพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า 28% เพื่อเพิ่มน้ำได้อีก 115,000 เอเคอร์-ฟุต รองรับเมืองใหญ่ในทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากรราว 20 ล้านคน หากไม่รวมเงินที่ชำระล่วงหน้า MWD จ่ายเงินให้เกษตรกรใน Palo Verde ไปแล้วราว 164 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2005-2018

ผู้บริหาร MWD กล่าวว่า ดีลการซื้อน้ำผ่านระบบตลาดช่วยให้แคลิฟอร์เนียสามารถรับมือกับสถานการณ์ Climate Change ได้ แต่ก็ยังหาข้อตกลงอื่นที่ยืดหยุ่นเพื่อให้ในฤดูฝนสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่น

โดยเหตุที่มีเงินมาเกี่ยวข้องทำให้ท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีแหล่งน้ำก็เริ่มเข้ามาในตลาดน้ำมากขึ้น เช่น Bard Water District ที่มีพื้นที่ 7,000 เอเคอร์ แต่ได้เริ่มโครงการที่สองแล้วที่มีข้อตกลงปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อแลกกับผลแทนตัวเงินจาก MWD

ในโครงการแรกปี 2019-2017 นั้น Bard Water District ทำเงินได้ 950,000 ดอลลาร์ ให้กับเกษตรและให้กับหน่วยงานน้ำเองเพื่อนำไปปรับปรุงแหล่งน้ำ ทั้งนี้อายุของโครงการคือ 2 ปี

แต่ Bard Water District ยอมรับว่าโครงการนี้มีต้นทุนเกิดขึ้น โดย รอน เดอร์มา ผู้บริหาร Bard Water District กล่าวว่า มีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่และภาคธุรกิจที่ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในข้อตกลงของโครงการ รวมทั้งเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่เลี้ยงชีพด้วยการเกษตรให้ย่ำแย่ลงอีก และการปล่อยพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่ามากเกินไปจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ที่รองรับชุมชนเกษตรกร

แต่ บาร์ต ฟิชเชอร์ กรรมการของ PVID และเจ้าของพื้นที่เกษตร 11,000 เอเคอร์ที่ห่างแม่น้ำออกไปไม่กี่ไมล์กล่าวว่า โครงการตลาดน้ำมีประโยชน์ต่อชุมชน และจากข้อมูลของ MWD ระบุว่า บาร์ต ฟิชเชอร์ ได้รับเงินอย่างน้อย 30 ล้านดอลลาร์จากการที่ตกลงปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่า (ไม่รวมเงินที่ชำระล่วงหน้า) และตระหนักดีว่า ข้อตกลงนี้อาจจะเกิดผลกระทบทางลบและเกิดเหตุไม่คาดฝันได้

บาร์ต ฟิชเชอร์ กล่าวว่า การรักษาที่ดินให้ว่างเปล่าอาจจะต้องใช้แรงงาน และเงินที่ไหลเข้ามานั้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่

นอกจากข้อตกลงแลกน้ำกับเงินที่มีกับ Palo Verde แล้ว MWD ยังซื้อที่ดินเพิ่มในพื้นที่ราว 22,000 เอเคอร์ ซึ่งมีสิทธิการใช้น้ำพ่วงมาด้วย จึงกลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในพื้นที่ PVID และยื่นฟ้อง MWD โดยกล่าวหาว่า มีความพยายามแอบแฝงที่จะเปลี่ยนพื้นที่ในท้องถิ่นให้เป็นฟาร์มน้ำ (water farms) แต่ข้อกล่าวหานี้ตกไปเพราะเกษตรกรในพื้นที่เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินอีก

MWD ออกแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงการซื้อน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นเมืองในชนบท รวมทั้งจ่ายเงิน 6 ล้านดอลลาร์ให้กับชุมชนใน Palo Verde District ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมือง Blythe ที่มีประชากร 20,000 คน เมือง Blythe ตั้งชื่อตาม Thomas Blythe ที่เป็นคนแรกที่ได้สิทธิใช้น้ำจากแม่น้ำโคโลราโดในปี 1877 การได้สิทธิของ Thomas Blythe ทำให้เมืองมีสิทธิ 450,000 เอเคอร์ต่อปีตราบเท่าที่ลุ่มน้ำตอนล่างยังคงได้รับสิทธิบนพื้นที่ 7.5 ล้านเอเคอร์ภายใต้ข้อตกลงปี 1922

ข้อมูลจากหลายส่วนพบว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนในเมือง Blythe ลดลงจาก 48,000 ดอลลาร์ในปี 2012 มาอยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์ในปี 2017 ซึ่งโรเบิร์ต คอนเวย์ ผู้บริหารของ Jordan/Central Implement Co กล่าวว่า เมืองแย่ลงหลังจากที่โครงการขายน้ำเริ่มขึ้น

ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นกำลังสนใจกับสิทธิการใช้น้ำที่มี แม่น้ำโคโลราโดที่กำลังแห้งลดลงเป็นภัยคุกคามสำคัญ ที่ Pinal County ในรัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่แทรกตัวระหว่างฟีนิกซ์และทักสัน ติดอันดับต่ำสุดของรายชื่อผู้มีสิทธินั้น เกษตรกรปล่อยให้ที่ดินรกร้างวางเปล่า ไม่ใช่เพื่อต้องการเงินแต่เป็นเพราะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำการเกษตร

พอล ออร์เม ผู้บริหารระบบชลประทานของ Pinal County กล่าวว่า การปันส่วนน้ำที่ลดลงอาจจะทำให้เกษตรกรต้องปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่ามากถึง 40% ของพื้นที่ทำกิน

ทะเลสาบ Mead น้ำแห้งจนเรือลงไปจอดตรงก้นทะเลสาปได้

เรื่องและภาพ จาก bloomberg