ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.ลงมิตเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 1.75% ลดคาดการณ์GDPปีนี้ 3.3% ส่งออก 0% จากผลสงครามการค้า

กนง.ลงมิตเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 1.75% ลดคาดการณ์GDPปีนี้ 3.3% ส่งออก 0% จากผลสงครามการค้า

26 มิถุนายน 2019


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 4/2562 ว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% โดยให้เหตุผลว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เพียงพอ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ แต่อีกด้านมีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น หนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวมาตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2561

ในรายละเอียด เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มากตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงรายได้และการจ้างงานที่มีสัญญาณชะลอลงในภาคการผลิตเพื่อส่งออก การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้าและการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

กนง.ยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ลง ซึ่งการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ถือว่าลดลงจากการประมาณการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ทุกองค์ประกอบ โดยปรับลดจีดีพีลงจาก 3.8% เป็น 3.3% ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างชัดเจนจึงปรับลดจาก 3% เป็น 0% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวก็ได้ปรับลดลงเช่นเดียวกันจาก 40.4 ล้านคนเหลือ 39.9 ล้านคน และปรับลดการเติบโตการลงทุนของภาครัฐลงจาก 6.1% เหลือเพียง 3.8%

“ปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไป กนง.คาดว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอลงยังมากอยู่ โดยในรายละเอียดสำหรับภายในประเทศจะเป็นเรื่องการตั้งรัฐบาลและเบิกจ่ายเงินลงทุนต่างๆ จากเดิมในการประชุมครั้งที่แล้วกนง.คาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือนมิถุนายนและเบิกจ่ายได้ในเดือนตุลาคม แต่ครั้งนี้ก็คิดว่าไม่น่าจะทันและคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เป็นช่วงต้นปี 2563 แทน รวมทั้งยังต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไปอีกด้วยทั้งมาตรการเก่าและใหม่ ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นน้ำหนักความเสี่ยงที่สำคัญอย่างสงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอนสูงมาก และเริ่มส่งผลให้ส่งออกปรับลดลงมาค่อนข้างมากจนตอนนี้กลายเป็นไม่เติบโตแล้ว ถามว่าจะติดลบหรือไม่ ตัวเลขล่าสุดก็พบว่าส่งออกติดลบไปพอสมควร ดังนั้นถ้าจะให้ทั้งปีกลับมาไม่เติบโตส่วนที่เหลือของปีก็จะต้องกลับมาเป็นบวกอีก”

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยราคาอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องของระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วและแข็งค่านำเงินสกุลภูมิภาคเป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐ มีทิศทางอ่อนค่าลง การไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้น ๆ และปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด

“กนง.ส่งสัญญาณชัดเจนในครั้งนี้ว่าเห็นการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็วว่าเริ่มจะไม่สอดคล้องกับพื้นฐาน โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น กนง.ก็ได้หารือถึงสาเหตุและแนวทางอย่างกว้างขวาง แต่ถามว่ามาเก็งกำไรหรือไม่ คงแยกได้ยาก คือคนมาลงทุนเขาก็หวังกำไรกันทั้งนั้น แต่ส่วนหนึ่งก็มาพักเงินเพราะพื้นฐานของเศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็งกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งธปท.ก็ติดตามอย่างใกล้ชิดและมีเครื่องมือพร้อมดูแล ส่วนมาตรการที่จะดูแลคงยังบอกไม่ได้ แต่คงไม่ช้านี้” นายทิตนันทิ์ กล่าว

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต กนง.เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ภายหลังการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) มีผลบังคับใช้ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไปยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลายทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามแรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป