ThaiPublica > คนในข่าว > “วิษณุ เครืองาม” จาก “เนติบริกร” สู่ “กฎหมายเดินได้” ของ คสช.

“วิษณุ เครืองาม” จาก “เนติบริกร” สู่ “กฎหมายเดินได้” ของ คสช.

22 กรกฎาคม 2019


นายวิษณุ เครืองาม

นับว่าเป็นคนการเมืองที่ไม่ใช่นักการเมืองที่อยู่ยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ตั้งแต่เข้ามาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน ชื่อของ “วิษณุ เครืองาม” ปรากฏอยู่ข้างกายนายกรัฐมนตรีมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่บทบาทรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลที่ให้คำแนะนำและแก้ปัญหาทางกฎหมายอย่างหาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง

แน่นอนว่าเมื่อมีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ปะทุขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นความผิดในฐานกบฏล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชื่อของนายวิษณุ เครืองาม ปรากฏในทำเนียบอีกครั้ง เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบร่างคำสั่ง-คิดคำประกาศ แบบเรียบแต่ลึก ทุกคำ-ทุกข้อ ให้บริการระดับ “เนติบริกร” ยากที่ฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายที่ถูก “ยึด” จะลุกขึ้นมาแย้งได้

ภายหลังจากกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จใน 3 เดือนจนนำไปสู่การตั้ง “รัฐบาลรัฐประหาร” นายวิษณุ เครืองาม ได้รับการแต่งตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ “รองนายกรัฐมนตรี” รับผิดชอบดูงานด้านกฎหมายและแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อเนื่องยาวนานมาถึง 5 ปี โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางกฏหมายมาจัดการกับโจทย์ที่ถูกออกแบบไว้ล่วงหน้า รวมทั้งในระยะหลังๆ “คสช.และคณะ” ได้ดำเนินการในบางเรื่องที่อาจจะ “ค้านสายตา” และอาจจะถูกมองว่าน่าจะขัดต่อหลักกฎหมาย แต่ด้วยวาทกรรมในการชี้แจงของนายวิษณุจนดูเหมือนจะเป็น “กฎหมาย” ที่เดินได้ของประเทศและ คสช.ไปเสียแล้ว

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ารวมรวบผลงานค้านสายตาระดับ “โบว์แดง” ของนายวิษณุ เครืองามในช่วงที่ผ่านมา และตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ คสช. นายวิษณุจะให้คำแนะนำอย่างไร

นาฬิกาหรูของ”ประวิตร”

เรื่องแรกที่น่าจะเป็นเรื่องติดอันดับค้านสายตาอย่างชัดเจนคือปมนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เนื่องจากในอดีตเคยมีตัวอย่างเทียบเคียงที่ชัดเจนถึงการทำความผิดในลักษณะดังกล่าวที่อาจจะส่อไปถึงการทุจริตของนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุระบุว่า

“การป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็มีความเป็นศาสตร์และศิลป์ ซึ่งปัจจุบันในสังคมยังไม่เข้าใจถึงความหมายของการทุจริต จนเกิดความสับสนในเรื่องประพฤติทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น นากรณีฬิกา ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของการทุจริต ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน เพราะกฎหมายได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากไม่ยื่นก็ไม่ถือว่าทุจริต แต่จะผิดที่ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือหากยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ ก็ไม่ถือว่าทุจริตเช่นกัน แต่สุดท้ายจะโยงไปสู่การทุจริตหรือไม่ก็เป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ประชาชนกลับเข้าใจว่าเป็นเรื่องทุจริตทั้งที่เป็นคนละเรื่องเพียงแต่อยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันเท่านั้น”

อีกกรณีที่คล้ายกันคือปมของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือครองหุ้นเกิน 5% ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดห้ามรัฐมนตรีและคู่สมรสถือหุ้นเกิน 5% ในบริษัทเอกชนและไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่าประสงค์จะรับประโยชน์ในการถือหุ้น 2 บริษัทนี้

โดยนายวิษณุ ระบุว่า

“กรณีนายดอนไม่เหมือนกับคนอื่น เพราะนายดอนเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ตอนเป็น กฎหมายยังไม่ระบุเรื่องถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วพออยู่มามีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เรื่องนี้ออกมา นายดอนก็ไม่ได้ทำอะไร จึงทำให้เกิดปัญหาว่าผิดหรือไม่ผิด แต่หุ้นไม่ใช่ของนายดอน เป็นของภรรยา ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะกฎหมายบอกว่า ถ้าถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ จะต้องแจ้งประธาน ป.ป.ช. และโอนหุ้นนั้นให้คนอื่นจัดการ เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว… เรื่องนี้เป็นเพราะภรรยาของนายดอนมีมรดก จึงมาตั้งบริษัทภายในครอบครัวเพื่อทำคอนโดมิเนียม และถือหุ้นกันเองภายในพี่น้อง 7 คนโดยไม่มีคนอื่น เป็นการจัดการกันเองในครอบครัว ไม่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ฉะนั้น จึงมีการพูดถึงความสุจริต กกต.จึงได้ออกเสียง 2 ต่อ 2 จนประธาน กกต.ต้องชี้ขาด เป็น 3 ต่อ 2 ให้ศาลตัดสินเพื่อเป็นบรรทัดฐาน ว่าหุ้นที่เป็นบริษัทภายในกันเองเช่นนี้จะทำได้หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าภรรยานายดอนคงคิดว่าเป็นเรื่องมรดกภายในจึงไม่ได้แจ้ง”

คณะกรรมการสรรหาส.ว.

กรณีต่อไปคือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.ว่า การไม่ประกาศคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ลงราชกิจจานุเบกษาอาจจะผิดข้อกฎหมายหรือไม่ โดยนายวิษณุ กล่าวว่า

“รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่าด้วยเรื่องการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา โดยมาตรา 269 เขียนไว้เพียงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น ซึ่งที่ คสช.ยังไม่เปิดเผยหลังจากการแต่งตั้งในตอนต้น เพราะเกรงว่าจะเกิดการวิ่งเต้นขอตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบการสมัคร แต่ให้คณะกรรมการสรรหาไปเจาะหาตัวบุคคล

ขณะที่ในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามอีกครั้งว่ากรณีคำสั่ง คสช.เรื่องการคัดเลือก ส.ว.แต่ไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอาจจะทำให้ไม่มีผลทางกฎหมาย นายวิษณุตอบขยายความว่า

คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่ง ไม่ใช่กฎหมาย ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นขั้นตอนภายในไม่เกี่ยวกับประชาชน… แต่ถ้าการสรรหาใช้วิธีสมัครต้องประกาศให้ประชาชนรู้ว่าสมัครกับใคร ที่ไหน อย่างไร ดังนั้นเมื่อเป็นการสรรหาเป็นขั้นตอนภายใน จึงไม่ต้องประกาศ การประกาศหรือไม่ประกาศไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย และบัดนี้ได้มีการแจกจ่ายกันไปแล้ว… ถ้าอะไรที่มีผลเกี่ยวกับประชาชนนั้นใช่ แต่คำสั่งนี้จะถือว่าเกี่ยวกับประชาชนไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนจะมาสมัครอะไรทั้งสิ้น การจะรู้หรือไม่รู้ว่าใครเป็นกรรมการสรรหา ไม่ทำให้ประชาชนได้เปรียบหรือเสียเปรียบ”

“ประยุทธ์” เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่!

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องฐานะของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ รวมไปถึงกรณีระหว่างเปลี่ยนผ่านรัฐบาลว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมที่ยังทำหน้าที่ได้หรือไม่ โดยในกรณีแรกนายวิษณุตอบ ฐานะของหัวหน้า คสช.ว่า

“มาตรา 98 (15) ที่ระบุว่า เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในกรณีนี้ คสช.เป็นแค่องค์กรชั่วคราวที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีมติในปี 2557 ออกมาแล้วว่า คสช.ไม่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นองค์กรที่ตั้งมาชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ต่อมาภายหลังมีผู้ท้วงติงว่าการอ้างคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.นั้นเป็นเพียงความเห็นขององค์กรอิสระแต่ไม่ใช่กฎหมาย นายวิษณุก็ออกมาตอบอีกครั้งว่า

“ตามมาตรา 19 (15) เคยมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ว่าต้องแปลในลักษณะที่แคบที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ในครั้งนั้น กกต.ได้วินิจฉัยไปก่อนว่ามีกรรมการของราชการ 20 ตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พอไปถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรรมการทั้งหลายอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐในความหมายทั่วไป แต่เอามาใช้ในเรื่องการจำกัดตัดสิทธิตามมาตราดังกล่าวจะต้องแปลที่เคร่งครัดว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เมื่อคนเหล่านี้จะทำงานอะไรเป็นการทำงานในลักษณะคณะกรรมการทำร่วมกัน ไม่ได้ใช้อำนาจโดดๆ ของตนเองตามลำพังเหมือนเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งหลาย คณะกรรมการ 20 คณะนี้จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรานี้ คสช.ยังไม่เคยมีการเทียบ แต่ถ้าจะตัดสินคงจะเทียบกันได้”

ส่วนประเด็น “ฐานะนายกรัฐมนตรี” นายวิษณุระบุว่า

“ผมไม่เคยบอกว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านเป็นตามมาตรา 98 (12) ดังนั้นเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผมไม่เคยพูดกลับไปกลับมา ไม่เคยตอบว่าวันหนึ่งนายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาอีกวันหนึ่งบอกว่าไม่ได้เป็น เพราะถึงอย่างไรนายกฯ ก็เป็น ท่านเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะเป็นนายกฯ ถ้านายกฯ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วจะเป็นอะไร การที่มีคนบอกว่าถ้าอย่างนั้น นายกฯ ก็ลงสมัครหรือรับการเสนอชื่อไม่ได้ มันไม่ใช่… แต่บังเอิญรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (12) ระบุไว้ว่า คนที่จะสมัคร ส.ส.หรือ ส.ว.หรือผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องไม่ขัดกับมาตรา 98 (12) ที่เขียนว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการ ยกเว้นข้าราชการการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นข้าราชการการเมือง เพราะฉะนั้นจึงได้รับการยกเว้นว่าสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไปเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีได้ แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรานี้”

ขณะที่กรณีที่สองเรื่องอำนาจของ ครม. นายวิษณุระบุว่า

“มันไม่ใช่สิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า caretaker government แต่เป็น full powers government เพราะกรณีรัฐบาลรักษาการณ์นั้นจะใช่ต่อเมื่อรัฐบาลมีการยุบสภา เมื่อรัฐสภาสิ้นสุด รัฐบาลต้องสิ้นสุดด้วย เพราะสภาเป็นคนตั้งรัฐบาล เมื่อยุบสภา ส.ส.กลับบ้านไปหาเสียงได้ แต่รัฐบาลกลับบ้านไม่ได้ เพราะประเทศต้องมีรัฐบาล จะว่างเว้นไม่ได้แม้แต่วันเดียว ดังนั้น รัฐบาลหลังการยุบสภาจึงเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่กรณี ครม.ชุดนี้เป็น ครม.เต็ม ไม่ได้มีข้อจำกัดบทบาทอำนาจใดๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ได้จำกัดไว้โดยขนบธรรมเนียมประเพณีใดๆ ด้วย… แล้วตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีบทเฉพาะกาลเขียนว่าให้ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงเป็น ครม.ต่อไป จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ”

รมต.เคยถูกสั่งจำคุก ขาดคุณสมบัติหรือไม่

ในกรณีล่าสุดเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ครม.ใหม่ ซึ่งมี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่มีประเด็นคดียาเสพติดจนถูกศาลออสเตรเลียสั่งจำคุกนายวิษณุกล่าวว่า

“มันจะไม่มีผลในส่วนของคุณสมบัติว่าต้องคดีอะไร แต่ข้อที่จะต้องมาดูในเรื่องของความประพฤติมาตรฐานจริยธรรมอีกเรื่องหนึ่ง ในอดีตเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าไปต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ มี ส.ส.ขนยาเสพติดเข้าฮ่องกง ซึ่งมันไม่มีผลกระทบส่วนของไทย แต่จะกระทบเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศอะไรก็อาจจะเป็นข้อห้ามอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าเอาข้อหาตรงนี้มาใช้ไม่ได้ ข้อหาอาจตรงแต่ศาลไทยไม่ได้ตัดสิน”

ขณะที่วันต่อมา นายวิษณุอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

“ข้อกฎหมายกับเรื่องความเหมาะสมเป็นคนละเรื่อง ซึ่งการที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นหลักฐานตรวจสอบจริยธรรมถือเป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้าน แต่หากไล่ดูจากลักษณะต้องห้ามการสมัคร ส.ส. มาตรา 98 และการสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. มาตรา 101 ใช่ก็ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ และคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี มาตรา 160 ดูแล้วก็ไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนมีความเหมาะสมหรือไม่ คนที่จะตัดสินชี้ขาด คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะในชั้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่ได้”

ปัดตอบไทยรักษาชาติ ชูทูลกระหม่อมฯ

อย่างไรก็ตาม มีอยู่เพียงครั้งเดียวในรัฐบาลของคสช.ที่นายวิษณุ ไม่มีคำตอบหรือความเห็นใดๆ จนผู้สื่อข่าวต้องถามอยู่หลายครั้ง แตกต่างจากที่ผ่านมาที่คำตอบมักจะพรั่งพรู คือประเด็นที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดีเป็นรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคตนเอง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยนายวิษณุกล่าวว่า

“ไม่ตอบครับ โอเคครับ คือไม่มีอะไรจะตอบ ผมก็ดูโทรทัศน์เหมือนกับคุณ (ผู้สื่อข่าว: เรื่องข้อกฎหมายที่จะขัดคุณสมบัติ..) ไม่มีความเห็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอะไรทั้งสิ้น ถ้าผมตอบได้ผมตอบไปแล้ว ผมตอบไม่ได้ ผมเลยขอไม่ตอบ (ผู้สื่อข่าว: เรื่องคุณสมบัติ..) ไม่ทราบ ไม่ตอบอะไรเลย… (ผู้สื่อข่าว: เคยมีประวัติศาสตร์แบบนี้ในไทยหรือไม่) ไม่ทราบฮะ”