ThaiPublica > เกาะกระแส > EIC ลด GDP ไทยปี’62 เหลือ 3.1% ส่งออกติดลบจากสงครามการค้า ประเมินธปท. เผชิญความท้าทายในการพยุงค่าเงินบาท

EIC ลด GDP ไทยปี’62 เหลือ 3.1% ส่งออกติดลบจากสงครามการค้า ประเมินธปท. เผชิญความท้าทายในการพยุงค่าเงินบาท

9 กรกฎาคม 2019


ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center
ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน เปิดเผยว่า EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมาที่ 3.1% จาก 3.3% สงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก และปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเป็นหดตัว 1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 0.6% หลังจากการส่งออกของไทยในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาติดลบอย่างต่อเนื่อง 4.9% และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว อีกทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลงทุนภาคเอกชนให้ชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนเพื่อการส่งออก ซึ่งการส่งออกยังมีโอกาสหดตัวได้มากถึง 3.1%ในกรณีเลวร้ายสุด

เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการค้าและการลงทุนของโลกที่ชะลอลงจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% ในส่วนของสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ จีนก็มีมาตรการตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ มูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 5-25% เช่นกัน และแม้ล่าสุดจากการประชุม G20 ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ทางจีนและสหรัฐฯ ได้พักรบจากการขึ้นภาษีลงชั่วคราว แต่ยังมีโอกาสที่จะกลับมาปะทุและทวีความรุนแรงในช่วงข้างหน้า

“แม้ว่าล่าสุดหลังการประชุม G20 สถานการณ์ด้านสงครามการค้าจะปรับตัวดีขึ้นบ้างจากการที่สหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าของจีน แต่ความเสี่ยงด้านสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยอาจเพิ่มความรุนแรงได้เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจากการศึกษาผลประมาณการภายใต้สมมุติฐานต่าง ๆ (Scenario analysis) ของ EIC พบว่าในกรณีเลวร้ายที่สุด (สถานการณ์ด้านสงครามการค้าแย่ลงมากกว่าที่คาดไว้เพิ่มเติม) ในปี 2562 การส่งออกของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวมากถึง 3.1% และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงมาอยู่ที่ 2.7%”

ผลกระทบของสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยธนาคารโลกได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงมาที่ 2.6% ซึ่งต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 2015-2018 ที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.9% ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนี้ส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจไทยแม้มีโอกาสในการส่งออกสินค้าทดแทนในตลาดจีนและสหรัฐฯกับบริษัทบางส่วนมีการย้ายฐานการผลิตมาไทย แต่เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวโดยจะเติบโตเพียง 6.2% ก็มีผลต่อการท่องเที่ยวไทยทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวของทั้งปีลงมาที่ 40.1 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ 4.8% และลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการชะลอของเศรษฐกิจในหลายประเทศและการแข็งค่าของเงินบาท สำหรับนักท่องเที่ยวจีนในปี 2018 มีจำนวน 7.4 ล้านคน ส่วนในรอบ 4 เดือนแรกปีนี้ลดลง 3.4 ล้านคน

นอกจากนี้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น การค้าและการลงทุนโลกชะลอยังมีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยนักลงทุนจีนชะลอการลงทุนในภาคอสังหาฯ ส่งผลให้ยอด presales คอนโดส่วนหนึ่งหายไปของกำลังซื้อจากจีน จากปกติแล้วการซื้อคอนโดของนักลงทุนต่างชาติในไทยโดยรวมมีสัดส่วน 28% ของการซื้อคอนโดทั้งหมด ซึ่งการซื้อคอนโดของนักลงทุนจีนมีสัดส่วนกว่า 40% ของการการซื้อคอนโดของนักลงทุนต่างชาติและมีผลต่อเนื่องกับภาคก่อสร้าง การขออนุมัติก่อสร้างลดลง เพราะหลายโครงการชะลอการเปิดตัว แต่การลงทุนด้านการก่อสร้างยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ประมาณ 7.0%

ทางด้านการใช้จ่ายภาคเอกชน มีทิศทางชะลอตัวจากปีก่อนมาอยู่ที่ 3.9% ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายสินค้าคงทนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 78.7% ของ GDP รวมทั้งมีความเสี่ยงที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ภาคเกษตรที่ติดลบต่อเนื่อง

การเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยให้ประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ต่อเนื่อง แม้การจัดทำงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้าออกไปประมาณ 3เดือน จะทำให้งบลงทุนที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพันไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนบางส่วน แต่ก็คาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมาคิดเป็นเม็ดเงินราว 20 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 0.06% ของ GDP

ในไตรมาสที่ 2 รัฐบาลได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมคิดเป็นเม็ดเงินราว 18 พันล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนและช่วยให้เศรษฐขยายตัวได้ 0.05% ของ GDP

ดร.ยรรงยงกล่าวว่า EIC มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงทรงตัวที่ 1.75 % ในปีนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทย ยังต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้ความสามารถและความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีไม่มากเท่าประเทศอื่นแต่มี downside risk ที่ ธปท. อาจลดดอกเบี้ยมากขึ้น หากเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ขยายตัวต่ำกว่า 3%

ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยแม้ว่ารัฐสภาจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว แต่รัฐบาลใหม่ยังมีความท้าทายอีกมาก ทั้งในเรื่องของเสถียรภาพและความสามารถในการผลักดันนโยบาย เนื่องจากเสียงระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน และยังรวมถึงการประสานแนวนโยบายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลทั้งในมิติของวิธีการดำเนินนโยบายและเป้าประสงค์ของนโยบาย โดยความไม่แน่นอนด้านนโยบายดังกล่าวจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงอาจมีผลต่อการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้

เงินบาทแข็งค่าสะสมตลอด 5 ปี

นอกจากนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับทั้งสกุลเงินดอลลำร์สหรัฐฯ และเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าโดยรวม ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทไม่ได้ขยายตัวมากนัก

ดร.ยรรยงกล่าวตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 3% ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆเมื่อเทียบกับหลายสกุล โดยแข็งค่า 13% เทียบกับตะกร้าเงินของคู่แข่งและคู่ค้าโดยรวม ซึ่งการสะสมของการแข็งค่าของเงินบาทมีผลต่อการส่งออก รายได้ผู้ประกอบการในรูปเงินบาทน้อยลง สาเหตุหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าคือปัจจัยพื้นฐาน ไทยมีการออมมากกว่าการลงทุนซึ่งเห็นได้ชัดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 7% ของ GDP

ปีนี้ EIC มองว่า เงินบาทจะยังคงแข็งค่าที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ อยู่ในโซนแข็ง และเชื่อว่าที่ 30 บาทคงเป็นโซนที่แบงก์ชาติคงเข้าไปดูแลไม่ให้ต่ำกว่านี้ และเหตุที่เงินบาทยังแข็งต่อเพราะเงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะทรงตัว รวมทั้งยังมีปัจจัยภายในที่ทำให้เงินบาทกลายเป็น Safe Haven currency หรือ สกุลเงินที่มีความปลอดภัย

“เงินบาทยังได้กลายเป็น Safe Haven Currency ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ Emerging Market เพราะทุกครั้งที่ค่าเงินประเทศ EM ผันผวนหรือมีข่าวร้าย ก็จะมีเงินไหลเข้าไทย เนื่องจากเข้ามาในไทยดอกเบี้ยไม่สูงแค่ 1.75% แต่นักลงทุนค่อนข้างมั่นใจว่าเงินบาทจะไม่อ่อน และคนที่เชื่อแบบนี้ก็เพิ่มขึ้้น safe haven currency ก็เกิดขึ้น และหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ยังคงได้ผลตอบแทนจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ย” ดร.ยรรยงกล่าว

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าเงินไหลเข้ามาทำไม ในเมื่อการส่งออกของไทยแย่ลง เหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 7% ของ GDP สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมาก ในปีที่แล้วสหรัฐฯได้ขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งและประเทศอื่นๆก็ขึ้นดอกเบี้ยตามเพราะค่าเงินอ่อน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลียอ่อนไปเยอะมาก แต่ไทยปรับนิดเดียวช่วงปลายปี เพราะค่าเงินบาทแข็ง

ปีนี้ตรงข้ามเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยปีนี้ หลายประเทศก็ต้องลดดอกเบี้ย โดยอินเดียได้ลดลง 2 ครั้งแล้ว มาเลเซียก็ลดลงแล้ว เพื่อดูแลไม่ไม่ให้ค่าเงินแข็งเกินไป และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าในระยะต่อไปคาดการณ์ยาก แต่ทางการมีนโยบายดูแลหลากหลายทั้ง ดอกเบี้ย การเข้าไปดูค่าของเงิน แต่ละเครื่องมือมีข้อจำกัดในตัวเอง ต้องใช้ผสมผสานกัน อย่าใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไป

มาตรการดูเแลเงินทุนขาเข้ามีทั้งมาตรการภาษี กำหนดเวลาการถือครอง และลดปริมาณพันธบัตร แต่มาตราการเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง ปกติประสิทธิภาพของมาตรการจะไม่ค่อยมีในระยะยาว แม้ในระยะสั้นจะมีประสิทธิภาพ แต่นักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงได้ และประสิทธิภาพจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าจะทำให้มีประสิทธิผลมากๆ ก็ต้องทำแรง แต่การทำแรงจะมีผลข้างเคียงมา เงินไหลเข้าอาจจะน้อยลงและมีผลต่อความเชื่อมั่น เศรษฐกิจในด้านอื่น

ด้านการเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน ดร.ยรรยง กล่าวว่า ธปท. ยังต้องเผชิญความท้าทายในการพยุงค่าเงินบาท หลังไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกจัดเป็น currency manipulator หรือ การขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน

เกณฑ์จากการจัดเป็น currency manipulator โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ หนึ่ง เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯเกิน20,000 ล้านดอลลาร์ สอง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกิน 2% ของ GDP และสาม ธนาคารกลางมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องและทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเกิน 2% ของ GDP

เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านไทยเข้าเกณฑ์นี้แต่ไม่ถูกจัดว่าเป็น currency manipulator เพราะไทยไม่ได้อยู่ในในกลุ่มประเทศคู่ค้าใหญ่ 12 อันดับแรกกับสหรัฐฯ แต่เป็นคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้ากับสหรัฐฯสูงเป็นอันดับที่ 21 แต่ล่าสุดสหรัฐฯประกาศว่าจะพิจารณาประเทศที่มีมูลค่าการค้าขายกับสหรัฐฯสูงใน 21 อันดับแรก อีกทั้งไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯสูงเป็นอันดับที่ 11