ThaiPublica > เกาะกระแส > SCB EIC คาดเศรษฐกิจปี’61 โต 4% – กำลังซื้อแรงงานติดขัด-รายได้ลูกจ้างภาคการผลิตกับท่องเที่ยวหดตัว

SCB EIC คาดเศรษฐกิจปี’61 โต 4% – กำลังซื้อแรงงานติดขัด-รายได้ลูกจ้างภาคการผลิตกับท่องเที่ยวหดตัว

3 เมษายน 2018


ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าว มุมมองเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2561 ว่า อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2018 โตต่อเนื่องที่ 4.0% จาก 3.9% ในปีก่อน ตามกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น พื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้

คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจปี 2018

“อีไอซีคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 4% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีและดีกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 3.9% โดยเติบโตได้จากภาคต่างประเทศ คือการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักสนับสนุน” ดร.ยรรยง กล่าว

ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยปี 2018

เศรษฐกิจโลกขยายตัวพร้อมกันทุกภูมิภาคของโลกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและตลาดแรงงานที่ตึงตัวในหลายภูมิภาค พร้อมกับมีสัญญาณเงินเฟ้อกลับมาในหลายจุดของโลก

เศรษฐกิจโลกขยายตัวพร้อมกับสัญญาณเงินเฟ้อกลับมา

ด้านนโยบายการเงินของธนาคารหลักทั่วโลกเริ่มมีสัญญาณตึงตัวขึ้นชัดเจน โดย Fed ยังมีแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างต่ำ 3 ครั้งในปีนี้จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มเข้าสู่เป้าหมาย 2% ในขณะที่ ECB และ BOJ แม้จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้คงที่ แต่การเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) นั้นจะมีแนวโน้มสิ้นสุดลงสำหรับ ECB ในปีนี้ ทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวของโลกเข้าสู่ช่วงวัฏจักรขาขึ้นอย่างชัดเจน

การส่งออกดึงการลงทุนเอกชน

การส่งออกไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 13.8% จากภาคการผลิตโลกที่เติบโตต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันดิบและสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบโลกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยกว่า 22.0% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันขยายตัวสูงถึง 15.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างข้าวและมันสำปะหลังขยายตัวตามราคาตลาดโลก ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักของไทย เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ก็เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งสอดคล้องกับภาคการผลิตโลก

อีไอซีประเมินมูลค่าการส่งออกปี 2018 ขยายตัวที่ 5.0% จากปีก่อน โดยเป็นการเติบโตที่กระจายตัวในหลายหมวดสินค้า เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในปีนี้จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทยขยายตัวได้ต่อ ราคาน้ำมันดิบและสินค้าเกษตรบางรายการที่เพิ่มขึ้นก็จะสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้เติบโตด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าความเสี่ยงต่อการส่งออกมีเพิ่มขึ้นจากเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งกระทบโดยตรงต่อกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออก โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล และยางพาราที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าน้อย จึงไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่ามากนัก

ทางด้านการท่องเที่ยวคาดว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 38.2 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 7.9% จากปีก่อน

ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในปี 2018 ได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตที่ต่อเนื่องในภาคการส่งออก ที่มีผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้น รวมไปถึงปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะความชัดเจนที่มีเพิ่มขึ้นของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) หลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านการอนุมัติให้เป็นกฎหมาย อีกทั้งประเด็นความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวก็ลดลงหลังมีการผ่อนคลายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทั้งจากการเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวรวมถึงการปรับลดบทลงโทษที่เกี่ยวข้อง

การก่อสร้างเติบโตทั้งในการลงทุนภาครัฐและเอกชน

“การลงทุนในประเทศพื้นตัวชัดเจนโดยภาครัฐมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องจากที่ชะลอมาจากปีก่อนบางส่วน ปีนี้เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐจะออกมาในโครงการใหม่ ทั้งรถไฟฟ้า สนามบิน รถไฟรางคู่ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60-70% ของกำลังการผลิตโดยรวม แม้จะไม่มากแต่ก็สูงกว่าช่วง 2 ปีก่อนที่อยู่ในระดับ 60% โดยการลงทุนในภาครัฐและเอกชนที่ดีขึ้นเห็นได้ชัดคือ การก่อสร้าง ทั้งการก่อสร้างในโครงการรัฐและการก่อสร้างในโครงการเอกชนประเภทอาคารที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานและอาคารเพื่อการพาณิชย์” ดร.ยรรยง กล่าว

บริโภคกระจุก-แรงส่งเศรษฐกิจไม่ถึงตลาดแรงงาน

ดร.ยรรยง กล่าวว่า การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญ สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนนำโดยยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตได้ในระดับสูงในช่วงต้นปี 2018 แต่มีแนวโน้มกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูง เพราะการใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีข้อจำกัด ทั้งจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังไม่ชัดเจน ดูได้จากอัตราการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ขณะที่จำนวนการจ้างงานแบบล่วงเวลาลดลง ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานมากนัก

นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรในบางหมวดที่ลดต่ำลง ส่งผลให้การบริโภคในกลุ่มสินค้าไม่คงทนขยายตัวในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐในปีนี้

ดร.ยรรยง กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนยังคงกระจุกตัวในกลุ่มรายได้ระดับสูง โดยเมื่อพิจารณาจากการะหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2017 ที่เริ่มปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 77.5% ของจีดีพีเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากที่ปี 2016-2017 เป็นช่วงที่ครัวเรือนปรับปรุงสถานะการเงินด้วยการลดภาระหนี้จากที่เคยสะสมถึง 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2015 หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นการเพิ่มขึ้นของการกู้ซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าคงทน สะท้อนกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง-สูง และยังสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่ต่อการจ้างงานและระดับรายได้ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ ที่ระดับรายได้ยังไม่เพิ่มขึ้นและกลับลดลง

ภาระหนี้ครัวเรือนเริ่มขยับ ณ ไตรมาส 4 ปี 2017

โดยรายได้คนไทยที่เป็นลูกจ้างในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2017 หดตัวเล็กน้อยในอัตรา 0.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากจำนวนการจ้างงานของลูกจ้างในภาพรวมที่ลดลง 0.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ระดับ 0.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

กำลังซื้อลูกจ้าง

เมื่อพิจารณาแยกตามภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคที่รายได้ลูกจ้างขยายตัวได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการจ้างงานและค่าจ้างในภาคเกษตรและการค้าส่งค้าปลีก โดยภูมิภาคที่รายได้ลูกจ้างเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ได้แก่ ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น 4.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ภาคเหนือตอนบนเพิ่ม 4.5% ภาคใต้ฝั่งอันดามันเพิ่ม 2.4% ส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น 2.0% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 0.8% และภาคตะวันออก 0.1% ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ลูกจ้างในภาคเกษตรที่ขยายตัวถึง 6.8% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจากทั้งจำนวนการจ้างงานและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 5.4% และ 1.3% ตามลำดับ

แต่มีหลายภูมิภาคที่รายได้ลูกจ้างลดลงตามการหดตัวของกิจกรรมภาคการก่อสร้าง และการไม่ส่งผ่านการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมไปยังลูกจ้าง เป็นผลจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยที่หนึ่ง คือ รายได้ลูกจ้างในภาคการก่อสร้างที่หดตัวถึง 13.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกิจกรรมภาคการก่อสร้างที่ชะลอตัว

รายได้ลูกจ้างตามภูมิภาค

ปัจจัยที่สอง คือ การไม่ส่งผ่านการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมไปยังลูกจ้างในสาขาธุรกิจที่มีการขยายตัวได้ดี ได้แก่ ภาคการผลิตและการท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว 9.3% และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 5.4% ในช่วงเดียวกัน แต่ในทั้ง 2 สาขากลับมีการจ้างงานลูกจ้างที่ลดลงขณะที่ค่าจ้างทรงตัว สะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์จากการเติบโตของกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ยังไม่ถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มลูกจ้าง ส่งผลให้รายได้ลูกจ้างในทั้ง 2 สาขาหดตัวในอัตรา 2.2% และอัตรา 0.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

รายได้ลูกจ้างคนไทยที่ชะลอตัวในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราการว่างงานที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของแรงงานบางส่วนอ่อนแอและยังไม่ได้มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนนัก โดยอัตราการว่างงานปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.3% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2018 ต่อเนื่องจาก 1.18% ของกำลังแรงงาน ณ สิ้นปี 2017 จำนวนผู้ว่างงานในปี 2017 เพิ่มขึ้นกว่า 73,200 คน ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา

“การว่างงานอยู่ที่ระดับ 1.3% ถือว่าไม่สูง แต่มีทิศทางที่สูงขึ้น โดยคนว่างงานมีจำนวนเกือบ 5 แสนคน ขณะเดียวกัน ผู้มีงานทำที่ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีจำนวนต่ำกว่าคาด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน จึงส่งผลให้การบริโภคกระจุกตัว เพราะการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไม่ส่งผ่านไปตลาดแรงงานมากนัก” ดร.ยรรยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเดือนมกราคม 2018 พบว่าค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างทั้งประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 2.6% จากเดือนเดียวกันในปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นในหลายสาขาธุรกิจพร้อมกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อกำลังซื้อในช่วงเริ่มปี 2018 แต่ทั้งนี้ต้องติดตามข้อมูลในรายละเอียดว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในภาพรวมนั้นจะมีการกระจายตัวไปในทุกภูมิภาคหรือไม่ และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างนั้นจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อกำลังซื้อภาพรวม

จับตา 3 ความเสี่ยง

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2018 น่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมไม่มากนัก แต่บางสาขาธุรกิจควรเพิ่มความระมัดระวัง ประการแรก มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบางกลุ่มสินค้าของไทย ได้แก่ แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียม ตลอดจนสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน แต่สินค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนน้อยในมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อภาพรวมการส่งออกจะเพิ่มสูงในกรณีที่มีมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าต่างๆ จนนำไปสู่สงครามการค้าในวงกว้าง

“มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีผลต่อธุรกิจ แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียม ไม่กระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทย เพราะมีสัดส่วนเพียง 0.6% ของการส่งออกรวม อีกทั้งผู้ประกอบการน่าจะหาตลาดอื่นมาทดแทนได้ โดยเฉพาะแผงโซลาร์ที่ตลาดโลกยังมีความต้องการอีกมาก นอกจากนี้ ผลกระทบนั้นยังอยู่ในระดับที่ธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนเหล็กนั้นเห็นได้ว่าสหรัฐฯ เองมีการเจรจายกเว้นให้กับหลายประเทศด้วยกัน สะท้อนว่าสหรัฐฯ ก็มีความยืดหยุ่นที่จะเจรจา” ดร.ยรรยง กล่าว

มาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ

ประการที่สอง การแข็งค่าและความผันผวนของค่าเงินบาทที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากภาคเกษตร ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 13% จากสิ้นปี 2016 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าในช่วงไตรมาสแรกปี 2018 โดยปิดตลาด ณ วันที่ 22 มีนาคม 2018 อยู่ที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 4.5% จากต้นปี โดยการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก เพราะต้นทุนการผลิตของไทยที่วัดจากเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับไม่สูง ขณะเดียวกันรายได้ของตลาดคู่ค้าก็ยังดี”

อีไอซีมองว่า ณ สิ้นปี 2018 ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้อีกเล็กน้อย อยู่ที่ราว 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจทำให้เงินบาทผันผวนไปจากที่ประเมินได้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญยังคงเป็นมูลค่าการส่งออกไทย และแนวโน้มการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพราะจะมีผลต่อปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุน โดยปัจจัยทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดและความต้องการถือเงินบาท ส่วนความเสี่ยงต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น มาจากการปรับนโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วหรือมากกว่าที่ตลาดคาดไปมาก ก็อาจส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตก (market panic) เงินทุนเคลื่อนย้ายจึงอาจไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างรวดเร็ว

“ในปี 2017 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 49,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 10.8% ของจีดีพี ถือว่าเกินดุลสูงที่สุดในโลก ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็น 10.5% ขณะเดียวกันสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันได้ถึง 4.2% แต่ในปีนี้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงเป็น 8% ของจีดีพี” ดร.ยรรยง กล่าว

ประการที่สาม ความผันผวนทางการเงินของโลกอันเป็นผลมาจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้าสู่สมดุล (monetary policy normalization) ของเศรษฐกิจสำคัญนำโดยสหรัฐฯ ที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินของโลกลดน้อยลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินทรัพย์และกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศได้ อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าเสถียรภาพของฐานะการเงินด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง และสภาพคล่องที่เพียงพอในระบบการเงินของไทย จะช่วยเป็นกันชนรองรับความผันผวนของภาวะการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้

แม้อีไอซีประเมินว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในปี 2018 แต่ก็มองว่ามีโอกาสมากขึ้นที่ กนง. อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยในการประชุมครั้งล่าสุดนั้น กนง. ได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าการดำเนินนโยบายการเงินจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ปัจจัยที่ทำให้ กนง. จะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี ได้แก่ หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปัจจุบันยังอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% ซึ่งแม้ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น อาจไม่จำเป็นต้องรอให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าใกล้ค่ากลางที่ 2.5% ก่อนที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่อย่างน้อยคงพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อได้ปรับขึ้นสูงกว่าขอบล่างของเป้าหมายไประยะหนึ่ง สอง ช่องว่างการผลิต (output gap) ที่ยังเปิดอยู่ โดยการประมาณการของ กนง. ณ ธันวาคม 2017 สะท้อนว่ามีแนวโน้มที่จะทยอยปิดในครึ่งหลังของปี ดังนั้น หาก กนง. ประเมินว่าปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินยังไม่รุนแรงหรือยังสามารถจัดการได้โดยมาตรการ macro prudential แก้ไขปัญหาเฉพาะจุด ก็จะทำให้ กนง. เสียงส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อให้เข้มแข็งมากขึ้น

สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ การสื่อสารของ กนง. ต่อประเด็นน้ำหนักของเป้าหมายด้านต่างๆ ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยเฉพาะความสำคัญและความเสี่ยงเชิงเปรียบเทียบระหว่างการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งหาก กนง. ประเมินจากข้อมูลที่มีว่า ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะการเงิน ในระดับผ่อนคลายมากเป็นประเด็นที่จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่าในระยะข้างหน้าเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ กนง. ก็อาจตัดสินใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจยังอยู่ต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในวัฏจักรรอบนี้ของ กนง. จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะมีการสื่อสารล่วงหน้า เพื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวต่อภาวะการเงินที่จะทยอยตึงตัวขึ้นได้อย่างเหมาะสม

นโยบายรัฐช่วยหนุนกำลังซื้อชั่วคราว

ในปี 2018 รัฐบาลได้ออกมาตรการและมีนโยบายเพื่อสนับสนุนกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย โดยนโยบายสำคัญที่จะผลในปีนี้ ได้แก่ หนึ่ง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ สอง โครงการประชารัฐสวัสดิการ สาม โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
อีไอซีมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจไม่ช่วยกำลังซื้อโดยรวมมากนัก หากจำนวนผู้มีงานทำยังน้อยลง การปรับขึ้นครั้งนี้จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 315.97 บาทต่อวัน ซึ่งจะมีแรงงานลูกจ้างรายวัน (daily workers) ทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านคนหรือ 12% ของแรงงานทั้งหมดที่จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยจะส่งผลให้ค่าจ้างต่อวันสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ขยับขึ้นราว 3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ผลบวกของการปรับขึ้นของค่าจ้างอาจถูกลดทอนลง หากกำไรธุรกิจอ่อนไหวกับค่าจ้างแรงงาน อาจส่งผลให้ธุรกิจลดการจ้างงานเพื่อชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ในภาพรวมของกลุ่มลูกจ้างไม่เพิ่มขึ้น

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

โดยหากดูในปี 2017 ที่มีการปรับค่าจ้างขึ้นระดับใกล้เคียงกันพบว่า แม้ค่าจ้างขั้นต่ำจะถูกปรับเพิ่มขึ้นราว 2% จากปีก่อน แต่การจ้างงานของแรงงานกลุ่มนี้กลับลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นในขณะที่อัตราการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลในลักษณะที่คล้ายกันกับการขึ้นค่าจ้างในปี 2017 และแตกต่างจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2012 ที่ตลาดแรงงานในภาพรวม (แรงงานทุกประเภทรวมถึงลูกจ้างรายวัน) ยังขยายตัวในช่วงก่อนการปรับค่าจ้างสะท้อนถึงความต้องการแรงงานที่ยังมีเพิ่มขึ้น ทำให้ถึงแม้จะมีการปรับค่าจ้างขึ้นถึง 39.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่การลดลงของการจ้างงานในกลุ่มนี้ไม่มากนัก ส่งผลให้กำลังซื้อรวมของแรงงานในกลุ่มดังกล่าวยังเติบโตได้

โครงการประชารัฐสวัสดิการ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 1)
อีไอซีมองว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยได้ในระยะสั้น โดยมีผลต่อแต่ละกลุ่มรายได้ที่ต่างกัน จากผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 11.4 ล้านคน อาจแบ่งผลต่อผู้มีรายได้น้อยได้เป็น 2 กลุ่ม สำหรับกลุ่มแรกที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีนั้น การได้รับวงเงินการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 200 บาทต่อเดือนอาจไม่ได้ส่งผลให้การบริโภคของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมีสัดส่วนราว 3.7% ของรายได้ทั้งปีเท่านั้น

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงินเข้าบัตรสวัสดิการ 300 บาทต่อเดือน หรือ 3,600 บาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13.6% ของรายได้ทั้งปี ถือเป็นสัดส่วนสำคัญที่อาจทำให้กลุ่มนี้สามารถนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายในส่วนอื่นเพิ่มเติมขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวงเงินช่วยเหลือด้านค่าเดินทาง 500 บาทต่อเดือนสำหรับค่ารถเมล์ รถไฟ และรถทัวร์ อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนักในการใช้จ่ายแต่ละเดือน โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถส่วนตัวและเสียค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าน้ำมันเป็นหลัก

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2)
การพัฒนาทักษะของผู้มีรายได้น้อยพร้อมให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจะช่วยส่งเสริมกำลังซื้อในระยะสั้น โดยจะมีผลผ่านช่องทางการให้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมจากโครงการระยะที่ 1 อีก 100-200 บาทต่อเดือนสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เข้าอบรม ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินในส่วนนี้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจราว 14,000 ล้านบาทในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายนของปีนี้ นอกจากนี้ การเข้าฝึกอบรมจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยบางส่วนหางานทำได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกำลังซื้อเช่นกัน ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าในระยะสั้นจะเป็นในส่วนของงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูง ได้แก่ แรงงานทั่วไปและพนักงานบริการหรือพนักงานขาย ซึ่งจากข้อมูลของกรมการจัดหางานพบว่ามีความต้องการแรงงานในอาชีพดังกล่าวอยู่เฉลี่ยราว 10,00-20,000 อัตราต่อเดือน

ผลสำเร็จของโครงการระยะที่ 2 นี้ยังมีข้อควรพิจารณาในอีกหลายด้าน ได้แก่ หนึ่ง ตำแหน่งงานว่างในปัจจุบันมีอยู่อย่างจำกัดโดยจากข้อมูลกรมการจัดหางาน ณ ปี 2017 มีตำแหน่งงานว่างเพียง 34,000 ตำแหน่งโดยเฉลี่ย หรือข้อมูลจากเว็บไซต์หางานอย่าง Jobsdb.com และ Jobsthai.com ณ 12 มีนาคม 2018 มีตำแหน่งงานว่างเพียง 19,000 และ 90,000 ตำแหน่ง ตามลำดับ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่รัฐตั้งเป้าไว้ราว 5 ล้านคน

สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

สอง การเข้าสู่ตลาดแรงงานอาจเผชิญกับปัญหาทักษะของแรงงานไม่สอดคล้องกับที่นายจ้างต้องการ (skill mismatch) ซึ่งการเข้าฝึกอบรมในระยะสั้นๆ อาจไม่เพียงพอสำหรับนายจ้างบางรายที่มองหาแรงงานที่มีประสบการณ์มากกว่า สาม สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการประกอบธุรกิจของตนเอง เช่น การขายสตรีทฟู้ด จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงก็อาจทำให้กิจการสำเร็จได้ยาก ซึ่งอาจมีผลให้การให้สินเชื่อกับกลุ่มดังกล่าวก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้เช่นกัน

ด้วยข้อจำกัดนี้ อีไอซีมองว่าโครงการอาจจำเป็นต้องมีการขยายระยะเวลาเพื่อช่วยเหลือทั้งในด้านเงินโอนและการฝึกทักษะในช่วงที่ความต้องการแรงงานจากฝั่งนายจ้างยังเพิ่มขึ้นไม่ทัน ทั้งนี้ การอบรมพัฒนาทักษะที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานขึ้นก็จะช่วยให้แรงงานมีโอกาสในการสั่งสมเพิ่มพูนทักษะจนเพียงพอต่อความต้องการของนายจ้างอีกด้วย นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาทักษะที่มีความจำเป็นและตรงกับความต้องการของภาคเอกชนเองก็จะช่วยส่งผลดีทั้งต่อแรงงานเองและผู้จ้างงานได้ต่อไป

โดยสรุป อีไอซีประเมินว่ามาตรการรัฐสามารถช่วยได้ในบางกลุ่มรายได้และธุรกิจบางประเภท เม็ดเงินที่จะเบิกจ่ายได้จากมาตรการบัตรสวัสดิการทั้ง 2 ระยะนี้อยู่ที่ราว 3-4 หมื่นล้านบาทในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2018 โดยกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวชัดเจนจากสัดส่วนของเงินช่วยเหลือค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อการใช้จ่าย แต่คาดว่าผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในภาพรวมอาจมีไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะมีรายจ่ายบางรายการที่ผู้ได้รับอาจไม่ได้ใช้ (เช่น ในส่วนของค่าขนส่งสาธารณะ) อีกทั้งรายจ่ายที่รัฐอุดหนุนเป็นรายจ่ายของสินค้าที่ครัวเรือนต้องใช้อยู่แล้วแม้ไม่มีการอุดหนุน นอกจากนี้ การได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวอาจไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่ายต่อทั้งหมด เพราะบางส่วนอาจนำไปเก็บออมหรือชำระหนี้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายจากมาตรการบัตรสวัสดิการฯ จะให้ประโยชน์แก่ร้านค้าที่ลงทะเบียนกับรัฐ (ร้านธงฟ้า) จำนวนราว 2 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ คิดเป็นประมาณ 2.6% ของร้านค้าปลีกทั่วประเทศ และผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในข่ายที่รัฐอนุมัติไว้จำนวน 64 สินค้า 534 รายการ