ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีมทนายผู้เสียหาย เผยเหตุ “คดีแพรวา” ยืดเยื้อนาน 8 ปี 7 เดือน – ชี้ “แม่แพรวา” วางทรัพย์ผิดที่ ไม่ถือว่ามีการชำระหนี้

ทีมทนายผู้เสียหาย เผยเหตุ “คดีแพรวา” ยืดเยื้อนาน 8 ปี 7 เดือน – ชี้ “แม่แพรวา” วางทรัพย์ผิดที่ ไม่ถือว่ามีการชำระหนี้

18 กรกฎาคม 2019


ทีมทนายความจากสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่  18 กรกฎาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทีมทนายความประจำสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ ต่อกรณีที่กำลังเป็นกระแสกันอยู่ในเวลานี้อย่างคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลเวย์ หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ “คดีแพรวา” ที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้เปิดเผยรายงานการดำเนินการของสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ฯ และคำพิพากษาศาลฎีกาไปแล้ว

จำนวนโจทก์ – จำเลย ในคดีนี้

ก่อนอื่นเพื่อให้เข้าใจว่าคดีนี้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างไร มีจำนวนผู้เสียหายกี่ราย และจำนวนจำเลยที่ต้องรับผิดในคดีนี้มีกี่ราย ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับบุคคลหลายคน โดยนับจากเกิดเหตุตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 ในการฟ้องร้องคดีนี้ทีมทนายจากสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นทนายความโจทก์ทั้ง 28 ราย ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องไปกับคดีอาญาที่พนักงานอัยการทำการยื่นฟ้อง นางสาวแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ชื่อและนามสกุลในขณะนั้น) เป็นจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554 โดยในคดีแพ่งเนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน อายุเพียง 16 ปี ในการฟ้องร้องคดีแพ่งนี้จึงต้องฟ้องร้องบิดา มารดา เป็นจำเลยที่ 2 และ3

นอกจากนี้ยังมีจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลคุ้นเคยที่มารับนางสาวแพรวาจากบ้านออกไปศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง และเป็นบุคคลที่รับฝากรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและเอาประกันภัยจากรถยนต์ต้นเหตุ และจำเลยที่ 7 คือบริษัทประกันภัยที่รับประกันรถคันดังกล่าว ซึ่งต่อมาทางบริษัทประกันได้ยินยอมชดใช้เต็มวงเงินประกันในจำนวน 10 ล้านบาท ทางโจทก์จึงถอนฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5,6 และจำเลยที่ 7 ออก เหลือเพียงจำเลยที่ 1-4

เหตุที่คดียืดเยื้อถึง 8 ปี 7เดือน

นายวีระศักดิ์ ทัพขวา ทนายความประจำสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องจากคดีอาญา จะต้องรับฟังผลจากคดีอาญาให้เป็นที่ยุติก่อน ประกอบกับในคดีอาญาจำนวนผู้เสียหายมีถึง  28 ราย ที่เป็นครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ อีกทั้งพยานแวดล้อม และพยานหลักฐานต่างๆ ต้องมีการนำสืบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง จึงใช้เวลาถึง 1 ปี กว่า ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ซึ่งจำเลยได้ขอยื่นอุทธรณ์ต่อ และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาในอีก 1 ปีถัดมา ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ให้รอลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุปีละ 48 ชั่วโมง ส่วนโทษอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ยังคงมีข้อสงสัยจากสังคมว่าจำเลยนั้นบำเพ็ญประโยชน์ครบตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้วหรือยัง)

เมื่อสิ้นสุดคดีอาญาการดำเนินคดีทางแพ่งจึงเข้าสู่กระบวนพิจารณาต่อได้ โดยผู้เสียหายทั้ง 28 ราย ข้างต้นได้เป็นโจทก์ในการยื่นฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้ง 4 (ถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 แล้ว) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มยังไม่ถูกบังคับใช้ การฟ้องจึงแยกโจทก์แต่ละคนรวมทั้งหมด 13 คดี แล้วจึงขอรวมคดีเป็นคดีเดียวกันในภายหลัง

อีกทั้งในคดีนี้มีการต่อสู้คดีกันจนถึงชั้นฎีกา โดยที่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1-3 ได้เริ่มขอเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างเป็นทางการเพื่อลดวงเงินค่าเสียหายราว 3-4 ครั้ง ซึ่งการขอเจรจาไกล่เกลี่ยนั้นสามารถดำเนินการได้ตลอดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ตั้งแต่ศาลชั้นต้น –  อุทธรณ์ – ฎีกา อย่างที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นบริษัทประกันได้ขอเจราไกล่เกลี่ยจนได้ข้อยุติ และโจทก์ดำเนินการถอนฟ้องไป

ดังนั้นจากเหตุทั้งหมด ทั้งการสืบพยานจำนวนมาก การต้องรอคดีอาญาถึงที่สุด การต่อสู้ถึง 3 ชั้นศาล ทำให้การพิจารณาคดียาวนานมาถึง 8 ปี 7 เดือน อีกทั้งในกระบวนการพิจารณาก็ปรากฏชัด ตามที่หนึ่งในโจทก์คดีนี้ได้เคยบอกเล่าไว้ถึงการขาดนัด การมาศาลล่าช้า และเหตุอื่นๆ ที่ฝ่ายจำเลยยกขึ้นอ้างและพยายามขอเลื่อนวันพิจารณาแต่ละครั้งออกไป ประกอบกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจำเลยทั้ง 4 ไม่เคยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล มีเพียงทนายจำเลยเท่านั้นที่มาศาลและดำเนินกระบวนการพิจารณาแทน จนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจนเวลาผ่านมาเกือบ 2 เดือน จำเลยก็ยังคงนิ่งเฉย สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าจำเลยไม่จริงใจต่อความสูญเสียที่จำเลยก่อขึ้นแก่พวกเขาจนมีการระบายความในใจผ่านโซเชียลมีเดีย จนเป็นประเด็นในปัจจุบัน

ค่าเสียหาย 9 ชีวิตที่สูญเสีย กับ 4 ชีวิต ที่สาหัส

นายวีระศักดิ์ ทัพขวา และนายณัฐพงศ์ รงค์ทอง ทนายความ ประจำสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อุบัติเหตุเมื่อปี 2554 ที่เกิดจากความประมาทของเด็กหญิงวัย 16 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 3 ราย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลอนาคตไกล ทั้งนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ว่าที่นักเรียนนอกที่เพิ่งได้รับทุน, นักวิจัย ดีกรี ดร. โดยทีมทนายได้คำนวณค่าเสียหายที่ผู้เสียหายพึงได้รับสำหรับในกรณีครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ รวมค่ารักษาพยาบาล และรายได้ที่คาดหมายได้หากบุคคลดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่ เป็นจำนวน 113,077,510 บาท

อย่างไรก็ดีเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (ทางแพ่ง) ออกมา เมื่อวันที่ 25  ธันวาคม 2558 ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ถึง 3 จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันประกอบด้วยค่าขาดไร้อุปการะ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าเสียหายอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ทั้ง 28 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,061,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ทั้งนี้ เงินค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีจำนวนตั้งแต่ 4,000 – 1,800,000 บาท

ทั้งโจทก์ และจำเลยไม่เห็นด้วยในคำพิพากษาดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์ โดยโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 4 ควรร่วมรับผิดด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์และมีคำพิพากษาในวันที่ 18 เมษายน 2562 พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วยเฉพาะต่อโจทก์ที่ 5 และ 11 แต่ปรับลดจำนวนเงินค่าเสียหายลงเหลือ 21,626,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด โดยปรับลดลงไป 20% จากที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยโจทก์และจำเลยฎีกาต่อ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 รวมค่าสินไหมทดแทนที่ศาลฎีกากำหนดให้ทุกคดีแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

“ในชั้นฎีกาที่จำเลยขอไกล่เกลี่ยลดค่าเสียหายที่ต้องรับผิดชอบ โดยฝ่ายจำเลยเสนอใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละคดีเพียง 60% จากค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ซึ่งทางโจทก์ที่ทำการฟ้องคดีนั้นไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่เอาเงิน ฝ่ายโจทก์เพียงแต่ต้องการความจริงใจจากจำเลยเท่านั้น” นายวีระศักดิ์

ด้านนางอิสรีย์ยา ยืดยาวคง ทนายความประจำศูนย์ฯ กล่าวต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ผ่านมา ประกอบกับข้อเสนอที่ยื่นขอนั้นไม่ได้แสดงออกถึงความจริงใจแต่อย่างใด กลับสร้างความรู้สึกด้านลบให้กับผู้เสียหาย และต่างตั้งคำถามว่าเหตุใดที่ตนเป็นผู้ได้รับความสูญเสียแล้วยังต้องมาเรียกร้องสิทธิอีก ขณะเดียวกันในการมาขึ้นศาลแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากผู้เสียหายแต่ละคนมีภูมิลำเนาต่างกัน ทั้งจากบุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ ราชบุรี ไปจนถึงพังงา ซึ่งคดีที่ยืดเยื้อยาวนานค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ทบทวี แม้ความช่วยเหลือทางกฎหมายฟ้องร้องคดีนั้นทางศูนย์ฯ ให้บริการประชาชนโดยไม่คิดเงินก็ตาม

การดำเนินการหลังจากนี้

นางสาวพรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์ และนางอิสรีย์ยา ยืดยาวคง ทนายความ ประจำสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นาวพรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์ ทนายความประจำศูนย์ กล่าวถึงการดำเนินการต่อจากนี้ว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาทนายโจทก์ส่งคำบังคับเพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลภายใน 30 วัน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เพื่อให้โจทก์ได้รับการชดเชยจึงต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยต่อไป

โดยปัจจุบันอยู่ระว่างการติดตามสืบทรัพย์ของจำเลยทั้ง 4 ก่อนยื่นเรื่องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยทั้ง 4 เพื่อนำมาชดใช้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โดยกฎหมายให้ระยะเวลาในการดำเนินการได้ถึง 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

นางอิสรีย์ยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะยื่นขอบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ในทางปฏิบัติจะต้องมีจำนวนทรัพย์สินของจำเลยส่วนหนึ่งเป็นฐานเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการได้ ซึ่งการสืบทรัพย์จะต้องใช้เวลา ส่วนเรื่องปัญหาการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ที่สังคมกังวล ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากพบว่าจำเลยที่ถือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเจตนาเลี่ยงไม่ชำระหนี้ ในทางอาญาสามารถเอาผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ ส่วนทางแพ่งก็มีกระบวนการในการติดตามเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้

“ตามกฎหมายแล้วหากจำเลยประสงค์จะชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาก็สามารถนำเงินมาชำระที่ศาลเพื่อมอบให้โจทก์ได้เลย โดยทำหลักฐานการชำระแต่ละครั้งไปจนกว่าจะครบ หรือหากอยู่ระหว่างดำเนินการแปลงสภาพทรัพย์สินเป็นเงินก็สามารถชี้แจงแก่โจทก์ได้โดยไม่ต้องวางทรัพย์ หรือเข้าสู่การบังคับคดีแต่อย่างใด เพราะหากเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำเลยเองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่มเติมอีก” นางอิสรีย์ยากล่าว

ชี้ “แม่แพรวา” วางทรัพย์ผิดที่ ไม่ถือว่ามีการชำระหนี้

ทั้งนี้กรณีที่นางนิลุบล อรุณวงศ์ จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาของนางสาวแพรวา หรืออรชร หรือบัวบูชา เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือนางสาวรวินภิรมย์ อรุณวงศ์ จำเลยที่ 1 ออกมาเปิดเผยทรัพย์สินโฉนดที่ดินที่ตนมี และพร้อมนำไปวางทรัพย์ หรือนำไปมอบไว้แก่สำนักงานยุติธรรม หรือฝากโฉนดไว้ที่พิธีกรข่าวนั้น นางสาวพรปวีณ์ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย เนื่องจากเมื่อเข้าศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งแล้ว การชำระหนี้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องชำระต่อศาล หรือเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้ ดังนั้นจำเลยจึงต้องชำระต่อหลักแหล่งแห่งที่ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามนายณัฐพงศ์ รงค์ทอง ทนายความประจำศูนย์ฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมได้ติดต่อมายังศูนย์ฯ เพื่อประสานความช่วยเหลือในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการชั้นบังคับคดีให้แก่โจทก์ทั้งหมดแล้ว (ไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายส่วนของจำเลย)

อนึ่งตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มาตรา 5  … “กองทุนยุติธรรม” มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชน ในการดำเนินคดี การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ดังนั้น ภารกิจสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประชาชน จึงประกอบไปด้วย
1) การให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี
2) การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
4) การสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน