เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการบริการด้านการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาที่มีแมกซีน วอเตอร์ส จากพรรคเดโมแครตเป็นประธานได้ส่งหนังสือถึงเฟซบุ๊กขอให้ ยุติการพัฒนาลิบรา(Libra)คริปโทเคอร์เรนซีโดยทันที จนกว่าสภาคองเกรสจะใช้เวลาในการตรวจสอบ
ในหนังสือระบุว่า เนื่องจากผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีมากกว่า 1 ใน 4 ทั่วโลก จึงจำเป็นที่เฟซบุ๊กและพันธมิตรยุติแผนการดำเนินการในทันทีจนกว่าผู้กำกับดูและสภาคองเกรสจะมีโอกาสในการตรวจสอบในหลายประเด็นและมีมาตรการออกมา
หนังสือของคณะกรรมาธิการฯยังระบุว่า “ช่วงที่ยุติการดำเนินการพัฒนา เราตั้งใจที่จะเปิดรับฟังความเห็นของสาธารณชนทั้งในด้านความเสี่ยงและประโยชน์ของกิจกรรมที่เกิดจากคริปโทเคอร์เรนซี และหาแนวทางออกในด้านกฎหมาย หากหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ในขณะที่ยังสามารถทำได้ ก็จะเกิดความเสี่ยง เนื่องจากระบบการเงินในสวิตเซอร์แลนด์ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มได้”
แม้เฟซบุ๊กเป็นผู้นำในการพัฒนา Libra และพัฒนากระเป๋าเงิน Wallet เพื่อรองรับผู้ใช้ผ่านบริษัทที่จัดตั้งใหม่คือ คาลิบรา(Calibra) แต่การพัฒนา Libra อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมาคมลิบรา(Libra Association) ซึ่งมีทั้งตั้งในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระยะการยุติการพัฒนาชั่วคราวนั้นจะใช้เวลาไม่นานเพราะคณะกรรมาธิการกำหนดที่จะเปิดรับฟังความเห็นการตรวจสอบ Libra ในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตามหนังสือที่ส่งตรงถึงมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก และหัวหน้าโครงการ Libra คือ เดวิด มาร์คัส บอกเป็นนัยๆว่า เมื่อการเปิดรับฟังความเห็นเริ่มขึ้นบริษัทก็จะตกอยู่บนเส้นทางที่ไม่ราบรื่น
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการยังระบุว่า การขาดข้อมูลที่เกี่ยวกับความตั้งใจ บทบาท ศักยภาพในการใช้และความปลอดภัยของ Libra และ Calibra นำไปสู่ความเสี่ยงอย่างมากและการขาดกฎระเบียบการคุ้มครองที่ชัดเจน หากผลิตภัณฑ์และบริการในลักษณะนี้ไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสมและไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ จะสร้างความเสี่ยงต่อระบบและเป็นอันรายต่อเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐฯและของโลก
นอกจากนี้ก็ยังเห็นความเสี่ยงได้ชัดขึ้น จากประวัติในทางลบของเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้รักษาความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ กรณีของเคมบริดจ์ อนาลิติก้า บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองที่ถูกว่าจ้างในการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านบัญชี และนำไปใช้กับการบิดเบือนพฤติกรรมการลงคะแนนใช้สิทธิ
รวมทั้งยังมีหนังสือกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มสิทธิส่วนบุคคล กลุ่มนโยบายทางเศรษฐกิจและกลุ่มองค์กรอื่น ๆ อีก 33 กลุ่ม ส่งหนังสือให้เฟซบุ๊กระงับการพัฒนาลิบราชั่วคราวเช่นกัน
โจเซฟ สติกลิตซ์ วิพากษ์ยับ
Libra เป็นเรื่องใหม่ หลายฝ่ายติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นความท้ายของระบบการเงินโลก ที่ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ผลได้อย่างชัดเจน หลายฝ่ายได้ออกมาให้ความเห็น โดยหนึ่งในนั้นคือ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขียนบทความลง The Guardian ในชื่อ Why Facebook’s Libra currency gets the thumbs down
โจเซฟบอกว่ามีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะไว้ใจเฟซบุ๊กซึ่งมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี แต่(คนโง่)ก็อาจจะเป็นประเด็นหลักของ Libra(หรือเป้าหมายหลัก)
ในบทความ โจเซฟระบุว่า เฟซบุ๊กและพันธมิตรทางธุรกิจได้ตัดสินแล้วว่า โลกต้องการคริปโทเคอร์เรนซีอีกสกุลหนึ่ง และการเปิดตัวสกุลใหม่นี้ เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะใช้ความสามารถที่มีอยู่ให้เต็มที่ แต่ความจริงคือสิ่งที่เฟซบุ๊กคิดนั้นแสดงให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของระบบทุนนิยมอเมริกาในศตวรรษที่ 21
แต่ในอีกด้าน ก็เป็นช่วงที่มีความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเปิดตัวสกุลเงินทางเลือก ในช่วงที่ผ่านมาเงินตราที่ใช้กันมานานมักมีเสียงครวญมาตลอดว่า ไม่มีเสถียรภาพ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วและไม่แน่นอนทำให้มูลค่าของเงินลดลง แต่เงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยนและเงินหยวน ต่างมีเสถียรภาพ อีกทั้งสิ่งที่ต้องกังวลในขณะนี้คือเงินฝืด ไม่ใช่เงินเฟ้อ
โลกได้มีความก้าวหน้าในการสร้างความโปร่งใสทางการเงิน ทำให้การฟอกเงินผ่านระบบธนาคารยากขึ้น รวมไปถึงกิจกรรมสามานย์อื่นๆ เทคโนโลยีเองก็ช่วยให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพ การโอนเงินจากบัญชีลูกค้าไปยังร้านค้าปลีกทำได้ในเวลาไม่ถึงเศษเสี้ยววินาที ขณะที่มีการป้องกันการทุจริต
สิ่งที่เราต้องการคือ เครื่องมือใหม่ในการป้องกันการทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และการฟอกเงิน ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซีจะเป็นเครื่องมือนั้นได้ ปัญหาแท้จริงของสกุลเงินที่มีในปัจจุบันและการจัดการทางการเงิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชำระเงินและรักษามูลค่า คือ การขาดการแข่งขันระหว่างและกฎกติการะหว่างบริษัทที่ควบคุมการทำธุรกรรม ผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จ่ายเงินสำหรับการชำระเงินสูงกว่าต้นทุนหลายเท่า ซึ่งทำให้ทั้งวีซ่า มาสเตอร์การ์ด อเมริกันเอ็กซ์เพรส และธนาคารได้กำไรส่วนเกินอย่างมหาศาลทุกปี
กฎหมาย ควบคุม interchange fees ของบัตรเดบิต ที่เรียกว่า Durbin Amendment to the Dodd-Frank Act ได้เพียงแค่กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของ interchange fees ของบัตรเดบิต แต่ไม่ได้มีผลต่อค่า fee มหาศาลของบัตรเครดิต
ประเทศอื่นเช่น ออสเตรเลียมีการดำเนินการที่ดีกว่ามาก โดยได้ห้ามบริษัทบัตรเครดิตไม่ให้ใช้ข้อบังคับตามสัญญามาจำกัดการแข่งขัน ขณะที่เมื่อพิจารณาจากการตัดสินใน 4-5 กรณีของศาลสูงในสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนกับว่ามองข้ามผลของบทบัญญัติห้ามการแข่งขัน และถึงแม้ว่าสหรัฐฯตัดสินใจแล้วว่าจะมีระบบการเงินชั้นรองที่ไม่มีการแข่งขัน ยุโรปและส่วนอื่นของโลกก็ควรจะปฏิเสธ ซึ่งนี่ไม่ใช่การต่อต้านอเมริกาเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน เหมือนกับที่ประธานาธิบโดนัลด์ ทรัมป์เคยกล่าวเป็นนัยๆ ในช่วงที่วิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมาธิกายุโรปด้านการแข่งขัน
บางคนอาจตั้งคำถามว่า โมเดลธุรกิจของเฟซบุ๊กคืออะไร และทำไมถึงมีคนจำนวนสนใจโครงการใหม่ของเฟซบุ๊ก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกเขาต้องการที่จะลดผลประโยชน์ส่วนเกินที่สะสมในแพล็ตฟอร์มที่มีการทำธุรกรรม ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาเชื่อว่าการแข่งขันที่สูงขึ้นจะไม่ทำให้กำไรลดลงเกือบหมดเป็นการพิสูจน์ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในความสามารถของตัวเองที่จะมีพลังทางตลาด และในพลังทางการเมืองที่มั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะไม่เข้ามาแทรกแซงเพื่อลดส่วนเกินนี้
โดยเหตุที่ศาลสูงสหรัฐฯหันกลับมาทำลายระบอบประชาธิปไตยอเมริกา เฟซบุ๊กและพันธมิตรอาจจะคิดว่าไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ผู้กำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ไม่เพียงรักษาเสถียรภาพแต่ส่งเสริมการแข่งขันในภาคการเงิน ควรจะเข้ามาดูแล
ถ้าหากว่า มูลค่าสกุลเงิน Libra ถูกกำหนดด้วยระบบตะกร้าที่มีเงินหลายสกุลและสำรองเต็มจำนวน ซึ่งตีเสียว่าเป็นพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้นแหล่งรายได้ที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่ง คือ การไม่จ่ายดอกเบี้ยให้กับเงินฝาก(สกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลและนำมาแลก Libra) เฟซบุ๊กก็ยังเก็งกำไรได้จากดอกเบี้ยเงินฝากที่ว่านี้ แต่จะมีใครยอมฝากเงินที่ไม่ได้ดอกเบี้ยกับเฟซบุ๊ก ในเมื่อนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปลอด ภัยกว่าได้หรือลงในกองทุนรวมตลาดเงิน (การบันทึกผลกำไรหรือขาดทุนทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรม และภาษีที่ดูยังเป็นประเด็นหลัก เว้นเสียแต่ว่าเฟซบุ๊กเชื่อว่าจะสามารถข้ามผ่านระบบภาษีที่ใช้อยู่ได้ เช่นเดียวกันที่เคยข้ามผ่านความกังวลต่อข้อมูลส่วนบุคคลและการแข่งขัน)
คำตอบของโมเดลธุรกิจมี 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรก คือ คนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องนี้พร้อมที่จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการที่สามารถทุจริตคอรัปชัน การเลี่ยงภาษี การค้ายาเสพติด หรือก่อการร้าย โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่การที่มีความก้าวหน้าในการขัดขวางการใช้ระบบการเงินเพื่อเอื้อต่อการก่ออาชญากรรม แล้วเหตุใดใครคนใดคนหนึ่ง ยกเว้นรัฐบาลหรือผู้กำกับดูแลด้านการเงิน จะไม่เอาผิดกับเครื่องมือดังกล่าวเพียงเพราะมีป้ายคำว่า “เทค” แปะไว้
และหากว่านี่คือ โมเดลธุรกิจของ Libra รัฐบาลก็ควรที่จะสั่งปิดโครงการนี้โดยทันที และอย่างน้อยที่สุด Libra ก็ควรที่จะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ความโปร่งใส เหมือนกับภาคการเงินด้วย แต่ก็นั่นทำให้ Libra ไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี
อีกแนวทางหนึ่ง ข้อมูลธุรกรรมที่ Libra เก็บไว้ก็สามารถนำมาวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อหาประโยชน์ได้ เช่นเดียวกับข้อมูลอื่นที่เฟซบุ๊กมี ซึ่งทำให้เฟซบุ๊คมีอำนาจทางการตลาดและกำไร และกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เฟซบุ๊ก(Libra) อาจจะสัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้น แต่ใครจะเชื่อ
นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับความไว้วางใจ ทุกสกุลเงินต้องอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า เงินฝากที่หากมาได้ด้วยความยากลำบากนั้น สามารถเบิกถอนได้ตามความต้องการ ธนาคารเอกชนเคยแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจมาระยะหนึ่ง และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าการออกกฎระเบียบใหม่ที่รัดกุมมีความจำเป็น
ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ความไม่วางใจในเฟซบุ๊กได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธนาคารต้องใช้เวลานานมากกว่าจะไปถึงจุดนั้น ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ผู้บริหารของเฟซบุ๊ก เมื่อเผชิญกับทางเลือกระหว่างเงินกับการยึดมั่นในคำสัญญา ก็เลือกที่จะเอาเงิน และการพัฒนาเงินสกุลใหม่นี่คงไม่มีอะไรมากไปกว่าเงิน
มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่ไว้ใจเฟซบุ๊ก ด้วยความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี แต่นั่นอาจจะเป็นประเด็นก็ได้ เพราะมีข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากจากผู้ใช้ที่ใช้งานถี่ถึง 2.4 พันล้านรายต่อเดือน ไม่มีใครรู้ดีกว่าเฟซบุ๊กอีกแล้วว่าแต่ละนาทีมีคนที่ถูกหลอกได้ง่ายๆมีจำนวนเท่าไร
อาจารย์เศรษฐศาสตร์มีหลายคำถาม
ทางด้าน เจมส์ แฮมิลตัน ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่ซานดิเอโก ได้โพสต์ใน econbrowser ว่า Libra คริปโทเคอร์เรนซีที่เฟซบุ๊กประกาศในต้นเดือนมิถุนายน คาดว่าจะมาจากคำว่า livre ซึ่งเป็นเงินฝรั่งเศสในยุคกลาง โดยมูลค่าอิงกับโลหะเงินน้ำหนัก 1 ปอนด์ และคำว่า Liber ในภาษาละติน ซึ่ง หมายถึงเสรีภาพ
เฟซบุ๊กอ้างว่า Libra จะให้เสรีภาพในการโอนเงินได้อย่างง่ายดายข้ามแดนไปยังประชากรผู้ใหญ่ที่มี 1.7 พันล้านคนทั่วโลก โดยไม่ต้องผ่านระบบธนาคารแบบเดิม
บทความของเจมส์ แฮมิลตันระบุว่า เงินตรามีนิยาม 3 ข้อด้วยกัน คือ เป็นหน่วยวัดมูลค่าสินค้าและบริการ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (ซึ่งคนสามารถใช้ชำระสำหรับสิ่งที่ต้องการได้ด้วยการโอนเงินดอลลาร์ให้ผู้ขาย) และเป็นเครื่องรักษามูลค่า(ซึ่งคนสามารถรักษาความมั่งคั่งในรูปของการถือเงินสดจนกว่าจะได้ใช้จ่ายออกไป)
บทความตั้งคำถามว่า ทำไมกระดาษที่เรียกว่าดอลลาร์ถึงมีมูลค่า เมื่อมีการนำเงินกระดาษออกใช้ รัฐบาลจะกำหนดค่าเริ่มต้นและสัญญาว่าจะแลกคืนได้ในอัตรา 1 ปอนด์ต่อโลหะเงินน้ำหนัก 1 ปอนด์ แต่ในที่สุดเงินกระดาษนี้ได้รับการยอมนรับว่ามีมูลค่าที่แท้จริง แม้แต่ไม่มีการให้สัญญาแบบเดิม
มูลค่าของเงินมาจากความจริงที่ว่า เงินกลายเป็นหน่วยวัดมูลค่าสินค้าและบริการ ที่ใช้กันทั่วไป เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเป็นเครื่องมือที่รักษามูลค่าที่ดีและเอื้อต่อการทำธุรกรรม เราสามารถทำทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นเราทุกคนร่ำรวยขึ้นได้ หากเราอยู่ในโลกที่เราสามารถจ่ายค่าส้มด้วยการใช้ดอลลาร์แทนที่ส่งมอบสิ่งของให้กับผู้ขายซึ่งเป็นสิ่งที่คนปลูกส้มต้องการ
ข้อตกลงทางสังคมที่จะใช้เงินกระดาษเป็นเงินตราทำให้เราได้ประโยชน์ ดังนั้นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนจึงทำให้มีการใช้เงินมาต่อเนื่อง และโดยเหตุที่มูลค่าของเงินทำให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น รัฐบาลจึงมีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นเพียงแต่พิมพ์กระดาษที่ดูเหมือนจะไร้ค่า แต่เป็นหลักสำคัญสำหรับรัฐบาลในเชิงมูลค่าทางสังคมที่เงินได้มีส่วนสร้างขึ้น
รัฐบาลใช้พลังนี้ในการสร้างมูลค่าจริงหลายด้าน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านกองกำลังทหาร หรือซื้อสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ย แหล่งรายได้นี้รู้จักกันในชื่อ Seigniorage หมายถึง รายได้ที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มปริมาณเงิน ซึ่ง Seigniorage ในรูปของดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนของธนาคารกลางสหรัฐ(Federal Reserve) และนำส่งกระทรวงการคลังได้สร้างรายได้ให้รัฐบาลถึง 62 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018
จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทเอกชนก็ต้องการมีส่วนในด้านนี้ หากสามารถทำได้ เฟซบุ๊คในปีที่แล้วมีกำไร 7 พันล้านดอลลาร์ มากกว่า GDP ของประเทศขนาดเล็กบางประเทศเสียอีก เช่น ประเทศ มาลาวี หรือเซียร์ราลีโอน แล้วเหตุใดจะไม่ทำตัวเป็นรัฐบาลเสียเองและออกสกุลเงินเป็นของตัวเอง นอกจากนี้เฟซบุ๊กไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีพันธมิตรอีกจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้ง มาสเตอร์การ์ด วีซ่า อีเบย์ เพย์พาล สปอติฟาย อูเบอร์ และลิฟท์
Libra ต่างจากอีเบย์ซึ่งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ตรงที่ Libra ยังนำเสนอในฐานะเป็นหน่วยวัดมูลค่าสินค้าและบริการ โดยราคาจะถูกกำหนดและทำรายการโดยตรงใน Libra
อีกทั้งยังต่างจากคริปโคเคอร์เรนซีอื่นเช่น บิทคอยน์ ซึ่งมูลค่าผันผวนมาก เพราะมูลค่า Libra จะถูกกำหนดด้วยระบบตะกร้าเงินที่มีเงินสกุลหลักอยู่ เช่น เงินดอลลาร์ เงินยูโร และเงินเยน และหนุนหลังด้วยเงินทุนสำรอง(สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยในสกุลเงินเหล่านั้น) ซึ่งจะหักออกหรือเพิ่มเข้าไปทุกครั้งที่มีรายการโอนเงินเข้าออกในบัญชี Libra
จากข้อมูลที่เฟซบุ๊กให้ไว้ ดูเหมือนกับว่า Libra มีทุนสำรองเต็มจำนวน เมื่อมีการแปลงเงินดอลลาร์เป็น Libra สมาคมจะนำเงินดอลลาร์ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำตามสกุลเงินในตะกร้า หากมูลค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เงิน Libra ที่มีก็จะมีค่าน้อยกว่าเงินดอลลาร์ที่ใส่เข้าไปในบัญชี แต่ก็ยังมีมูลค่าเท่าเดิมใน Libra และแม้ว่าจะการห้ามสถาบันอื่นให้บริการบัญชี Libra เป็นหลัก เหมือนกับที่ธนาคารในยุโรปที่สามารถให้บริการบัญชีดอลลารเป็นหลัก และดำเนินการ(เหมือนธนาคารเอกชน)ด้วยงบดุลที่แยกส่วนทุนสำรอง แต่ก็เป็นการเปิดมิติใหม่ของการเปลี่ยนโฉมอย่างรวดเร็วของโลกแห่งธนาคารเงา และยังไม่ชัดเจนว่าใครจะกำกับดูและหรือใครสามารถกำกับดูแล
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อบัญชี Libra รวมทั้งความปลอดภัยและปัญหาด้านเครือข่ายในเทคโนโลยีบลอคเชน การพัฒนาเทคโนโลยีชำระเงินขั้นสูง หรือกฎกติกาจากภาครัฐ และยังไม่ชัดเจนว่าควรจะถือครองระดับไหนถึงจะคุ้มค่าหากว่า ยกตัวอย่าง เช่น เฟซบุ๊กจะประกาศล้มละลาย ในกรณีที่ Libra ประสบความสำเร็จ แต่ล่มสลายในภายหลัง ก็จะสร้างวิกฤตการเงินในตัวเองขึ้นได้
ในทางกลับกัน ไม่มีข้อกังขาเลยว่าการมีระบบแบบครบวงจรและมีเสถียรภาพระบบเดียวสำหรับการธุรกรรมระหว่างประเทศจะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงสำหรับผู้คนจำนวนมากในโลกนี้ และดังนั้นแหล่งรายได้ seigniorage จากดอกเบี้ยที่ได้จากสินทรัพย์ที่ลงทุนจึงไม่สำคัญสำหรับเฟซบุ๊กและพันธมิตร
แน่นอนว่าการมีสกุลเงินเดียวและมีเสถียรภาพมีประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกสหภาพการเงินยุโรป ทำให้การซื้อการขายข้ามแดนสะดวก แต่ในปี 2011 มีปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศรอบนอกยุโรปควรให้ความสนใจ เมื่อค่าเงินอ่อนตัวรุนแรง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะค่าเงินประเทศเหล่านี้ผูกติดกับยูโร
หากการทำธุรกรรมของชาวคองโกทั้งหมดเกิดขึ้นผ่าน Libra ก็จะทำให้ประเทศจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลันได้ยากกว่าเดิม เช่น การร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
หาก Libra ประสบความสำเร็จก็จะมีผลต่อความสามารถของรัฐบาลในการที่จะใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ และ Libra อาจจะกลายเป็นสกุลเงินที่น่าสนใจมากกว่ายูโร และมีแนวโน้มที่จะแข่งขันกับรัฐบาลในสร้างรายได้แบบ seigniorage ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศยากจน เนื่องจากขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทำให้การหารายได้ด้วยการขึ้นภาษีทำได้ยาก
และถึงแม้ว่า Libra จะช่วยให้ประสิทธิภาพระบบการชำระเงินดีขึ้น รวมทั้งอาจจะเป็นแหล่งรายได้ภาษีจากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นการทดลองที่น่าสนใจ ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร
สมุดปกขาวเปิดรายละเอียด Libra
เฟซบุ๊กได้ออก สมุดปกขาวจำนวนกว่า 100 หน้า ให้รายละเอียดของ Libra และ Calibra โดย Libra เป็นเงินคริปโคเคอร์เรนซี แต่สามารถนำใช้จ่ายได้จริง หรือโอนเงินโดยมีต้นทุนต่ำมาก จะซื้อหรือขาย Libra เพื่อเอาเงินสดออกได้ทั้งในระบบออนไลน์และจุดรับแลกเงิน เช่น ร้านของชำ อีกทั้งใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงิน หรือ wallet ที่ทำงานร่วมกันกับผู้พัฒนาภายนอก หรือ Calibra wallet ที่จะพัฒนาเชื่อมไปกับ whatsapp หรือ messenger ในระยะต่อไป โดยเฟซบุ๊กคาดหวังว่าจะเริ่มให้บริการ Libra ในครึ่งแรกของปี 2020 และการพัฒนา Libra นี้ใช้เทคโนโลยีบลอคเชน
เฟซบุ๊กไม่ได้เป็นผู้ควบคุม Libra แต่มีสิทธิออกเสียง 1 เสียงใน Libra Association หรือสมาคมลิบรา เหมือนกับสมาชิกรายอื่น ที่ได้ลงทุนขั้นต่ำ 10 ล้านดอลลาร์ในโครงการ สมาคมนี้จะส่งเสริมการหาสมาชิกมาเป็น Validator Node และพัฒนาแพล็ตฟอร์ม ด้วยภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรมโดยเฉพาะคือ ภาษา Move รวมทั้งดูแลในเชิงธุรกิจที่จะทำให้มีการยอมรับ Libra เพื่อการชำระเงินรวมทั้งการให้ส่วนลดแก่ลูกค้า หรือการมอบรางวัล (rewards)
เฟซบุ๊กตั้งบริษัทย่อยชื่อ Libra มาทำหน้าที่จัดการและคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของ ผู้ใช้ โดยที่จะไม่นำข้อมูลบัญชีเฟซบุ๊กเข้าไปเกี่ยว ข้องกับการใช้ Libra ในการชำระเงินของผู้ใช้ แต่เฟซบุ๊กกับสมาชิกก่อตั้งรายอื่นใน Libra Association จะได้รับดอกเบี้ยจากเงินสกุลที่รัฐบาลเป็นผู้ออก(Fiat Currency) ที่ผู้ใช้ใส่เข้ามาและถูกเก็บไว้เป็นงินทุนสำรองเพื่อรักษามูลค่าของ Libra
เป้าหมายการดำเนินการของเฟซบุ๊กเพื่อสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมสำหรับคนที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินนั้น และแทนที่จะกำหนดอนาคตของ Libra หรือนำเงินจำนวนมากออกมาในทันที เฟซบุ๊กเล่นเกมระยะยาว ด้วยการนำการชำระเงินมาผูกติดไว้กับระบบออนไลน์ของตัวเอง
เฟซบุ๊กได้แสดงให้เห็นถึงทั้งโอกาสและความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงชนิดเปลี่ยนโฉมการซื้อและขาย ด้วยการขจัดต้นทุนของการใช้ ซึ่งปกติจะเห็นได้จากการใช้บัตรเครดิต แม้อาจจะกระทบต่อการโฆษณาของเฟซบุ๊กซึ่งมีอิทธิพลต่อสิ่งที่ซื้อและขาย เพราะหากคู่แข่งอย่างกูเกิลหรือสตาร์ตอัพที่พัฒนาดิจิทัลคอยน์ขึ้นมา เกาะติดข้อมูลว่าผู้ใช้ซื้อหรือขายอะไร และมาแข่งขันกับเฟซบุ๊กที่ใช้เงินนับพันล้านในการทำการตลาด
แต่ขณะเดียวกันผู้คนราว 1.7 พันล้านคนที่ยังไม่มีบัญชีธนาคารอาจจะหันมาใช้บริการจากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งเพื่อเป็นทางเลือกในการใช้บริการทางการเงิน ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการตัวตนในระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กต้องการจะเป็น
เฟซบุ๊กต้องการที่ให้ Libra เป็นเพย์พาล(PayPal) โฉมใหม่ และหวังว่า Libra เป็นการชำระเงินที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนต่ำ เข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงิน มีความยืดหยุ่นและคงอยู่ไปนานจากการจัดการข้อมูลและรายงานแบบกระจายศูนย์
สมุดปกขาวของเฟซบุ๊กระบุว่า ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อได้เห็นการส่งเงินของแรงงานกลับบ้านได้เร็วและง่าย หรือนักศึกษาจ่ายค่าเช่าที่พักได้ง่ายพอๆกับการซื้อกาแฟ ซึ่งก็จะเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้นมากจากระบบปัจจุบัน ที่ยังมีการจ่ายด้วยเช็ค หรือการโอนเงินกลับประเทศการส่งเงินข้ามประเทศที่มีค่าบริการเฉลี่ย 7% ได้เงินจากผู้ใช้บริการ 50 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
ด้วย Libra การโอนเงินจำนวนน้อย การทำรายการขนาดเล็กที่มียอดเงินไม่กี่เซนต์ ก็จะเป็นไปได้ ขณะที่ปัจจุบันการทำธุรกรรมในจำนวนเงินน้อยไม่สามารถทำได้ด้วยบัตรเครดิต และยังนำมาใช้กับบัตรโดยสารขนส่งสาธารณแบบเติมเงินได้
แต่มีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคทั่วโลกไม่นิยม Libra เพราะเห็นว่ายุ่งยากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้ หรือเป็นเพราะไม่คุ้นเคยหรืออาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าสู่โลกการเงินโฉมใหม่
สิ่งที่เกี่ยวข้องของ Libra หลักๆ คือ เทคโนโลยีที่ใช้ ระบบการควบคุมที่ดำเนินการภายใต้สมาคม กระเป๋าเงินของผู้ใช้ และรูปแบบการชำระเงิน
เฟซบุ๊กตระหนักดีกว่า หาก Libra มีการจัดการโดยเฟซบุ๊คเพียงคนเดียว ก็จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือไว้ใจจากผู้คน ประกอบกับต้องการที่จะกระตุ้นให้มีการใช้กันมาก จึงได้ระดมพันธมิตรเข้ามาเป็นผู้ก่อตั้ง Libra Association เพื่อทำหน้าที่การพัฒนา รวมทั้งจัดการกับทุนสำรองสินทรัพย์ในโลกความจริงซึ่งจะทำให้รักษามูลค่า และจัดการดูแลเทคโนโลยีบลอคเชนที่ใช้ในการพัฒนา
สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งจะต้องจ่ายเงินขั้นต่ำรายละ 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเลือกได้ว่าจะเป็น validator node operator ด้วยหรือไม่ สมาชิกหนึ่งรายมีสิทธิออกเสียง 1 เสียงหรือ 1% ของเสียงที่มีสิทธิทั้งหมด และได้รับสิทธิที่จะรับปันผล(ซึ่งจะจัดสรรตามสัดส่วนการลงทุน)จากดอกเบี้ยที่ได้จากทุนสำรอง( Libra reserve) ที่ผู้ใช้แต่ละรายจ่ายเงิน Fiat หรือเงินที่ออกโดยรัฐบาลตามคำสั่งเพื่อแลกรับ Libra ออกไป
การเข้าเป็นสมาชิกใน Libra Association แต่ละรายต้องมีพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ว่างครึ่งหนึ่ง มีอินเตอร์ความเร็ว 100 Mbps หรือมากกว่านั้น มีวิศวกรประจำ มีระบบรักษาความปลอดภัยองค์กรที่ได้มาตรฐาน และคุณสมบัติอื่นอีกหลายข้อ
Libra Association จะรับผิดชอบในการหาสมาชิก เพื่อทำหน้าที่เป็น validator node ตามการจัดการข้อมูลและทรัพย์สินแบบกระ จายศูนย์ และป้องกันไม่ให้ใครก็ตามมาเจาะระบบเอา Libra ออกไป และเพื่อป้องกันการมีปัญหากับหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งเคยสืบสวนเฟซบุ๊กในกรณีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กมาแล้ว Libra Association ก็มีข้อความระบุว่า พร้อมเปิดรับการสอบถามจากสาธารณเพื่อความรับผิดชอบ และให้คำมั่นว่าจะชี้แจงกับหน่วยงานกำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย และให้ความสำคัญเช่นเดียวกับผู้กำหนดนโยบายในด้านความมั่นคงของสกุลเงินของประเทศ
สำหรับสมาชิกผู้ก่อตั้งในช่วงแรกมี 28 รายได้แก่ ในกลุ่มผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่คือ วีซ่า มาสเตอร์การ์ด เพย์พาล เพย์ยู สตริป ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีและมาร์เก็ตเพลส คือ บุคกิ้งโฮลดิ้งส์ อีเบย์ เฟซบุ๊ก/คาลีบรา ฟาร์เฟตช์ ลิฟต์ เมอร์อาโก ปาโก สปอติฟาย เอบี อูเบอร์เทคโนโลยี่ส์ อิ้งค์ กลุ่มสื่อสารได้แก่ อีเลียด โวดาโฟน กรีป กลุ่มเทคโนโลยีบลอคเชนคือ แองโคเรจ ไบสันเทรลส์ คอบน์เบส อิ้งค์ ซาโป โฮลดิ้งลิมิเต็ด กลุ่มเวนเตอร์แคป คือ แอนเดรสเสน โฮโรวิทซ์ เบรกทรู อินนิชิเอทีฟส์ ริบบิท แคปปิตอล ไทรฟ์ แคปปิตอล ยูเนี่ยนสแควร์ เวนเจอร์ส และกลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไรและหลายฝ่ายรวมทั้งสถาบันวิชาการ คือ ครีเอทีฟ ดีสตรักชั่น แลป คีวา เมอร์ซี คอร์ปส์ วูมิน เวิลด์ แบงกิ้ง
เฟซบุ๊กหวังว่าจะมีสมาชิกเพิ่มเป็น 100 รายก่อนการเปิดตัว Libra และเปิดรับใครก็ตามที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด รวมทั้งคู่แข่ง อย่าง กูเกิลและทวิตเตอร์
Libra Association ตั้งอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ และจะประชุมปีละ 2 ครั้ง การที่เลือกสวิตเซอร์แลนด์เพราะเป็นประเทศเป็นกลางรวมทั้งมีการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ที่ครอบคลุมเทคโนโลยีบลอคเชน
Libra เป็นหน่วย ของ Libra คริปโทเคอร์เรนซี ใช้สัญลักษณ์ ≋ เหมือนกับที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯใช้ $ ซึ่งการพัฒนาตั้งใจที่จะให้มูลค่าของลีบราคงที่เพื่อให้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่ดี ร้านค้าจะได้มีความมั่นใจ เนื่องจากที่ผ่านมามูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี หลายสกุล ค่อนข้างผันผวน จึงยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกับเงินตราที่ใช้กันอยู่
ดังนั้นมูลค่า Libra จึงกำหนดด้วยระบบตะกร้าเงิน โดยในตะกร้ามีเงินฝากธนาคารและหลักทรัพย์ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาล(รวมทั้งเงินดอลลาร์ เงินปอนด์ ยูโร สวิสฟรังก์ และเงินเยน) ซึ่งสำรองไว้เต็มจำนวนสำหรับทุก ๆ 1 Libra ที่สร้างขึ้นมา และ Libra Association จะปรับเปลี่ยนสัดส่วนน้ำหนักสินทรัพย์ในตะกร้าหากจำเป็นในกรณีทีค่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งมีความผันผวนเพื่อรักษามูลค่า Libra ซึ่ง Libra Association จะนำสินทรัพย์มาค้ำประกันและพิมพ์เหรียญ Libra ออกมา
แม้ขณะนี้ Libra Association ยังไม่กำหนดค่าเริ่มต้นของ Libra แต่คาดว่าน่าจะมีค่าที่ใกล้เคียงกับเงินดอลลาร์ เงินยูโรหรือเงินปอนด์ เพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนั้นนมสด 1 แกลลอนในสหรัฐฯอาจจะมีราคาเท่ากับ 3 ใน 4 ของลีบรา ซึ่งใกล้เคียงและไม่ตรงกันเสียทีเดียวกับดอลลาร์
หลักการพื้นฐานของลีบราคือ ใส่เงินสกุลที่ออกโดยรัฐบาลเข้าไปแลก Libra ออกมา จากนั้นสามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงตามร้านค้าที่รับชำระด้วย Libra หรือร้านค้าออนไลน์ เสมือนใช้เงินดอลลาร์ แต่การใช้ Libra จ่ายเงินไม่ต้องมีต้นทุนในการทำธุรกรรม หรือเปิดเผยชื่อจริงของผู้ใช้ อีกทั้งสามารถถอนออกเมื่อไรก็ได้ที่ต้องการ การแลกเงิน fiat เป็น Libra หรือแลก Libra เป็น fiat ต้องทำผ่านร้านหรือกลุ่มที่ได้รับสิทธิจาก Libra Association
ขณะเดียวกันเฟซบุ๊กได้ตั้งบริษัทอีกหนึ่งบริษัทชื่อ คาลิบรา(Calibra) เพื่อให้บริการ wallet เป็นกระเป๋าสำหรับผู้ที่ต้องการจะใช้ Libra ไว้เก็บ Libra
กระเป๋า Calibra พัฒนาขึ้นในรูปของแอปพลิเคชันซึ่งมาพร้อมฟีเจอร์สำหรับทำธุรกรรม ทั้งแลกเงิน fiat เป็น Libra หรือจะโอนเงิน นอกจากนี้การเริ่มใช้งาน กระเป๋า calibra ต้องมีการยืนยันตัวตน (Know-Your-Customer) หรือ KYC ก่อน
เฟซบุ๊กยังมีแผนที่จะผูก Libra กับแอปพลิเคชัน messaging ทั้งเฟซบุ๊ก Messenger และ Whatsapp อีกด้วย
ทุกครั้งที่ผู้ใช้ใส่เงิน fiat เข้ามา เงิน fiat นี้จะนำเข้าไปเก็บไว้ในเงินทุนสำรอง(Libra Reserve) และทุก 1 หน่วยของเงิน fiat ที่ใส่เข้าไปก็จะมีการนำเหรียญ Libra ออกมา 1 Libraให้กับผู้ใช้ และทุกเหรียญ 1 Libra ที่นำมาแลกคืน หรือทุกเหรียญ 1 Libra ที่มีการทำลายทิ้ง ก็จะมีการนำ1 หน่วยเงิน fiat ออกไป
วิธีนี้มูลค่าเหรียญ Libra ที่อยู่ในระบบก็จะมูลค่าคงที่เต็ม 100% สอดคล้องกับสินทรัพย์จากโลกจริงที่อยู่ในเงินทุนสำรอง Libra ซึ่งต่างจากมูลค่าเหรียญที่มีการผูกติดหรือ pegged กับสกุลเงินใดสกุลหนึ่ง
สำหรับสมาชิก Libra Association เมื่อมีการใส่เงินเข้ามา 10 ล้านดอลลาร์ ก็จะได้รับ Libra Investment Tokens จำนวน Token ที่ได้แสดงถึงสัดส่วนปันผลที่จะได้จากดอกเบี้ยของสินทรัพย์ที่อยู่ในทุนสำรอง ซึ่งจะจ่ายให้ต่อเมื่อมี Libra Association หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการลงทุนในระบบ งานวิจัยและการให้เงินให้เปล่าแก่องค์กรที่แสวงหากำไรกับองค์กรอื่นๆแล้ว
การจ่ายดอกเบี้ยเป็นการจูงใจสมาชิกเพราะหาก Libra ได้รับความนิยมและมีผู้เปิดบัญชี Libra มากขึ้นทุนสำรองจะขยายใหญ่ขึ้นและได้ดอกเบี้ยมากขึ้น
ทุกการใช้ชำระเงินด้วย Libra ก็จะมีการเขียนโปรแกรมอย่างถาวรใน Libra Blockchain เพื่อรองกับปริมาณธุรกรรมได้ ราว 1,000 transactions ต่อวินาที (tx/s)ซึ่งเร็วกว่า บิทคอยน์ที่รับได้ 7 tx/s และเอเธอเรียมที่รับได้ 15 tx/s โดยที่ Libra Blockchain จะมีการดำเนินการและรับรองข้อมูลจากสมาชิกผู้ก่อตั้งของ Libra Association
ธุรกรรมที่ได้ทำบน Libra Blockchain ไม่สามารถยกเลิกได้
สำหรับร้านค้าที่รับชำระด้วย Libra จะได้รับผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าของธุรกรรม ส่วนธุรกิจอื่นที่ได้รับผลตอบแทนเป็น Token ซึ่งสามารถนำ Token นั้นมาเป็นส่วนลดสำหรับการซื้อให้กับผู้ซื้อได้ และนับว่าเป็นการแข่งขันระหว่าง Wallet ที่สามารถให้ rewards กับลูกค้าและดึงดูดจำนวนผู้ใช้ให้มากขึ้น
ในกรณีที่บัญชีถูกแฮคหรือเจาะ Calibra จะชดเชยความเสียหายให้ หรือกรณีลืมรหัส Calibra จะช่วยแก้ไข
ช่วงแรก Calibra จะยังไม่ทำกำไร แต่หากมีผู้ใช้มากพอ เฟซบุ๊กก็จะเปิดตัวเครื่องมือทางการเงินอื่นๆเพิ่มเติมผ่าน Calibra เช่น การลงทุนหรือ การให้เงินกู้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เฟซบุ๊กพัฒนาก็สะท้อนว่า ระบบการเงิน เงินตราปัจจุบันไม่ได้ตอบสนองทุกคน คนที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว จะไม่เข้าใจถึงความยากลำบากของคนที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงิน ไม่รู้สึกไปกับแรงงานที่ส่งเงินกลับบ้านด้วยค่าธรรมเนียมที่สูง Libra ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาแทนที่เงินตราที่ใช้อยู่สำหรับคนกลุ่มนี้