ThaiPublica > เกาะกระแส > Bangkok FinTech Fair ธนชาต จับมือพันธมิตร BCEL ลาว ใช้ QR Code ชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ข้ามแดนครั้งแรก

Bangkok FinTech Fair ธนชาต จับมือพันธมิตร BCEL ลาว ใช้ QR Code ชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ข้ามแดนครั้งแรก

20 มีนาคม 2018


แถลงข่าวเปิดความร่วมมือการใช้มาตรฐาน QR Code สำหรับธุรกรรมการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพยข้ามประเทศ ระหว่างธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) และธนาคารการค้าต่างประเทศลาว โดยมีนางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.(ที่5 จากซ้าย) และนายสอนไซ ซิดพะไซ รองผู้ว่าธนาคารแห่ง สปป.ลาว (ที่5จากขวา)ร่วมเป็นประธาน และมีนายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ เครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต(ที่ 3 จากซ้าย) นายคำเซี่ยน มิ่งบุปผา รองผู้อำนวยการใหญ่ BCEL (ที่ 4 จากขวา)ร่วมแถลง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ได้มีการแถลงข่าวความร่วมมือการใช้มาตรฐาน QR Code สำหรับธุรกรรมการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพยข้ามประเทศ ระหว่างธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) และธนาคารการค้าต่างประเทศลาว(Bankque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public:BCEL) โดยมีนางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายสอนไซ ซิดพะไซ รองผู้ว่าธนาคารแห่ง สปป.ลาว ร่วมเป็นประธาน

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความร่วมมือการใช้มาตรฐาน QR Code สำหรับการชำระเงิน ผ่านระบบพร้อมเพย์ข้ามประเทศครั้งแรก ซึ่งธนาคารธนชาต และธนาคารการค้าต่างประเทศลาว หรือ BCEL (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ร่วมมือกันในการนำมาตรฐาน QR code มาใช้ในการชำระเงินข้ามประเทศ ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดการใช้มาตรฐาน QR code เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระบบการเงิน ระหว่างไทย กับ สปป.ลาว สอดคล้องกับหลักการนำมาตรฐานสากลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทำให้การพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวก ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่ต่ำ อีกทั้งเป็นรากฐานในการต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายต่อไป

“ความร่วมมือใช้มาตรฐาน QR Code เป็นการตอบโจทย์ประชาชน ผู้ใช้บริการให้มีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งเป็นเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าต่างประเทศมากกว่าเดิม และการที่ใช้มาตรฐานสากลมาต่อยอดความสามารถในการให้บริการของธนาคาร มีความปลอดภัยจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจและใช้บริการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายการใช้ QR Ciode ให้กว้างขวางมากขึ้น ปัจจุบันนี้มีร้านค้าในประเทศที่ขึ้นทะเบียนใช้ QR Code แล้ว 1 ล้านราย”

นายสอนไซ ซิดพะไซ รองผู้ว่าธนาคารแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า สปป.ลาว พยายามดำเนินตามพิมพ์เขียวการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ให้สำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการทางการเงินระหว่างอาเซียน และเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกัน ครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคารพาณิชย์ในลาวที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้บริการด้านการธนาคารที่ทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยลำดับ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ การเชื่อมโยงและนำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายและทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เชื่อว่าความสำเร็จจากการร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถส่งเสริมการค้า และสนับสนุนการชำระเงินระหว่าง สองประเทศ

นายสอนไซ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มาร่วมงานแถลงข่าวความร่วมมือของทั้งสองธนาคาร และธนาคารกลางลาวได้สนับสนุนความร่วมมือการพัฒนาบริการของธนาคาธนชาติและ BCEL ให้นำเทคโนโลยีและฟินเทคเข้ามาใช้ แต่คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้บริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะส่งเสริมการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศให้เพิ่มขึ้น

“ธนาคารกลางสนับสนุนความร่วมมือนี้ เพราะช่วยลดการใช้เงินสด ลดการใช้บัตร เป็นการพัฒนาข้ามขั้นมาเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในลักษณะนี้จะขยายไปสู่ธนาคารอื่นของทั้งสองประเทศมากขึ้น”

บรรยากาศแถลงข่าว

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ เครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ภาคธนาคารนำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันพัฒนาระบบ PromptPay เพื่อให้การโอนและรับเงินในประเทศเกิดความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย จึงเป็นที่มาให้ธนาคารธนชาตคิดต่อยอดนำระบบดังกล่าวร่วมกันพัฒนาในการใช้มาตรฐาน QR Code สำหรับธุรกรรมชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ข้ามประเทศครั้งแรก โดยร่วมมือกับ BCEL ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำระดับประเทศที่ธนชาตมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน และมีบริการโมบายแอพฯ เพื่อทำรายการภายในประเทศอยู่แล้ว โดยร่วมกันพัฒนาโมบายแอพฯ ให้สามารถสแกน QR Code ชำระค่าสินค้าและบริการข้ามประเทศได้เป็นครั้งแรก

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ธนชาตจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนชำระเงิน (Sponsor Bank) ในประเทศไทยให้กับ BCEL เมื่อลูกค้าของ BCEL เดินทางมาประเทศไทย สามารถใช้โมบายแอพฯ สแกนซื้อสินค้าในไทยร้านใดก็ได้ที่รับชำระด้วยมาตรฐาน QR Code ไม่ว่าร้านค้านั้นจะเป็นลูกค้าของธนาคารใดก็ตาม โดยธนชาตจะทำหน้าที่ชำระเงินให้แก่ร้านค้านั้นๆ ผ่านระบบ PromptPay ซึ่งมีมาตรฐาน ความปลอดภัยสูงสุด เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ผู้จ่ายและผู้รับ ลดภาระการถือเงินสด ลดความเสี่ยง ในการแปลงสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 2 ของปี 2561

นายอนุวัติร์กล่าวว่าความร่วมมือในการใช้มาตรฐาน QR Code ของทั้งสองธนาคาร นับว่าเป็นครั้งรกที่มีการใช้ QR Code ชำระเงินข้ามแดน ซึ่งธนาคารธนชาตจะทำหน้าที่เป็น Sponsor Bank สำหรับลูกค้า BCEL ที่มาใช้จ่ายฝั่งไทย ธนาคารจะช่วยชำระราคา และร้านค้าที่มีระบบ QR Code ตามมาตรฐานไทยก็สามารถใช้ได้ รวมทั้งใช้ได้กับทุกธนาคาร จึงเชื่อมั่นว่าระบบนี้จะช่วยเชื่อมโยงการค้าการลงทุน ตอบโจทย์ประชาชนในภูมิภาค

“ในช่วงเฟสแรก ธนชาตจะร่วมมือกับ BCEL ก่อน จากนั้นมีแผนจะขยายความร่วมมือ ในการให้บริการไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม) เนื่องจากเป็นบ้านใกล้ เรือนเคียงที่เข้ามาท่องเที่ยวและทำงานในไทยแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ตัวเลขจากกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ปี 2560 มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV เข้ามาราว 3.7 ล้านคน มียอดใช้จ่ายราว 113,738 ล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากนั้นในเฟส 2 ธนชาตจะร่วมมือ กับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่นๆ พัฒนาโมบายแอพฯ เพื่อให้คนไทยสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน โดยชำระผ่าน QR Code ได้เช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 ของปี 2561” นายอนุวัติร์กล่าว

นายคำเซี่ยน มิ่งบุปผา รองผู้อำนวยการใหญ่ BCEL กล่าวว่า BCEL และธนชาตมีความร่วมมือทางธุรกิจกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2552 ในหลายด้าน อาทิ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากกระแสรายวัน และการโอนเงินระหว่างประเทศ อีกทั้ง BCEL ได้ส่งพนักงานมาเรียนรู้งานในด้านต่างๆ จากธนชาต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้แก่พนักงานด้วย ปัจจุบันบริการทางการเงิน ในระบบดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้จากในประเทศลาวเอง มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นปีละ 54% และธุรกรรมทางการเงินผ่าน e-Banking เพิ่มขึ้น 85% ปีต่อปี โดยเมื่อต้นปี BCEL ได้เปิดให้บริการ BCEL One Pay ซึ่งเป็นบริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code เป็นครั้งแรกใน สปป.ลาวซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

โดยฟังก์ชั่นนี้อยู่ในโมบายแอพฯ BCEL One ที่ธนาคารเปิดตัวไปเมื่อปี 2559 ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น BCEL จึงร่วมมือกับธนชาต พัฒนาบริการชำระเงินผ่าน QR Code ข้ามประเทศขึ้นเพื่อให้ลูกค้าของ BCEL หรือลูกค้าชาวลาวที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทยสามารถจ่ายด้วยการสแกน QR Code ผ่าน BCEL One Pay ได้อย่างสะดวกสบาย โดยมีธนชาตเป็นตัวแทนชำระเงินให้ร้านค้าในประเทศไทย ซึ่งถัดจากโครงการนี้ ทั้ง 2 ธนาคารจะร่วมมือกันพัฒนาบริการทางการเงินให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อลูกค้าต่อไป

“ธนาคารธนชาตและ BCEL มีความสัมพันธ์และมีความร่วมมือกันมานาน จึงได้ต่อยอดความร่วมมือมาพัฒนา QER Code ซึ่งจากการเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีที่แล้วดได้รับการตอบรับอย่างดี มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 1,000 ร้าน มียอดใช้จ่าย 9 พันล้านกีบต่อเดือนหรือเติบโตประมาณ 20% เนื่องจาก QR Code ใช้ง่าย สะดวก ไม่ต้องพกเงินดส แม้ร้านค้าย่อยก็สามารถใช้ได้ ประกอบกับประชาชนใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก”

นายนันทะลาด แก้วปะเสิด รองผู้อำนวยการ ธนาคาร BCEL ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ธนาคาร BCEL เป็นธนาคารรัฐที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งสปป.ลาว และเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของลาวเมื่อวัดจากขนาดของสินทรัพย์ มีฐานลูกค้ากว่า 1 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศที่มีราว 6 ล้านคน จึงครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดกว่า 20% และมีเครือข่ายกว่า 100 ไว้บริการลูกค้าทั่วประเทศ

นายนันทะลาด แก้วปะเสิด รองผู้อำนวยการ ธนาคาร BCEL (ซ้าย) นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ ร่วมตอบคำถามสื่อมวลชน

ธนาคารเปิดบริการ Mobile App มาประมาณ 4-5 ปี มีลูกค้าที่ใช้จำนวนกว่า 2 แสนคน ครองส่วนแบ่งตลาดด้าน Mobile Banking สูงถึง 90% เพราะประชาชนหันมาใช้บริการจำนวนมาก ด้วยความสะดวก และเมื่อเปิดบริการรับชำระเงินด้วย QR Code ก็ได้รับการตอบรับที่ดี โดยใช้เวลาเพียง 5 เดือนยอดร้านค้า(Merchant Acquisition) เติบโต 20% ต่อเดือน ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้น 10% ต่อเดือนหรือเฉลี่ยเดือนละ 2 พันล้านกีบ ขณะที่การชำระเงินผ่านเครื่อง EDC ซึ่งให้บริการมาแล้ว 7-8 ปี ยอดร้านค้ายังมีเพียง 4,000 ร้านเท่านั้น

การให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code อาจจะมีค่าธรรมเนียม แต่ต่ำกว่าอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตที่ร้านค้ามักจะเรียกเก็บค่า surcharge ประมาณ 2-3% และเมื่อเปรียบเทียบกับการกดเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มผ่านแดนก็ยังมีค่าธรรมเนียมตามมาตรฐาน VIA และ MasterCard ประมาณ 3% ดังนั้นการใช้ QR Code จึงสะดวกกว่ามาก

“สำหรับลูกค้า BCEL ที่จะมาใช้จ่ายฝั่งไทยก็มีความสะดวก เพราะใช้ Application มีให้เลือกว่า จะใช้บัญชีใดที่มีอยู่กับธนาคาร เพราะโดยทั่วไปลูกค้าสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารได้ ทั้งบัญชีเงินกีบ บัญชีเงินบาทและบัญชีเงินดอลลาร์”

ธนาคาร BCEL ได้นำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบการให้บริการของธนาคาร โดยปัจจุบันใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาใช้การยืนยันตัวตนของลูกค้า(Verify) ที่ลงทะเบียนใช้บริการออนไลน์ แต่ต้องมาเปิดใช้บริการ(Activate) ที่สาขา แต่ในระยะต่อไปจะพัฒนาให้ยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ได้เลย ทั้งนี้ธนาคารตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนธุรกรรมออนไลน์ได้ 65% ใน 3 ปี