จากตอนที่แล้วในคดีโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มชาวบ้านกัมพูชา 3,000 คน ยื่นฟ้อง บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นคดีแบบกลุ่มต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แสดงให้เห็นความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่จะมีส่วนช่วยให้ประชาชน คนตัวเล็กได้มีโอกาสได้รับความยุติธรรมได้มากขึ้น แต่กรณีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม และอยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งฯ อย่างไรก็ตามการฟ้องแบบกลุ่มยังเป็นการลดปริมาณคดีในชั้นศาลที่สามารถพิจารณาคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากให้เสร็จลุล่วงได้ไปในคราวเดียว สำหรับตอนที่ 2 มาทำความเข้าใจเพิ่มเติมถึงขอบเขตของสมาชิกกลุ่ม ขั้นตอนภายหลังศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และสิทธิของผู้ไม่เห็นด้วยหากถูกกำหนดรวมไปเป็นสมาชิกกลุ่มแล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง
คดีบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ เมื่อสิ่งที่ต้องเยียวยาไม่ใช่แค่ตัวบุคคล
กรณีที่ 2 นี้ เป็นคดีสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านฟ้อง บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับรีไซเคิล ขยะอันตรายและไม่อันตรายที่ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยบริษัทดังกล่าวได้ตั้งโรงงานถึง 9 โรงงานในพื้นที่ การดำเนินกิจการมีการฝังกลบขยะร่วมด้วย ซึ่งภายหลังมีการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่ลำห้วยน้ำพุ แล้วแพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ทำให้น้ำในลำห้วยน้ำพุไม่สามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้ อีกทั้งยังมีการปนเปื้อนของมลพิษในดินในพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก ชาวบ้านจึงฟ้องบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย และขอให้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
โดยคดีนี้ใช้โจทก์ในการฟ้องคดี 3 คน เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ที่กรุงเทพมหานคร (โจทก์อาจเลือกฟ้องต่อศาลที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ คือ ศาลจังหวัดราชบุรีก็ได้เช่นกัน) และเนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่ได้โต้แย้งเรื่องคำร้องขอไต่สวนคดีแบบกลุ่มมาก ทำให้เมื่อไต่สวนเพียง 1 นัด ศาลก็รับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม อีกทั้งฝ่ายจำเลยไม่ขออุทธรณ์คำสั่งฯ ทำให้ใช้เวลาเพียงไม่นาน
สำหรับขั้นตอนภายหลังศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มทุกคนได้รับทราบ ซึ่งเมื่อผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มได้รับทราบประกาศแล้ว หากผู้เสียหายคนใดที่เป็นสมาชิกกลุ่มโดยคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่หมู่ 1 ต.น้ำพุ และได้รับความเสียหายจากการประกอบกิจการของโรงงานเช่นเดียวกับโจทก์ แต่ไม่ประสงค์ที่จะผูกพันตามคำพิพากษาของคดี ไม่ต้องการเป็นสมาชิกกลุ่ม จะต้องทำหนังสือแถลงต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ว่าไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม เพื่อบุคคลนั้นจะไปใช้สิทธิในการฟ้องคดีเป็นการส่วนตัว
เพราะหากผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกกลุ่มไม่ออกจากกลุ่ม เมื่อครบระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว ถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกกลุ่มโดยปริยายตามผลของกฎหมาย และต้องผูกพันตามคำพิพากษาด้วย คือ ถ้าโจทก์ชนะคดีก็ชนะด้วย และมีสิทธิได้รับเงินชดเชยต่างๆ ตามคำพิพากษา แต่ถ้าโจทก์แพ้คดีก็ต้องแพ้ไปด้วย หมดสิทธิที่จะไปฟ้องคดีเป็นการส่วนตัว
สำหรับคดีนี้ เนื่องจากเป็นคดีสิ่งแวดล้อม หลังจากประกาศหนังสือพิมพ์แล้ว กระบวนการในการพิจารณาของศาลจะมี “การเจรจาไกล่เกลี่ย” โดยมีองค์คณะผู้พิพากษาเป็นประธานในการไกล่เกลี่ย ก่อนดำเนินคดีในชั้นศาลว่า จะดำเนินการแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในบริเวณโรงงานได้อย่างไร โดยมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญจากทั้งฝ่ายโจทก์ จำเลย พร้อมกับเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามา เพราะกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
การเจรจาไกล่เกลี่ยถือเป็นอีกกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และอาจทำให้การสืบพยานในเนื้อหาของคดีล่าช้าออกไป ส่งผลให้ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการสืบพยาน แต่ขณะเดียวกันหากการเจรจาประสบผลสำเร็จก็ช่วยลดปริมาณคดีในชั้นศาลลงได้ อีกทั้งในกรณีคดีสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้มีการแยกอย่างชัดเจนระหว่างเรื่องค่าเสียหายที่เป็นประเด็นส่วนบุคคล และเรื่องของการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เป็นเรื่องสาธารณะ ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้ามารับรู้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น