ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำความเข้าใจ Class Action พร้อม 4 คดีตัวอย่าง (ตอนที่ 1): กุญแจสู่ความยุติธรรม กับคำร้องข้ามพรมแดน ครั้งแรกของไทย

ทำความเข้าใจ Class Action พร้อม 4 คดีตัวอย่าง (ตอนที่ 1): กุญแจสู่ความยุติธรรม กับคำร้องข้ามพรมแดน ครั้งแรกของไทย

4 กรกฎาคม 2019


การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมถือเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2550 เคยได้ให้การรับรองไว้ในมาตรา 40 ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2560 จะไม่ได้บัญญัติสิทธิดังกล่าว แต่ปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้งภาครัฐเองได้พยายามกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ ออกกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงยังพบว่า ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะประชาชนในระดับรากหญ้ายังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ class action มีส่วนสำคัญที่จะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับคดีที่กระทบกับคนจำนวนมาก

นับแต่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา มีจำนวนการฟ้องร้องเพื่อขอดำเนินคดีแบบกลุ่มในปัจจุบันแล้วกว่า 10 คดี เช่น คดีที่ผู้บริโภคหลายซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ฟอร์ด เป็นตัวแทนกลุ่มของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกันอีกหลายร้อยราย ยื่นฟ้องบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในเครือ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งนับว่าเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม

และล่าสุด คือ กรณีตัวแทนกลุ่มชาวบ้านจากกัมพูชา ยื่นฟ้องคดีต่อบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เนื่องจากมีชาวบ้านกว่า 3,000 จาก 600 ครัวเรือน ใน 5 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบจากการเข้าสัมปทานที่ดินจากบริษัทตัวแทนของมิตรผลที่เข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีนัดฟังคำพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562

ทำความเข้าใจ Class Action กับกรณีชาวบ้านกัมพูชายื่นฟ้อง “น้ำตาลมิตรผล”

ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงหลักการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยระบุว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นออกแบบมาเพื่อกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และได้รับความเสียหายคล้ายกัน หรือมีลักษณะอย่างเดียวกันโดยเฉพาะ

กรณีที่ต้องกล่าวถึงเป็นกรณีแรก เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการนัดฟังคำสั่งของศาลในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ว่าจะรับฟ้องคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ คือ กรณีของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งชาวบ้านทั้ง 3,000 คนนั้นได้รับความเดือดร้อนจากการจัดการพื้นที่สัมปทานราว 58,000 ไร่ ที่มีการไล่รื้อและเผาทำลายทรัพย์ โดยเหตุที่ต้องนำคดีมาฟ้องที่ประเทศไทยเนื่องจากบริษัท อังกอร์ ชูการ์ ที่เป็นบริษัทในเครือของบริษัท มิตรผลฯ ในประเทศกัมพูชาได้ปิดตัวลงแล้ว

ประกอบกับก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย และทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้สรุปผลจากการสอบข้อเท็จจริงว่า กรณีดังกล่าวมีมูล และเห็นควรให้บริษัทพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ชาวบ้าน

โดยหลักแล้วการดำเนินคดีแบบกลุ่มใช้เพียง “ตัวแทน” ในการฟ้องคดีเท่านั้น ผู้เสียหายทั้ง 3,000 คนจากกัมพูชาจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาฟ้องคดีเองที่ประเทศไทย แค่เพียงมีตัวแทนผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน 1-2 คน เป็นโจทก์ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล แล้วทำการเรียกค่าเสียหายให้ตัวเองรวมทั้งค่าเสียหายให้กับสมาชิกกลุ่มที่ได้รับความเสียอย่างเดียวกันก็เพียงพอ

สำหรับคดีนี้ใช้ตัวแทนกลุ่มจำนวน 2 คน เป็นโจทก์ และหากศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว ในการดำเนินคดีก็ไม่จำเป็นต้องนำผู้เสียหายทั้ง  3,000 คนมาขึ้นศาล โดยสามารถเลือกพยานซึ่งเป็นผู้เสียหายบางคนมาเบิกความประกอบว่า แต่ละคนได้รับความเสียหายอะไร อย่างไร เพราะหากต้องสืบพยานทั้งหมด 3,000 ปาก อาจต้องใช้เวลาหลายปี ซึ่งผลที่จะได้รับหากชนะคดี ผู้ที่จะได้รับประโยชน์นอกจากตัวโจทก์ผู้ฟ้องคดีแล้วยังรวมไปถึงสมาชิกกลุ่ม ทำให้คนที่ได้รับความเสียหายอย่างเดียวกับตัวโจทก์ได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายด้วย

“ในอดีตเมื่อผู้คนได้รับความเสียหายจากการกระทำของบุคคลอื่น หากต้องการใช้สิทธิเรียกร้องต่อศาล ต้องการได้รับการเยียวยา ในการฟ้องคดีไม่ว่าจะมีผู้เสียหายคนเดียว 100 คน หรือ 1,000 คนก็ตาม ผู้เสียหายแต่ละคนจะต้องไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยตรง เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งวางหลักว่า คำพิพากษาของศาลจะผูกพันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น คือ คำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะตัวโจทก์ และจำเลยผู้ที่อยู่ในคดีความเท่านั้น กรณีเช่นนี้ทำให้เกิดข้อยุ่งยาก และเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ สำหรับกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และทำให้คดีประเภทนี้มักไม่มีใครอยากไปยื่นฟ้องคดี”

ในการฟ้องคดี นอกจากโจทก์แต่ละคนจะต้องเรียกค่าเสียหายส่วนตนแล้ว สิ่งที่จะเชื่อมโยงผลประโยชน์จากคำพิพากษาสู่ผู้เสียหายคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก และเป็นสิ่งที่ทำให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มแตกต่างไปจากคดีความทั่วไปคือ โจทก์ผู้เป็นตัวแทนกลุ่มในการฟ้องคดีจะต้องนำเสนอหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ได้รับความเสียหายคนอื่นด้วยว่า ได้รับความเสียหายต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือทรัพย์สินอย่างไร คิดเป็นค่าเสียหายเท่าไร

เมื่อโจทก์ชนะคดี ผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งได้รับความเสียหายและอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามที่ระบุไว้ในคำฟ้อง เพียงนำหลักฐานแสดงตัวตนว่า เกิดและเติบโต หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในระยะเวลาเกิดเหตุ ตามทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน พร้อมนำผลยืนยันความเสียหาย เช่น ผลตรวจสุขภาพ หลักฐานภาพถ่ายความเสียหาย เป็นต้น ไปแสดงต่อสำนักงานบังคับคดี ก็สามารถได้รับค่าชดเชยจากจำเลยตามคำพิพากษาได้

“การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตัวของสมาชิกกลุ่มไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องไปขึ้นศาล เพราะคดีเหล่านี้ส่วนมากเป็นคดีที่มีอิทธิพล ฉะนั้นการจะให้ชาวบ้านไปเป็นพยานในชั้นศาลก็ค่อนข้างจะลำบาก การฟ้องคดีแบบกลุ่ม ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เสียหายอย่างเดียวกับโจทก์ก็จะได้รับค่าชดเชยด้วยถ้าชนะคดี ซึ่งเราก็มองว่า หลักการนี้ เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยแล้วจะทำให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะคดีแบบนี้ หากผู้ประกอบการหรือบริษัทถูกฟ้องมีโอกาสที่จะล้มละลายได้ง่าย เพราะค่าเสียหายสูง แม้ค่าเสียหายรายคนอาจไม่มาก แต่จำนวนผู้เสียหายมีจำนวนมาก”

คดีนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่มได้อย่างชัดเจน ด้วยจำนวนผู้เสียหายที่มีจำนวนมากกว่า 3,000 คน อีกทั้งผู้เสียหายเหล่านี้เป็นเพียงชาวบ้านที่มีฐานะยากจน เสียงของคนตัวเล็กเหล่านี้อาจไม่มีใครได้ยินหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาคประชาสังคม และสิ่งที่ทำให้เขาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากกว่ากรณีอื่นๆ คือ การที่พวกเขาเป็นผู้เสียหายจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชาวบ้านจากกัมพูชา 3,000 คนจะมายื่นฟ้องคดีที่ประเทศไทยด้วยตนเอง คดีนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่าง

ที่มาภาพกระทรวงยุติธรรม

ทั้งนี้ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลโดยสรุปดังนี้

ประการแรก เป็นเรื่องของการส่งคำสั่งของศาลให้สมาชิกกลุ่มทั้งหมดทราบหากศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม มีข้อขัดข้องและเป็นอุปสรรคทำให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มล่าช้า และอาจส่งผลให้สมาชิกกลุ่มไม่ทราบคำสั่งได้ กล่าวคือ

  • การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทั้งสอง และสมาชิกกลุ่มเป็นชาวกัมพูชา ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย การส่งคำบอกกล่าวให้แก่สมาชิกกลุ่มทราบและการต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลาย หรือช่องทางอื่นใด ไม่อาจทำได้โดยสะดวก ไม่ทราบว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด และไม่ทราบว่าต้องทำด้วยวิธีการใดจึงจะมีประสิทธิภาพให้มาชิกกลุ่มของโจทก์ทราบและเข้าใจได้ทั้งหมด
  • อีกทั้งไม่ทราบบ้านเลขที่ของสมาชิกกลุ่ม และในทางนำสืบพบว่าหมู่บ้านที่ทุกคนอาศัยอยู่นั้นห่างไกลความเจริญ ไม่มีทางรถยนต์ คงไม่สามารถส่งคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแก่ทุกคนได้ไม่ว่าทั้งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ได้
  • ส่วนการเผยแพร่คำสั่งผ่านทางเว็บไซต์ของศาล สำนักงานศาลยุติธรรม หรือสื่อมวลชนอื่นใดตามสมควรนั้น ต้องกระทำภายในประเทศไทย ไม่สมารถทำที่ประเทศกัมพูชาได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

ประการที่สอง คดีมีประเด็นพิพาทที่ต้องพิจารณาอย่างสลับซับซ้อน ปัญหาเรื่องการสื่อสารที่โจทก์ทั้งสอง และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดไม่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยและอังกฤษได้ ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินคดีตามกฎหมาย และการพิจารณาคดีที่เป็นภาษาไทยได้น้อย ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสิทธิแก่โจทก์ฯ และสมาชิกกลุ่มได้ อีกทั้งทนายโจทก์ไม่มีทนายชาวกัมพูชาร่วมในคณะการค้นหาพยานหลักฐานในกัมพูชาที่อาจต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการกัมพูชา อาจกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

ประการที่สาม ประเด็นในการอ้างอิงกฎหมายกัมพูชาที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะบ่งชี้ให้จำเลยต้องร่วมรับผิดกับ บริษัท อังกอร์ ชูการ์

และประการที่สี่ หากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ปัญหาเรื่องการสื่อสารจะเป็นอุปสรรคในการแจ้งคำพิพากษา และคำสั่งในชั้นบังคับคดี เพื่อให้โจทก์ฯ และสมาชิกกลุ่มทราบและเข้าใจได้

อย่างไรก็ตามแม้ศาลไม่รับคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม โจทก์ยังมีช่องทางในการฟ้องคดีอย่างสามัญ (ฟ้องแบบปกติที่โจทก์ผู้เสียหายทุกคนต้องมีชื่อเป็นโจทก์ และต้องมาสืบพยานเอง) หรือการอุทธรณ์คำสั่งฯ ต่อไป โดยคดีนี้ทนายโจทก์มีความเห็นที่จะขออุทธรณ์คำสั่งฯ เนื่องจากเห็นว่า เรื่องความยุ่งยากในการแจ้งคำสั่งศาลนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่มุ่งเน้นให้ผู้เสียหายทั้งหมดได้รับความสะดวกในการเข้าถึงความยุติธรรม