ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำความเข้าใจ Class action พร้อม 4 คดีตัวอย่าง (ตอนจบ): เครือข่ายมือถือ กับยุทธศาสตร์กำหนดจำนวนโจทก์

ทำความเข้าใจ Class action พร้อม 4 คดีตัวอย่าง (ตอนจบ): เครือข่ายมือถือ กับยุทธศาสตร์กำหนดจำนวนโจทก์

12 กรกฎาคม 2019


(Class Action) ในตอนที่ 1 ,ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 ปิดท้ายด้วยการทำความเข้าใจยุทธศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม คือการกำหนดจำนวนโจทก์ที่จะเป็นตัวแทนกลุ่มในคดี ซึ่งทั้ง 3 คดีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าแต่ละคดีมีจำนวนโจทก์ตั้งแต่ 1 คน ไปจนถึง 3 คน โดยคดีต่อไปนี้จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นถึงเหตุที่ต้องมีโจทก์ที่เป็นตัวแทนกลุ่มมากกว่า 1 คน เพราะบางกรณีจำนวนโจทก์ก็อาจมีผลต่อรูปคดีเช่นกัน

คดีเครือข่ายมือถือ กับยุทธศาสตร์กำหนดจำนวนโจทก์

โดยกรณีที่สี่นี้ เป็นกรณีของผู้ใช้บริการฟ้องค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย คือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภคแบบกลุ่มเนื่องจากเห็นว่าค่ายมือถือทั้ง 3 ทำผิดสัญญาในการคิดค่าบริการที่ใช้วิธีการปัดเศษ เช่น ใช้บริการโทรไปเป็นเวลา 2:01 นาที เวลาที่นำมาคิดค่าบริการคือ 3:00 นาที ซึ่งมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

ประกอบกับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เคยมีคำสั่งให้ทางค่ายมือถือคิดค่าบริการแบบตามจริง คือ คิดเป็นวินาที ซึ่งภายหลังมีคำสั่งจากทาง กสทช.ออกมาใหม่ให้คิดค่าบริการแบบปัดเศษได้กึ่งหนึ่ง ซึ่งคดีที่ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบ คือ ส่วนของเครือข่ายดีแทค ซึ่งเฉพาะผู้ใช้บริการของเครือข่ายนี้ก็มีอยู่กว่า 23 ล้านเลขหมาย จึงต้องฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยใช้โจทก์ 2 ประเภท 2 คน คือ โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้บริการเสียค่าโทรศัพท์แบบรายเดือน โจทก์ที่ 2 ก็จะเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงิน โดยปัจจุบันคดีนี้อยู่ในกระบวนการไต่สวนคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม

สถิติผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ที่มาภาพ: http://www.telco.mut.ac.th/telco/index.php/en/news/3-2009-08-14-13-13-16/213-2012-05-12-11-00-44
สถิติผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ที่มาภาพ: http://www.telco.mut.ac.th/telco/index.php/en/news/3-2009-08-14-13-13-16/213-2012-05-12-11-00-44

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าวต่อไปถึงจำนวนโจทก์ในคดีว่า การกำหนดจำนวนโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นเรื่องทางยุธศาสตร์ กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนไว้ตายตัว เพราะหากเราใช้โจทก์เพียงคนเดียวฟ้องคดีแทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมด ในกรณีที่ฟ้องคดีต่อบริษัท หรือผู้ประกอบการที่มีอิทธิพลทั้งด้านการเงิน และด้านอื่นๆ ค่อนข้างสูง โจทก์อาจถูกแรงกดดันจนต้องยอมถอนฟ้องได้ง่าย ดังนั้นจึงควรใช้โจทก์มากกว่า 1 คน

อีกประเด็นหนึ่งคือ ต้องดูด้วยว่าโจทก์เพียง 1 คนเพียงพอที่จะบอกเล่าเรื่องราวแทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดได้หรือไม่ เช่น กรณีที่ฟ้องค่ายมือถือ ผู้ได้รับความเสียหายมี 2 ส่วน คือ ผู้ที่ใช้บริการแบบรายเดือน กับผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน หากเราใช้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการแบบรายเดือนอย่างเดียวอาจไม่สามารถอธิบายการรับบริการแบบเติมเงินได้ เมื่อผู้เสียหายมีหลายประเภท ดังนั้นจึงต้องมีจำนวนโจทก์ที่เข้าใจในแต่ละประเด็นปัญหาเป็นตัวแทนของกลุ่มเพิ่มขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีแบบกลุ่มยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย มีกฎหมายจะบังคับใช้ได้ราว 2 ปีกว่าเท่านั้น ขณะที่ในประเทศตะวันตกคดีแบบกลุ่มมีการใช้มานานแล้ว ซึ่งหลักในการกรองสมาชิกกลุ่มต่างไปจากของไทย โดยผู้ได้รับความเสียหายอย่างเดียวกับโจทก์ และต้องการได้รับค่าชดเชย จะต้องไปแถลงต่อศาลของเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม (opt-in) ทำให้สามารถกำหนดจำนวนสมาชิกได้แน่นอน และเป็นผลดีต่อจำเลยที่จะตัดสินใจในการสู้คดี หรือเลือกที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อชดใช้ค่าเสียหายไปในคราวเดียว

ส่วนประเทศไทย เมื่อศาลประกาศพื้นที่สมาชิกกลุ่มแล้วหากไม่ดำเนินการแถลงขอออก (opt-out) บุคคลในพื้นที่ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มไปโดยผลของกฎหมาย แต่ในคดีรถยนต์ฟอร์ด ศาลกลับกำหนดจำนวนสมาชิกกลุ่มตามรายชื่อสมาชิกกลุ่มบางส่วนฯ เท่านั้น ดังนั้นทั้งประชาชนและบรรดานักกฎหมาย รวมถึงศาลเอง ยังต้องเรียนรู้และปรับปรุงหลักการดังกล่าวให้เข้าที่เข้าทาง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคต่อไป

ที่มาภาพ: กระทรวงยุติธรรม