วรากรณ์ สามโกเศศ
การมีทารกก็เปรียบเสมือนกับการเริ่มต้นผจญภัยชีวิตซึ่งจะนำไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นส่วนใหญ่และชะตากรรมเป็นส่วนน้อย ความรับผิดชอบและความรู้เท่าทันชีวิตของพ่อแม่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการบ่มเพาะฟูมฟักทารก ผู้เขียนได้อ่านพบเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเฝ้าดูทารก ทำให้อดไม่ได้ที่จะนำมาสื่อสารต่อเพราะไม่เคยเขียนถึงเรื่องทารกเลย ถึงแม้จะเคยมีประสบการณ์ดูแลทารกมาถึง สองคนแล้วก็ตาม
พ่อแม่ทุกคนที่ลูกอยู่ในวัยทารก ถึงแม้จะสุขใจแต่ลึก ๆ ในใจล้วนห่วงกังวลว่าจะเลี้ยงทารกได้รอดหรือไม่เพราะเขาดูเปราะบาง อีกทั้งแปลกใจและกังวลกับการมีชีวิตของเด็กตัวน้อย ๆ
ที่กังวลมากที่สุดคือหัวใจเขายังเต้นอยู่หรือไม่โดยเฉพาะในตอนกลางคืน และในยามที่เขาป่วยไข้ ทุกคนได้ยินเรื่องราวของการเสียชีวิตไปอย่างหาสาเหตุไม่ได้ของทารกตอนนอนหลับอยู่เนือง ๆ ดังที่เรียกว่า Sudden Unexpected Infant Death (SIDS)
สมัยก่อนพ่อแม่ที่ขี้กังวลก็จะใช้การวางวิทยุ walkie-talkie ไว้ข้างตัวลูกเพื่อฟังเสียงหายใจ หรือไม่ก็มีกล้องจับภาพการเคลื่อนไหว แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปไกลและแพงขึ้นมากโดยการใช้ motion sensors (เครื่องมือไฟฟ้าขนาดเล็กจับการเคลื่อนไหว) หนีบไว้กับผ้าอ้อม หรือวางไว้ใต้ที่นอน หรือไม่ก็ใช้ถุงเท้าส่งสัญญาณอัตราการเต้นของหัวใจและปริมาณก๊าซออกซิเจนที่หายใจเข้าไป
พ่อแม่เหล่านี้มีอยู่จริงในประเทศพัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ในบ้านเรา โดยเฉพาะที่มีเงินทองซื้ออุปกรณ์ในราคาเหยียบหลายหมื่นเพื่อตัดความกังวลใจ (ถุงเท้าที่กล่าวถึงขายได้ปีละกว่า 300,000 คู่ในสหรัฐ)
อุปกรณ์ใช้ได้ดีอยู่ระยะหนึ่งเพราะส่วนใหญ่มิได้รับการรับรอง ปัญหาก็คือสัญญาณ wifi ของเครื่องถูกแทรกแซงเพราะในบ้านมีอุปกรณ์ใช้ wifi อยู่แล้วหลายประเภท บางครั้งก็มีเสียงดังเตือนขึ้น พ่อแม่วิ่งหน้าตาตื่นไปดูเพราะเป็นสัญญาณว่ามีการหยุดหายใจเกินกว่า 20 วินาทีแต่ก็ไม่พบสิ่งใด ถึงกระนั้นก็ยังมีพ่อแม่พร้อมที่จะซื้อเพื่อความสงบแห่งจิตใจ
ปัจจุบันกรณีของ SIDS ลดไปเป็นอันมากเพราะพ่อแม่มีความรู้ดีขึ้น เช่น ไม่เอาตุ๊กตาวางไว้ข้างตัวลูก ให้ลูกนอนหงายจนถึง 1 ขวบ (การนอนคว่ำอาจทำให้หัวสวยแต่จมูกอาจกดกับที่นอนได้) ไม่ให้มีผ้าหลายผืนพันตัวลูกรุงรัง ไม่ให้มีเชือกอยู่ใกล้ที่นอน ไม่ให้มีวัสดุอื่นอยู่ใกล้ตัวทารก ฯลฯ ซึ่งอาจกีดขวางการไหลเวียนของอากาศหรือพันคอทารกจนหายใจไม่ออกก็อาจเป็นได้
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าอุปกรณ์ทันสมัยที่มิได้รับการรับรองเป็นสิ่งไม่จำเป็นSIDS เกิดขึ้นน้อยเต็มทีหากพ่อแม่หาความรู้และกระทำดังก่อนหน้านี้ ความกังวลจนดูแลอย่างรอบคอบเป็นสิ่งดี แต่ควรเป็นไปในแนวทางสายกลาง หากสุดโต่งเกินไปก็เสียเงินเกินควรและยังกังวลใจไม่คลายอีกด้วย การดูแลอย่างใกล้ชิดโดยตรวจสอบการหายใจของทารกเป็นบางครั้งในระหว่างหลับเป็นสิ่งที่ควรกระทำแต่ไม่ควรหมกมุ่นอยู่ในความห่วงกังวลจนหาความสุขจากการมีลูกไม่ได้
ข้อแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับทารกมีดังนี้
-
1) จับนอนหงายอย่างไม่มีวัสดุอยู่ใกล้ตัว
2) พ่อแม่ควรนอนอยู่ใกล้ลูก แต่ไม่นอนติดกับลูกเพราะอาจกลิ้งไปทับได้ การนอนลักษณะนี้ควรเป็นไปจนกว่าจะมีอายุ 6 เดือน 3) การใช้เครื่องมือทันสมัยมิใช่สิ่งไม่ดี แต่ควรรู้อย่างเท่าทันว่าช่วยได้ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงของการหยุดหายใจของทารก กรณีปกติซึ่งเป็นส่วนใหญ่นั้นไม่จำเป็น
ปัจจุบันการใช้ application บนมือถือที่จะติดตามอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนของทารกก็เพียงพอแล้วเพียงแต่แบตเตอรี่มักหมดไปก่อน อีกวิธีหนึ่งก็คือการติดตั้งกล้องโทรทัศน์จับตาดูการเคลื่อนไหวของทารกข้ามคืน
ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตจะเห็นว่าในปัจจุบันเขาไม่ใช้แป้งฝุ่นเด็กทาตัวทารกเพื่อลดความเปียกชื้นกันแล้วทั้งนี้เพราะทำให้เด็กหายใจเอาเข้าไปในปอดเวลาใส่แป้ง และแป้งเด็กอาจมีใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนอยู่ด้วย (talcum หรือฝุ่นแป้งเป็นฝุ่นที่มาจากการย่อยวัสดุธรรมชาติที่มีใยหินปนอยู่)
ความกังวลเปรียบเสมือนการนั่งเก้าอี้โยก มันทำให้เรามีอะไรทำแต่ไม่ได้ทำให้เราเคลื่อนไปไหนเลย โปรดกังวลเรื่องการอยู่รอดของทารกแต่พอควร เขา “แน่” และแข็งแกร่งพอตัวอยู่แล้ว ถ้าไม่ “แน่” จริงคงไม่ผ่านกระบวนการคลอดที่น่ากลัวออกมาได้เป็นแน่
หมายเหตุ : ตีพิพม์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 พ.ค. 2562