ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมคนเราถึงกลัวการลาออกจากงานที่เราเกลียดกัน

ทำไมคนเราถึงกลัวการลาออกจากงานที่เราเกลียดกัน

30 มิถุนายน 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมามีคนสองสามคนที่ได้อ่านหนังสือของผม ได้เขียนอีเมล์มาว่า

“แล้วถ้าเราเลือกงานหรืออาชีพที่ทำให้เราไม่มีความสุขไปแล้วล่ะ เราจะทำยังไงดี”

ใจจริงคำตอบที่ผมอยากจะให้กับคนที่เขียนมาหาผม (ถึงแม้ว่าผมจะไม่เคยทำงานเป็น career counsler ก็ตาม) ก็คือ ถ้างานหรืออาชีพทำให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขล่ะก็ คุณก็ควรจะลาออกไปทำที่อื่น หรือเปลี่ยนอาชีพไปเลยดีกว่านะครับ

แต่ผมคิดว่าคำตอบที่ผมอยากจะให้ไปนั้นไม่ใช่คำตอบที่ตรงกับคำถามที่เขาถามมาซักเท่าไหร่ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่เขียนเข้ามาถามผมนั้นต่างก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าจะต้องทำยังไง ถ้าไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ก็ลาออกน่ะสิ หรือก็เปลี่ยนอาชีพไปเลยน่ะสิ การรู้หรือไม่รู้คำตอบนี้ไม่ใช่ปัญหา

แต่ปัญหาก็คือมันรู้น่ะสิ แต่มันทำไม่ได้ และการรู้คำตอบแต่ทำตามคำตอบที่ตัวเองรู้อยู่แก่ใจไม่ได้นั้นเป็นอะไรที่ช่างทรมานเหลือเกิน

วันนี้ผมก็เลยขอมาเขียนในเรื่องนี้ให้อ่านกันว่า แล้วเราควรจะเริ่มแก้ปัญหาของการรู้แต่ทำไม่ได้นี้ยังไงกันดี

ข้อแรก เราลองมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอะไรเป็นต้นปัญหาของความรู้สึก “แต่มันทำไม่ได้” นี้นะครับ ส่วนใหญ่แล้วต้นปัญหาจริงๆของการรู้แต่ทำไม่ได้ก็คือความกลัว

ไม่ว่ามีจะเป็นความกลัวที่เรามีต่อความไม่แน่นอนในอนาคต

หรือความกลัวที่เรามีต่อการเปลี่ยนใจจากสิ่งที่เราเลือกไปแล้วในอดีต เพราะการเปลี่ยนใจเหมือนเป็นการยอมรับตัวเองว่าเราเลือกผิด และไม่มีใครอยากยอมรับตัวเองว่าเลือกอาชีพหรืองานผิด

หรือความกลัวความเสียดายที่เรามีต่อต้นทุนจมต่างๆนานาที่เราลงไปในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง หรือเวลาก็ตาม

หรือแม้แต่ความกลัวการเสียหน้า กลัวการทำให้คนรอบข้างของเราผิดหวัง กลัวชีวิตการเป็นอยู่ของคนที่ยังต้องพึ่งเราอยู่

และความกลัวที่เรามีต่อการเปลี่ยนแปลงนี้นี่เองที่ทำให้เราบอกกับตัวเองทุกวันว่า “รู้ว่าจะต้องทำอะไร แต่มันทำไม่ได้” ความกลัวเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ค่อนข้างจะ powerful นะครับ เพราะมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีความสูญเสีย (loss) เป็นตัวบงการอยู่ และด้วยสาเหตุที่คนเราเกลียดการสูญเสียมากกว่าชอบการได้ คนเราจึงมักจะชอบอยู่ในความทุกข์ที่แน่นอนมากกว่าเสี่ยงเพื่อความสุขที่ดีกว่า (“Most people would ratehr be certain they’re miserable than risk being happy…”)

และก้าวแรกของการเอาชนะความกลัวนี้ก็คือการเปลี่ยนโฟกัสใหม่จากการคิดแต่ด้านลบที่มาจากการเปลี่ยนแปลง ไปยังด้านลบของการไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะเสียใจในสิ่งที่อยากจะทำแต่กลับไม่ได้ทำในชีวิตมากกว่าสิ่งที่ทำไปแล้วแต่ออกมาไม่ดี ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเราส่วนใหญ่สามารถหาเหตุผลมา รองรับการตัดสินใจที่อยากจะทำแต่ออกมาไม่ดีในอดีตได้ง่ายกว่าการหาเหตุผลมารองรับการตัดสินใจไม่ทำในสิ่งที่อยากจะทำ

หรือคนที่ใกล้ตายส่วนใหญ่มีความเสียดายที่ยิ่งใหญ่คล้ายๆกันนั่นก็คือการไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักในชีวิต

หรือการที่คนเราส่วนใหญ่มักจะคิดว่าคนอื่นแคร์กับการตัดสินใจของตัวเองมาก ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้แคร์อะไรกับการตัดสินใจของเรามากเลย (หรือที่เราเรียกกันว่า the “spotlight” effect”)

หรือความเข้าใจผิดว่า ถ้าเราไม่ทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ บริษัทจะล้มละลาย คนอื่นๆจะต้องทุกข์ร้อนจนทำอะไรต่อไปไม่ได้ ทั้งๆที่จริงแล้วบริษัท หรืองานที่เรากำลังทำอยู่สามารถดำเนินต่อไปได้โดยที่ไม่มีเรา (the egocentric bias) เราไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้นหรอก — and that is ok!

หรือความคิดที่เรามีว่า ถ้าเราไม่ทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ คนรอบข้างจะเสียใจ จะผิดหวัง จะไม่มีอะไรกิน ทั้งๆที่จริงแล้วคนที่เรารักและรักเราตอบต่างก็อยากจะเห็นเรามีความสุขด้วยกันทั้งนั้น และเราจะมีความสุขไม่ได้ถ้าเราไม่ยอมรับความเป็นตัวของตัวเราต่อหน้าพวกเขาจริงๆ ส่วนคนที่เสียใจ คนที่ผิดหวังกับการตัดสินใจของเราเพียงเพราะเราไม่ทำตามสิ่งที่เขาคาดหวังเอาไว้ เราอาจจะต้องยอมรับกับตัวเองว่าพวกเขาเหล่านั้นรักตัวเขาเองมากกว่ารักเรา — and that is NOT ok!! เป็นต้น

และหลังจากการทำก้าวแรกนี้เสร็จ ก้าวที่สอง ซึ่งก็คือการ “ลาออก/เปลี่ยนอาชีพ” เพื่อเสี่ยงกับความสุขที่ดีกว่านี้ ก็จะเป็นอะไรที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่อะไรที่ทำได้ง่ายๆก็ตาม

ป.ล. มาถึงตรงนี้อาจจะมีบางคนที่กำลังคิดอยู่ว่า “คุณก็พูดได้นี่ คุณมีงานที่คุณชอบ งานที่คุณรัก มันไม่เหมือนกับผมน่ะดิ พูดน่ะพูดง่ายนะ”

พูดอีกก็ถูกอีก ก็เพราะผมได้ทำงานที่ผมรัก ผมจึงอยู่ในสถานะที่พูดได้น่ะสิครับว่าชีวิตของการได้ทำในสิ่งที่เรารักนั้นเป็นชีวิตที่มีความสุขมากกว่าชีวิตของการทำในสิ่งที่เราไม่ชอบหรือสิ่งที่เราไม่แยแสอะไรกับมันเลย

ขอให้โชคดี สามารถยื่นใบลาออกตามที่ใจอยากจะทำให้ได้นะครับ 😀