ThaiPublica > เกาะกระแส > เลือกตั้ง 2562… เปิดคอร์ส “คณิตศาสตร์การเมือง” กางสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ กกต.เลือกเสียงทิ้งน้ำ?

เลือกตั้ง 2562… เปิดคอร์ส “คณิตศาสตร์การเมือง” กางสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ กกต.เลือกเสียงทิ้งน้ำ?

11 พฤษภาคม 2019


ทันทีที่ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อย่างเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เสียงท้วงทิงก็ดังขึ้นถึงสูตรการคำนวณสมาชิกผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ที่กกต.เลือกใช้ว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร โดยประเด็นสำคัญคือการคำนวณปรับฐาน หรือการปรับ overhang ที่เกิดจากจำนวนส.ส.พรรคเพื่อไทยได้จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเกินกว่า “ส.ส.พึงมีได้” ซึ่งเป็นจำนวนส.ส.ในอุดมคติที่สะท้อนจากเสียงของประชาชนที่ออกมาลงคะแนน โดยพรรคเพื่อไทยมีส.ส.ส่วนเกินอยู่ 25.2627 คน และทำให้สัดส่วนส.ส.พึ่งมีได้ของพรรคอื่นๆและส.ส.บัญชีรายชื่อที่ควรจะได้ของแต่ละพรรครวมกันแล้วมากกว่า 149 คน (เนื่องจากกกต.ยังประกาศรายชื่อไม่ครบ 1 คน)

โดยสูตรของกกต.พรรคการเมืองทุกพรรคจะไม่ถูกตัดรายชื่อออกไปจากการคำนวณในเบื้องตามวงเล็บ 4 ของมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ให้ปัดจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ควรจะได้เป็นจำนวนเต็มก่อน แต่จะคำนวณตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ควรจะได้จากคะแนนเสียงโดยตรง และทำให้มี overhang เกินไป 25.2627 คน เท่ากับจำนวนส.ส.ที่พรรคเพื่อไทยได้ไปมากกว่าจำนวนส.ส.พึงมีได้ และทำให้ “ทุกพรรค” จะถูกปรับฐานลงด้วยสัดส่วน 14.5% ของจำนวนส.ส.ที่ควรจะได้ ซึ่งทำให้พรรคที่มีจำนวนส.ส.ที่ควรจะได้สูงถูกปรับฐานลงมากกว่าพรรคที่มีจำนวนส.ส.ที่ควรจะได้น้อย

ขณะที่สูตรที่พรรคการเมืองหลายพรรคออกมาท้วงติง อาทิ พรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทย  การคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเบื้องต้นจะหักพรรคที่มีสัดส่วนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มีได้ต่ำกว่า 1 ตามวงเล็บ 4  ทำให้จำนวน overhang เกินไปเพียง 1 คน และ “ทุกพรรคที่เหลืออยู่” จะถูกปรับฐานลงด้วยสัดส่วนเพียง 1.32%

ในมุมมองทางคณิตศาสตร์ของสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม การเลือกสูตรของกกต.ครั้งนี้เปรียบเสมือนการเลือกคะแนนเสียง “ทิ้งน้ำ” เพื่อไปชดเชยกับคะแนนเสียง (และจำนวนส.ส.) ส่วนเกินส.ส.พึงมีได้ของพรรคเพื่อไทย โดยส.ส.ส่วนเกินของพรรค.เพื่อไทยจำนวน 25.2627 คน เมื่อคิดกลับมาเป็นจำนวนคะแนนเสียงจากคะแนนเฉลี่ยของส.ส. 1 คนที่ 71,168.5141 เสียงจะได้จำนวนเสียง 1,797,912 เสียง

แปลอีกอย่างหนึ่งว่าพรรคเพื่อไทยมีจำนวนส.ส.ทั้งหมดโดยสัดส่วนมากกว่าคะแนนเสียงทั้งหมดที่พรรคได้ไป 1,797,912 เสียง และหากต้องการจะสะท้อนคะแนนเสียงกับจำนวนส.ส.โดยตรง พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องถูกปรับลดจำนวนส.ส.ส่วนเกินนี้ลดลง และส.ส.ส่วนเกินที่ลดลงนี้จะไปสะท้อนอยู่ตามคะแนนเสียงและจำนวนส.ส.ของพรรคอื่นๆแทน

อย่างไรก็ตาม สำหรับส.ส.แบบแบ่งเขตที่นับว่าเป็นส่วนที่สะท้อนเสียงในเชิงพื้นที่ของประชาชนและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถปรับลงมาสะท้อนคะแนนเสียงรวมของพรรคได้ ดังนั้น ในทางกลับกันเมื่อคำนวณจำนวนเสียงของพรรคอื่นๆออกมาเป็นจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามสัดส่วนคะแนนเสียงจริง ผลที่ได้จะมากกว่าจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดและต้องปรับฐานจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเหล่านี้ลงมา แต่ไม่ว่าจะถูกปรับฐานจำนวนส.ส.ลงด้วยสูตรใดก็ตาม จำนวนคะแนนเสียงของพรรคอื่นๆที่ถูกปรับลดลง หรือคะแนนเสียงที่ถูก “ทิ้งน้ำ” จะต้องเท่ากับคะแนนเสียงส่วนเกินของพรรคเพื่อไทยเสมอ

คำถามคือพรรคไหนควรถูก “ทิ้งน้ำ” เท่าไหร่? นี่คือประเด็นที่สำคัญที่สุดของสูตรการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรูปแบบต่างๆ

เจาะลึก 2 สูตร – “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” โดนทิ้งน้ำเพิ่ม 996,359 เสียง

หากดูจำนวนพรรคทั้งหมด 74 พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจะมีอยู่ 47 พรรคที่ไม่ว่าจะคำนวณด้วยสูตรใด คะแนนส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคิดเสมอและคิดเป็นจำนวนคะแนนเสียง 500,778 เสียง ขณะที่จำนวนเสียงที่ถูกทิ้งน้ำตามสูตรคำนวณตามข้อท้วงติงตามรัฐธรรมนูญ พรรคที่ไม่ได้ประโยชน์จากสูตรของกกต. ตัวอย่างเช่น พรรคพลังประชารัฐ, พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น คะแนนเสียงจะถูกทิ้งน้ำรวม 560,815 เสียง ขณะที่พรรคที่จะได้ประโยชน์จากสูตรของกกต.จะถูกทิ้งน้ำ 736,319 เสียง รวมกันแล้วทั้งหมดจะถูกทิ้งน้ำ 1,797,912 เสียง เท่ากันเสียงส่วนเกินของพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสูตรของกกต.พบว่าพรรคที่ไม่ได้ประโยชน์จากสูตรของกกต.ในสูตรแรกจะถูกทิ้งน้ำ 1,557,174 เสียง หรือถูกทิ้งน้ำมากขึ้น 996,359 เสียง ขณะที่พรรคที่ได้ประโยชน์จากสูตรของกกต.นอกจากคะแนนเสียงเดิม 736,319 เสียงจะถูกนับแล้วยังได้คะแนนเสียงเพิ่มอีก 260,040 เสียง (เมื่อคำนวณกลับจากจำนวนส.ส.ที่ได้เทียบกับจำนวนส.ส.พึงมีได้ตามอุดมคติ) รวมแล้วคะแนนถูกนับเพิ่ม 996,359 เสียง และทำให้คะแนนเสียงที่ถูกทิ้งน้ำทั้งหมดไม่ได้เปลี่ยนแปลง

หากเปรียบเทียบเฉพาะ “พรรคที่เสียประโยชน์จากการใช้สูตรของกกต.” เทียบกับสูตรตามท้วงติงตามรัฐธรรมนูญจะมีเพียง 6 พรรค โดยพรรคที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือพรรคอนาคตใหม่ 427,011 เสียง หรือคิดเป็น 42.86% ของจำนวนเสียงทิ้งน้ำทั้งหมด รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ 213,506 เสียง หรือคิดเป็น 21.43%, ประชาธิปัตย์ 142,337 เสียง หรือคิดเป็น 14.29% และที่เหลือพรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคละ 71,169 เสียง หรือคิดเป็น 7.14%

ในมุมของจำนวนส.ส.จากสูตรการคำนวณจะทำให้การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดมีลักษณะลงตัวพอดีด้วย กล่าวคือจำนวนส.ส.ของพรรคที่ได้ประโยชน์และได้ส.ส.เพิ่มขึ้นจะเท่ากับจำนวนส.ส.ของพรรคที่เสียประโยชน์ โดย 6 พรรคที่เสียจำนวนส.ส.ไปรวมกัน 14 คน และมีพรรคที่ได้ส.ส.เพิ่มพรรคละ 1 คน 14 พรรค โดยพรรคที่เสียมากที่สุดคือพรรคอนาคตใหม่ 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคพลังประชาธิปัตย์ 2 คน และพรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคละ 1 คน

อนึ่ง ปัญหาด้านความโปร่งใสต่างๆเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากกกต.ระบุวิธีคำนวณอย่างชัดเจนในทุกกรณีนับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยภายหลังการเลือกตั้งทันที