ThaiPublica > เกาะกระแส > โรงเรียนชนบทเกาหลีใต้จับมือชุมชน รับผู้สูงวัยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เข้าห้องเรียน หลังเด็กเกิดใหม่น้อยลง

โรงเรียนชนบทเกาหลีใต้จับมือชุมชน รับผู้สูงวัยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เข้าห้องเรียน หลังเด็กเกิดใหม่น้อยลง

5 พฤษภาคม 2019


ฮวาง วอลกึม ซ้ายสุด กับเพื่อนร่วมชั้นในรถโรงเรียน

โรงเรียนในเกาหลีใต้หันมารับผู้สูงวัยที่ไม่รู้หนังสือเข้าเรียน หลังจากที่อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้ห้องเรียนของโรงเรียนในชนบทถูกทิ้งร้าง แต่มีโรงเรียนแห่งหนึ่งกลับเปิดประตูรับผู้สูงวัยกลุ่มผู้หญิงที่เคยฝันมาหลายทศวรรษว่าจะได้เข้าเรียนและอ่านหนังสือออก

ในเขตกังจิน เกาหลีใต้ ทุกๆ เช้า ฮวาง วอลกึม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะไปโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนสีเหลืองพร้อมๆ กับสมาชิกในครอบครัวอีก 3 ราย ซึ่งประกอบด้วยหนึ่งนักเรียนชั้นอนุบาล หนึ่งนักเรียนชั้นประถม 3 และอีกหนึ่งนักเรียนชั้นประถม 5

ฮวาง วอลกึม อายุ 70 ปี จึงมีเพื่อนร่วมโรงเรียนที่เป็นหลานของตัวเอง

ฮวาง วอลกึม ไม่รู้หนังสือมาตลอดชีวิต แต่จำได้ว่าคอยแอบอยู่หลังต้นไม้และร้องไห้เมื่อเห็นเพื่อนกระโดดโลดเต้นไปโรงเรียนกันเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ขณะที่เด็กๆ ในหมู่บ้านอื่นเรียนหนังสือ อ่านออกเขียนได้ แต่เธอต้องไปเลี้ยงหมู เก็บฟืนจากชายป่า และดูแลน้องๆ

เมื่อฮวาง วอลกึม มีลูก 6 คน จึงส่งทุกคนไปโรงเรียน ทั้งระดับมัธยมศึกษาและวิทยาลัย กระนั้นฮวาง วอลกึม ก็รู้สึกปวดใจมาตลอดเพราะไม่สามารถทำในสิ่งที่แม่คนอื่นทำได้ นั่นคือ การเขียนจดหมายไปหาลูกๆ

“การเขียนจดหมายไปหาลูกๆ เป็นสิ่งฉันฝันถึงมากที่สุด” ฮวาง วอลกึม กล่าว

แต่ในปีนี้ ฮวาง วอลกึม ได้รับความช่วยเหลืออย่างคาดไม่ถึงจากโรงรียนในชุมชนที่ไม่มีเด็กในวัยเรียนมาเรียนหนังสือ และไม่รู้ว่าจะหาเด็กจากที่ไหนมาเข้าชั้นเรียน หลังจากที่อัตราเด็กเกิดใหม่ในเกาหลีใต้ลดลงในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปีที่แล้วผู้หญิงหนึ่งคนมีบุตรน้อยกว่า 1 คน ซึ่งเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเขตชนบท เพราะมีเด็กจำนวนน้อยมาก เนื่องจากครอบครัวในวัยหนุ่มสาวได้ย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่เพื่อหางานที่ให้รายได้ดีกว่า

โรงเรียนประถมศึกษาแทกู ซึ่งอยู่ในชุมชนเดียวกับ ฮวาง วอลกึม ก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกับโรงเรียนในชนบทแห่งอื่น คือ จำนวนเด็กเข้าเรียนลดลง ในปี ค.ศ. 1980 ปีที่ลูกชายคนสุดท้องของ ฮวาง วอลกึม เรียนอยู่นั้น เด็กแต่ละชั้นเรียนมีจำนวน 90 คน แต่ตอนนี้ลูกชายคนสุดท้องของเธอมีอายุ 42 ปีแล้ว เด็กทั้งโรงเรียนมีเพียง 22 คนเท่านั้น ซึ่งรวมเด็ก ป.4 และ ป.5 ที่มีห้องละ 1 คน

โรงเรียนแทกู ในเขตกังจิน

ในปีนี้ทั้งชุมชนยิ่งตกอยู่ในภาวะวิกฤติกว่าเดิม โดยครูใหญ่ ลี จูยัง กล่าวว่า “เราไปทั่วหมู่บ้านเพื่อหาเด็กสักคนมาเข้าชั้น ป.1 แต่หาไม่ได้แม้แต่คนเดียว”

ลี จูยัง กับชาวบ้าน ร่วมกันหาวิธีที่จะรักษาโรงเรียนที่มีตั้งมานาน 96 ปีแห่งนี้ไว้ จึงเกิดแนวคิดที่จะรับผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่ต้องการจะอ่านออกเขียนได้มาเข้าเรียน

ฮวาง วอลกึม และผู้หญิงอีก 7 คน ที่มีอยู่ในวัย 56-80 ปี จึงเป็นผู้นำ ขณะที่มีผู้หญิงอีก 4 คนขอเข้าเรียนในปีหน้า

สำหรับคนในวัยหนุ่มสาวที่ต้องการจะพำนักในเขตนี้ อนาคตของชุมชนขึ้นอยู่กับว่าจะรักษาโรงเรียนให้อยู่รอดได้หรือไม่

โน ซุนอา วัย 40 ปี ลูกสะใภ้ของ ฮวาง วอลกึม กล่าวว่า “ใครกันอยากจะสร้างครอบครัวที่นี้ถ้าหากไม่มีโรงเรียน เด็กๆ จะนำเสียงหัวเราะและชีวิตคืนให้กับชุมชน”

ลูกชายของฮวาง วอลกึม คนที่สามีของ โน ซุนอา ได้ลาออกจากโรงงานอะไหล่รถยนต์ในเมืองใหญ่เพื่อกลับมาสร้างครอบครัวในชุมชนนี้เมื่อ 5 ปีก่อน และรับช่วงการทำการเกษตรจากพ่อแม่

สำนักงานการศึกษาท้องถิ่นได้ออกมาขานรับแนวคิดนี้ ดังนั้น ฮวาง วอลกึม จึงเข้าเรียนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกันนักเรียนใหม่รายอื่น วันแรกของการไปโรงเรียน ฮวาง วอลกึม ร้องไห้ แต่เป็นน้ำตาแห่งความสุข

นักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนแทกูเข้าแถว

“ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันจะเกิดขึ้นกับฉันจริงๆ การหิ้วกระเป๋าไปโรงเรียนเป็นความฝันของฉันมาตลอด” ฮวาง วอลกึม กล่าว

โรงเรียนประถมแทกูตั้งอยู่ชายทะเล เป็นอาคาร 2 ชั้น เมื่อเด็กๆ และยายมาถึงโรงเรียนแล้วได้เปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะ และเดินไปตามทางที่ตกแต่งด้วยแจกันหยก เพื่อเข้าสู่ห้องเรียน

ในชั้น ป.1 ฮวาง วอลกึม และผู้หญิงวัยคุณยายอีก 2 คน ตั้งอกตั้งใจและขยันขันแข็งกับการเรียนอย่างมากทั้งการอ่านและการเขียน โดยมือถือดินสอ ปากก็ท่องพยัญชนะ 14 ตัวและสระอีก 10 ตัว ตามที่คุณครู โจ ยุน จอง เขียนบนกระดานทีละตัว และพยายามสะกดคำว่า “ป้า” “ชาวประมง” และ “แรคคูน” อย่างช้าๆ ด้วยลายมือที่ไม่สวยเอาเลย

ในช่วงพักของการเรียนเขียน ครูโจ ยุนจองเปิดเพลง “What’s Wrong With My Age” (เพลงลูกทุ่งเกาหลีหรือเรียกันว่า เพลง trot ขับร้องโดย ฮอง จินยอง) และเต้นนำลูกศิษย์ที่เป็นคุณย่าคุณยายที่กำลังหัวเราะชอบใจ

ลูกศิษย์วัยคุณย่าคุณยายเต้นตามครู

ฮวาง วอลกึม กล่าวว่า “โรงเรียนสนุกมาก” ซึ่งลูกสาวคนหนึ่งของเธอที่ชื่อว่า คยอง ด็อก เห็นด้วยและกล่าวว่า “แม่ฉันกลายเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้นตั้งแต่ได้ไปโรงเรียน ยิ้มตลอดเวลา”

กังจิน ชุมชนที่ฮวาง วอลกึม อาศัยนั้น ตั้งอยู่ในปลายชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่ชนบทที่ตามไม่ทันการพัฒนาอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ซึ่งอุตสาหกรรมหลักของกังจินที่พัฒนาครั้งหลังสุดคือ เครื่องปั้นดินเผา แต่ก็ต้องปิดตัวไปหลังจากที่พลาสติกเข้ามาแทนที่เครื่องเคลือบดินเผาที่ใช้ในครัวของเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1970

ประชากรสูงวัยในพื้นที่นี้ดำรงชีพด้วยการปลูกสตรอว์เบอร์รี มัลเบอร์รี หรือเก็บหอยนางรม หอยแครง และจับปลาหมึกในที่ลุ่มชายฝั่ง

ปาร์ค จองซิม วัย 75 ปี เป็นแชมป์จับปลาหมึกในหมู่บ้าน แต่ขณะนี้เธอกังวลว่าจะตามเพื่อนร่วมห้องชั้นประถมไม่ทัน แม้สายตาของปาร์ค จองซิม จดจ่ออยู่กับสมุดจด แต่บางครั้งต้องกะพริบตาหรือถอดแว่นสายตาออกเป็นระยะๆ เพราะตามัว ขณะที่การอ่านออกเสียงก็ยากสำหรับปาร์ค จองซิม และเพื่อฝึกคัดลายมือ เธอต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืด

เพื่อนร่วมโรงเรียนต่างวัย

“ความจำฉันไม่ค่อยดีแล้ว มือและลิ้นก็ใช้ไม่ได้ดังใจ แต่ฉันจะเขียนให้ได้ก่อนที่จะตาย คุณไม่รู้หรอกว่าฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปติดต่อราชการ พวกเขาบอกให้ฉันกรอกแบบฟอร์ม และสิ่งเดียวที่ฉันรู้คือ เขียนชื่อตัวเอง” ปาร์ค จองซิม กล่าว

การได้ไปโรงเรียนเป็นความฝันที่ไกลเกินจริงสำหรับปาร์ค จองซิม หลังจากพ่อเสียชีวิต ขณะที่เธอมีอายุแค่ 8 ปี ปาร์ค จองซิม ใช้ชีวิตในวัยเด็กด้วยการเก็บสาหร่ายทะเล เลี้ยงหม่อน และเก็บเกี่ยวป่าน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ครัวเรือนชาวเกาหลีใต้แม้จะมีเงินไม่มากแต่ทุ่มเทให้กับลูกชายเพื่อให้ได้เข้าเรียนหนังสือ แต่ให้ลูกสาวอยู่กับบ้านและดูแลน้องๆ ขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน

ฮวาง วอลกึม เล่าว่า พ่อของเธอไปมีภรรยาใหม่หลังจากที่แม่ของเธอให้กำเนิดลูกสาว 5 คนและไม่มีลูกชายเลย และแม่เลี้ยงก็ไม่ยอมให้เธอไปโรงเรียน และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าสอนลูกสาวให้รู้หนังสือ เมื่อพ่อของเธอพยายามที่จะสอนให้เธออ่านหนังสือที่บ้าน

การที่ไม่รู้หนังสือนำไปสู่ความอับอายหลายอย่างในชีวิตของ ฮวาง วอลกึม การส่งของทางไปรษณีย์ก็เป็นปัญหาของเธอเพราะเขียนที่อยู่ไม่ได้ เมื่อหลายปีก่อน ฮวาง วอลกึม และสามี แช จันโฮ วัย 72 ปี ได้เดินทางไปเยี่ยมลูกชายในเมืองหลวง กรุงโซล แต่ด้วยความวุ่นวายและอัดของสถานีรถไฟใต้ดินทำให้เธอและสามีหากันไม่เจอ ฮวาง วอลกึม ซึ่งอ่านป้ายบอกทางไม่ออกรู้สึกสิ้นหวัง จนในที่สุดมีคนที่ผ่านไปมาเข้ามาช่วยให้เธอหาทางออกจากสถานีได้

ฮวาง วอลกึม และเพื่อนร่วมชั้นตั้งใจที่จะเรียกสิ่งที่หายไปในชีวิตกลับคืนมา มีผู้หญิงคนหนึ่งกลับเข้าไปเรียนใหม่ที่โรงเรียนแทกู หลังจากที่ต้องออกจากโรงเรียนขณะที่เรียนอยู่ในชั้น ป.5 ในช่วงทศวรรษ 1970 เพราะทางบ้านส่งตัวไปเป็นสาวใช้ของครอบครัวคนรวย เพื่อให้มีงานทำมีรายได้เลี้ยงชีวิต

คุณครูโจเล่าว่า นักเรียนสูงวัยตั้งใจเรียนและใฝ่รู้มาก และน่าจะเป็นนักเรียนกลุ่มเดียวที่ขอการบ้านเพิ่ม

ห้องเรียนนักเรียนสูงวัยจะต่างจากห้องเรียนอื่น เพราะมีโซฟาปูด้วยผ้าที่อบความร้อน ในช่วงเวลาพัก นักเรียนสูงวัยก็จะมานั่งพักบนผ้าปูนี้และสอดเท้าเข้าใต้ผ้าห่ม นอกจากนี้ยังมีตะกร้าลูกกวาดเตรียมไว้เผื่อนักเรียนชั้น ป.2 ที่อยู่ห้องติดกันเข้ามาหา

ตะกร้าลูกกวาดเตรียมรับนักเรียนชั้น ป.2

อย่างไรก็ตาม ฮวาง วอลกึม จิตตกเล็กน้อย เพราะต้องเข้ารียนในช่วงที่ต้องเก็บลูกสตรอว์เบอร์รี ดังนั้นเธอจึงตื่นตั้งแต่ตีสี่ในเช้ามืด และช่วยสามีเก็บลูกสตรอว์เบอร์รีพร้อมกับลูกชายและลูกสะใภ้ก่อนไปโรงเรียน

ฮวาง วอลกึม ยังวางแผนชีวิตครั้งใหญ่

“ฉันจะลงสมัครเป็นประธานกลุ่มสตรีของหมู่บ้าน ก่อนหน้านี้มีคนมาขอให้ฉันลงสมัคร แต่ที่ผ่านมาฉันไม่ตกลง เพราะเป็นงานสำหรับคนที่อ่านออกเขียนได้”

เรื่องและภาพจาก nytimes