ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมเราจึงให้น้ำหนักกับคนที่ไม่ดีกับเรามากกว่าคนที่ดีกับเรา

ทำไมเราจึงให้น้ำหนักกับคนที่ไม่ดีกับเรามากกว่าคนที่ดีกับเรา

28 พฤษภาคม 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

ที่มาภาพ : https://be-empowered.co.uk/mental-health-awareness-week-2019/

อาทิตย์ที่แล้วทั้งอาทิตย์เป็น Mental Health Awareness Week ที่ประเทศอังกฤษนะครับ วันนี้ก็เลยถือโอกาสมาเขียนในเรื่องของสุขภาพจิตกันซักหน่อย

สังเกตไหมครับว่าบ่อยครั้งเหมือนกันที่สุขภาพจิตของคนเรามักจะถูกคนเพียงไม่กี่คน หรือเหตุการณ์เพียงไม่กี่เหตุการณ์ทำให้มันแย่ลงไปได้ ทั้งๆที่ส่วนใหญ่แล้วคนที่รักเรา คนที่ชอบเรานั้นมีจำนวนมากกว่าคนที่เกลียดเรา หมั่นไส้เราค่อนข้างมาก และจำนวนเหตุการณ์ที่ดีๆในชีวิตของเราในแต่ละวันก็มักจะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างจะสูงกว่าจำนวนเหตุการณ์ที่ไม่ดีในชีวิตของเรา

ทำไมคนเราส่วนใหญ่ถึงมองข้ามสิ่งดีๆหรือคนที่ดีๆที่มีจำนวนมากกว่าเหล่านี้ แล้วไปให้น้ำหนักกับสิ่งที่ไม่ดี หรือคนที่ไม่ดีในชีวิตของเรามากจนเกินไปจนทำให้สุขภาพจิตเราแย่

ถ้าจะให้อธิบายทางด้านจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์ล่ะก็ สาเหตุหลักๆที่คนเรามักจะมีพฤติกรรมเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่า

1. Marginal utility of good vs. marginal utility of bad: คล้ายๆกันกับความสุขที่เราได้มาจากการกินของอร่อยๆคำแรกจะมีค่าไม่เท่ากันกับความสุขที่เราได้มาจากการกินของอร่อยๆหลังจากการกินไปแล้วสี่สิบคำ การที่เรามีคนที่ดีๆรอบข้างเราเยอะทุกวัน มูลค่าของความสุขที่เราได้มาจากการ “บริโภค” สิ่งที่ดีๆหรือคนที่ดีๆเพิ่มอีกยูนิทหนึ่งก็จะลดน้อยลงไปตามปริมาณที่เรามี (ซึ่งก็คือ concept ของ diminishing marginal utility นั่นเอง) ส่วนสิ่งที่ไม่ดี หรือคนที่ไม่ดีที่มีไม่ค่อยเยอะในชีวิตของเรา อรรถประโยชน์ในเชิงลบจากการ “บริโภค” สิ่งที่ไม่ดีหรือคนที่ไม่ดีเหล่านี้จากปริมาณที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็จะมีผลลัพธ์ที่ค่อนข้างสูงกับความสุขของเรา

2. แต่ concept ของ marginal utility ข้างบนนี้ไม่พอที่จะอธิบายให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมคนเราถึงให้น้ำหนักกับสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต และคนที่ไม่ดีในชีวิตที่มีจำนวนน้อยๆเหล่านี้มากถึงขนาดนี้ เราจึงต้องหาทฤษฎีของจิตวิทยาเข้ามาเสริม

ทฤษฎีแรกเลยก็คือ loss aversion — คนเราเกลียดการเสียมากกว่าการชอบการได้ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่มีผลทางด้านลบกับเรา เรามักจะให้น้ำหนักกับสิ่งนั้นๆมากกว่าน้ำหนักที่เราให้กับสิ่งหรือคนดีๆในชีวิตของเราถึงสองเท่าด้วยกัน

ทฤษฎีที่สองก็คือ impact bias — เพราะเหตุการไม่ดีๆในชีวิตของเรามักจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก มันจึงค่อนข้างจะ stand out เมื่อเทียบกันกับเหตุการณ์ที่ดีๆที่เกิดขึ้นบ่อยๆในชีวิตของเรา คล้ายๆกันกับการที่คนเราส่วนใหญ่ ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป มักจะจำได้แม่นเลยว่าวันที่ 11 เดือนกันยายน ปีค.ศ. 2001 เขาอยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไรอยู่ แต่พวกเขาจะจำไม่ได้ว่าวันที่ 11 เดือนสิงหาคม ปีเดียวกันเขาอยู่ที่ไหน และทำอะไร ด้วยเหตุผลที่ว่าสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โอกาสที่เราจะคิดถึงมัน หรือเห็นภาพของมันอย่างชัดเจนในหัวของเราก็จะเยอะกว่าเหตุการณ์ดีๆและคนที่ดีๆในชีวิตของเราเยอะ

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าในชีวิตของคนเราส่วนใหญ่ เรามีสิ่งที่ดีๆเกิดขึ้นเยอะกว่าสิ่งที่ไม่ดี ความคาดหวังของคนเรากับการเกิดขึ้นของสิ่งดีๆก็จะมีสูงกว่าความคาดหวังที่เรามีต่อการเกิดขึ้นของสิ่งที่ไม่ดีเยอะ ซึ่งก็ทำให้เราผิดหวังมากกับสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราได้

3.แล้วเราควรจะทำยังไงเพื่อที่จะลด effect ที่ disproportionate ของสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิตของเราได้

หนึ่งคือการทำ gratitude exercise ซึ่งก็คือการเขียน หรือ list สิ่งที่ดีๆและคนที่ดีๆที่เรามีในชีวิตของเราลงบนกระดาษ การเขียนนี้สามารถทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน แทนการนับจำนวนของสิ่งที่ดีๆและคนที่ดีๆเองในหัวซึ่งอาจจะทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ ว่าเราควรจะรู้สึก thankful ในสิ่งที่ดีๆ และคนที่ดีๆในชีวิตที่มีจำนวนมากกว่ารู้สึกแย่กับสิ่งที่ไม่ดีและคนที่ไม่ดีในชีวิตของเรา

สองก็คือการเปลี่ยน mindset ใหม่ โดยการบอกกับตัวเองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเรากล้าพอที่จะทำให้มันเกิด ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นมาจากการที่เรากล้าทำในสิ่งที่ unpopular หรือการที่เรายอมเป็นตัวของตัวเอง (authentic self) เราก็ควรจะภูมิใจในความกล้าที่จะเป็นเรามากกว่าการยอมทำหรือยอมเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่เรา ถึงแม้ว่าผลจะออกมาไม่ดี และอาจจะทำให้คนโกรธหรือเกลียดเราก็ตาม

และคำแนะนำสุดท้ายที่ผมมีในวันนี้ก่อนที่ผมจะไปทำงานก็คือ การบอกกับตัวเองว่าสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้น หรือคนที่ไม่ดีที่เข้ามา เราไม่รู้หรอกว่าผลกระทบระยะยาวนี้จะออกมาหน้าตาเป็นยังไง บ่อยครั้งนักที่ประสบการณ์ที่ไม่ดีที่เราเจอในชีวิตกลับส่งผลที่ดีๆให้กับเราในอนาคตโดยที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน เปรียบชีวิตเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งร้อยเมตร และประสบการณ์ก็คือสิ่งที่คุณได้ เมื่อคุณไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ แค่นี้ก็สามารถช่วยทำให้เรามองสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น และคนที่ไม่ดีที่เข้ามาในชีวิตด้วยเลนส์ที่ใหม่ได้นะครับ

ขอให้ดูแลสุขภาพจิตของตัวเองก่อนดูแลสุขภาพจิตของคนรอบข้างนะครับ